"ซูโม่มองโกล" : พรสวรรค์แห่งทุ่งหญ้าสู่การกวาดแชมป์ในญี่ปุ่น

"ซูโม่มองโกล" : พรสวรรค์แห่งทุ่งหญ้าสู่การกวาดแชมป์ในญี่ปุ่น

"ซูโม่มองโกล" : พรสวรรค์แห่งทุ่งหญ้าสู่การกวาดแชมป์ในญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึง "ซูโม่" ทุกคนคงนึกถึงหนึ่งในกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น ที่มีผู้ชายร่างใหญ่นุ่งผ้าเตี่ยวสองคนมาต่อสู้กันในวงกลมเล็กๆ เรียกว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองดินแดนอาทิตย์อุทัยมาช้านาน จนรวมเป็นหนึ่งกับวัฒนธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก

อย่างไรก็ตาม คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าในช่วงปี 2002-2016 นักซูโม่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ย่อยยับให้กับนักซูโม่จากแผ่นดินมองโกเลีย ลูกหลานเจงกีสข่านเหล่านี้สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันซูโม่ในประเทศญี่ปุ่นได้มากถึง 81 จาก 88 รายการ ตลอดช่วงสิบสามปี รวมไปถึงการแข่งขันในรุ่น "โยโกซึนะ" ซึ่งเป็นรุ่นที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติยศมากที่สุดด้วย

 

ทำไมนักซูโม่จากมองโกเลียจึงแข็งแกร่งจนชนชาติเจ้าของกีฬาก็ไม่อาจเทียบเคียงได้? การจะหาคำตอบของเรื่องราวนี้อาจจะต้องย้อนไปไกลถึง 7,000 ปีก่อนคริสตศักราช…

มรดกแห่งมองโกเลีย

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าซูโม่มีประวัติศาสตร์คู่ชาติมองโกเลียมายาวนาน ตรงกันข้าม กีฬาชนิดนี้เพิ่งเข้ามามีอิทธิพลในประเทศได้ประมาณ 20 ปีเท่านั้น แต่ก่อนหน้าที่มองโกเลียจะรู้จักกับซูโม่ กีฬาประจำชาติที่อยู่คู่กับชาวมองโกเลียมาทุกรุ่นคือ "มวยปล้ำ"

 1

มวยปล้ำมองโกเลียหรือที่ในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "Bökh" อาจจะแตกต่างกับมวยปล้ำที่คนทั่วไปรู้จัก ไม่มีการจับทุ่มน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่มีการเหวี่ยงเข้าเชือก ไม่มีการจับล็อก มีเพียงชายสองคนมาเผชิญหน้าต่อสู้กัน และถ้าอวัยวะส่วนอื่นนอกจากเท้าแตะพื้นก็จะถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งดูคล้ายกับกีฬาซูโม่ของญี่ปุ่น

จุดเริ่มต้นของมวยปล้ำมองโกเลียตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดคือภาพวาดรูปชายสองคนเปลือยกายต่อสู้กันท่ามกลางฝูงชนที่ห้อมล้อมบนผนังถ้ำ ในจังหวัด Bayankhongor ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกวาดขึ้นเมื่อกว่า 7,000 ปีก่อนคริสตศักราช หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นคือภาพวาดการต่อสู้ Bökh บนแผ่นทองสัมฤทธิ์ที่ค้นพบในซากปรักหักพังของจักรวรรดิซฺยงหนู (206 ปีก่อนคริสตศักราช – ค.ศ. 220)

มวยปล้ำมองโกเลียหรือ Bökh แพร่หลายอย่างถึงที่สุดในยุคของเจงกีสข่าน (ค.ศ.1206-1227) หนึ่งในนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1368 ในช่วงเวลาดังกล่าว เหล่าจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิมองโกลให้ความสำคัญกับกีฬาชนิดนี้จนถึงขั้นจัดเป็นเทศกาลท้องถิ่น รวบรวมเหล่าผู้แข็งแกร่งในแผ่นดินมองโกเลียมาต่อสู้กัน เพื่อค้นหาผู้แข็งแกร่งที่สุด นอกจากนั้นพวกเขายังใช้กีฬามวยปล้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกทหารเข้าสู่กองพล และจัดอันดับยอดนักสู้ในกองทัพ

ดังนั้น ด้วยประวัติศาสตร์คู่มาตุภูมิมองโกเลียอันยาวนาน มวยปล้ำจึงเป็นหนึ่งในมรดกตกทอดของชนชาติจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน จนมีคำกล่าวว่า

"สามทักษะที่ลูกผู้ชายชาวมองโกเลียทุกคนต้องเชี่ยวชาญคือ การขี่ม้า, ยิงธนู, และมวยปล้ำ"

ต้องสู้เพื่อปากท้อง

ในอดีต จักรวรรดิมองโกลคือจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรจนไม่มีใครทัดเทียม แต่ในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง มองโกเลียเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงสามล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีพด้วยการเกษตรกรรม ความเจริญด้านวัตถุหรือเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการกระจายให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 383 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงต้องดิ้นรนอย่างถึงที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้อง พวกเขาไม่ได้มีฝันยิ่งใหญ่อย่างเจงกีสข่าน พวกเขาหวังแค่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น

 2

ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น ที่ในปัจจุบันคือหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง คุณภาพชีวิตประชากรดีกว่ามองโกเลียอย่างเทียบไม่ได้ ดังนั้นสำหรับชาวมองโกเลียในพื้นที่ห่างไกล ญี่ปุ่นคือแดนสวรรค์ที่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น… แต่หนทางไหนกันล่ะที่จะพาพวกเขาไปยังดินแดนแห่งนั้นได้?

คำตอบคือกีฬาซูโม่

ถึงแม้ชาวมองโกเลียจะแทบไม่เคยรู้จักกีฬาชนิดนี้ แต่พวกเขาทุกคนมีทักษะที่ใกล้เคียงกันติดตัวมาตั้งแต่จำความได้ นั่นคือ Bökh หรือมวยปล้ำมองโกเลีย ซึ่งมีกฎกติกาและวิธีการเล่นคล้ายกัน ไม่ใช่เรื่องยากที่จะประยุกต์ใช้กับกีฬาซูโม่ ดังนั้นทักษะมวยปล้ำที่แทบทุกคนในประเทศมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วนั้นจึงเปรียบเหมือนตั๋วล้ำค่าที่จะพาพวกเขาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนั้น ซูโม่อาจจะเป็นหนึ่งในกีฬามรดกคู่ชาติ แต่ไม่ใช่กีฬาที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากจะเป็น เพราะการจะเป็นนักซูโม่อาชีพนั้นต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่งในทุกๆวันเพื่อเริ่มการฝึกซ้อม ต้องสวมใส่ชุดยูกาตะตลอดเวลาเมื่อออกสู่สาธารณะ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ ไม่สามารถทำตามใจได้ในหลายๆเรื่อง ถูกควบคุมอาหารการกิน และที่สำคัญคือรายได้ไม่สูง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องทุ่มเท ต่อให้เป็นนักซูโม่ที่เก่งที่สุดในประเทศก็มีรายได้เพียงสี่แสนเหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น

ดังนั้น สำหรับประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ค่อนข้างสบาย นี่จึงไม่ใช่อาชีพในฝันของผู้คน ตรงกันข้ามกับชาวมองโกเลียโดยสิ้นเชิง เพราะเหล่าลูกหลานเจงกีสข่านไม่สนใจว่าต้องตื่นกี่โมง ต้องฝึกซ้อมหนักขนาดไหน หรือต้องอยู่ในกฎอะไรบ้าง ขอเพียงแค่มีชีวิตที่สบายขึ้นกว่าในบ้านเกิด เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

 3

"ชาวมองโกเลียมีจิตใจที่หิวกระหาย และมีร่างกายที่แข็งแกร่งโดยธรรมชาติ แต่ชาวญี่ปุ่นนั้นอ่อนแอ โดยเฉพาะในด้านจิตใจ" ฮารุมิ คานายะ แฟนซูโม่พันธุ์แท้ชาวญี่ปุ่นแสดงความเห็น

เมื่อมีดินแดนในฝันอยู่เบื้องหน้า ในช่วงปลายยุค 90 เชื่อมต่อต้นยุค 2000 เหล่านักล่าฝันชาวมองโกเลียรุ่นบุกเบิกกลุ่มแรกก็แพ็คความหวังใส่กระเป๋า ทิ้งทุ่งหญ้าอันเวิ้งว้างไว้ด้านหลัง ก่อนจะออกเดินทางสู่ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่เต็มไปด้วยแสงสีที่พวกเขาไม่คุ้นเคย…

ตำนานการล่าฝันของ Dolgorsürengiin Dagvadorj และ Byambajav Ulambayar

ถ้าจะพูดถึงนักซูโม่ชาวมองโกเลียที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มีเรื่องราวที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความฝันให้กับชาวมองโกเลียได้มากที่สุด คงหนีไม่พ้นชื่อของ Dolgorsürengiin Dagvadorj และ Byambajav Ulambayar เพราะทั้งคู่คือตำนานที่ยังมีชีวิตของชาวมองโกเลีย แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพวกเขาสองคนก็แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง

 4

Dolgorsürengiin Dagvadorj หรือชื่อในวงการซูโม่ญี่ปุ่นคือ Asashōryū Akinori เกิดในครอบครัวนักมวยปล้ำฝีมือเยี่ยมแห่งมองโกเลีย ทำให้เขาคลุกคลีกับศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะเป็นมวยปล้ำ ยูโด หรือแซมโบ้ ก็ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น Dolgorsürengiin ได้มีโอกาสเดินทางไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น และในตอนนั้นก็เป็นครั้งแรกที่เขาได้รู้จักกับกีฬาซูโม่ จากการเข้าร่วมกิจกรรมชมรมของโรงเรียน

ถึงแม้จะเป็นหน้าใหม่สำหรับกีฬาชนิดนี้ แต่ทันทีที่ได้เล่น เขาก็แสดงความแข็งแกร่งให้ทุกคนได้เห็น เนื่องจากเขามีทักษะมวยปล้ำมองโกเลียที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำมาปรับใช้กับกีฬาซูโม่ นอกจากนั้น Dolgorsürengiin ยังพกพาความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจฉบับชาวมองโกเลียแท้ๆขึ้นไปสู้ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีใครสามารถต้านทานเขาได้

เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงในวงเล็กๆ Dolgorsürengiin ก็โดนทีมซูโม่อาชีพวากามัตสึ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ทาคาซาโกะ) ชักชวนให้เข้าร่วมทีม ถึงแม้จะเพิ่งรู้จักกีฬาชนิดนี้ได้ไม่นาน แต่นี่คือโอกาสสำคัญที่จะทำให้ชีวิตเขาและครอบครัวสบายขึ้น เขาจึงตอบตกลง โดยทิ้งแผ่นดินมองโกเลียไว้เบื้องหลัง… คงอีกนานกว่าจะได้กลับไป

 5

Dolgorsürengiin ได้รับมอบชื่อในวงการซูโม่ว่า Asashōryū Akinori ซึ่งความหมายของมันคือ "มังกรฟ้าในยามเช้า" และหลังจากนั้น มังกรตัวนี้ก็แสดงให้เห็นทันทีว่าเขาไม่ใช่มังกรธรรมดา แต่เป็นพญามังกร เพราะหลังจากเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนี้ในปี 1999 Dolgorsürengiin ก็ใช้เวลาเพียง 4 ปีในการก้าวมาเป็นแชมป์ในรุ่นโยโกซึนะ ซึ่งเป็นแชมป์ที่มีเกียรติยศสูงที่สุดในวงการซูโม่ญี่ปุ่น นอกจากนั้นเขายังคว้าแชมป์ต่างๆได้อีกมากมาย ส่งผลให้เขาเป็นนักซูโม่มองโกเลียที่ประสบความสำเร็จในวงการซูโม่ญี่ปุ่นสูงสุดตลอดกาล และเป็นนักซูโม่ที่คว้าแชมป์ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 4

ถึงแม้ชีวิตการเป็นนักซูโม่ของ Dolgorsürengiin จะต้องปิดฉากลงเร็วกว่ากำหนด เพราะเขาถูกดำเนินคดีจากการทำร้ายร่างกายผู้ชายคนหนึ่งหน้าไนท์คลับในกรุงโตเกียว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเขาก็ยังเป็นตำนานเล่าขานของชาวมองโกเลียมาจนถึงทุกวันนี้

นี่คือเรื่องราวของ Dolgorsürengiin Dagvadorj นักซูโม่ชาวมองโกเลียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล แต่เรื่องราวของวีรบุรุษแห่งมองโกเลียคนต่อไปที่เราจะเล่า ถึงแม้เขาอาจจะไม่ใช่นักซูโม่ที่ยิ่งใหญ่เท่า Dolgorsürengiin แต่เรื่องราวของเขาก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวมองโกเลียได้ไม่แพ้กัน ชื่อของเขาคือ Byambajav Ulambayar

 6

"ผมเกิดและเติบโตในมองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศโลกที่สาม มีประชากรเพียงสามล้านคน แต่กลับมีขนาดใหญ่เทียบเท่ายุโรปตะวันตก" Byambajav Ulambayar บอกเล่าชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งในตอนนั้นเขาเองก็ไม่ต่างจากเด็กหนุ่มชาวมองโกเลียส่วนใหญ่ ที่เกิดและเติบโตท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา รายล้อมด้วยฝูงแกะมากมายนับไม่ถ้วน และแน่นอนว่าไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายนัก

"ถึงจะมีประชากรน้อย แต่มองโกเลียก็มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าทึ่ง ทั้งในแง่ดนตรี ศิลปะ และกีฬา แน่นอนว่ากีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศคือ Bökh"

"ผมเริ่มรู้จักกีฬามวยปล้ำมองโกเลียตอนอายุเก้าขวบ พ่อของผมเป็นคนพาไปฝึก แต่ตอนนั้นผมยังเด็ก เลยไม่ได้สนใจมันมากนัก ฝึกได้ไม่นานก็เลิกไป"

"ต่อมาผมหันไปเล่นบาสเกตบอล แต่ปรากฏว่าผมล้มบ่อยมาก เพราะสมดุลร่างกายไม่ดี ผมจึงคิดได้ว่าหลังจากนี้จะกลับไปฝึกมวยปล้ำอย่างจริงจัง เพื่อให้ร่างกายมีสมดุลที่ดีขึ้น"

ถึงครั้งแรกจะเลิกล้มไปในเวลาไม่นาน แต่การพยายามครั้งที่สองของ Byambajav ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป เขาเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ในกีฬาชนิดนี้ เมื่อรวมกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก เขาจึงไร้เทียมทาน สามารถกวาดทุกแชมป์ในระดับเยาวชนทั้งในกีฬามวยปล้ำ ยูโด และแซมโบ้ มาครอบครองเมื่ออายุเพียงสิบห้าปี

แต่คนที่จะกลายเป็นตำนาน แค่ฝีมืออย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีโชคด้วย ซึ่ง Byambajav มีครบทั้งสองอย่าง เพราะในขณะที่เขาวาดลวดลายในกีฬามวยปล้ำอยู่นั้น "ชิบาตะยามะ โอยากาตะ" อดีตนักซูโม่ในตำนานชาวญี่ปุ่นได้มาร่วมนั่งชมอยู่ด้วย เขาประจักษ์ชัดในฝีมือของเด็กหนุ่มชาวมองโกเลียคนนี้ จนถึงขั้นเชิญชวนให้ไปเข้าร่วมทีมซูโม่อาชีพของเขาในญี่ปุ่น

"ตอนที่ต้องออกจากมองโกเลียผมอายุแค่สิบหก ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นหรือวัฒนธรรมซูโม่เลย ไม่เคยกินอาหารญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำ มันเป็นประเทศที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง"

เมื่อ Byambajav ในวัยเพียงสิบหกปีเหยียบดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็นครั้งแรก เขาต้องเผชิญกับการต่อสู้มากมาย ทั้งในสนามซ้อมที่ต้องเจอกับนักซูโม่เจ้าถิ่นระดับพระกาฬ รวมถึงการต่อสู้นอกสนามที่ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อปรับตัวให้เข้ากับเมืองที่ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อนี่คือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเขาและครอบครัวสบายขึ้น จิตใจที่แกร่งราวเจงกีสข่านของ Byambajav ก็พร้อมสู้กับทุกอย่างที่ขวางหน้า

ทุกๆวันเขาต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า และเริ่มฝึกซ้อมอย่างหนักตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง นอกจากนั้นยังต้องถูกควบคุมเรื่องอาหารการกิน ถึงจะไม่อร่อยนักแต่ก็อุดุมไปด้วยโปรตีน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย

 7

ด้วยจิตใจและร่างกายแข็งแกร่งตามแบบฉบับชาวมองโกเลีย รวมเข้ากับการฝึกซ้อมเข้มงวดสไตล์ญี่ปุ่น ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปี Byambajav ก็คว้าแชมป์ซูโม่รายการแรกได้สำเร็จ และหลังจากนั้นก็กวาดชัยชนะเรื่อยมาจนอายุย่างเข้า 21 เขาก็มาถึงจุดสูงสุดในอาชีพนักซูโม่ แต่ก่อนจะถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ อาการบาดเจ็บก็พรากความฝันเขาไป

Byambajav ในวัย 21 ปี ที่กำลังรุ่งโรจน์อย่างเต็มที่ในเส้นทางสายซูโม่กลับต้องเผชิญหน้ากับการบาดเจ็บอย่างหนัก หลังจากพักรักษาตัวอยู่นาน เขาก็ตระหนักได้ว่าร่างกายตัวเองคงไม่เหมาะกับกีฬาชนิดนี้อีกแล้ว จึงตัดสินใจถอนตัวออกจากวงการตั้งแต่ยังหนุ่ม

"ผมตัดสินใจเดินทางกลับมองโกเลียในปี 2006 แต่หลังจากนั้นไม่นานชีวิตผมก็เจอจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง" ในเวลานั้น Byambajav ที่กลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายในบ้านเกิด โดยถอดใจที่จะมีชีวิตสุขสบายไปแล้ว กลับถูกทาบทามจาก สมาคมซูโม่แห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งติดต่อให้ไปแสดงภาพยนตร์เรื่อง "Oceans 13" ในฉากต่อสู้ซูโม่

มันคือโอกาสอีกครั้งที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาและครอบครัว Byambajav ตอบตกลงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะจัดกระเป๋าบินลัดฟ้าสู่ลอสแองเจลิส

 8

การได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Oceans 13 เปรียบเสมือนใบเบิกทางชั้นดี เพราะหลังจากนั้น Byambajav ก็ได้พบกับ Andrew Freund โปรดิวเซอร์แห่ง US Sumo Open ก่อนจะร่วมงานกันเพื่อช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมซูโม่ให้ทั่วโลกรู้จัก นอกจากนั้นเขาก็ยังวนเวียนอยู่ในฮอลลีวูด ร่วมแสดงในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ออกรายการโทรทัศน์เช่น America's Got Talent และ Big Brother แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาได้กลับมาแข่งซูโม่อีกครั้ง เพราะสภาพร่างกายที่ดีขึ้นและการแข่งขันในอเมริกาไม่ได้ดุดันเหมือนในญี่ปุ่น จนสามารถคว้าแชมป์ World Sumo Championships ได้สำเร็จ

จนในตอนนี้ชีวิตของ Byambajav ไม่ต้องอดทนกับความลำบากอีกต่อไป รวมถึงครอบครัวของเขาก็มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งหมดเป็นเพราะกีฬาชื่อซูโม่ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่นักซูโม่ที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่บทเรียนสำคัญที่เขาได้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ในมองโกเลียคือ ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางนักกีฬาอาชีพ แต่ซูโม่ก็คือตั๋วใบสำคัญที่สามารถพาทุกคนออกจากวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไปพบกับโอกาสต่างๆที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปได้

ส่งต่อความฝันรุ่นต่อรุ่น

ความสำเร็จของ Dolgorsürengiin, Byambajav และนักซูโม่มองโกเลียอีกหลายคน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความฝันในอุดุมคติของเด็กรุ่นใหม่ชาวมองโกเลียหลายคน ทำให้ในปัจจุบันมีโรงฝีกซูโม่เกิดขึ้นมากมายในประเทศมองโกเลีย รวมถึงโรงฝึกเล็กๆแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Terelij ห่างจากเมืองหลวงออกไปประมาณสองชั่วโมง ก่อตั้งโดย Davaagiin Batbayar อดีตนักซูโม่รุ่นบุกเบิกชาวมองโกเลียที่เคยไปประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานสมาคมซูโม่อาชีพแห่งมองโกเลีย

 9

โรงฝึกแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด และฝูงสัตว์มากมายที่รายล้อม แต่ภายในกลับอัดแน่นไปด้วยความฝันอันเปล่งประกาย ความมุ่งมั่นอันเด็ดเดี่ยว และจิตใจที่ไม่หวาดกลัวต่อสิ่งใดของเหล่าเด็กหนุ่ม

"ผมเริ่มเล่นซูโม่ในปี 2016 ตอนแรกผมไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย แต่หลังจากที่ทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก ในปีต่อมาผมก็ชนะเหรียญทองในทัวร์นาเมนต์ Hakuho ในประเทศทองโกเลีย และมันก็เป็นโอกาสให้ผมได้บินไปร่วมการแข่งขันที่ญี่ปุ่น"

"ความฝันของผมคือการเป็นนักซูโม่อาชีพ ตอนที่ผมดูการแข่งขันซูโม่ผ่านทางทีวี ผมคิดว่าสักวันหนึ่งจะเป็นแบบพวกเขาให้ได้ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผมและครอบครัว" หนึ่งในเด็กฝึกของโรงฝึกแห่งนี้บอก

 10

"ผมเชื่อว่าวิถีชีวิตของชาวมองโกเลียที่ต้องตื่นแต่เช้า ขี่ม้าออกไปที่แม่น้ำเพื่อตักน้ำแข็งกลับละลายที่บ้าน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพวกเรา ทำให้เป็นข้อได้เปรียบเวลาเล่นซูโม่" Davaagiin Batbayar อธิบาย

"ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในยีนของพวกเราชาวมองโกเลีย"

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "ซูโม่มองโกล" : พรสวรรค์แห่งทุ่งหญ้าสู่การกวาดแชมป์ในญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook