Fußballgott : ชไวน์สไตเกอร์ กับเรื่องธรรมดาที่ยิ่งใหญ่...ลงท้ายด้วยความรัก

Fußballgott : ชไวน์สไตเกอร์ กับเรื่องธรรมดาที่ยิ่งใหญ่...ลงท้ายด้วยความรัก

Fußballgott : ชไวน์สไตเกอร์ กับเรื่องธรรมดาที่ยิ่งใหญ่...ลงท้ายด้วยความรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"Fußballgott" คือภาษาเยอรมันที่แปลว่า "พระเจ้าแห่งฟุตบอล" สำหรับบางคน คำว่าเทพเจ้าอาจจะหมายถึงใครสักคนที่เก่งกาจมากเสียจนคุณไม่สามารถสัมผัสเขาได้

อย่างไรก็ตาม บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ คือหนึ่งในคนที่ได้รับฉายานั้น และเหตุผลเรื่องฝีเท้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่แฟนบอลเรียกเขาว่า "Fußballgott" มาจากเรื่องที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในนักเตะระดับโลกหลายๆ คน นั่นคือทัศนคติที่เหลือเชื่อ

ไม่ว่าจะตกต่ำหรือเจอสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน สุดท้าย บาสตี้ จะทำให้เรื่องเหล่านั้นจบลงด้วยความรักได้อย่างน่าประหลาด และสุดท้ายต่อให้คุณจะรักหรือชังทีมที่เขาค้าแข้งให้ คุณก็จะเกลียดนักเตะคนนี้ไม่ลงอยู่ดี ... แม้กระทั่ง โชเซ่ มูรินโญ่ ก็ยังพ่ายแพ้ให้กับเขา 

เรื่องธรรมดาแต่ยิ่งใหญ่ของ บาสตี้ เป็นเช่นไร? ติดตามได้ที่นี่

ชีวิตธรรมดา

รักแเรกของ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ในโลกฟุตบอลแน่นอนว่าจะต้องเป็น บาเยิร์น มิวนิค ทีมที่เขาเติบโตมาตั้งแต่ระบบเยาวชน และกลายเป็นผู้เล่นที่ชูถ้วยแชมป์มากมายตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ค้าแข้งอยู่ 

หลายคนไม่รู้ว่าเขาเคยเป็นเด็กที่มีทักษะทางสกีสูงมาก จนกระทั่งถึงวันที่ต้องเลือกว่าตัวเองจะเล่นกีฬาชนิดไหนดีระหว่าง สกี และ ฟุตบอล ที่เล่นมาตั้งแต่ 3 ขวบ ซึ่งแน่นอนสุดท้ายเขาเลือกฟุตบอลและพัฒนาตัวเองจนได้เล่นให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ชุดเยาวชนตั้งแต่ปี 1998 ก่อนจะขึ้นชุดใหญ่ในปี 2002 ด้วยการผลักดันของ อ็อตมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ ตั้งแต่เขาอายุ 18 ปี


Photo : www.everyfutbol.co

ฮิตซ์เฟลด์ เล่าว่าช่วงเวลานั้น บาเยิร์น กำลังต้องการกำลังเสริมในแดนกลาง เพราะนักเตะหลายคนในตำแหน่งริมเส้นกำลังอยู่ในช่วงขาลงแล้วทั้ง เมห์เม็ต โชล, เซ โรแบร์โต้, ฮาซาน ซาลิฮามิดซิช ซึ่งส่วนใหญ่อายุมากกว่า ชไวน์สไตเกอร์ ถึง 10 ปีทั้งสิ้น ขณะที่ เซบาสเตียน ไดส์เลอร์ ที่เป็นอัจฉริยะฟุตบอลก็เจ็บจนแทบไม่ได้มีส่วนร่วมกับทีมในปีนั้นเลย

ชไวนี่ ถูกฮิตซ์เฟลด์เรียกเขามาซ้อมกับทีมชุดใหญ่ได้เพียงแค่ 2 มื้อเท่านั้น ฮิตซ์เฟลด์ ไม่ลังเลและตัดสินใจส่งเขาลงสนามนัดแรกในเกมแชมเปี้ยนส์ลีกกับ ล็องส์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 ทันที ในตำแหน่งปีกขวา ว่ากันว่าตอนนั้นแววเรื่องทัศนคติในการเล่นและการใช้ชีวิตของ ชไวนี่ ถูก ฮิตซ์เฟลด์ ยืนยันว่าอีกไม่นานเด็กคนนี้จะโด่งดังไม่ใช่แค่ในเยอรมัน แต่จะไปไกลถึงระดับโลก 

4 ประตูและ 5 แอสซิสต์ สำหรับนักเตะตำแหน่งปีกที่อายุ 18 ปี ดูจะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากกับปีแรกในทีมชุดใหญ่ เขาพัฒนาการเล่นของตัวเองขึ้นทุกปีจนกระทั่งมาถึงฟุตบอลโลก 2006 ที่ เยอรมัน เป็นเจ้าภาพ ทักษะการเลี้ยงตัดเข้าในและยิงไกลเป็นจุดขายที่ทำให้ เยอรมัน ยุคสร้างเลือดใหม่คว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น แม้จะไม่ได้เป็นแชมป์แต่มันเป็นรายการที่ทำให้ชาวเยอรมันมองเห็นอนาคตของทีมชุดนี้ภายใต้แข้งที่จะพร้อมอยู่กับทีมไปอีก 10 ปีทั้ง ฟิลิปป์ ลาห์ม, ลูคัส โพดอลสกี้ และ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ 

แม้จะเริ่มโด่งดังและเป็นความหวังของชาติ แต่วิถีชีวิตของเขาเรียบง่ายและหายใจเป็นฟุตบอลเสมอ เวลาว่างของเขาหมดไปกับการไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะในเมืองมิวนิครวมถึงท่องเที่ยวธรรมชาติ เขาไม่ชอบความเอิกเกริกอะไรมากมายนัก ขอแค่เครื่องดื่มอย่าง "ราดเลอร์" (เบียร์ผสมน้ำอัดลม) และการนั่งมองอะไรไปเรื่อยก็พอแล้ว ขณะที่เรื่องการดูแลตัวเองนั้น ชไวน์สไตเกอร์ ดูแลตัวเองไม่แพ้กับคนที่โลกยกย่องอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เลย เขาชอบออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อเหมือนกันนอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับมื้ออาหารแต่ละมื้อมากๆ สลัดกับอกไก่งวง คือจานโปรดที่เขากินเสมอ และกินอาหารประเภทแป้งน้อยมาก

Photo : www.sportskeeda.com

 ทัศนติและการดูแลตัวเองดังที่กล่าวมาเป็นสารตั้งต้นที่ถูกชายชาวดัตช์ผู้มากปรัชญาอย่าง หลุยส์ ฟาน กัล ผสมทุกอย่างจากภาพวาดในหัวของเขาใหม่ ฟาน กัล เห็นภาพว่านักเตะอย่าง ชไวน์สไตเกอร์ ควรจะต้องลงเล่นในตำแหน่งตัวรับมากกว่า ... ไม่อัจฉริยะจริงไม่มีทางคิดแบบนี้ได้ เพราะ ณ เวลานั้น ชไวน์สไตเกอร์ ถือเป็นปีกที่เก่งที่สุดในประเทศเยอรมันแล้ว แต่สำหรับ ฟาน กัล แล้วนั่นไม่สำคัญแม้แต่น้อย

หากจะถามว่า ฟาน กัล เห็นอะไร? คำตอบคือเขาเห็นมากกว่าแค่ประตูและแอสซิสต์หรือฟอร์มการเล่นที่ร้อนแรง เขามองเข้าไปถึงนิสัยใจคอ และสิ่งที่ซ่อนอยู่ผ่านการสัมผัสและผ่านบอลแต่ละครั้ง ซึ่งภาพของ ชไวน์สไตเกอร์ ในหัวของฟาน กัล คือ นักเตะคนนี้คือ "บอส" ของทีม และจะเป็นคนที่ทำให้ทีมเล่นอย่างมีจังหวะจะโคนมากกว่าเก่า ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าการเอาไปเลี้ยงและยิงที่ริมเส้นเหมือนที่กุนซือคนที่ผ่านๆ มาเคยทำ และ ฟาน กัล มองว่าเสียของเป็นอย่างมากหากทำอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เขาเห็นคือ ชไวน์สไตเกอร์ มีเปอร์เซนต์เลี้ยงบอลผ่านคู่แข่งน้อยมาก 

ดังนั้น บาเยิร์น มิวนิค ในยุคของเขาจะต้องมี ชไวน์สไตเกอร์ เป็นหัวใจในแดนกลางเท่านั้น ขณะที่ตำแหน่งเดิมของ ชไวนี่ ในด้านริมเส้นนั้น ฟาน กัล ยอมเถียงกับบอร์ดของสโมสรเพื่อให้ไปซื้อตัว อาร์เยน ร็อบเบน ปีกจอมเจ็บจาก เรอัล มาดริด มาทดแทน ... ซึ่งคุณก็รู้ว่าสุดท้ายแล้วมันเวิร์กแค่ไหน

กำเนิด Fußballgott

มีเรื่องที่ทำให้คุณพอจะเห็นความต่างในเรื่องของทัศนคติของ ชไวน์สไตเกอร์ อยู่บ้าง เพราะในช่วงที่ ฟาน กัล เข้ามารื้อทีมนั้น บาสตี้ เป็นคนที่เคารพการตัดสินใจของโค้ชเป็นอย่างมาก บอกให้เปลี่ยนไปเล่นกองกลางเขาก็พร้อมที่จะลงไปเล่น ซึ่งต่างกับ ดาวิด อลาบา กองกลางจากทีมเยาวชนที่ ฟาน กัล บอกว่าจะต้องถอยลงมาเล่นแบ็คซ้ายในปีนั้น โดย อลาบา ไม่พอใจกับการย้ายตำแหน่งเท่าไหร่นัก จนถูกส่งไปให้ ฮอฟเฟ่นไฮม์ ยืมตัวอยู่พักหนึ่ง … แน่นอน ฟาน กัล ไม่สนและบอกว่าที่นักเตะไม่ชอบย้ายตำแหน่ง เป็นเพียงเพราะเขายังไม่รู้ตัวเท่านั้นว่าตัวเองจะมีศักยภาพในตำแหน่งใดมากที่สุด


Photo : www.europapress.es

วกกลับมาที่เรื่องของ บาสตี้ อีกสักนิด ฟาน กัล ถอยเขาลงมาเล่นต่ำที่สุดในแผงมิดฟิลด์ ยืนอยู่หน้ากองหลัง 4 ตัว เขาไม่ต้องการให้ ชไวน์สไตเกอร์ เข้าปะทะและเป็นฮาร์ดแมนเหมือนกับกองกลางตัวรับ แต่เขาต้องการให้ บาสตี้ เป็น "โฮลดิ้งมิดฟิลด์" ตำแหน่งซึ่งเริ่มเป็นที่แพร่หลายในฟุตบอลช่วงปลายยุค 2000's และเมื่อได้ลองเล่นตำแหน่งนี้ ชไวน์สไตเกอร์ บอกว่าเขาชอบมาก

"สำหรับผมการย้ายมาเล่นเป็นตัวกลางนั้นเป็นอะไรที่สำคัญมาก ตอนเด็กๆ ผมเคยเล่นตรงนี้มาก่อน แต่พอเริ่มใกล้จะเล่นอาชีพจึงได้มาเล่นปีก ซึ่งเมื่อได้มาเล่นเป็นตัวกลางนั้นผมสามารถพาตัวเองเข้าสู่เกมและพยายามเปลี่ยนทิศทางของเกมได้อย่างถูกต้อง" ชไวน์สไตเกอร์ กล่าว

การได้เล่น โฮลดิ้งมิดฟิลด์ เปลี่ยนให้ ชไวนสไตเกอร์ กลายเป็นนักเตะเวิลด์คลาสไปโดยปริยาย แต่นั่นยังไม่พอเพราะการยืนอยู่หน้ากองหลังนั้นไม่ได้จบที่การจ่ายบอลและกำหนดทิศทางการเล่นของทีม ชไวน์สไตเกอร์ ได้เพิ่มขีดศักยภาพในการเล่นเกมรุกขึ้นมาอีกเพราะได้รับการแนะนำจากนายเก่าอย่าง ฮิตซ์เฟลด์ ว่าแม้จะพัฒนาขึ้นมากเรื่องความฉลาดและทักษะ แต่เกมรุกคือสิ่งสำคัญสำหรับมิดฟิลด์ในโลกฟุตบอลยุคใหม่ และที่สำคัญคือการดูรุ่นพี่อย่าง โอลิเวอร์ คาห์น ให้รู้ว่าการเป็นผู้นำของทีมที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร 

ไม่ว่าโค้ชคนไหนที่เคยร่วมงานกับเขาต่างบอกว่านี่คือสุดยอดผู้นำในสนามตัวจริง ไม่เท่านั้นแม้แต่ ฟิลิปป์ ลาห์ม ที่สวมปลอกแขนกัปตันทีมของ บาเยิร์น ก็ยังยกย่อง บาสตี้ ว่าเป็นผู้นำในห้องแต่งตัวและเพื่อนร่วมทีมเรียกเขาว่า บอส ที่แปลว่าหัวหน้าเลยทีเดียว

"นักเตะอย่างเขาประเมินค่าไม่ได้ เขาคือนักเตะที่เสียสละตัวเองเพื่อทีมมันทำให้ผมนึกถึง ฟริตซ์ วอลเตอร์ นักเตะที่ทำให้เยอรมันตะวันตกเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1954 เขาเป็นเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณ แรงจิตและความใจสู้ของเขาสามารถส่งไปยังเพื่อนร่วมทีมได้อย่างน่าประหลาด" ฮิตซ์เฟลด์ ที่ภายหลังไปคุมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์บอกเล่าถึงการพัฒนาการอดีตเด็กวัย 18 ที่เขาเคยผลักดันเมื่อหลายปีก่อน


Photo : EPA

ทุกอย่างทั้งหมดประกอบกันทำให้ ชไวน์สไตเกอร์ ถูกแฟนๆ บาเยิร์น เรียกว่า "Fußballgott" หรือเทพเจ้าแห่งฟุตบอลไปโดยปริยาย ทุกครั้งที่เขาได้ลงสนามใน อลิอันซ์ อารีน่า จะมีธรรมเนียมปฎิบัติที่แฟนๆ บาเยิร์นจะทำให้เขาเสมอ 

นั่นคือช่วงเวลาแห่งการขานประกาศชื่อ 11 ตัวจริงที่ได้ลงสนาม ปกติโฆษกจะเอ่ยชื่อตัวนักเตะ อย่าง "มานูเอล" เพื่อให้แฟนๆ ขานรับด้วยนามสกุล "นอยเออร์" พร้อมๆ กัน แต่สำหรับ บาสตี้ ทุกครั้งเมื่อโฆษกเอ่ยนำว่า "บาสเตียน" แฟนเสือใต้จะตะโกนว่า "ชไวสไตน์เกอร์ ฟุตบอลก็อด" เติมคำต่อท้ายให้เสมอ 

เหตุผลที่มันพิเศษนั่นก็เพราะว่าเขาได้ทำในสิ่งที่พิเศษหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การลงเล่นและพาทีมเอาชนะและกวาดแชมป์ทุกรายการที่ลงเล่นเท่านั้น แต่ ชไวน์สไตเกอร์ เป็นนักเตะที่ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของแฟนบอลเป็นอย่างมาก อาทิในช่วงปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่เขาเล่นได้ดีมากๆ และมีข่าวว่าเขาจะไม่ต่อสัญญาเพื่อไปอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด แบบฟรีๆ 

ทว่าในเกมสุดท้ายของฤดูกาลดังกล่าวที่สนามเหย้า ในขณะที่แฟนๆ บาเยิร์นใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กับสถานการณ์ของนักเตะคนโปรดและกังวลว่านี่จะเป็นเกมสุดท้ายของเขา ... หลังจากเกมจบได้ไม่นาน ชไวน์สไตเกอร์ เดินออกจากอุโมงค์อีกครั้งและลงมาในสนาม ในมือถือไมโครโฟนพร้อมประกาศต่อสัญญาฉบับใหม่กับทีมตรงนั้นเลย แน่นอนว่านั่นทำให้การฉลองแชมป์ลีกในปีนั้นสุดเหวี่ยงสุดๆ ถึงขั้นเป็นเหตุการณ์ที่แฟนบาเยิร์นร่วมโหวตว่าทำให้พวกเขามีความสุขมากที่สุดในปีนั้นอีกด้วย 


Photo : ligalive.net

แมนฯ ยูไนเต็ด สถานการณ์พิสูจน์ใจ

หลังชนะทุกแชมป์กับ บาเยิร์น รวมถึงคว้าแชมป์โลกในปี 2014 กับทีมชาติเยอรมันแล้ว ชไวน์สไตเกอร์ ก็เจอกับเรื่องที่ต้องทดสอบจิตใจของเขาไม่น้อย เมื่อ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือของเสือใต้ในเวลานั้นเชื่อว่าเขาเชื่องช้าเกินไป ไม่เหมาะกับฟุตบอลสไตล์ของ เป๊ป ซึ่งมันทำให้เขาหลุดไปเป็นตัวสำรองบ่อยครั้ง

แม้ บาสตี้ จะเคลื่อนที่ดี แต่เขาเป็นคนที่มักจะมองซ้ายมองขวาอ่านสถานการณ์ก่อนออกบอลเสมอ ซึ่งสำหรับ เป๊ป แม้จะชัวร์แต่มันก็ช้าไป เขาต้องการห้องเครื่องที่พลิกบอลได้รวดเร็วและเล่นจังหวะเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มดัน ติอาโก้ อัลคันทาร่า นักเตะที่ เป๊ป ซื้อมาเองอย่างเต็มตัว 

ไม่มีใครคิดว่านักเตะอย่าง บาสตี้ จะไม่ได้แขวนสตั๊ดกับ บาเยิร์น แต่สุดท้ายวันแยกทางก็มาถึง เป๊ป เปิดทางให้เขาสามารถย้ายทีมเองได้ ขณะที่ตัวของเขาเองก็พร้อมจะออกไปหาประสบการณ์ใหม่ และที่สำคัญ ชไวน์สไตเกอร์ ไม่เคยมีถ้อยคำร้ายๆ ถึง เป๊ป เลยแม้แต่ประโยคเดียว แม้ว่าปรัชญาของกุนซือชาวสเปนจะทำให้เขาพบเจอกับความไม่มั่นคงในอาชีพเป็นครั้งแรก

มีเพียงการจากลาด้วยดี ขอบคุณทุกคนที่เคยร่วมงานด้วยและสุดท้ายก็ประกาศว่าเขาจะย้ายทีม ซึ่งทีมที่เขาชอบมากที่สุดนอกจากบาเยิร์นนั้นมีอีก 1 ทีมคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมที่เชียร์ตามพี่ชายตั้งแต่เด็ก และในปี 2015 นั้นเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะพอดิบพอดี เพราะ หลุยส์ ฟาน กัล อดีตโค้ชที่ให้ตำแหน่งระดับเวิลด์คลาสของเขาเป็นผู้จัดการทีมอยู่ด้วย

ทุกอย่างลงล็อก ฟาน กัล สั่งยูไนเต็ด ปิดดีล ชไวน์สไตเกอร์ ด้วยค่าตัวราว 6 ล้านปอนด์ และค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 200,000 ปอนด์ หมายปั่นปั้นมือให้ บาสตี้ เข้ามาทำให้กองกลางของยูไนเต็ดมีผู้นำที่แท้จริงให้จงได้ 

“ผมคิดว่า หลุยส์ ฟาน กัล และผม เรามีความสัมพันธ์ที่พิเศษกันมากๆ เขาให้ผมเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผมถนัดที่สุดตอนอยู่กับ บาเยิร์น และผมขอขอบคุณเขาเป็นอย่างมากสำหรับเรื่องนั้น" บาสตี้ กล่าวหลังร่วมทีม ปีศาจแดง 

ไม่ว่าจะตัวนักเตะ, โค้ช หรือแม้กระทั่งแฟนบอลไม่เคยมีใครคิดว่า ชไวน์สไตเกอร์ จะล้มเหลวกับ แมนฯ ยูไนเต็ด เลย แม้เขาจะอายุมากขึ้นแต่เขาเพิ่งคว้าแชมป์โลกมาเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นการ "หมดสภาพ" ไม่น่าเกิดขึ้นในเร็ววัน 

แต่ทุกอย่างบนโลกฟุตบอลนั้นคาดเดาไม่ได้เสมอ ปีแรกกับ ยูไนเต็ด ชไวน์สไตเกอร์ บาดเจ็บได้ลงเล่นน้อยมาก ประกอบกับผลงานทีมไม่ค่อยดี ทำให้สุดท้าย ฟาน กัล คนที่ซื้อตัวเขามาต้องรับผิดชอบด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังฉลองแชมป์ เอฟเอ คัพ ไม่กี่วัน ซึ่งคนที่เข้ามาใหม่คือ โชเซ่ มูรินโญ่

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บาสตี้ ในยุค มูรินโญ่ สามารถใช้คำว่าเลวร้ายสุดขีดก็ยังได้ เพราะนอกจากจะไม่ได้ลงสนามแล้ว มูรินโญ่ ยังทำเหมือนแกล้งกันทั้งการดร็อปไปเล่นทีมสำรอง และไม่ให้ซ้อมกับทีมชุดใหญ่เพื่อบีบให้ย้ายทีม เพราะนอกจากไม่อยู่ในแผนการทำทีมแล้ว เขายังเป็นนักเตะที่มีค่าเหนื่อยสูงอันดับต้นๆ ของสโมสรอีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โลกลูกหนังลุกเป็นไฟโดยเฉพาะคนของฝั่งบาเยิร์น พวกเขาคิดว่า มูรินโญ่ เอาตำนานอย่าง Fußballgott มาปู้ยี้ปู้ยำจนกลายเป็นตัวตลกแบบนี้ 

"พวกเขาปฏิบัติกับบาสตี้เหมือนกับต้องการจะเขี่ยทิ้ง เขาเป็นถึงแชมป์โลกและมีความเป็นผู้นำ แต่ดูสิ่งที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ทำสิ นักเตะเช่นบาสตี้ไม่คู่ควรกับสิ่งแย่ๆ แบบนี้เลย" คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ ซีอีโอของทีมเสือใต้กล่าว ขณะที่ มานูเอล นอยเออร์ หนึ่งในเพื่อนร่วมทีมคนสนิทก็เสริมว่า “มันค่อนข้างขมขื่นและน่าเศร้าเป็นอย่างมาก เราต่างก็รู้ว่า บาสเตียน สำคัญกับทีมขนาดไหน ไม่ว่าจะทั้งกับ บาเยิร์น มิวนิค และทีมชาติเยอรมัน ซึ่งสำหรับผมแล้ว เขาคือหนึ่งในสุดยอดมิดฟิลด์ของโลกอยู่เสมอ และมันเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่ได้เห็นเขาอยู่ในที่ที่เหมาะสมสำหรับโลกของฟุตบอล”   

ขณะที่ มูรินโญ่ ตอบกลับง่ายๆ ที่ทำให้หลายๆ คนหัวร้อนว่า "ผมก็แค่ตัดสินใจตามปกติ มันเป็นมาตรฐานของโค้ชทุกๆ คน" ซึ่งมันชัดเจนแล้วว่าสุดท้ายแล้ว ชไวน์สไตเกอร์ จะจบกับทีมรักทีมที่ 2 ของเขาด้วยความผิดหวังแบบรุนแรงเกินกว่าใครจะคิด

เพราะสุภาพบุรุษ ยอดนักเตะ และชายผู้ภักดีคนนี้ ควรจะจบอาชีพได้สวยมากกว่าการโดนส่งมาเล่นและซ้อมกับเด็กๆ ในทีมสำรองแบบนี้ 

แสดงออกด้วยความรัก 

หาก ชไวน์สไตเกอร์ เลือกสาดโคลนและกล่าวร้ายรวมถึงแฉสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากย้ายออกจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ภาพจำของเขาที่มีต่อแฟนๆ จะเปลี่ยนไปหรือไม่ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่เขาปฎิบัติออกมากลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนปฎิเสธไม่ลงว่าเขาเป็นยอดคนของแท้

แม้จะโดนลดเกียรติเป็นอย่างมากแต่เขาก็ทำตามที่มูรินโญ่สั่ง เขาไปซ้อมคนเดียว 3 เดือน เพื่อหวังในสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้คือขอโอกาสลงสนามอีกสักครั้ง เขาทำแบบนั้นซ้ำๆ จนสุดท้าย มูรินโญ่ เรียกเขากลับสู่ทีมชุดใหญ่ช่วงปลายปี 2016 และส่งลงสนามในเกม เอฟเอ คัพ กับ วีแกน ต้นปีถัดมา ซึ่งเขายิงประตูในเกมนั้นได้ด้วย แถมยังเป็นการตีลังกายิงอีกต่างหาก 


Photo : ligalive.net

“ผมคิดว่ามันจะไม่ใช่แบบนี้ถ้าเราได้เจอในสถานการณ์อื่น มันยาก แต่ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ผมฝันอยู่ตลอดว่าจะได้เล่นให้ยูไนเต็ดอีกครั้ง ผมอยากช่วยทีม และผมตั้งใจซ้อมเต็มที่เสมอ และในที่สุด ผมได้เล่น และยิงได้ด้วย” เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจ ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานก็ย้ายไปอยู่กับ ชิคาโก้ ไฟร์ ต้นสังกัดสุดท้ายก่อนแขวนสตั๊ด

Fußballgott ยังไงก็คงเป็น Fußballgott ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตค้าแข้งของ บาสตี้ เขาต้องเจอกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาขึ้นชุดใหญ่ของทั้ง บาเยิร์น และ เยอรมัน ในช่วงรอยต่อแห่งการสร้างทีม แต่ตัวของเขาก็เป็นเหมือนกาวที่ทำให้แต่ละส่วนปะติดปะต่อกัน ซึ่งสุดท้ายทั้ง เสือใต้ และ อินทรีเหล็ก เป็นทีมที่สมบูรณ์และประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคที่มีเขาเป็นผู้นำ 

และถึงแม้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดกับ ยูไนเต็ด เขาก็ยังอุตส่าห์สู้จนพิสูจน์ตัวเองได้ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแค่หยุด รอรับเงินเดือนจนหมดสัญญา หรือหาทีมใหม่ก็ได้ แต่เขาก็ไม่ทำ ... แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่คาแร็คเตอร์แบบ Fußballgott ก็ยังทำให้แฟนยูไนเต็ดส่วนมากรักและชื่นชมเขาอยู่ดี 

สำหรับ บาสตี้ เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาเท่านั้น เมื่อทีมอยากประสบความสำเร็จเขาก็แค่ขยันซ้อมและยกระดับการเล่นพร้อมพัฒนาตัวเองเพื่อกลายเป็นส่วนสำคัญ และเมื่อตกอับและไม่เป็นที่ต้องการ เขาก็แสดงออกแบบเดิมนั้นคือการแสดงทัศนคติและก้มหน้าก้มตาลงมือทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาสมควรได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเอง 

ไม่มีการพูดจาว่าร้าย ไม่มีการโจมตีใครสักคนที่ทำให้เขาไม่ได้ดั่งใจ  เรื่องธรรมดาเหล่านี้ช่างยิ่งใหญ่เสียจนน่าขนลุกอย่างแท้จริง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook