เรื่องง่ายๆที่ทำยาก : โบลตันทำอย่างไรจึงเต็มไปด้วยแข้งระดับโลก ทั้งที่เป็นทีมขนาดเล็ก?

เรื่องง่ายๆที่ทำยาก : โบลตันทำอย่างไรจึงเต็มไปด้วยแข้งระดับโลก ทั้งที่เป็นทีมขนาดเล็ก?

เรื่องง่ายๆที่ทำยาก : โบลตันทำอย่างไรจึงเต็มไปด้วยแข้งระดับโลก ทั้งที่เป็นทีมขนาดเล็ก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ในปัจจุบัน เป็นสโมสรฟุตบอลที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน จากการบริหารที่ผิดพลาด จนเกือบถูกขับไล่ออกจากลีกฟุตบอลอาชีพ ในฤดูกาล 2019/20

แน่นอนมันเกิดขึ้นกับได้สโมสรขนาดเล็กอย่าง โบลตัน ที่ไม่ใช่ทีมยักษ์ใหญ่ของโลกฟุตบอล... 

หากแต่ครั้งหนึ่ง โบลตันเคยเป็นทีมที่รวบรวมสตาร์ดัง จากทั่วทุกมุมโลกไว้กับสโมสรแห่งนี้ ทั้ง ทวีปอเมริกา, ยุโรป ไปจนถึงเอเชีย แม้กระทั่ง นักฟุตบอลดีกรีระดับแชมป์โลก ก็เคยย้ายมาค้าแข้ง ให้กับสโมสรแห่งนี้

โบลตัน ในเวลานั้น เป็นสโมสรขนาดเล็กที่ไม่มีทุนทรัพย์มากมาย แต่พวกเขามีคุณสมบัติอะไรกัน ที่ทำให้ทีมฟุตบอลทีมนี้ ชนะใจนักเตะหลายคนและเลือกมาค้าแข้ง

ใช้เศรษฐศาสตร์กับฟุตบอล

ย้อนไปในช่วงกลางยุค 90’s โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส คือ ทีมฟุตบอลขนาดเล็ก ที่วนเวียนอยู่กับ การเลื่อนชั้น และตกชั้น ระหว่างพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ กับลีกดิวิชั่น 1 (เดอะ แชมเปียนชิพ ในปัจจุบัน) 


Photo : www.telegraph.co.uk

เพราะสโมสรแห่งนี้ มาจากเมืองเล็กๆทางภาคตะวันเฉียงเหนือ อย่าง โบลตัน ที่ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่ เป็นชนชั้นแรงงาน ที่ตกอยู่ในสภาวะศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แถมเมืองโบลตัน ก็ไม่ใช่เมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวอีกด้วย 

ด้วยเหตุนี้ โบลตันจึงไม่ใช่ทีมฟุตบอลเงินถุงเงินถัง และไม่มีเศรษฐีคนใดสนใจจะมาเทคโอเวอร์สโมสร สปอนเซอร์ที่เข้ามาก็สนับสนุนเพียงน้อยนิด  

แต่เพราะความจนไม่ใช่ข้ออ้างในการอยู่รอด ...โบลตัน จึงต้องหาวิธีสร้างทีมในแบบฉบับของตัวเอง เพื่อให้สโมสรสามารถวนเวียน อยู่บนลีกสูงสุดให้ได้ 

ผู้บริหารทีมในยุคนั้น เลือกใช้วิธีการง่ายๆ จากวิชาเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ “การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด”

วิธีการของโบลตัน ไม่มีอะไรซับซ้อน พวกเขาไล่ซื้อนักเตะดีกรีทีมชาติชุดใหญ่ ที่เล่นให้กับชาติระดับกลางในยุโรป เพราะนักเตะเหล่านี้ มีประสบการณ์ในเกมใหญ่ระดับชาติ, ผ่านการค้าแข้งให้กับทีมฟุตบอลชั้นนำ ภายในประเทศของตัวเอง และที่สำคัญที่สุด “ถูก”


Photo : www.shoot.co.uk

โบลตัน สามารถกวาดนักเตะดีกรีทีมชาติมาได้หลายคน เช่น กุดนี เบิร์กสัน (Guðni Bergsson) กับ ไอเดอร์ กุดยอนเซน (Eidur Gudjohnsen) จากไอซ์แลนด์, นาธาน เบลค (Nathan Blake) จากเวลส์, เพอร์ ฟรานด์เซน (Per Frandsen) จากเดนมาร์ก, ริคาร์โด การ์ดเนอร์ (Ricardo Gardner) จากจาไมกา
และ ยุสซี ยัสเคไลเนน (Jussi Jääskeläinen) จากฟินแลนด์ ด้วยราคารวมกันทั้งหมดเพียง 2,600,000 ปอนด์

โดยเฉพาะในรายของ กุดนี เบิร์กสัน ปราการหลังตัวกลาง ที่โบลตันซื้อร่วมทีมเข้ามา ในราคาช็อกวงการ 65,000 ปอนด์เท่านั้น


Photo : www.theboltonnews.co.uk

“ถ้าผมไม่ซื้อตัวเขา ผมคงต้องไปแขวนคอตาย เราได้นักเตะที่ประเมินค่าไม่ได้ มาในราคา 65,000 ปอนด์เท่านั้น เขาคือสุดยอด สุดยอดนักเตะของจริง” บรูซ ริอ็อค (Bruce Rioch) อดีตกุนซือของโบลตัน ที่ซื้อเบิร์กสันมาร่วมทีมกล่าว 

เหตุผลหลักที่โบลตัน ได้ตัวเบิร์กสันมาในราคาสุดถูก เพราะเจ้าตัวถูกดองเค็ม ไม่ได้รับโอกาสลงสนาม กับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ จนถึงขั้นท้อกับการเล่นฟุตบอล ไปลงเรียนวิชากฎหมาย เพื่อหวังแขวนสตั๊ดหันไป ประกอบอาชีพทนายความแทน

แต่ริอ็อค กลับไปนั่งส่องฟอร์มของกองหลังรายนี้ ตอนไปเล่นให้ทีมสำรองของสเปอร์ส รวมถึงตอนไปทดสอบฝีเท้ากับคริสตัล พาเลซ จนได้พบเจอเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ในที่สุด

โบลตันตัดสินใจไม่ผิดกับการดึงตัวเบิร์กสัน เขาค้าแข้งอยู่กับทีม 8 ปี กลายเป็นกัปตันทีม จนแขวนสตั๊ดในวัย 38 ปี เคสการซื้อตัวเบิร์กสัน คือภาพตัวอย่างที่ชัดเจนถึงวิธีการทำงานของทีมโบลตัน ว่าพวกเขาสามารถหานักเตะที่ดีเข้าทีมได้ แม้สภาพการเงินจะไม่เอื้ออำนวย

สโมสรแห่งโอกาส

แม้จะหานักเตะคุณภาพดีเข้าสู่ทีมได้ตามต้องการ แต่ความจนกลายเป็นต้นเหตุให้โบลตัน เสียโคลิน ท็อดด์ (Colin Todd) กุนซือคนเก่งของทีมในปี 1999 ด้วยเหตุผลว่า “สภาพการเงินของสโมสร ไม่สามารถตอบโจทย์ความทะเยอทะยานของเขา”


Photo : www.independent.co.uk

โบลตันที่เจ็บปวด เหมือนโดนหญิงคนรักบอกเลิก ด้วยเหตุผลว่ารวยไม่พอ จึงต้องหาโค้ชคนใหม่มาดามใจ และพาสโมสรเดินหน้าต่อให้ได้ และทีมตัดสินใจเลือก อดีตนักเตะขวัญใจของสโมสร แซม อัลลาไดซ์ (Sam Allardyce)

อัลลาไดซ์ ในตอนนั้นเป็นเพียงแค่โค้ชที่ผ่านการคุมทีมในลีกดิวิชั่น 2 และดิวิชั่น 3 เท่านั้น แต่ประสบการณ์กับการคุมทีมระดับล่าง ทำให้เขาเข้าใจแนวทางการทำทีมที่ไร้ทุนทรัพย์เป็นอย่างดี และพาโบลตันบินกลับสู่พรีเมียร์ลีก ภายใน 2 ฤดูกาล

ในระยะแรกที่อัลลาไดซ์คุมโบลตัน เขาเน้นสร้างทีมด้วยการปั้นเยาวชน และดึงนักเตะจากลีกล่างเป็นหลัก เพื่อให้ตอบโจทย์ ฟุตบอลสไตล์ดุดันของเขา รวมถึงประหยัดเงินช่วยสโมสร...แต่เมื่อขึ้นมาบนลีกสูงสุด อัลลาไดซ์รู้ดีว่า เขาต้องการขุมกำลังที่ดีกว่าเดิม เพื่อการอยู่รอด และจะไม่กลับลงไปเล่นในลีกรองอีกแล้ว

หนึ่งในนักเตะที่อัลลาไดซ์ อยากได้มากคือ บรูโน เอ็นก็อตตี (Bruno N'Gotty) ปราการหลังดีกรีทีมชาติฝรั่งเศส ที่กำลังตกเป็นตัวสำรอง ที่โอลิมปิก มาร์กเซย์… อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอยืมตัวที่ยื่นไปให้กับนักเตะรายนี้ ถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี เพราะบรูโนไม่อยากมาร่วมทีมหนีตกชั้น แถมยังไร้ชื่อเสียง อย่างโบลตัน ในช่วงเวลานั้น

ดังคำกล่าว “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” อัลลาไดซ์รู้ดีว่า สถานการณ์ของบรูโน ไม่สู้ดีนักที่มาร์กเซย์ และโบลตันสามารถดึงตัว นักเตะรายนี้มาร่วมทีม หากแสดงให้เห็นว่า สโมสรต้องการนักเตะรายนี้มากแค่ไหน

อัลลาไดซ์ ต่อสายตรงไปเปิดใจกับบรูโน สุดท้ายปราการหลังรายนี้ เลือกย้ายมาอยู่กับโบลตันในที่สุด และกลายเป็นตัวหลักของทีม ไปอีกหลายปี ที่สำคัญโบลตัน ได้นักเตะรายนี้ในราคา 500,000 ปอนด์เท่านั้น 


Photo : uk.sports.yahoo.com

กรณีของบรูโน สร้างแนวทางให้กับโบลตัน ในการเลือกดึงตัวนักฟุตบอล ที่เป็นตัวสำรองของทีมใหญ่ มาร่วมทีม เพราะผู้เล่นเหล่านี้ เปี่ยมไปด้วยฝีเท้าและประสบการณ์ที่ดี รวมถึงความกระหายในการลงสนาม ขาดเพียงทีมที่พร้อมให้ใจและโอกาสแก่พวกเขา 

ที่สำคัญ โบลตัน พร้อมเปิดรับนักเตะทุกคน ไม่ว่าอยู่สโมสรเก่า จะได้เล่นหรือไม่ได้เล่น, มีความประพฤติเป็นอย่างไร หรืออายุมากแค่ไหน 

เหล่าบรรดานักเตะ จึงมองเห็นสโมสรโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส เป็นสถานที่ชุบชีวิตการค้าแข้ง ให้กลับมาแจ้งเกิดได้อีกครั้งเหมือนดั่ง บรูโน่ 


Photo : www.thesun.co.uk

เราจึงได้เห็นนักฟุตบอลอย่าง เจย์ เจย์ โอโคชา (Jay-Jay Okocha), อีบัน คัมโป (Ivan Campo), เควิน เดวีส์ (Kevin Devies), แกรี สปีด (Gary Speed), ยูริ จอร์เกฟฟ์ (Youri Djorkaeff), นิโกลาส์ อเนลกา (Nicolas Anelka), ฮิเดโตชิ นากาตะ (Hidetoshi Nakata), เฟรดี โบบิช (Fredi Bobic), เฟร์นานโด เอียร์โร (Fernando Hierro) และ เอล ฮัดจิ ดิยุฟ (El Hadji Diouf) ย้ายมาร่วมอยู่กับโบลตัน เพราะสโมสรแห่งนี้ พร้อมให้โอกาสผู้เล่น ที่สโมสรอื่นไม่เห็นค่า ได้กลับมาเป็นคนสำคัญอีกครั้ง

ครอบครัวโบลตัน

ทีมฟุตบอลถือว่าเป็นองค์กรรูปแบบหนึ่ง นักฟุตบอล คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่คอยขับเคลื่อนองค์กร นอกจากเรื่องความสำเร็จและรายได้ 


Photo : lionofviennasuite.sbnation.com

วัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กร คืออีกปัจจัยที่มีผล ต่อการเลือกสถานที่ทำงานของบุคลากร สำหรับ โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส สโมสรแห่งนี้ มีวัฒนธรรมองค์กรอยู่กันเป็นครอบครัว 

ที่พร้อมให้ความเชื่อมั่นแก่คนทำงานในทีม พร้อมให้โอกาสผู้เล่นหรือโค้ช ได้ทำงานในระยะยาว แม้จะมีผลงานที่ล้มเหลว หรือไม่สู้ดีนักในบางช่วง

ยกตัวอย่างกรณีของโคลิน ท็อดด์ ผู้จัดการทีมซึ่งกุมบังเหียนโบลตัน ในช่วงปี 1995-1999 ที่แม้จะพาทีมร่วงหล่น จากพรีเมียร์ลีก ถึงสองครั้ง แต่เขายังคงได้รับความไว้วางใจจากสโมสร ไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่หาได้ยากในโลกฟุตบอล

ขณะที่ผู้เล่นของโบลตัน หลายคนพร้อมปักหลักกับทีมในระยะยาว เช่น ยัสเคไลเนน ที่อยู่กับทีม 15 ฤดูกาล, การ์ดเนอร์ 14 ฤดูกาล, เดวีส์ 10 ฤดูกาล, คัมโป 6 ฤดูกาล รวมถึงเด็กปั้นของสโมสร เควิน โนแลน (Kevin Nolan) ที่ปักหลักกับทีมถึง 10 ฤดูกาล

นอกจากความไว้ใจภายในสโมสร แฟนบอลคืออีกองค์ประกอบสำคัญ ที่สร้างบรรยากาศอบอุ่น ให้กับนักฟุตบอลทุกคน ของโบลตัน…

แฟนบอลเดอะ ทร็อตเตอร์ มักจะเชิดชูนักฟุตบอลคนเก่งประจำสโมสรอยู่เสมอ ไม่ว่านักเตะคนนั้นจะมีชื่อเสียงหรือไม่ แต่หากทำผลงานได้ดีกับสโมสร พวกเขาพร้อมที่จะแต่งบทเพลง และฉายา เพื่อขับกล่อมบทเพลง และตะโกนชื่อของนักเตะรายนั้น เพื่อแสดงความรักถึงฮีโร่บนพื้นหญ้า


Photo : www.bwfc.co.uk

“พวกเขาสนับสนุนเราอย่างน่าทึ่ง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราเล่นด้วยความมุ่งมั่น ด้วยหัวใจของเรา แฟนบอลของโบลตันเป็นชนชั้นแรงงาน ซึ่งผมนับถือพวกเขา เพราะแฟนบอลของเรา เป็นกลุ่มคนที่จริงใจ และพวกเขารักฟุตบอลอย่างมาก” อีบัน คัมโป กล่าวถึงแฟนบอลโบลตัน

“สโมสรแห่งนี้ เป็นทุกอย่าง เป็นหัวใจของเมือง แมตช์เดย์คือสิ่งที่ผู้คนตั้งตารอ สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ มีความหมายมากกว่าที่ใครหลายคนจะรู้” เควิน เดวีส์ อดีตกัปตันทีมของโบลตัน พูดถึงแฟนบอลเดอะ ทร็อตเตอร์ กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง ความอบอุ่นของสโมสรแห่งนี้

“นักเตะทุกคน เล่นให้กับโบลตันด้วยรอยยิ้ม พวกเขาล้วนมีช่วงเวลาที่ดีที่โบลตัน หรือตัวผมเอง ผมไม่เคยคิดอยากย้ายทีม ไปคว้าถ้วยรางวัลอะไรทั้งนั้น เพราะการประสบความสำเร็จไปกับโบลตัน ช่วยเติมเต็มทุกสิ่งทุกอย่าง ในใจของผมแล้ว” เดวีส์กล่าว

โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส คือสโมสรขนาดเล็กจากเมืองโบลตัน ที่ไม่มีงบประมาณเงินถุงเงินถัง เป็นแบบนั้นมาตลอด…

แต่ครั้งหนึ่ง ทีมฟุตบอลทีมนี้ เคยสร้างหลากหลายเรื่องราวให้ผู้คนจดจำ ทั้งความเก่งกาจในการต่อสู้กับสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่, ทีมฟุตบอลที่เคยไปประกาศศักดา บนเวทียุโรป และเป็นสโมสรฟุตบอลขนาดเล็ก ที่เคยคว้าดาวดัง จากทั่วโลก รวมไว้ที่เมืองโบลตัน และฝากไว้เป็นความทรงจำเล็กๆ ให้กับแฟนฟุตบอลอังกฤษทุกคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook