Rocky IV : หนังแซะยุคสงครามเย็นที่ฝังตัวเองใต้ความสะใจของอเมริกัน

Rocky IV : หนังแซะยุคสงครามเย็นที่ฝังตัวเองใต้ความสะใจของอเมริกัน

Rocky IV : หนังแซะยุคสงครามเย็นที่ฝังตัวเองใต้ความสะใจของอเมริกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนังฮอลลีวู้ดคือสื่อที่เป็นยิ่งกว่าความบันเทิง เพราะหนังดีๆ เรื่องหนึ่งสามารถสร้างอิทธิพลให้กับโลกใบนี้ได้อย่างน่าประหลาด

Rocky หนังมวยที่สร้างเเรงบันดาลใจและเป็นหนักกีฬาที่ทำรายได้มากที่สุดก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงภาคที่ 4 ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ตัวนำสำคัญของเรื่องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังกลับตัดสินใจฝังความสำเร็จที่ทำมาหลายปีด้วยการ "เปลี่ยนแนวมันซะ"

 

จากหนังสร้างแรงบันดาลใจกลายเป็นฮีโร่อเมริกันชนที่ใส่นวมไปถลุงกับปีศาจร้ายจากชาติคู่ปรับตลอดกาลของอเมริกาอย่างสหภาพโซเวียต 

เรื่องราวการเปลี่ยนแนวและชั้นเชิงในการแซะของ สตอลโลน เป็นเช่นไร?

เริ่มต้นด้วย "สร้างแรงบันดาลใจ"

Rocky ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตนักมวยที่แสดงนำ, เขียนบท และกำกับโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (มีเพียงภาคแรกและภาค 4 เท่านั้นที่ไม่ได้กำกับเอง) ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้คือการเล่าเรื่องผ่านชีวิตไปพร้อมกับการชก และทำให้คนที่ดูเข้าใจความหมายว่าชีวิตของคนเรานั้นทำไมเมื่อเกิดมาแล้วจึงควรต้องสู้

 1

สตอลโลน เล่าเรื่องทุกอย่างได้ครบรสตั้งแต่วันที่ ร็อคกี้ ตกอับ จนกระทั่งได้ส้มหล่นเมื่อแชมป์โลกที่ชื่อว่า อพอลโล่ ครีด เลือกเขาขึ้นมาเพื่อเป็นบันไดให้ตัวเองเพิ่มสถิติการชกและป้องกันแชมป์ แต่ความยอดเยี่ยมคือ เมื่อโอกาสผ่านเข้ามาแค่ครั้งเดียว ร็อคกี้ บัลบัว เลือกที่จะทุ่มเทแบบแลกด้วยชีวิตเพื่อคว้าโอกาสครั้งนั้นให้ได้

สตอลโลน เล่าว่าเขาใช้เวลา 20 ชั่วโมงรวดเพื่อเขียนบททั้งหมด 90 หน้าของ Rocky ภาคแรก ทุกอย่างกลั่นออกมาชีวิตของเขาเองที่เคยตกระกำลำบากจนถึงขั้นต้องขายสุนัขคู่ใจให้กับคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งไปทำงานรับจ้างเป็นคนล้างกรงในสวนสัตว์ที่ เซ็นทรัล พาร์ค เมื่อครั้งอดีต 

การเล่าเรื่องคนขี้แพ้ในมหานครแห่งความฝันทำให้หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อสังคมอเมริกันมากในยุคนั้น นอกจากนี้มันยังทำรายได้มหาศาลถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตอนออกฉายในปี 1976 ทั้งๆ ที่ใช้ทุนสร้างเพียง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ที่สำคัญ Rocky ยังเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 1976 ถึง 10 รางวัลและคว้ารางวัลมาได้ 3 สาขาได้แก่ Best Picture (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม), Best Director (ผู้กำกับยอดเยี่ยม) และ Best Film Editing (ลำดับภาพยอดเยี่ยม)

ภาค 2 ออกฉายในปี 1979 เกี่ยวกับช่วงที่ ร็อคกี้ ออกไปใช้นอกชีวิตนอกสังเวียน ก่อนที่จะต้องคืนวงการอีกครั้งหลังถูก อพอลโล่ ครีด ท้ารีแมตช์ ภาคที่ 3 ออกฉายในปี 1982 เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ ร็อคกี้ ป้องกันแชมป์โลกเฮฟวี่เวตได้ 10 สมัย แต่ชีวิตก็ไม่มีความสุข และเมื่อนั้นเขาแพ้ให้กับคู่ชกจนเสียแชมป์โลก ซึ่งหลังจากแพ้น็อคครั้งนั้น ร็อคกี้ ก็พยายามตามหาสัญชาตญาณนักสู้ของเขาให้กลับมาอีกครั้ง

 2

อย่างไรก็ตามแม้จะเริ่มต้นด้วยการเป็นหนังดราม่าที่สร้างแรงบันดาลใจและประสบความสำเร็จมากจากจุดนั้น ทว่า สตอลโลน ไม่ยอมหยุดการ "โต" ของหนังเรื่องนี้ขึ้นไปอีกขั้นในภาคที่ 4 ซึ่งออกฉายในปี 1985 เพราะหนนี้ สตอลโลน เล่นใหญ่ด้วยการตั้งใจจะพาตัวละคร ร็อคกี้ ออกไปชกนอกสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก

และช่างบังเอิญเหลือเกินที่เขาเลือกให้คู่ชกคนต่อไปในภาค 4 มาจากสหภาพโซเวียต ชาติที่เป็นศัตรูอันดับ 1 ของอเมริกาในเวลานั้น ...

Rocky IV ความบังเอิญหรือตั้งใจ?

เป็นช่วงจังหวะที่พอดีลงตัวเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากเข้าสู่ยุค '80s เป็นต้นมา สงครามเย็น (Cold War) ระหว่างโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ กับโลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียดเป็นหัวหอก เข้าสู่การปะทุรอบสองพอดี เนื่องจากเกิดสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถานเริ่มใน 1979 ซึ่งโซเวียตมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยน อัฟกานิสถาน ให้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกับตน

ขณะที่ อเมริกา ก็พยายามคานอำนาจเต็มที่ด้วยการเพิ่มการกดดันด้านการฑูต, การทหาร และทางเศรษฐกิจด้วย ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน พยายามใช้วาทะกรรมหลายอย่างเพื่อโจมตีโซเวียตว่าเป็นอาณาจักรแห่งความชั่วร้าย ไร้ความเมตตา และมีนโยบายที่ล้าสมัย 

 3

อย่างไรก็ตามสิ่งที่แอบสร้างความกดดันและปลูกฝังอยู่แบบลับๆ ที่ซ่อนตัวอยู่คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ด้วยวิธีการนำเสนอหนังที่ทำให้ โซเวียต เป็นตัวร้าย จากนั้นก็ออกฉายไปทั่วโลกเพื่อสร้างภาพจำให้กับประชากรที่ได้รับชม 

ในยุคนั้นถือเป็นยุคทองของหนังแอ็คชั่น นักเแสดงสายบู๊แจ้งเกิดขึ้นมาหลายคนทั้ง ชัค นอร์ริส, บรูซ วิลลิส, ฌอง โคล้ด แวนแดม, สตีเว่น ซีกัล และ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ซึ่งหนังแอ็คชั่นที่พวกเขาแสดงหลายเรื่อง มักมีแพทเทิร์นคล้ายๆ กัน คือมีตัวโกงเป็นฝั่งโซเวียตในแทบจะทั้งสิ้นเลยทีเดียว

จากช่วงเวลาต่างๆ ที่มันลงล็อกพอดี สตอลโลน วางตัว ร็อคกี้ ในภาค 4 ให้กลายเป็นฮีโร่แบบอเมริกันชน และแน่นอนว่าตัวโกงคือ อีวาน ดราโก้ นักชกรุ่นเฮฟวี่เวตชาวโซเวียตที่ถูกวางคาแร็คเตอร์ชนิดที่ว่าแค่เห็นก็เกลียดหน้าได้ทันที 

สตอลโลน วางให้ ดราโก้ เป็นคนที่น่าเกลียดในทุกๆ อย่างทั้งในแง่ของความเย็นชา ใบหน้าที่เรียบเฉย การกระทำที่ไม่สนถูกผิดและชั่วร้ายถึงขีดสุด ที่สำคัญคือ ดราโก้ คือคนที่ฆ่า อพอลโล่ ครีด คู่ปรับตลอดกาลที่ภายหลังเป็นเพื่อนซี้ของ ร็อคกี้ และเป็นตัวละครโปรดของแฟนๆ ด้วย 

“ผมวางบทบาทของ อีวาน ดราโก้ เขาจะเป็นตัวร้ายที่เหมือนพวกเครื่องจักร ไม่มีความกลัว ไร้หัวใจ และชั่วร้าย เขาเพิ่งฆ่า อพอลโล่ ครีด ไปสดๆ ร้อนๆ" สตอลลโลน กล่าวเริ่ม

 4

เขามองหาคนที่จะมาแสดงบทนี้ก่อนจะปะทะเข้ากับ ดอล์ฟ ลุนเกรน นักแสดงชาวสวีเดน ที่ สตอลโลน ตบเข่าดังฉาดว่าคนดูจะต้องเกลียด ดราโก ที่มีคาแร็คเตอร์แบบ ลุนเกรน นี้ เพราะแม้แต่เขาเห็นแรกเห็นก็ยังรู้สึกเกลียดขี้หน้าเลย

"ผมนัดเจอกับเขา และเมื่อเขาเดินเข้ามาในห้องเท่านั้นแหละ ผมรู้ทันทีเลยว่าผมเกลียดเขาตั้งแต่วินาทีแรก ผมบอกว่านี่แหละนักสู้เหนือมนุษย์ที่จะมารับบทคู่ต่อสู้ของร็อคกี้ เขาคนนั้นจะต้องเป็นคนที่แค่เห็นหน้าก็เข้าไปอยู่ในจิตใจคนดูแล้ว" 

ในตอนแรกมันเป็นแค่เรื่องสันนิษฐานเท่านั้นว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับสงครามเย็นระหว่างโซเวียตกับอเมริกาจริงหรือไม่ แม้ ดราโก้ จะมีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับชาวโซเวียตอยู่บ้างตรงที่หัวทอง กรามใหญ่ และมีใบหน้าที่เคร่งขรึมตลอดเวลา และแค่เห็นก็พร้อมจะโดนเกลียด อย่างไรก็ตามมันก็เป็นปกติในหนังทุกเรื่องเพราะตัวร้ายจำเป็นจะต้องมีคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจนมากๆ จนถึงขั้นเป็นจุดเด่นที่ทำให้หนังขายได้

ทว่าเมื่อหนังของ สตอลโลน ออกฉายกลับมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ชอบพามากล และมันชวนให้คิดว่าเขาตั้งใจจริงๆ ที่จะทำหนังซึ่งใช้กระแสของสงครามเย็นและกระแสแอนตี้โซเวียตทำให้ Rocky IV กลายเป็นตำนานที่ดังระเบิด

เล่นกันโต้งๆ

วาทะกรรมของ เรแกน ที่บอกว่าโซเวียตคืออาณาจักรที่ชั่วร้ายถูกสื่อออกมาในหนังเรื่องนี้ เพราะในขณะที่ ร็อคกี้ นั้นล่าฝันแบบอเมริกันสู้ตายภายใต้อ้อมกอดของครอบครัวและคนที่รัก ดราโก้ กลับต่างกันคนละโลก สิ่งที่เขาต้องการมีเพียงชัยชนะแบบไม่สนวิธีการ ซึ่งยังสะท้อนผ่านการฝึกซ้อมแบบไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวันราวกับเป็นเครื่องจักร แถมยังมีลูกเล่นสกปรกอย่างการใช้สเตียรอยด์อีกด้วย ขณะที่ร็อคกี้ ซึ่งในเรื่องเขาต้องบินไปชกถึงดินแดนโซเวียต กลับเจอการปฏิบัติราวกับนักโทษ แคมป์ซ้อมของเขานอกจากหนาวเหน็บแล้ว ยังไม่มีแม้กระทั่งกระสอบทราย ต้องประยุกต์วิธีการชาวบ้านอย่างการเลื่อยไม้, ยกหิน, ใช้ตัวเองเทียมเลื่อน ในการฝึกซ้อม แถมยังมีเจ้าหน้าที่ทางการเฝ้าติดตามตลอด 24 ชั่วโมง

 5

นอกจากนี้ยังมีบทพูดที่พยายามจะส่งสัญญาณว่านี่มันมากกว่าแค่ในหนังเช่นฉากหนึ่ง ที่พี่เขยของ ร็อคกี้ อย่าง พอลลี่ (แสดงโดย เบิร์ท ยัง) ตอบโต้การดูถูกอเมริกาของ นิโคไล โคลอฟฟ์ โปรโมเตอร์ของ ดราโก้ ที่บอกว่าชาวอเมริกันก็โดนปิดหูปิดตาจากรัฐบาลไม่ต่างจากชาวโซเวียตนักหรอก คนอเมริกันตกหลุมพรางและโดนหลอกโดย เรแกน เพราะความจริงแล้ว อเมริกา ก็เลวร้ายและชอบใช้ความรุนแรงไม่ต่างกับโซเวียต

"โอ้โห เรารุนแรงเหรอ? คิดใหม่ดีๆ นะโว้ย ประเทศเราไม่เคยเอาประชาชนไปแอบไว้กับปืนกลหรอกนะ" นี่คือสิ่งที่ พอลลี่ กล่าว ซึ่งก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่รัฐบาลอเมริกาใช้โจมตีโซเวียตเรื่องที่พวกเขามักจะเล่นไม่ซื่ออยู่เสมอ

จริงๆ แล้วมันแทบไม่ต้องตีความเลยด้วยซ้ำ เพราะ สตอลโลน พยายามใส่สัญลักษณ์ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน นักมวยอเมริกาสวมเสื้อคลุมลายธงชาติและสวมหมวกทรงสูงแบบ "ลุงแซม" ขณะที่นักมวยโซเวียตนอกจากจะมีใบหน้าบึ้งตึงตลอดเวลาแล้ว ดราโก้ มักจะปรากฎตัวพร้อมๆ กับโลโก้ค้อนและเคียวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์เสมอ

 6

หนังยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งเห็นความตั้งใจของผู้สร้างยิ่งขึ้น ว่าไฟต์ระหว่าง ร็อคกี้ บัลบัว กับ ดราโก้ นั้นเป็นไฟต์คู่ขนานกับโลกแห่งความจริงระหว่าง อเมริกา และ โซเวียต ต่างฝ่ายต่างเกลียดชัง และเมื่อได้ประจันหน้าก็พร้อมจะซัดกันให้ตายไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว

แต่...

ภายใต้ความ "ตั้งใจแซะ" เหตุการณ์สงครามเย็น ทำให้หนังเรื่องนี้สนุกมากโดยเฉพาะฉากแอ็คชั่นในช่วงการชกมวย Rocky IV ทำเงินทั่วโลกไปกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกลายเป็นหนังกีฬาที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในเวลานั้น (ก่อนจะถูกเรื่อง The Blind Side ทำลายสถิติในอีก 2 ทศวรรษถัดมา) 

อย่างไรก็ตามในแง่ของคำวิจารณ์นั้นมันตรงกันข้าม เพราะเหล่านักวิจารณ์เชื่อว่า สตอลโลน เห็นแก่เงินและเอาตัวละคร ร็อคกี้ ที่เป็นขวัญใจชาวอเมริกันมาฆ่าในภาค 4 นี้เอง แฟนๆ หนังมองว่า ร็อคกี้ สูญเสียตัวตนไปจากนักมวยที่สู้เพื่อฝัน กลับกลายเป็นเครื่องจักรสังหารที่พร้อมฆ่าใครคนหนึ่งบนสังเวียน นอกจากนี้ยังมีรางวัลยอดแย่แห่งวงการภาพยนตร์ "แรซซี่" ซึ่งเป็นเกียรติยศที่คนทำหนังไม่เต็มใจที่จะได้ถึง 5 รางวัล การันตีความเละของ Rocky IV อีกด้วย

สตอลโลน เองก็ยอมรับภายหลังว่านี่คือความผิดพลาดที่ทำให้แฟนไชส์ Rocky สูญเสียตัวตนไป เพราะในภาค 5 ซึ่งออกฉายในปี 1990 กระแสตอบรับจากแฟนๆ ก็ยิ่งแย่กว่าเดิมจนเป็นภาคที่ทำรายได้แย่สุด จนเรียกว่า ขุดหลุมฝังตัวเองเสร็จสรรพ 

กว่าทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอยก็ต้องรออีก 16 ปีถัดมา เมื่อสตอลโลนขอแก้มือด้วยภาค 6 ปิดตำนานบนสังเวียนของร็อคกี้ในชื่อ Rocky Balboa ซึ่งได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวก จนสามารถทำภาคสปินออฟอย่าง Creed ที่ร็อคกี้ในวัยทองเปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นเทรนเนอร์ให้ อโดนิส ครีด ลูกชายของ อพอลโล่ ครีด เพื่อนรักคู่ปรับตลอดกาลสู่ฝันแชมป์โลกมาถึง 2 ภาคแล้วในตอนนี้ (แถม Creed II ยังหยิบเส้นเรื่องจาก Rocky IV มาเล่นต่อ ด้วยการให้ อโดนิส ต้องโคจรมาพบกับ วิคเตอร์ ลูกชายของผู้ปลิดชีวิตคุณพ่ออีกด้วย)

 7

คำถามคือนอกจากเรื่องเงินแล้ว สตอลโลน ภูมิใจอะไรบ้างกับเรื่องนี้? 

การฝัง ร็อคกี้ ลงหลุมด้วยตัวเองอาจจะดูน่าเศร้า แต่ความจริงแล้ว มันมีเรื่องที่ "น่าจะเกี่ยวข้อง" กับสงครามเย็นอีกเรื่อง ซึ่งหนนี้เป็นด้านดี มีหลายคนโยงกันว่าอย่างน้อย Rocky IV ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่ทำให้สงครามเย็นนี้จบลงอย่างรวดเร็ว 

แม้ว่าหนังจะไม่ได้มีอิทธิพลถึงขั้นเปลี่ยนใจรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศแต่ Rocky IV จบเรื่องความเกลียดชังของคนที่เกลียดกันมากๆ ด้วยการใช้ "มวย" เข้ามาเป็นสื่อกลางได้อย่างลงตัว

ร็อคกี้ กับ ดราโก้ เริ่มเรื่องด้วยการเกลียดกันเข้ากระดูกดำแบบฆ่ากันได้ด้วยมือเปล่า ขณะที่ช่วงเดินเรื่องต่างฝ่ายต่างพยายามชี้ให้เห็นถึงความแย่ของกันและกัน แต่สุดท้ายฉากจบมีกุศโลบายที่ สตอลโลน ฝากไว้กับคำพูดของ ร็อคกี้ 

 8

"ฉันมาที่นี่และไม่รู้ว่าฉันต้องการอะไร ฉันเห็นคนที่นี่เกลียดฉันมาก และฉันก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น" ร็อคกี้ กล่าวหลังจบไฟต์กับ ดราโก้ ซึ่งนักชกอเมริกันคว้าชัยได้สำเร็จ

"แต่ระหว่างการต่อสู้ ฉันเห็นอะไรเปลี่ยนไปมากมาย และเชื่อว่าแกเองก็รู้สึกเหมือนกัน ฉันว่าฉันชักจะชอบแกขึ้นมาบ้าง ในสังเวียนนี้มีชาย 2 คน 2 สัญชาติกำลังจะฆ่ากัน แต่ที่สุดแล้วฉันว่ามันก็ดีกว่าให้คน 20 ล้านคนมาฆ่ากันจริงไหม? (หมายถึงสงคราม)"

"ถ้าฉันเปลี่ยนแปลงได้ แกก็เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับทุกๆ ที่ สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้เสมอ" อ่านมาถึงตรงนี้คุณน่าจะพอรู้สึกได้บ้างว่า สตอลโลน ตั้งใจจะสื่ออะไรถึงคนดูกันแน่ ...

ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากเพียงเราเปิดใจ และจงอย่าปล่อยความเชื่อครอบงำจนมองข้ามความเป็นจริงเด็ดขาด ... เมื่อนั้นคุณอาจจะได้พบมุมมองที่แตกต่างออกไปในแบบที่ไม่เคยเจอ 

มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญอีกครั้งที่หลังจากหนัง Rocky IV เข้าฉายในปี 1985 สงครามเย็นก็เริ่มเข้าสู่ช่วงของการผ่อนคลายและสิ้นสุดพอดี เนื่องจากตอนนั้นผู้นำโซเวียตคนใหม่อย่าง มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประกาศยุติสงครามในอัฟกานิสถาน และหลังจากนั้นไม่กี่ปี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตเองเสียการควบคุม จนกระทั่งนำมาสู่การยุบสหภาพโซเวียตในที่สุด...

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ Rocky IV : หนังแซะยุคสงครามเย็นที่ฝังตัวเองใต้ความสะใจของอเมริกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook