Google รู้ทุกเรื่องจริงหรือ? : วิวัฒนาการข่าวกีฬา (ปลอม) ในอินเตอร์เน็ตที่หลอกคนเกือบทั้งโลก

Google รู้ทุกเรื่องจริงหรือ? : วิวัฒนาการข่าวกีฬา (ปลอม) ในอินเตอร์เน็ตที่หลอกคนเกือบทั้งโลก

Google รู้ทุกเรื่องจริงหรือ? : วิวัฒนาการข่าวกีฬา (ปลอม) ในอินเตอร์เน็ตที่หลอกคนเกือบทั้งโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Google และอินเตอร์เน็ตอยู่คู่กับชาวไทยและประชากรโลกมาอย่างยาวนาน มันคือแหล่งรวบรวมช่องทางสู่ข้อมูลและความรู้มากมายที่ทุกคนสามารถค้นคว้าได้แค่ปลายนิ้ว

อย่างไรก็ตามใดๆ บนโลกล้วนมี 2 ด้านเสมอ บนความง่ายกลายเป็นดาบ 2 คม เมื่อมีข่าวจริงย่อมมีข่าวลวงที่ใช้หลอกล่อผู้ใช้งานได้เสมอ

ในโลกกีฬาก็เช่นกัน "ข่าวปลอม" ถือกำเนิดขึ้นและสร้างผลกระทบมากมาย ว่าแต่ข่าวปลอมเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมาฮิตกันในตอนไหนกันแน่? 

 

ตลาดใหญ่ในโลกกีฬา 

โลกของกีฬาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันหยุดยั้ง จากที่กีฬาเคยเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการสักการะเทพเจ้า ยกตัวอย่าง โอลิมปิก เกมส์ ยุคโบราณ (Ancient Olympic Games) เป็นเทศกาลที่จัดแข่งขันกีฬาขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการบูชาเทพเจ้าซูส ตามความเชื่อของ กรีกโบราณ โดยการแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 776 ปีก่อนคริสต์กาล ไล่เรียงเรื่อยมาจนกลายเป็นโอลิมปิกยุคเริ่มแรก ที่เป็นการวัดแสนยานุภาพกองทัพโดยใช้กีฬาต่อสู้เป็นหลัก และนักกีฬานั้นเป็นทหารสังกัดอาณาจักรต่างๆ

 1

เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กีฬาไม่ใช่แค่การแข่งขันอีกต่อไป แต่มันคือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ หรือความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจและมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้นเป็นหมื่นๆ ล้าน ซึ่งไม่มีทีท่าว่ากระแสของกีฬาจะตกลงไปเลย

เมื่อกีฬาไม่ต่างจากความบันเทิง สิ่งที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็คือสื่อที่คอยนำเสนอเรื่องราวถึงคนในวงกว้าง ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางมอบ "ความจริง" ให้กับผู้รับสาร 

อย่างไรก็ตามผู้ลงแรงก่อนสามารถชิงส่วนแบ่งในตลาดได้ก่อน สื่อใหญ่ที่เชื่อถือได้ครองตลาดกีฬาอย่างเหนียวแน่นทั้ง BBC, Sky Sports, ESPN และอื่นๆ อีกหลายเจ้า พวกเขาเหล่านี้แข่งกันด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพและความรวดเร็วในการนำเสนอจนติดตลาดมานานต่อเนื่องระดับหลายสิบปี 

เมื่อเค้กก้อนใหญ่โดนแบ่งไปแล้ว ผู้ที่มาทีหลังก็ยากที่จะต่อกรหากใช้กลยุทธ์เดียวกัน สื่อหลายเจ้าพยายามจะนำเสนอเรื่องของกีฬาในรูปแบบที่แปลกและฉีกจากสื่อใหญ่เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้รับสาร บางที่เน้นการนำเสนอในแง่มุมของความแปลกและสนุกสนาน บางเจ้าเน้นไปที่เรื่องราวเจาะลึกที่เข้มข้นยิ่งกว่าเรื่องของผลการแข่งขัน เป็นต้น 

ทว่าการนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างและน่าสนใจนั้น ต้องการปัจจัยหลายอย่างทั้งพลังความคิดหรือไอเดียในการนำเสนอ รวมถึงพลังเงิน และคอนเน็คชั่นต่างๆ เพื่อเข้าถึงแหล่งข่าวสำหรับประเด็นที่น่าสนใจทั้งหลายด้วย 

 2

ดังนั้นมันจึงมีวิธีที่ง่ายกว่า ใช้สมองน้อยกว่า ใช้เงินน้อยกว่า และได้สิ่งที่แตกต่างจากสื่อเจ้าใหญ่ทำแน่นอน 100% วิธีดังกล่าวคือการ "สร้างข่าวปลอม" ที่แทบไม่ต้องใช้อะไรเลยนอกจากการ "มโนล้วนๆ"

แม้จะผิดจรรยาบรรณสื่อ แต่อย่างน้อยๆ ข่าวปลอมก็ยังกลุ่มเป้าหมายอยู่ดี นั่นคือกลุ่มคนที่พร้อมเชื่อในสิ่งที่เห็นทันทีโดยไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน ... และเมื่อเริ่มจาก 1 มันก็จะกระจายต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อหาข่าวปลอมมันย่อมเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่แล้ว จึงทำให้มันถูกแชร์ออกไปได้โดยง่ายและมีโอกาสที่จะเปรี้ยงมากขึ้นไปโดยปริยาย

ข่าวปลอมเลเวล 1... เบาๆ และได้ลุ้น 

แรกเริ่มเดิมทีนั้นข่าวปลอมยังไม่ได้เกลื่อนโลกอินเตอร์เน็ตและซ่อนอยู่ในเสิร์ชเอ็นจิ้นมากขนาดนี้ ยุคก่อนหน้านี้มีข่าวกีฬาที่เน้นการคาดเดาและใช้คำว่า "น่าจะ" เกิดขึ้น เช่นเรื่องของตลาดซื้อ-ขายนักกีฬา โดยเฉพาะนักฟุตบอล หรือแม้กระทั่งเรื่องซุบซิบวงใน

 3

ข่าวลือนั้นมักมีฐานเริ่มต้นจาก "ความน่าจะเป็น" โดยอิงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ของข่าวลือในอดีตคือ ทันทีที่ เดวิด เบ็คแฮม ติดปลาสเตอร์ที่ปลายคิ้ว ก็มีข่าวลือออกมาทันทีว่าแผลของเขาเกิดขึ้นในห้องแต่งตัวของทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งมันถูกต่อยอดว่าสถานการณ์ในทีมกำลังระส่ำและเบ็คแฮมกำลังจะย้ายทีม ดังนั้นข่าวลือต่างๆ ก็เกิดขึ้นทันที

ทุกคนอยากรู้ว่า เบ็คแฮม จะไปไหนต่อ? และกว่าที่ความจริงจะปรากฎว่าเขาถูก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เตะสตั๊ดพลาดมาโดนปลายคิ้ว จนกลายเป็นอีกชนวนเหตุสำคัญสู่การย้ายไปอยู่กับ เรอัล มาดริด เบ็คแฮม ก็เป็นข่าวพัวพันกับหลายทีมทั้ง บาร์เซโลน่า, อินเตอร์ มิลาน หรือทีมดังอื่นๆ มากมายไปเรียบร้อยแล้ว 

"90% ของข่าวซื้อขายนั้นล้วนเกิดจากการคาดเดาทั้งนั้น คนอ่านก็อยากจะอ่านเรื่องพวกนี้และหวังว่าทีมของพวกเขาจะเป็นฝ่ายที่ได้รับข่าวดีในท้ายที่สุด" แกรี่ ลินิเกอร์ อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษที่ปัจจุบันทำงานเป็นสื่อกีฬา เชื่อว่า "ข่าวลือ" คือส่วนหนึ่งของความบันเทิงในชีวิตคนดูกีฬา 

ขณะที่ ราฟาเอล ปิโล่ หัวหน้าของ CIES Football Observatory มองว่า ยิ่งตลาดของกีฬาใหญ่ขึ้น ข่าวลือก็จะเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้สุดท้ายแล้วความจริงอาจจะจบไม่ตรงกับที่นำเสนอ แต่ข่าวลือก็มักจะมีส่วนถูกเล็กๆ ซ่อนอยู่เช่นกัน

"บางครั้งข่าวลือก็บอกอะไรกับเรา เช่นมันเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้เล่นคนนี้กำลังอยู่ในโอกาสที่จะมีการซื้อ-ขาย มันมีผลเหมือนกันนะ ยิ่งผู้เล่นคนนั้นมีข่าวลือมากเท่าไหร่ ทีมที่ตั้งใจจะซื้อเขาจริงๆ ก็จะยิ่งกดดันและทำให้พวกเขารีบลงมือด้วย" ปิโล่ กล่าว 

ข่าวลือเปรียบเหมือนสีสันของวงการ ผู้คนชอบมันเพราะมันทำให้พวกเขาได้เอาข่าวๆ นั้นไปคิดต่ออีกขั้น อย่างเช่นที่อังกฤษซึ่งมีบ่อนพนันถูกกฎหมายนั้น มักจะเปิดหัวข้อต่างๆ ให้แฟนๆ ได้เดิมพันเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อขาย "นักเตะคนนี้จะไปอยู่กับทีมไหนในท้ายที่สุด?" นี่คือหัวข้อสุดฮิตที่บ่อนเปิดให้คนแทงกันอย่างล้นหลาม

ยกตัวอย่างเช่นในช่วงปลายฤดูกาล 2018-19 ที่ผ่านมา Coral บ่อนรับพนันถูกกฎหมายบนเกาะอังกฤษออกราคาสถานีต่อไปของ ฟิลิปเป คูตินโญ่ (ณ เวลานั้นอยู่กับ บาร์เซโลน่า) โดยเปิดราคามาที่ เปแอสเช แทง 1 จ่าย 2, นาโปลี และ ยูเวนตุส แทง 1 จ่าย 3, แมนฯ ยูไนเต็ด แทง 1 จ่าย 6 และกลับมายังลิเวอร์พูลที่ราคาแทง 1 จ่าย 8 ที่คือตัวเลือกท็อป 5 ที่โต๊ะเปิดไว้ 

 4

ซึ่งหากยังจำกันได้ ณ เวลานั้นข่าวลือว่า คูตินโญ่ จะย้ายไปทีมต่างๆ เยอะมาก ออกมาแทบทุกวัน วันหนึ่งหลายๆ ข่าวหลายๆ ทีม ก่อนที่สุดท้าย คูตี้ จะเลือกย้ายไป บาเยิร์น มิวนิค แบบที่ไม่มีใครคิดในซัมเมอร์นี้ ... นั่นเท่ากับว่าข่าวลือทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยม โต๊ะกินเรียบ ส่วนแฟนๆ ก็ได้ความสนุกและได้ลุ้นจากการติดตามข่าวสารย้ายทีมครั้งนี้

โซเชี่ยลเฟื่องฟูสู่ข่าวปลอมขั้นบียอนด์ 

ในยุคทีโซเชี่ยลมีเดียบูมถึงขีดสุด ทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือและสามารถหาเสพข่าวได้อย่างง่ายดาย ในทางเดียวกันคือใครก็สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อได้ ดังนั้นมันจึงเหมือนเป็นการเปิดช่องให้สายมโนได้ทำงานกันง่ายขึ้น และจากข่าวลือก็กลายพันธุ์เป็นข่าวปลอมได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

 5

จุดมุ่งหมายของข่าวปลอมต่างกับข่าวลือเพราะมันเกินกว่าคำว่า "คาดการณ์" กลายเป็นการ "มั่วเอามัน" เพื่อหาผลประโยชน์ในโซเชี่ยลมีเดียเช่นหาผู้ติดตาม หายอดไลค์ ยอดแชร์ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการ "มั่วขั้นสุด" คือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และเพื่อนซี้ที่มีบุญคุณกับเขาอย่าง อัลแบร์โต ฟานเทรา ... มันคือเรื่องราวซึ้งๆ ที่ใครก็ตามซึ่งติดตามกีฬาฟุตบอลน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง

เรื่องราวความรักฉบับเพื่อนแท้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ CR7 ยังเป็นเด็กน้อย ... อัลแบร์โต และ โรนัลโด้ เล่นฟุตบอลมาด้วยกันตั้งแต่วัยเด็ก ก่อนที่ทั้งคู่จะได้รับโอกาสเข้าไปคัดตัวเพื่อเป็นนักเตะเยาวชนของทีม สปอร์ติ้ง ลิสบอน ยอดทีมของโปรตุเกส

อัลแบร์โต และ โรนัลโด้ ลงเล่นทีมเดียวกันต่างโชว์ฟอร์มได้ดีทั้งคู่ โรนัลโด้ ยิงประตูขึ้นนำ 1-0 ก่อนที่  อัลแบร์โต จะยิงประตูต่อไปให้ทีมนำ 2-0 โค้ชของ สปอร์ติ้ง จึงตั้งกติกาว่าหากใครยิงประตูที่สองให้กับทีมได้จะกลายเป็นนักเตะทีมเยาวชนของ สปอร์ติ้ง ลิสบอน ทันที และนั่นก็เหมือนเชื้อเพลิงที่สำคัญ จังหวะถัดมา อัลแบร์โต ได้โอกาสหลุดเดี่ยวเข้าเขตโทษชนิดล่อเป้ากับผู้รักษาประตู แต่ อัลแบร์โต เลือกที่จะจ่ายบอลให้ โรนัลโด้ ที่วิ่งเติมขึ้นมากระแทกบอลเข้าประตูไป พร้อมกับส่ง โรนัลโด้ ได้รับเลือกเข้าทีม

หลังจบเกม โรนัลโด้ ถาม อัลแบร์โต ว่าทำไมถึงไม่เลือกยิงเองกับโอกาสที่สำคัญแบบนี้ และคำตอบจากเพื่อนรักนั้นบอกสั้นๆ เพียงว่า “นายเก่งกว่าเรา และนายควรได้โอกาสนั้น” 

ดูแล้วเป็นเรื่องที่ชวนอบอุ่นหัวใจใช่ไหม? ... แต่นี่คือข่าวปลอม อัลแบร์โต ฟานเทรา คือชื่อของใคร? เขาเป็นใครมาจากไหน? เป็นเพื่อนของโรนัลโด้จริงไหม? คำตอบคือไม่มีใครรู้ และเมื่อได้ลองพยายามค้นหาข้อมูลให้ลึกเข้าไปอีกก็จะพบว่า โรนัลโด้ ไม่เคยเล่าเรื่องนี้จากปากตัวเองเลยสักครั้ง 

 6

สุดท้ายมันก็เรื่อง "เขาเล่าว่า" ที่ไม่อาจจะหาข้อมูลมายืนยันได้ และนี่คือข่าวปลอมที่โดนหลอกให้เชื่อกันไปทั่วโลก แม้แต่สำนักข่าวกีฬาที่เป็นทางการก็ยังหลงเชื่อเรื่องราวระหว่าง อัลแบร์โต้ และ โรนัลโด้ ที่ส่งต่อๆ กันมาจนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว "ใครเป็นคนคิดพล็อตเรื่องนี้?" แต่ที่แน่ๆ หากคุณเข้า Google และพิมพ์ค้นหาคำว่า Cristiano Ronaldo Friend Story เรื่องของ อัลแบร์โต ก็จะโผล่มาอยู่หน้าแรกอย่างสง่าผ่าเผย

เอาล่ะ เราอาจจะพอบอกได้ว่าข่าวปลอมพวกนี้ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่เมื่อมันเป็นเรื่องที่คนสนใจมากและส่งต่อกันเป็นล้านๆ ครั้ง ทำให้วงการข่าวปลอมเล่นกันหนักข้อขึ้นทุกวันๆ จนตอนนี้เราไม่สามารถมองข่าวปลอมในแง่ของความบันเทิงได้อีก เพราะการมโนข่าวปลอมเล่นกันเกินขอบเขตไปเรียบร้อยแล้ว บางครั้งเล่นกันถึงความเป็นความตายเลยก็มี

ตัวอย่างก็เช่น ข่าวของตำนานวงการรถแข่งฟอร์มูล่า 1 อย่าง มิชาเอล ชูมัคเคอร์ ที่ประสบอุบัติเหตุจากการเล่นสกีในช่วงปลายปี 2013 เมื่อศีรษะกระแทกเข้ากับโขดหินจนได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง 

เนื่องจาก "ชูมี่" เป็นขวัญใจของแฟนความเร็วมากมายจากทั่วโลก จึงทำให้มีคนที่รอติดตามอาการของเขาอย่างจดจ่อ ซึ่งแน่นอนว่ามีการนำเสนอข่าวของเขามากมายหลายทาง บางที่ก็ว่าอาการดีขึ้นจนรู้สึกตัวแล้ว และบางแหล่งก็บอกว่า ชูมี่ อาการทรุดระดับโคม่า 

 7

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ณ ตอนนี้มีการยืนยันเพียงว่าเขาออกจากโรงพยาบาล เข้าสู่ขั้นตอนการพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายที่บ้านในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มานานหลายปี อีกทั้งยังได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด นอกจากนี้คนที่สามารถเข้าเยี่ยมชูมี่ได้ก็มีแต่เพียงครอบครัวและคนสนิทระดับ "เพื่อนตายสหายศึก" เท่านั้น ซึ่งแต่ละคนที่ได้เข้าไปเยี่ยมก็ไม่เคยปริปากพูดยืนยันต่อหน้าสื่อจริงๆ จังๆ สักครั้งเดียว พวกเขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับอย่างดี การจะรู้ความคืบหน้าที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด คือแถลงการณ์จากทนายความของครอบครัวเท่านั้น ซึ่งนานๆ จะมาสักที และทุกครั้งพวกเขาจะลงท้ายด้วยคำว่า "ขอให้เคารพความเป็นส่วนตัว" เสมอ

ในรายของ เคิร์ท แองเกิ้ล นักมวยปล้ำของ WWE ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ เพราะตัวของเขานั้นเคยถูกข่าว (ในโลกอินเตอร์เน็ต) นำเสนอว่าเสียชีวิตขณะออกกำลังกายมาแล้ว ซึ่งในความจริงเจ้าตัวก็ยังปกติสุขดี สวนทางกับข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

8

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่าบางครั้งโลกของอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ข้อมูลใน Google ก็เชื่อใจไม่ได้เสมอไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้สติในการคัดกรองและหาความจริงในเรื่องราวต่างๆ ให้กระจ่างเสียก่อน ก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรทุกครั้ง มิเช่นนั้น การตกเป็นเหยื่อและเสียรู้ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ Google รู้ทุกเรื่องจริงหรือ? : วิวัฒนาการข่าวกีฬา (ปลอม) ในอินเตอร์เน็ตที่หลอกคนเกือบทั้งโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook