เมื่อแฟชั่น "ฮิปฮอป" ถูกแบน.. นักบาส NBA พลิกแพลงแฟชั่นกันแบบไหน?

เมื่อแฟชั่น "ฮิปฮอป" ถูกแบน.. นักบาส NBA พลิกแพลงแฟชั่นกันแบบไหน?

เมื่อแฟชั่น "ฮิปฮอป" ถูกแบน.. นักบาส NBA พลิกแพลงแฟชั่นกันแบบไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงการแข่งขันบาสเกตบอลหรือกีฬาทั่วโลก เมื่อย้อนไปสัก 30-40 ปีก่อน สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ "เป็นการแข่งขันกีฬาโดยเนื้อแท้" เพราะถึงแม้จะมีการถ่ายทอดสดตามปกติ มีแฟนกีฬามานั่งชม นั่งเชียร์กันเป็นกิจวัตรของชุมชน คนแถวนั้น ทว่าก็ไม่ได้มีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ใดๆ ที่พิเศษแตกต่างมากนัก

แต่เมื่อเวลาหมุนผ่านสู่ยุคใหม่ หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไป สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสแฟชั่นถาโถมเข้ามา กีฬาจึงไม่ใช่เพียงแค่กีฬาอีกต่อไป ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่แฟชั่นกับกีฬานั้นเข้ามาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน นักกีฬาใช้รองเท้ากีฬาที่สวย ทันสมัย มีเทคโนโลยีดีๆ หรือแม้แต่แฟชั่นการแต่งตัวในสนามก็เริ่มเข้ามา จนทำให้สนามการแข่งขันกีฬาในบางครั้ง ก็กลายเป็นเวทีแคทวอล์คไปในขณะเดียวกัน

 

ซึ่งสำหรับบาสเกตบอล NBA ลีกอาชีพที่ดีและได้รับความนิยมที่สุดในโลกนั้น เหล่าสตาร์แม่นห่วงทั้งหลายถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้แฟชั่นของพวกเขาไม่สิ้นสุดแค่ในสนามเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นตัวอย่างให้วัยรุ่น หรือคนรักกีฬาทำตามอีกด้วย

และนี่ คือวิวัฒนาการของเรื่องดังกล่าว...

กฎระเบียบสู่การเปลี่ยนแปลง

หากย้อนกลับไปในยุค 80's หรือ 90's การแต่งตัวของนักบาสเกตบอล NBA นั้นดูจะไม่เยอะแยะมากมายเท่าไหร่ ไม่ต้องมีอะไรมากมาย แค่ชุดแข่ง รองเท้า ครบตามกติกากำหนด แม้ในกรณีของรองเท้าอาจจะมีความหลากหลายมากหน่อย จากการที่แบรนด์ดังๆ เริ่มที่จะเข้ามาทำการตลาดกับนักบาสเกตบอล NBA บ้างแล้วในยุคนั้น แต่ก็ถือได้ว่ายังอยู่ในกรอบและไม่ฉีกกฎ ฉีกขนบมากสักเท่าไร 

 1

ทว่าเมื่อเข้าสู่ยุค 2000's แฟชั่นการแต่งตัวของนักบาสเกตบอลในการแข่งขันในสนามนั้นกลับเปลี่ยนไปมากแบบที่คงเรียกได้ว่า "จากหน้ามือเป็นหลังมือ" และคนที่จุดกระแสให้การแต่งตัวแบบแฟชั่นบูมใน NBA นั้น หลายคนยกให้ อัลเลน ไอเวอร์สัน การ์ดจ่ายผู้สร้างผลงานระดับตำนานกับ ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส เป็นผู้นำเทรนด์อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง 

ด้วยความที่ "AI" เป็นนักบาสเกตบอลสายอินดี้ ที่อยากทำอะไรก็ทำแบบไม่คิดตามใจใคร เขาจึงจัดเต็มกับการแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยการใส่ทั้ง อาร์มสลีฟ หรือปลอกรัดแขน, ถักผมทรง คอร์นโรล (Cornrow) และใส่ที่คาดผม, สักลายเต็มตัว รวมถึงสวมกางเกงตัวใหญ่ๆ ลงสนาม ซึ่งไอเวอร์สันดูจะได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวลักษณะดังกล่าวจากแฟชั่นแนว "สตรีท" รวมถึงแฟชั่นจาก "ดนตรีฮิปฮอป" อย่างที่ตนชอบ และมันก็ไปโดนใจเพื่อนร่วมวงการมากมาย กลายเป็นแนวทางให้หลายคนแต่งตัวตามจนกลายเป็นแฟชั่น ไม่เพียงเท่านั้น มันยังได้ขยายลามไปถึงนอกสนามด้วย

 2

เสื้อยืดตัวใหญ่ๆ สร้อยเส้นเท่าแขน กางเกงขาสั้นตัวใหญ่ๆ ใส่แบบหมิ่นเหม่จะเกาะเอวไม่อยู่ รวมไปถึงเครื่องแต่งตัวสายแรปเปอร์ สายฮิปฮอปอีกมากมาย กลายเป็นไอเทมที่นักบาสเกตบอล NBA ต่างพาเหรดสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเดินทางเข้าสนามแข่ง หรือแม้กระทั่งมาเชียร์เพื่อนๆ ในกรณีที่ไม่สามารถลงแข่งได้ แถมยังลามไปถึงการให้สัมภาษณ์หลังเกมการแข่งขัน ด้วยภาพที่ออกหน้าสื่อไปเช่นนั้นบ่อยครั้ง หลายคนจึงเรียก NBA ว่า "ชุมชนฮิปฮอป" กันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม อย่างที่มีคำพูดกันว่า "มากเกินไปก็ไม่ดี"... ด้วยความที่ภาพลักษณ์ของนักบาสสายฮิปฮอปดูจะมีมากเหลือเกิน จนกลายเป็นภาพลักษณ์อีกแบบที่หลายคนดูแล้วไม่ปลื้ม ที่สุดแล้ว เดวิด สเติร์น คอมมิชชันเนอร์ หรือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดใน NBA ขณะนั้น ได้ตัดสินใจเรียกผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าของทีมเข้ามาประชุมอย่างเร่งด่วน โดยยกกรณีการแต่งตัวสายฮิปฮอป บวกกับเหตุการณ์ในปี 2004 ซึ่งมีการตะลุมบอนเกิดขึ้นในเกมที่ ดีทรอยต์ พิสตันส์ พบ อินเดียนา เพเซอร์ส ที่ไม่เพียงแต่ผู้เล่นจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทกลางสนามเท่านั้น ยังลามปามไปถึงผู้ชมข้างสนามอีกด้วย ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ NBA ตอนนั้นตกต่ำอย่างมากมาเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งสเติร์นนั้นเห็นว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยน ออกกฎใหม่ เพื่อฉุดภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ให้กลับมาดีดังเดิม

 3

ที่สุดแล้ว เดวิด สเติร์น ได้ออกแถลงการณ์ในปี 2005 ประกาศให้ NBA มีกฎระเบียบการแต่งตัว หรือ "Dress Code" เกิดขึ้น โดยสาระสำคัญคือ ผู้เล่นทุกคนจะต้องแต่งกายในชุดธุรกิจ ชุดลำลองทางธุรกิจ หรือชุดตามประเพณีนิยม โดยห้ามสวมรองเท้าแตะโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เดินทางมาถึงสนามก่อนเกม หรือเดินทางกลับที่พักหลังเกม

ยิ่งไปกว่านั้น กฎยังยังห้ามแต่งกายที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมฮิปฮอปโดยเด็ดขาด ทั้งการสวมเสื้อยืดตัวใหญ่ กางเกงยีนส์ แจ็คเก็ตขาดๆ สร้อยคอใหญ่ๆ รองเท้าผ้าใบ หรืออะไรก็ตามที่คล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับตัวโค้ชเองที่ก็โดนหางเลขไปด้วย โดยกฎระบุว่าต้องใส่สูทเท่านั้น ส่วนเรื่องการผูกเนคไทหรือโบว์ไทนั้นไม่บังคับ ซึ่งแน่นอนว่ากฎเหล่านี้ทำให้ผู้เล่น NBA ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้เล่นผิวดำไม่พอใจเพราะฮิปฮอปคือวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับพวกเขา

 4

"มันเป็นเรื่องที่ตลกและบ้ามาก ที่วัฒนธรรมของพวกเรา และการแต่งกายที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเรานั้นถูกจำกัด พวกเขากำลังกำหนดสิ่งที่เขาอยากให้เป็นกับเรา มันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย" นี่คือส่วนหนึ่งจากปากของ อัลเลน ไอเวอร์สัน เจ้าพ่อแฟชั่นในยุคนั้น ที่ด่าเรื่องนี้ผ่านสื่อแทบทุกวัน เช่นเดียวกับ พอล เพียร์ซ อีกหนึ่งสตาร์ดังในยุคนั้นที่ออกมาผสมโรงเช่นกัน "ผม พวกเรา เป็นส่วนนึงของวัฒนธรรมฮิปฮอป เสื้อตัวใหญ่ สร้อยเส้นใหญ่ๆ มันบ่งบอกความเป็นตัวตนของเรา ลีกนี้มีแต่ผู้เล่นผิวดำ และพวกเขากำลังจะกำหนดพวกเรา"

สไตล์ที่มาพร้อมราคา

แม้จะมีเสียงก่นด่า แต่ที่สุดแล้ว กฎการแต่งตัวก็กลายเป็นสิ่งที่นักบาสเกตบอล NBA ต้องปฏิบัติตาม หลายคนในช่วงแรกปรับตัวไม่ทัน ไม่ชินกับการแต่งตัวแบบเป็นทางการ และก็โดนทั้งปรับทั้งแบนตามกฏระเบียบที่ได้กำหนดขึ้นมาเมื่อเกิดการฝ่าฝืน ถึงกระนั้น เดวิด สเติร์น และ NBA ก็ไม่มีการลดหย่อนกฏแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงในปัจจุบันที่ อดัม ซิลเวอร์ ขึ้นมาเป็นคอมมิชชันเนอร์กุมบังเหียนแทนสเติร์นด้วย 

และแม้ช่วงแรก ผู้เล่น เซเลบริตี้ แบรนด์สินค้าแฟชั่น และกลุ่มคนผิวดำ จะออกมาบ่น ออกมาด่า NBA ถึงกฎนี้กันอย่างสนุกปาก แต่เวลาผ่านไป จากต่อต้านก็กลายเป็นความเคยชิน ส่วนหลายคนกลับมองในแง่บวกว่า นี่คือการเริ่มยุคใหม่ และสามารถต่อยอดกับอะไรๆ ได้อีกหลายอย่าง ซึ่ง ดเวย์น เหวด ตำนานของ ไมอามี ฮีต ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

 5

"ผมว่ามันเยี่ยมเลยนะ เราต้องหันมาแต่งตัวกันจริงๆ แล้ว เราไม่สามารถสวมชุดเปื้อนเหงื่อไปให้สัมภาษณ์ได้แล้ว การที่เราสวมเสื้อผ้าที่ดูดีบ่งบอกอะไรได้หลายอย่างเลย มันทำให้ภาพลักษณ์เราดีขึ้น และ กาเบรียล (ยูเนียน - ภรรยา ซึ่งเป็นดาราฮอลลีวูด) เธอก็ช่วยผมดูแลตรงนี้ด้วย" เห็นได้ชัดว่า เหวดไม่ได้ซีเรียสกับข้อบังคับดังกล่าวเลย แถมยังรู้สึกสนุกกับการแต่งตัวเพื่อมาสนามด้วย และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ซูเปอร์สตาร์ในแก๊งบานาน่าโบ๊ตทั้ง เลบรอน เจมส์, คาร์เมโล แอนโธนี่ และ คริส พอล ที่มักจะใช้เวลาช่วงซัมเมอร์หลังปิดฤดูกาลไปพักผ่อนที่ทะเลด้วยกันอยู่เสมอนั้นต่างไม่ยอมกันและกันในการแต่งตัว ที่สุดแล้ว สนามแข่งขันจึงกลายเป็นเวทีแคทวอล์คกลายๆ

ปี 2014 หลังจากที่เหวดแต่งตัวชุดสุภาพตามกฎมาสักพัก ที่สุดแล้วเขาก็เริ่มที่จะใส่ออปชั่นในการแต่งตัวมากขึ้น "ผมชอบนาฬิกา แฟชั่น และเพชร" นั่นคือที่เหวดบอก และเขาก็ทำอย่างที่พูดจริงๆ เพราะนอกจากการสวมสูท พันผ้าพันคอแล้ว เหวดยังได้สวมนาฬิกา Hublot Classic Fusion ซึ่งตัวเรือนทำจากเซรามิกขัดเงาสีดำ พร้อมสกรูทองคำ 18 กะรัตกับพลอยไพลินบนหน้าปัด โดยมีราคาสูงถึง 18,400 เหรียญ เมื่อนับรวมต่างหูเพชรหนักราว 3 กะรัตแล้ว สื่อที่ไปถ่ายประเมินราคาชุดแต่งตัวการเข้าสนามของเหวดคร่าวๆ พุ่งเหยียบๆ 30,000 เหรียญ เลยทีเดียว และเมื่อถามถึงเรื่องดังกล่าว เหวดก็ตอบอย่างอารมณดีว่า "ชุดนี้น่ะเหรอ? กาเบรียลเธอเป็นคนจัดการทั้งตัวให้ผม" ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มที่ทำให้สตาร์คนอื่นๆ ต้องประชันขันแข่งในการแต่งตัวตามมา

 6

หนึ่งในนั้นคือ รัสเซล เวสต์บรูค การ์ดจอมทริปเปิ้ลดับเบิ้ล ที่แม้จะมีความดูดุดันและเกรี้ยวกราดในสนาม แต่ความจริงแล้วนั้นถือว่าเป็นเจ้าพ่อแฟชั่นแห่ง NBA รสนิยมการแต่งตัวเวลามาสนามและนอกสนามของ "Why Not" นั้นไม่เป็นรองใคร กับการใช้เสื้อ กางเกง รองเท้า และเครื่องประดับมากมายหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งเจ้าตัวเคยเปิดใจกับ ESPN ว่า "ผมชอบแต่งตัว ผมพยายามที่จะนำ เสื้อ กางเกง จับมาเข้าคู่กันให้มิกซ์แอนด์แมตช์ และผมว่ามันดูดีนะ จะว่าไป เสื้อผ้าก็ไม่จำเป็นต้องมีราคามากมายเลย" 

ถึงจะบอกว่า "สไตล์ไม่จำเป็นต้องแพง" แต่แฟชั่นของเวสต์บรูคนั้นเรียกได้ว่าเยอะแยะมากมายแทบจะไม่ซ้ำกันเลย แถมราคาของอาภรณ์ที่ใส่ยังมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์หรือราคา ตั้งแต่เสื้อยืดสีพื้นๆ ราคา 99 เหรียญ, สูทแบรนด์ Jordan ราคา 240 เหรียญ, เสื้อ Gucci ราคา 495 เหรียญ, แจ็คเก็ตของ Bing Denim ราคา 500 เหรียญ จนมาสู่ของแพงอย่าง ชุด Balenciaga Speed Trainer สีแดงแปร๊ดทั้งตัวสนนราคา 750 เหรียญ เสื้อของ Fear of God ราคากว่า 895 เหรียญ และ รองเท้าจาก Saint Laurent ราคา 595 เหรียญ แต่ไม่ว่าราคาจะอย่างไร แฟชั่นของ Why Not นั้นจะมีสิ่งหนึ่งร่วมกันเสมอ นั่นคือเรื่องที่เขากล่าวกับ ESPN ว่า "ผมแค่ลองๆ ใส่ให้มันเข้ากัน มันสวยดีนะคุณว่าไหม?" ... ซึ่งแม้บางครั้งจะดูแปลกตาจนหยั่งความคิดไม่ถึง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความเท่และความเป็นแฟชั่นตัวพ่อของเวสต์บรูค ที่แม้แต่นักบาสเพื่อนร่วมวงการยังต้องยอมซูฮก 

 7

"รัสนะเหรอ เขาแม่งโคตรเท่ห์เลย สไตล์ของเขามันสุดๆ จริงๆ" ชาบาซ มูฮัมหมัด นักบาสที่เคยเล่นใน NBA กับ มินนิโซต้า ทิมเบอร์วูลฟ์ส และ มิลวอกี้ บัคส์ (ปัจจุบันเล่นในลีกจีน) กล่าวถึงเวสต์บรูค ขณะที่ เคลลี่ อูเบร แห่ง ฟีนิกซ์ ซันส์ ยกย่องว่า "ไม่ว่ารัสจะใส่อะไร กางเกงยีนส์ เสื้อยืด มันมีสไตล์มากๆ และ โคตรเท่ ผมคิดว่าเขาคือราชาแฟชั่นของลีกจริงๆ" ความเท่และความเป็นราชาด้านแฟชั่นของเวสต์บรูคนั้นสุดถึงขนาดที่แม้เขาจะใส่เสื้อที่มีรู ก็ยังกลายเป็นกระแส แถมสนนราคายังไม่ธรรมดา เพราะมีราคาตัวละกว่า 800 เหรียญเลยทีเดียว ซึ่งเจ้าตัวเผยกับสื่อว่า "ตอนที่ซื้อมาเนี่ยมันมีรูไม่เยอะนะ ลูกของผมน่ะสิไปฉีกเพิ่มในรถ มันถึงได้มีรูเยอะขนาดนี้" และเสื้อตัวนี้แหละที่ทำให้เวสต์บรูคถูกมองว่าคือ "เจ้าพ่อแฟชั่น" ของ NBA

แต่แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะดีกรีซูเปอร์สตาร์ด้วยกันแล้ว เลบรอน เจมส์ ผู้เล่นอันดับ 1 ของลีกที่ได้รับการยกย่องว่าคือที่สุดในสนามบาส ก็ก้าวเข้าสู่สมรภูมิการแต่งตัว และปฏิวัติสไตล์ของตนจากแฟชั่นฮิปฮอปเข้าสู่สายแฟชั่นเต็มตัวเช่นกัน แต่ลุคของเลอบรอนนั้นแตกต่างตรงที่ สูท คือสไตล์ของเขา ... เลบรอนจะใส่สูทใหม่ๆ และเป็นสูททรงแฟชั่นชุดละหลายพันเหรียญ บางตัวก็พุ่งไปเกือบๆ หมื่นเหรียญ เนื่องจากเจ้าตัวถือคติว่าทุกอย่างจะต้องเนี้ยบไว้ก่อน จะยกเว้นก็วันฮาโลวีนที่เจ้าตัวมักจะใส่เสื้อผ้าแฟชั่นที่สอดคล้องกับธีมฮาโลวีน จนเรียกเสียงฮา และเรียกความสนใจจากสื่อทั่วโลกได้อยู่เสมอ

 8

แม้แนวคิดจะแตกต่าง แต่ความเผ็ดร้อนในการประชันแฟชั่น เลบรอนไม่ยอมน้อยหน้าใคร ในรอบชิงชนะเลิศ NBA ปี 2018 เกม 1 ระหว่าง คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ต้นสังกัดของเลบรอนในขณะนั้น กับ โกลเด้นสเตท วอริเออร์ส ซึ่งมีผู้ชมเฝ้ารอเกมทั่วโลกหลายล้านคน เลบรอน เจมส์ ก็ปรากฎตัวในแบบที่ทุกคนต้องอ้าปากค้าง ด้วยสไตล์นักธุรกิจรุ่นใหม่ กับลุคที่เรียบง่าย แต่ดูหรูหรา และเท่ ซึ่ง เจอาร์ สมิธ เพื่อนเขาก็ได้บอกสั้นๆ ในตอนนั้นว่า "เลบรอนโคตรเท่เลย เขาดูเท่และหรูหรามาก" 

และแน่นอน ต้องมีการสืบเสาะถึงมูลค่าของชุดที่ใส่ตามระเบียบ ซึ่งก็ได้ตามนี้ สูท-เนคไท 2,590 เหรียญ, เสื้อเชิ้ตออกซ์ฟอร์ด 330 เหรียญ, กางเกง 940 เหรียญ, ถุงเท้า 90 เหรียญ, รองเท้าบูต 1,290 เหรียญ, กระเป๋าหนังจระเข้ 41,000 เหรียญ, แว่นกันแดด 525 เหรียญ, หูฟัง 199.95 เหรียญ รวมทั้งตัวแล้วอยู่ที่ 46,964.95 เหรียญ หรือราวๆ 1.55 ล้านบาท เทียบง่ายๆ ก็คือ ชุดของเลบรอนทั้งตัวสามารถซื้อรถเก๋งตัวท็อปได้เลย แน่นอนว่ามันคือสถิติของ NBA เลยในการใส่ชุดแข่งก่อนเข้าสนาม และเชื่อว่าด้วยราคานี้ มีน้อยคนนักที่จะทำตามได้

 9

ขณะที่ เจมส์ ฮาร์เด้น ก็เป็นอีกคนที่เมื่อเห็นเพื่อนๆ ใส่ชุดมาประชันกันแล้วก็อยากทำตามบ้าง อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวยอมรับว่า ไม่ได้มีหัวทางด้านนี้ จึงตัดสินใจจ้าง เคลชา แมคลาวด์ สไตลิสต์มือทองที่สามารถจับชุดมามิกซ์แอนด์แมตช์ได้อย่างลงตัวมาเพื่อช่วยเหลือ ซึ่ง พีเจ ทัคเกอร์ เพื่อนร่วมทีม ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ บอกกับสื่อเองถึงเรื่องนี้ว่า "เจมส์นั้นเป็นยอดนักบาสในสนาม แต่การแต่งตัวเขายังไม่เจ๋งพอ จนถึงขนาดจ้างสไตลิสต์มาแต่งตัวให้เลยนะ" อย่างไรก็ตาม มันก็คุ้มค่า เพราะสไตล์การแต่งตัวของฮาร์เด้นในระยะหลังๆ นั้นถือได้ว่า มีแนวทางเป็นของตนเอง แฝงความเท่ และมีคลาสอย่างเห็นได้ชัด

ผลพลอยได้ที่กฎสร้าง

แม้ปัจจุบัน ซุป'ตาร์ NBA จะแข่งขันกันในเรื่องการแต่งตัวมาประชันขันแข่งจนกลายเป็นค่านิยม ทว่ามันก็ถือเป็นผลดีที่พลอยได้จากกฎที่ เดวิด สเติร์น เป็นต้นคิดเช่นกัน นั่นคือการทำให้ผู้เล่นทุกคนนั้นดูดี และมีการแต่งตัวที่เท่ และยิ่งสะท้อนผ่านกาลเวลาที่เข้าสู่ยุคแห่งโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งผู้เล่นทุกคนต้องมีรูป หรืออัดคลิปกิจวัตรต่างๆ เพื่อให้แฟนๆ ได้เห็นความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด 

เคลลี่ อูเบร ที่มีคนกดติดตามเขาในอินสตราแกรมกว่า 9 แสนคน และถือว่าเป็นแฟชั่นตัวพ่อคนใหม่ของ NBA บอกเหตุผลและข้อดีของการที่ผู้เล่นทุกคนต้องแต่งตัวเนี้ยบว่า "ผมเชื่อว่าทุกๆ คนที่ติดตามผม ต้องใจจดใจจ่ออยู่ว่าผมจะใส่ชุดอะไร แบบไหน มันอาจจะดีในสายตาเขา หรืออาจจะไม่ก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ผมพึง ระลึกไว้เสมอคือ เวลาผมจะแต่งตัวแบบไหน ผมต้องคิดและเตรียมพร้อมก่อนเสมอ" ซึ่งอูเบรนั้นเข้าใจตั้งแต่วันดราฟต์เมื่อปี 2015 ซึ่งเจ้าตัวใส่สูทสีแดงเหลื่อม พร้อมกับรองเท้าที่มีเข็มทิ่มแทง จนแฟนๆ และสื่อต่างจดจ่อกับชุดของอูเบรมากกว่าอันดับการดราฟต์เสียอีก พร้อมกันนั้นเขายังบอกอีกว่า แฟชั่นพวกนี้ไม่ต้องใช้เงินมากมายมหาศาลอย่างที่คนเข้าใจ "ผมไม่ได้มีเงินมากมายพอที่จะไปเอาของราคาแพงมาใช้นะ ผมใช้วิธีง่ายๆ เลยคือ เปิดมือถือแล้วสั่งซื้อ หรือไม่ก็ไปที่ร้านเลือกชุดที่มันราคาสมเหตุสมผล"

 10

หากมองให้ครบถ้วนรอบด้าน สิ่งที่ผู้เล่น NBA กำลังทำกันอยู่ ไม่ใช่แค่การประชันขันแข่งในการแต่งตัวแต่อย่างใด แต่มันยังเป็นการการพีอาร์ตัวเองในรูปแบบการแต่งตัว ซึ่งแน่นอนว่าทางอ้อมมันคือ การยกระดับภาพลักษณ์ของ NBA ด้วย

เคลชา แมคลาวด์ สไตลิสต์ของ เจมส์ ฮาร์เด้น กล่าวอย่างน่าสนใจว่า "ผู้เล่นใน NBA หลายคน เป็นลูกค้าของฉันนะ แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่การซื้อเสื้อผ้า แต่มันเป็นการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาของผู้เล่นแต่ละคน เพื่อปรับให้พวกเขามีภาพลักษณ์ที่ดูดีมากขึ้น และมันไม่เกี่ยวกับเงินในกระเป๋าพวกเขาด้วยว่าจะยอมซื้อของราคาแพงหรือไม่ นักออกแบบอย่างพวกเราตระหนักเสมอว่า การใช้จ่ายเงินซื้อเสื้อผ้าหรือสิ่งของนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะกับทุกคน"

 11

และด้วยการที่ผู้เล่น NBA พากันเดินทางสู่มาสู่สายแฟชั่น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือการที่อุตสาหกรรมแฟชั่นต่างๆ ทั้งแบรนด์เนมและไม่แบรนด์เนมต่างผลิตสินค้าออกมาตามกระแส เพื่อให้แฟนๆ นั้นได้แต่งตัวตามนักบาสที่ชื่นชอบ และทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นสายกีฬากับสตรีทเติบโตขึ้นตามไปด้วย 

วิสัยทัศน์ของ เดวิด สเติร์น ที่คิดในตอนปี 2005 เพียงแค่ว่า "อยากที่จะปรับภาพลักษณ์ของ NBA ให้ดูดีขึ้น" ... 10 กว่าปีผ่านไป มันได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้เล่นทุกคนต่างรู้สึกสนุก และรักที่จะทำ รวมถึงแฟนๆ ด้วยเช่นกัน และยังทำให้บาสเกตบอล NBA ได้รับการยกระดับ จากที่หลายคนมองว่าเป็นกีฬาของคนผิวดำ และต้องแต่งตัวแบบฮิปฮอปเท่านั้น กลายเป็นกีฬาที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย ดูดี และเป็นสากลยิ่งขึ้น

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ เมื่อแฟชั่น "ฮิปฮอป" ถูกแบน.. นักบาส NBA พลิกแพลงแฟชั่นกันแบบไหน?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook