เท้าแบบไหนก็ใส่สบาย : เครื่องพิมพ์ 3 มิติ.. เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างรองเท้าให้ไร้จุดอ่อน

เท้าแบบไหนก็ใส่สบาย : เครื่องพิมพ์ 3 มิติ.. เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างรองเท้าให้ไร้จุดอ่อน

เท้าแบบไหนก็ใส่สบาย : เครื่องพิมพ์ 3 มิติ.. เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างรองเท้าให้ไร้จุดอ่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิทยาการสมัยใหม่ล้ำหน้ามากขึ้นเท่าใด สิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ก็มีให้เราได้เห็นและแปลกใจเป็นประจำ และหลายสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จากสิ่งที่เรียกว่า "เครื่องพิมพ์ 3 มิติ"

แก้วน้ำ, แจกัน, หน้ากาก หรือแม้แต่ ปืน คือสิ่งที่เราๆ ต่างเคยได้เห็นผลงานว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถพิมพ์ให้เป็นรูปเป็นร่าง ใช้งานจริงได้ และสำหรับวงการกีฬาก็เช่นกัน เมื่อเครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถสร้างรองเท้าให้เราสวมใส่ได้

เหตุใดถึงต้องสร้างรองเท้าด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ? และเทคโนโลยีสุดล้ำนี้มีวิวัฒนาการก้าวหน้าอย่างไรบ้าง? นี่คือสิ่งที่เราจะมาหาคำตอบ

 

คำตอบที่เข้ากับทุกเท้า

รองเท้าสำหรับการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าวิ่ง, รองเท้าฟุตบอล หรือกีฬาอื่นๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล

 1

และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ หนึ่งในหนทางที่จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ คือการผลิตสินค้าออกมาให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าให้ได้มากที่สุด

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้วิธีการผลิตรองเท้านั้นยังคงเป็นรูปแบบเดิมๆ มาตั้งแต่ยุคโบราณ เริ่มต้นด้วยการกดแม่พิมพ์ลงไปบนวัสดุที่ใช้สำหรับการผลิต จากนั้นจึงเป็นการตัดเย็บชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นรองเท้าหนึ่งคู่

แน่นอนว่านี่คือวิธีที่สามารถทำให้ผลิตรองเท้าออกมาได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ถึงกระนั้นก็ยังมีจุดบอดเล็กๆ ซึ่งมาจากความแตกต่างทางกายภาพของมนุษย์ บางคนมีเท้าแบน บางคนเท้าบิดใน บางคนปลายเท้ากว้าง ซึ่งทำให้การปรับแต่งรองเท้าให้เหมาะสมกับเท้าของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง

ทว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ทำให้หลายสิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้ กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของมันก็คือ ขอแค่มีโมเดลต้นแบบเป็นไฟล์ ก็สามารถพิมพ์ทุกอย่างออกมาเป็นของจริงได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยลดขั้นตอนในการทำต้นแบบและขึ้นรูปสำหรับการผลิตจริง ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ด้วยเหตุที่กล่าวมา ทำให้การผลิตรองเท้าที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเป็นไปได้มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะมีเท้าทรงไหน ต้องเสริมเพิ่มเติมอะไร ก็สามารถผลิตได้ดั่งใจต้องการ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จึงถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้สินค้าตรงใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง

เริ่มต้นด้วยพื้น

ในวงการรองเท้ากีฬา นอกจากแบรนด์ต่างๆ จะต้องแข่งขันกันผลิตสินค้าที่โดนใจผู้บริโภคแล้ว การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ยังเป็นอีกสิ่งที่จะทำให้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งได้เป็น "ผู้ริเริ่ม" และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนวงการด้วยเทคโนโลยีนั้นๆ

 2

Adidas แบรนด์สามแถบจากเยอรมัน คือหนึ่งในบริษัทอุปกรณ์กีฬาระดับหัวแถวของโลก และเป็นอีกหนึ่งค่ายที่แสวงหาเทคโนโลยีมาเพื่อเติมความสมบูรณ์แบบให้กับสินค้าของตัวเอง ซึ่งหลังจากที่สร้างพื้นรองเท้า Boost จนกลายเป็นที่ฮิตติดตลาดไปเป็นที่เรียบร้อย พวกเขาจึงมองไปยังเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่จะสะท้อนก้าวต่อไปของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงอุตสาหกรรมทั้งวงการอีกด้วย

ที่สุดแล้ว Adidas ได้เปิดเผยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวออกมาในปี 2015 กับรองเท้ารุ่น Futurecraft 3D ซึ่งแค่ชื่อก็สะท้อน "อนาคต" ของวงการรองเท้าได้อย่างแท้จริง เพราะพื้นรองเท้าของรองเท้าคู่นี้ ถูกสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเริ่มจากการพิมพ์แบบ 2 มิติด้วยพลาสติก ทับซ้อนเป็นชั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนมีลักษณะคล้ายๆ รังผึ้ง ที่มีน้ำหนักเบาแต่ทนทาน 

"Futurecraft เปรียบเสมือนบ่อทรายของเราครับ นี่คือวิธีการแห่งการท้าทายของเราเอง เพื่อค้นหาจุดที่คุณภาพในการผลิตแบบงานฝีมือของเราสามารถผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว" พอล เกาดิโอ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Adidas เผยถึงเบื้องหลังในการทำโปรเจ็คท์ดังกล่าว

จากต้นแบบอย่าง Futurecraft 3D แบรนด์สามแถบได้ต่อยอดสู่การผลิตเป็นรองเท้าสำหรับขายจริงอย่าง 3D Runner ซึ่งผลิตออกมาเป็นจำนวนจำกัด ราคาคู่ละ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10,000 บาท) อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับความสนใจจาก Sneaker Head หรือคนชอบรองเท้าผ้าใบอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ในเรื่องของประสิทธิภาพในการใส่วิ่ง และการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมหรือ Mass Production นั้น ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก

ด้วยเหตุดังกล่าว Adidas จึงได้กลับไปพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ จนนำมาซึ่งเทคโนโลยี 4D ซึ่งโดยหลักแล้วยังเป็นการสร้างพื้นรองเท้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพิมพ์ใหม่จนสามารถผลิตรองเท้าได้ในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งในส่วนของรุ่นและจำนวน เช่นเดียวกับประสิทธิภาพที่เริ่มจะเข้าใกล้การเป็น "รองเท้ากีฬา" ที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

 3

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มีแต่ Adidas เจ้าเดียวที่ผลิตพื้นรองเท้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพราะแบรนด์คู่แข่งอื่นๆ ก็ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อการผลิตพื้นรองเท้าของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น New Balance, Under Armour หรือแม้แต่ Nike ผู้เลือกเส้นทางแตกต่าง 

เพราะแทนที่จะนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ มาใช้ในการพิมพ์พื้นรองเท้าสำหรับการวิ่งระยะไกล แบรนด์ตรา Swoosh กลับเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการทำพื้นรองเท้าสำหรับการวิ่งระยะสั้น ให้ อลิสัน ฟีลิกซ์ ใส่คว้าเหรียญทองวิ่งผลัดในโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ รวมถึงผลิตรองเท้าต้นแบบสำหรับกีฬาอเมริกันฟุตบอล ซึ่งเคลมว่า ช่วยให้นักกีฬาสามารถวิ่งได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

สู่อนาคต.. สร้างทั้งคู่

ด้วยการที่เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถูกนำมาใช้ในวงการต่างๆ มากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะมีหลายแบรนด์นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้กับสินค้าของตน

 4

ทว่าในบางครั้ง การมาทีหลังทางด้านเทคโนโลยีก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยๆ ก็ได้มีโอกาสศึกษาผลงานของคู่แข่งก่อน เพื่อนำไปต่อยอดสู่สิ่งที่เหนือกว่า

และในเมื่อ Nike มีเทคโนโลยีพื้นรองเท้าอันมากมายหลากหลายอยู่แล้ว พวกเขาจึงตัดสินใจทำในสิ่งที่แตกต่าง ด้วยการสร้างอัปเปอร์ หรือส่วนของรองเท้าที่หุ้มด้านบนของเท้าด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติเสียเลย

Nike เปิดเผยว่า เทคโนโลยีการผลิตอัปเปอร์ที่พวกเขาตั้งชื่อว่า Flyprint ช่วยให้รองเท้าของพวกเขาเบากว่า และระบายอากาศได้ดีกว่าเดิม ไม่เพียงเท่านั้น อีกจุดเด่นของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถพิมพ์อะไรก็ได้ตามสั่ง ยังช่วยให้สามารถผลิตรองเท้าที่มีอัปเปอร์กระชับกับเท้าผู้สวมใส่ได้มากที่สุด เป็นอีกแรงเสริมที่ช่วยให้สามารถวิ่งได้เร็วขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การผลิตรองเท้าด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็ยังมีจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประสิทธิภาพ โดยเฉพาะฝั่งของพื้นรองเท้า ที่ผู้ใช้งานหลายคนได้ลองใช้รองเท้าหลากรุ่นหลายยี่ห้อซึ่งใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแล้วพบว่า แม้จะให้ความรู้สึกที่มั่นคง แต่กับการสะท้อนพลังงาน หรือที่เรียกว่า "เด้ง" นั้น ยังไม่มากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้น น้ำหนักของพื้นรองเท้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติยังถือว่า มากเกินไปสำหรับการเป็นรองเท้าวิ่งที่ใส่เพื่อทำเวลา

แต่เหนือสิ่งอื่นใด อุปสรรคสำคัญของการสร้างรองเท้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้น "ราคา" เนื่องจากนี่ถือเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ และยังไม่เสถียรพอที่จะสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้รองเท้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวมีราคาที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้บริโภคนัก

เพราะขนาดหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้อย่าง Adidas ที่สามารถผลิตพื้นรองเท้า 4D ได้มากพอใส่กับหลายๆ รุ่น ยังสามารถผลิตได้ในปริมาณที่จำกัด จนนำมาซึ่งราคาหน้าป้ายที่แพงเอาการ อย่าง Futurecraft 4D ราคาขายอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทยสูงถึงคู่ละ 16,000 บาท ขณะที่ Alphaedge 4D ราคาคู่ละ 12,000 บาท ส่วน Nike ที่ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการผลิตอัปเปอร์ ยังต้องตั้งราคารองเท้า Zoom Vaporfly Elite Flyprint แบบเดียวกับที่ยอดนักวิ่งมาราธอนอย่าง เอเลียด คิปโชเก้ เคยใส่แข่งขันสูงถึงคู่ละ 625 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 20,000 บาท พร้อมกับปริมาณการผลิตที่ "ลิมิเต็ด" กว่ากันมาก

 5

แต่ที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ เทคโนโลยีคือสิ่งที่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มั่นใจได้ค่อนข้างแน่ว่า วันที่เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะพัฒนาจนรองเท้ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใส่วิ่งเพื่อทำเวลา และมีราคาเอื้อมถึงได้ จะมาถึงในเวลาอันไม่ช้า

ภาพที่หลายคนฝันว่า เราจะสามารถสแกนเท้าของเราด้วยโทรศัพท์มือถือ แล้วสั่งทำรองเท้าด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้เข้ากับรูปเท้าของเรา คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ในอนาคต คำถามที่เหลืออยู่คือ "วันนั้นจะมาถึงเร็วแค่ไหน?" แค่นั้นเอง

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ เท้าแบบไหนก็ใส่สบาย : เครื่องพิมพ์ 3 มิติ.. เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างรองเท้าให้ไร้จุดอ่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook