เขย่าโลกโดย "อาลี" : ต้นกำเนิดการสู้แบบตั้งใจให้หลังพิงเชือก "Rope-A-Dope"

เขย่าโลกโดย "อาลี" : ต้นกำเนิดการสู้แบบตั้งใจให้หลังพิงเชือก "Rope-A-Dope"

เขย่าโลกโดย "อาลี" : ต้นกำเนิดการสู้แบบตั้งใจให้หลังพิงเชือก "Rope-A-Dope"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเด้งเชือกในการชกมวยตามสายตาของคนทั่วไป มักจะเข้าใจว่าเป็นเทคนิคซึ่งนักมวยที่เป็นรองใช้ในยามที่สู้คู่ชกไม่ได้และรอวันแพ้

อย่างไรก็ตาม มวยคือศิลปะการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีคำว่าเก่งที่สุด เพราะนักชกแต่ละคนสามารถหาเทคนิคมาแก้ทางกันได้ตลอดเวลา มวยหมัดหนักใช่ว่าจะชนะเสมอไป มวยคางแข็งใช่ว่าจะไม่มีวันโดนน็อค ดังนั้นเรื่องการพลิกแพลงนำสิ่งต่างๆ มาใช้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

นี่คือเรื่องราวของการเด้งเชือกที่ถูกเรียกใหม่แบบเท่ๆ ว่า Rope-A-Dope ท่าง่ายๆ ท่านี้ทำให้ มูฮัมหมัด อาลี กลับสู่ความยิ่งใหญ่ได้อย่างไร? 

ติดตามได้ที่นี่

Rope-A-Dope คืออะไร?

แปลไทยง่ายๆ ตรงตัว Rope-A-Dope (โรป-อะ-โดป) ก็คือการเด้งเชือกนั่นเอง ท่า Rope-A-Dope นั้นโด่งดังจนกลายเป็นที่จดจำของแฟนมวยทั่วโลกแบบจริงๆ จังๆ ในปี 1974 ในไฟต์การป้องกันแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตของ จอร์จ โฟร์แมน โดยมี มูฮัมหมัด อาลี เป็นผู้ท้าชิง ภายใต้ชื่อศึก "Rumble in the Jungle"

 1

ซึ่ง อาลี ก็ใช้การเด้งเชือกนี่แหละเป็นแทคติกสำคัญในการที่ทำให้เขารอดจากนักชกที่หมัดหนักที่สุดในโลก ณ เวลานั้นอย่าง โฟร์แมน ได้ หนำซ้ำการเด้งเชือกแบบ Rope-A-Dope ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำเอา โฟร์แมน เป็นฝ่ายโดนน็อคเสียเองอีกต่างหาก

อาลี เตรียมการเด้งเชือกมาเป็นของขวัญสำหรับ โฟร์แมน โดยเฉพาะ แม้สื่อบางฉบับจะอ้างว่าเขาเปลี่ยนมาใช้ท่าดังกล่าวกลางคันระหว่างชกเพราะแรงไม่ดีเหมือนสมัยหนุ่มๆ (อาลี อายุ 32 ปี ในเวลานั้น) ทว่าก็มีการเปิดเผยจาก จอร์จ คาลินสกี้ ช่างภาพสายมวยซึ่งเล่าว่า ช่วงที่เขาไปทำข่าวก่อนไฟต์ดังกล่าว อาลี ซ้อมแปลกกว่าไฟต์ก่อนๆ ที่ผ่านมา

อาลี ให้คู่ซ้อมเดินหน้าไล่ชกเขาไปเรื่อย และตัวของเขาก็ถอยจนหลังพิงเชือกและใช้การเด้งเชือกหลบและตั้งการปิดส่วนสำคัญเอาไว้โดยไม่ออกหมัดสวนแม้แต่หมัดเดียว 

"คุณซ้อมอะไรของคุณอยู่เหรอ? ทำตัวเหมือนกับกำลังอัพพลังบนเชือกเลย (Dope on the Ropes)?" คาลินสกี้ กล่าวถาม  ซึ่งประโยคดังกล่าวนั่นเองที่ทำให้ อาลี เกิดชอบใจและเรียกการเด้งเชือกว่า "Rope-A-Dope" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

"ห๊ะ คุณอยากให้ผมอัพพลังจากเชือกงั้นเหรอ? (You want me to be a rope-a-dope?)" อาลี ตอบไปอย่างนั้น และนั่นคือที่มาของชื่อท่าเด้งเชือกที่โด่งดังที่สุดในโลก

ทำไมต้องเด้งเชือก?

บนเวทีที่นักชกสองคนยืนประจันหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างหวังที่จะเอาชนะให้ได้ และยิ่งเป็นการชนะด้วยการน็อคเอาต์แล้วยิ่งดีไปใหญ่ เพราะนั่นเท่ากับว่าเกมจะจบเร็วขึ้น และผู้ชนะจะมีความเสี่ยงในการเจ็บตัวและการหมดแรงก่อนยกสุดท้ายจบลดลง อย่างไรก็ตามมันไม่เป็นอย่างนั้นทุกครั้งไป 

 2

ความฟิตของร่างกายมีส่วนมากๆ ก่อนที่นักชกแต่ละคนจะขึ้นเวที และการหวังว่าจะน็อคเอาต์นั้นคือเป้าหมายของนักมวยที่ร่างกายไม่ฟิตเต็มร้อย เพราะนักมวยกลุ่มนี้เกลียดเกมยืดเยื้อพวกเขารู้ตัวดีว่าเมื่อความฟิตเป็นรองและเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพในการชกก็ลดลงไปในขณะเดียวกันด้วย

ในกรณีที่ความฟิตไม่ถึงและไม่สามารถน็อคตามเป้าหมายได้ หรือแม้กระทั่งการวางแผนผิดพลาดจนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ พวกเขาเหล่านั้นจะเลือกใช้วิธีการตั้งรับเป็นหลัก แน่นอนการตั้งการ์ดปิดส่วนสำคัญของร่างกายนั้นย่อมใช้พลังน้อยกว่าการไล่ชกอยู่แล้ว ทว่ายังมีวิธีที่เซฟแรงยิ่งกว่าการปิดการ์ดตั้งเกมรับ นั่นคือการใช้เทคนิคเด้งเชือกเข้าช่วย 

เมื่อใช้แรงน้อยกว่าแล้วงานที่เหลือของฝ่ายเด้งเชือกก็คือการเก็บเอาพละกำลังที่ออมไว้ และขอโอกาสจั๋งๆ สักครั้ง ใช้แรงเฮือกสุดท้ายโยนหมัดที่เรียกกันว่า "หมัดเขวี้ยงควาย" ซึ่งเปรียบดั่งการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายใส่คู่ชก...หากน็อคได้ก็ดีไป หากไม่น็อคเมื่อไหร่โอกาสที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หรือโดนน็อคเสียเองก็เพิ่มขึ้นทันตา 

ซึ่งด้วยความที่เป็นเทคนิคที่สามารถเซฟพลังได้ บางครั้งการเด้งเชือกก็ถูกพลิกแพลงมาใช้เป็นแท็คติกในการล่อเสือออกจากถ้ำด้วย กล่าวคือการหลอกให้คู่แข่งเปิดหน้าเดินลุยเข้ามาและหาจังหวะสวนนั่นเอง

เขาทราย กาแล็คซี่ อดีตแชมป์โลกขวัญใจชาวไทย เคยถ่ายทอดประสบการณ์กับ Main Stand ว่า ในแมตช์ป้องกันแชมป์กับ ดง ฮุน ลี ผู้ท้าชิงชาวเกาหลีใต้ ที่เจ้าตัวปล่อยหมัดฮุกใส่ลำตัว สมฉายา “ซ้ายทะลวงไส้” นั้น มีไม่กี่คนที่รู้ว่า เขาทราย ในยกที่ 6 ใกล้จะหมดแรงเต็มที และหมัดคว้าชัยชนะนั้นเปรียบเป็นหมัดไม้ตายที่เขาเตรียมไว้หลังจากใช้เทคนิค "เด้งเชือก"

 3

“ผ่านไป 6 ยก เราคิดว่าจะน็อกเขาได้ แต่เขาไม่น็อก ตอนนั้นสภาพร่างกาย ความฟิตยังไม่ดี หมดแรงแล้ว ในใจก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี พอขึ้นยก 7 ผมแกล้งถอย ทำเป็นเดินเซ ปล่อยให้ ดง ฮุน ลี เดินเข้ามาต่อยบ้าง จังหวะนั้นคิดในใจกะว่า ถ้าหลังเด้งเชือกเมื่อไหร่ จะหลับหูหลับตาสวนไป พอดีจังหวะนั้นเขาคิดว่าเราจะต่อยสวนเข้าหน้า แต่เราต่อยท้อง เขาก็ค่อยๆม้วนลงไปกอง ตอนนั้นภาวนาในใจ ‘มึงอย่าลุกขึ้นมานะ กูหมดแรงแล้ว’” เขาทรายเล่าถึงชัยชนะที่เขาจดจำได้ไม่ลืมโดยมีการเด้งเชือกเป็นส่วนประกอบสำคัญ

นอกจากมีประโยชน์ทางด้านเทคนิคและแท็คติกแล้ว การเด้งเชือกยังมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ด้วยเพราะการถูกชกขณะที่หลังยังพิงเชือกจะสามารถช่วยลดแรงปะทะจากหมัดของคู่ชก โดยมีเชือกเป็นอุปกรณ์ในการดูดซับแรงกระแทกนั้นแทน ซึ่งนี่คือเหตุผลหลักที่ มูฮัมหมัด อาลี เลือกใช้ Rope-A-Dope ในการชกกับนักมวยหมัดหนักอย่าง โฟร์แมน เพราะต่อให้ โฟร์แมน จะต่อยหนักแค่ไหนหากไม่เข้าเป้าก็ไร้ค่า และที่สำคัญคือ โฟร์แมน เป็นมวยสายน็อคและไม่ค่อยปล่อยเกมยืดเยื้อเกินยกที่ 5 ดังนั้นหาก อาลี เด้งเชือกได้มีประสิทธิภาพพอ โฟร์แมน ก็จะหมดแรงข้าวต้มไปเอง และผลการชกในไฟต์นั้นบอกทุกอย่างว่า อาลี นั้นคิดถูกที่ดึงเอาท่าง่ายๆ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในแมตช์สำคัญเช่นนี้ 

"ต่อให้การ์ดหนาคางหินอย่างไร การโดนชกก็เป็นอะไรที่สร้างความเจ็บปวดอยู่ดี แต่ศึกนี้อาลีโน้มตัวไปบนเชือกและมันทำให้เขาผ่านไฟต์นี้ไปได้ เพราะเชือกจะช่วยแบ่งรับน้ำหนักหมัดของ โฟร์แมน" นอร์แมน เมลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ The Fight อธิบายถึงสิ่งที่อาลีได้รับจากการใช้ Rope-A-Dope ในไฟต์ Rumble in the Jungle

 4

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกชื่นชมว่าเป็นแท็คติกและเทคนิคที่ชาญฉลาดของ อาลี ทว่า Rope-A-Dope ก็มีรอยแปดเปื้อนของมันอยู่เหมือนกัน เพราะภายหลัง โฟร์แมน ได้ออกมาเปิดเผยว่า ดอน คิง โปรโมเตอร์ ของ อาลี และผู้จัดศึกครั้งนี้ได้เตรียมการปรับสายเชือกให้หย่อนกว่าปกติ เพื่อให้ อาลี สามารถเด้งเชือกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมันสอดคล้องกับที่ จอร์จ คาลินสกี้ เผยไปก่อนหน้านี้ว่า อาลี ไม่ได้เปลี่ยนแท็คติกอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้เขาจะเป็นมวยที่มีความเร็วฟุตเวิร์กดี ทว่า Rope-A-Dope ถูกซ้อมมาอย่างช่ำชองสำหรับศึกนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ว่า ดอน คิง ที่เป็นคนหัวเสธ. จะจัดการเรื่องนี้ตามคำกล่าวของ โฟร์แมน

เรื่องนี้จะจริงร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่นั้นไม่มีใครยืนยันได้เต็มปาก ทว่าหลักฐานหลายอย่างประกอบกันมันก็ทำให้กลายเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่น้อยเลยทีเดียว 

สิ่งสำคัญจริงๆ

ท่า Rope-A-Dope นั้นถูกนำมาใช้ในไฟต์ใหญ่ๆ มากมายในภายหลัง ทั้งศึกระหว่าง แมนนี่ ปาเกียว กับ มิเกล ค็อตโต้ ในปี 2009 รวมถึง ‘Money Fight’ ที่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ สอนเชิง คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ ในปี 2017 แม้มันจะดูเป็นอะไรที่ดูเอาเปรียบไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว Rope-A-Dope ก็ใช่ว่าจะทำให้มันมีประสิทธิภาพได้ง่าย

 5

อาลี เองก็เรียนรู้ท่านี้จาก อาร์ชี่ มัวร์ เทรนเนอร์ของ โฟร์แมน เอง และมันก็ทำให้เขาเอาไปต่อยอดเพื่อทำให้ใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งเรื่องการศึกษาจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ รวมถึงการทำให้ร่างกายส่วนที่สำคัญกับแท็คติกนี้ อย่าง คาง ให้แข็ง ยากต่อการโดนน็อคมากขึ้นอีกด้วย 

เพราะมวยคือศิลปะการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีคำว่าเก่งที่สุด เพราะนักชกแต่ละคนสามารถหาเทคนิคมาแก้ทางกันได้ตลอดเวลา มวยหมัดหนักใช่ว่าจะชนะเสมอไป มวยคางแข็งใช่ว่าจะไม่มีวันโดนน็อค ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองไม่ต่างกับศาสตร์อื่นๆเลย 

ดังนั้น Rope-A-Dope ท่าง่ายๆ ท่านี้จึงกลายเป็นท่าที่ใช้ตัดสินผู้ชนะในศึกมวยคู่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่สุดของโลกนั่นเอง...

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ เขย่าโลกโดย "อาลี" : ต้นกำเนิดการสู้แบบตั้งใจให้หลังพิงเชือก "Rope-A-Dope"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook