เด่นนักใช่ไหม? : เมื่อ "เปเล่" เก่งเกินไป…จนรัฐบาลบราซิลเปลี่ยนสถานะให้เป็น "สมบัติของชาติ"

เด่นนักใช่ไหม? : เมื่อ "เปเล่" เก่งเกินไป…จนรัฐบาลบราซิลเปลี่ยนสถานะให้เป็น "สมบัติของชาติ"

เด่นนักใช่ไหม? : เมื่อ "เปเล่" เก่งเกินไป…จนรัฐบาลบราซิลเปลี่ยนสถานะให้เป็น "สมบัติของชาติ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปเล่ คว้าแชมป์โลกกับทีมชาติบราซิลตั้งแต่อายุ 17 ปี และเป็นเจ้าของแชมป์โลก 3 สมัย ตลอดชีวิตค้าแข้งเขายิงประตูมากกว่า 1,200 ลูก จนมีคำกล่าวว่าเขาเป็น "นักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาล"

อย่างไรก็ตามมีข้อสงสัยตั้งแง่ขึ้นมาว่า "ถ้า เปเล่ เก่งจริง ทำไมไม่มาเล่นในลีกยุโรปที่แกร่งกว่าบราซิลล่ะ?" เพราะเขาใช้เวลาเล่นให้กับ ซานโต๊ส นานถึง 19 ปี จนหมดสภาพในวันที่ได้ย้ายออกไปเล่นต่างแดนครั้งแรก แถมยังเป็นการไปเล่นที่สหรัฐอเมริกาเสียอีก

นี่คือเบื้องหลังที่ทำให้ เปเล่ มีคำครหา ... ในวันที่เขาเก่งคับโลกและเด่นยิ่งกว่าใครๆ ในประเทศ รัฐบาลบราซิลจึงจัดการเชือดเขาด้วยกลยุทธ์แสนซับซ้อน กับการเปลี่ยนให้เขากลายเป็น "สมบัติของชาติ"

การเป็นสมบัติของชาติที่ว่านั้นหมายถึงอะไร? และมันเกี่ยวอะไรกับการที่ เปเล่ ไม่ได้ย้ายมาเล่นให้กับยอดทีมอย่าง เรอัล มาดริด, อินเตอร์ หรือ ยูเวนตุส ในช่วงที่เขาพีกที่สุด ... 

ติดตามได้ที่นี่

จังหวะลงตัว

เปเล่ เกิดมาก็เป็นเด็กมหัศจรรย์ของวงการฟุตบอลเลย ... จะพูดแบบนี้ก็ย่อมได้ แม้ว่าพ่อของเขาจะเป็นนักเตะอาชีพแต่ก็เป็นนักเตะที่ไม่ได้โดดเด่นไม่มีชื่อเสียงอะไร เนื่องจากก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบันหรือในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ฟุตบอลในประเทศบราซิลไม่ใช่ทางออกที่ดีนักสำหรับใครสักคนที่อยากจะลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่สุขสบาย เพราะเป็นกีฬาที่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนต่ำ

บ้านของ เปเล่ นั้นอยู่ในย่านยากจน ขาดแคลนทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ ดังนั้นเมื่อเขาลืมตาดูโลกพ่อของเขาจึงตั้งชื่อว่า เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต้ โดยหลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ชื่อแรกอย่าง เอ็ดสัน ที่ตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูผู้ค้นคิดหลอดไฟคนแรกของโลกอย่าง โธมัส เอวา เอดิสัน เพียงแค่ตัดอักษร I ออกไป (ทว่าในสูติบัตรกลับมีอักษร I ทำเอาเกิดความสับสนไม่น้อย)

Photo : HistoryLocker

อย่างไรก็ตามเมื่อเติบโตขึ้นและได้รู้จักกับฟุตบอล เปเล่ กลายเป็นนักเตะที่ยิงประตูแหลกลาญตั้งแต่เล่นในรุ่นอายุ 11 ปี จนกระทั่งจุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นในปี 1956 ตอนนั้นเขามีอายุแค่ 15 ปี และมีฝีเท้าเกินอายุไปหลายปี จึงไปเข้าตา 1 ในสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ซานโต๊ส และหลังจากนั้นตำนานความยิ่งใหญ่ก็เริ่มขึ้น 

ช่วงเวลาที่ เปเล่ กำลังเริ่มจริงจังกับการเล่นฟุตบอลอาชีพ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลบราซิลเข้าสู่ยุคเรืองรองภายใต้การนำของประธานาธิบดี จุสเซลิโน่ คูบิตส์เช็ก ที่มีนโยบายเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก เขาต้องการเปลี่ยนชนบทให้เป็นเมืองและมีความเจริญมากขึ้น 

รัฐบาลของ คูบิตส์เช็ก ประกาศว่าจะปฎิรูปการเมืองทุกอย่างจากยุคเผด็จการก่อนหน้านี้ เริ่มด้วยโครงการทื่ชื่อว่า "50 ปีแห่งความก้าวหน้า" และภายในเวลาหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 80% เลยทีเดียว

Photo : FourFourTwo

เมื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศดี ทุกอย่างก็ดีตามไม่เว้นแม้แต่วงการฟุตบอล นักเตะบราซิเลี่ยนยุคเปเล่ถือว่าเป็นยุคที่โชคดีมาก เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับสถานการณ์บ้างเมืองที่กำลังลงตัว วงการฟุตบอลบราซิล ในยุคที่ โจฮัว ฮาเวลานจ์ เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล (ก่อนได้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ในเวลาต่อมา) จึงเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หลายโครงการถูกวางไว้เพื่อความสำเร็จระยะยาวของวงการฟุบอลบราซิล

เปเล่ถูกเรียกตัวให้ไปรับใช้ชาติเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเพิ่งลงเล่นให้ซานโต๊สแค่ปีเดียว นัดแรกในฐานะนักเตะทีมชาติบราซิลคือนัดที่ลงแข่งกับทีมชาติอาร์เจนติน่าในปี 1957 บราซิลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 1-2 แต่ถึงแม้ว่าบราซิลจะเป็นฝ่ายแพ้ แต่นัดนั้นก็มีความสำคัญสำหรับเขามาก คือนอกจากเปเล่จะได้ลงเล่นให้กับทีมชาติเป็นครั้งแรกในชีวิตแล้ว เขายังสามารถทำประตูได้เป็นครั้งแรกในฐานะนักเตะทีมชาติอีกด้วย น่าทึ่งมากสำหรับเด็กหนุ่มที่มีอายุเพียง 16 ปีและอีก 3 เดือนจะมีอายุได้ 17 ปี ที่สามารถทำผลงานได้ขนาดนี้ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ เปเล่ ติดทีมชาติต่อเนื่องนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา 

ฮาเวลานจ์นำความเป็นมืออาชีพเข้ามาสู่วงการฟุตบอลแดนกาแฟเป็นครั้งแรก นักเตะทุกคนต้องเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลชั้นนำใน ริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งพบว่านักเตะหลายคนมีโรคประจำตัวและมีโภชนาการที่ไม่ดี มีพยาธิในลำไส้ บางคนก็เป็นซิฟิลิส โลหิตจาง มีฟันหลอ ... มีรายงานว่ามีฟันของนักเตะชุดนั้นรวมทั้งหมดกว่า 300 ซี่ถูกถอนออกมาจากปากนักเตะ ...

Photo : CONMEBOL

นอกเหนือจากเรื่องของร่างกายแล้ว การเตรียมสถานที่ฝึกซ้อมก็พิถีพิถันมาก มีการสำรวจสถานที่ถึง 25 แห่งในสวีเดนเพื่อทำเป็นแคมป์เก็บตัวที่ดีที่สุด ก่อนฟุตบอลโลกจะฟาดแข้ง แถมมีการขอเปลี่ยนจากพนักงานผู้หญิงในโรงแรมที่พักเป็นผู้ชายทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนมีสมาธิอย่างถึงที่สุด

ความพร้อมทุกอย่างในทุกๆ ทางทำให้ เปเล่ พาทีมชาติบราซิลเป็นแชมป์โลกครั้งแรกได้สำเร็จในปี 1958 โดยในทัวร์นาเม้นต์ดังกล่าว เปเล่ ทำลายแทบทุกสถิติทั้งสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดที่ลงเล่นในฟุตบอลโลก (17 ปี 249 วัน) นักเตะอายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ และนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ยิงแฮตทริกได้หลังจากซัด 3 ลูกในเกมกับฝรั่งเศส 

การฉลองและดื่มด่ำกับแชมป์โลกเกิดขึ้นได้ไม่นาน ยุคแห่งการผลัดเปลี่ยนก็กำลังจะมาถึงโดยที่เหล่านักเตะบราซิลชุดนั้นไม่ทันได้ตั้งตัว

อยู่ได้ด้วยพลังฟุตบอล

หลังจากผ่านช่วงเวลาของการฉลองแชมป์ เปเล่ กลับมาเล่นให้ ซานโต๊ส อีกครั้งและความร้อนแรงของเขายังไม่หยุดแค่นั้น ชื่อเสียงจากฟุตบอลโลกดังของเขายังดังกระฉ่อน หลายทีมในยุโรปรู้ดีว่ามีเพชรเม็ดงามซ่อนอยู่ที่บราซิล เด็กอายุไม่ถึง 20 ปี ที่มีจำนวนประตูมากกว่านัดที่ลงสนาม ...

ข่าวลือว่า เปเล่ กำลังจะย้ายทีมสะพัดไปทั่วหัวถนน วิล่า เบลมิโร่ บ้านเกิดของเขา และแฟนๆ ของซานโต๊สไม่ถูกใจกับสิ่งนี้ พวกเขาไม่ต้องการให้นักเตะประวัติศาสตร์ย้ายออกจากสโมสร เรียกได้ว่า เปเล่ เก่งเกินไปจนแฟนบอลไม่อาจยอมรับวัฏจักรของโลกฟุตบอลได้เลยทีเดียว ... เช่นเดียวกันกับ ซานโต๊ส แม้จะมีข่าวลือว่ามีข้อเสนอจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากทีมในอิตาลี ก็ไม่อาจจะง้างใจให้พวกเขาปล่อยไข่ในหินออกไปได้ 

การย้ายตัวของ เปเล่ ไม่ได้ยากเพราะสโมสรอย่างเดียว เพราะในปี 1960 มีการเลือกตั้งอีกครั้งในบราซิล จานิโต้ กัวดรอส ของพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งชาติ ชนะการเลือกตั้ง ตัวของ กัวดรอส นั้นเป็นอนุรักษ์นิยมเต็มขั้น หลักจากได้ตำแหน่งเขาประกาศว่าจะกวาดล้างการทุจริตทั้งหมดของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามเขาไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากขั้วอำนาจเก่ายังแข็งแกร่ง จนสุดท้าย กัวดรอส ก็ยอมแพ้ประกาศลาออกไปเองเพราะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนรัฐบาลฝ่ายซ้ายต้องคัมแบ็คกลับมาอีกครั้ง 

Photo : Scroll.in

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่ บราซิล ส่งทีมไปแข่งฟุตบอลโลกปี 1962 ที่ประเทศชีลี แม้จะมีปัญหาการเมืองในประเทศไม่นิ่งแต่บราซิลชุดนั้น "แกร่งเกินต้าน" พวกเขาสามารถเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ติดต่อกัน แม้ในทัวร์นาเมนต์คราวนั้น เปเล่จะประสบอาการบาดเจ็บจนได้ลงสนามเพียง 2 นัดแรกก็ตาม และแน่นอนเป็นธรรมเนียมของวงการฟุตบอลมาแต่ไหนแต่ไหน เมื่อฟุตบอลโลกจบลงการซื้อตัวนักเตะของสโมสรในยุโรปก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

เปเล่ ตอนนั้นอายุ 22 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นหนุ่มเต็มตัว มีความเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายและจิตใจแข็งแกร่งที่พอจะไปลุยต่างแดน อินเตอร์, ยูเวนตุส เดินส่งตัวแทนมาถึง บราซิล ก่อนใคร โดยเฉพาะทางฝั่งยูเวนตุสที่ประธานสโมสรอย่าง จานนี่ อันเญลลี่ พร้อมมอบข้อเสนอยั่วใจ เปเล่ ด้วยการให้มีหุ้นในบริษัทรถยนต์ที่เป็นเจ้าของทีมอย่าง เฟียต ด้วย อย่างไรก็ตามอย่างที่ทุกคนรู้กัน เปเล่ เล่นในบราซิลถึง 19 ปี นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้ย้ายทีมจากการติดต่อของ ยูเวนตุส และทีมอื่นๆ แต่ว่าทำไมกันล่ะ?

จังหวะนรก

เปเล่ อยู่กับ ซานโต๊ส มาอย่างยาวนานแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องความภักดีเสียทีเดียว เขาอาจจะให้สัมภาษณ์ว่าเหตุผลที่เขาไม่อยากย้ายทีมก็เพราะเหตุผลทางครอบครัวที่ไม่ต้องการไปอาศัยในยุโรป ทว่าความจริงแล้วมันเป็นเพราะเขาไม่สามารถย้ายทีมได้ต่างหาก

เจา กูลาร์ท ประธานาธิบดีในสมัยนั้นใช้ความเป็นฝ่ายซ้ายปกครองประเทศจนเริ่มเกิดปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และยังมีกฎหมายแปลกๆ หลายอย่างที่ทำลายสุนทรียภาพของชีวิตสำหรับชาวบราซิลอีก อาทิการห้ามใส่ชุดบิกินี่บนชายหาดโคปา คาบาน่า เป็นต้น

สถานการณ์ทั้งหมดทำให้ เปเล่ ที่เป็นเจ้าแห่งโลกลูกหนังเกิดความไขว้เขวขึ้นบ้าง และเหนือสิ่งอื่นใดคือตอนนี้ไม่ใช่แค่ ยูเวนตุส แล้ว ทีมใหญ่ๆ อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ เรอัล มาดริด ก็พร้อมคว้านักเตะที่เก่งที่สุดในโลกมาอยู่กับทีมเช่นกัน โดยเฉพาะทางฝั่งมาดริดนั้นเดินเกมจริงจังแบบเต็มสูบอัดให้ทั้งค่าตัวและค่าเหนื่อย

มาดริด มั่นใจว่ามันจะคุ้มค่า ชาวสเปนและแฟนทั่วโลกอยากจะเห็น เปเล่ ลงเล่นบ่อยๆ หากการย้ายทีมเกิดขึ้นกระแสทุกอย่างจะโหมกระหน่ำ ไม่เว้นแม้แต่แฟนๆ ชาวบราซิลที่จะปันใจมาเชียร์มาดริดตามรอยพระเจ้าของพวกเขาด้วย 

Photo : The Telegraph

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ อาร์ตูร์ ฮอร์เก้ คูรี่ ประธานสโมสร ซานโต๊ส เกิดไม่พอใจอย่างแรง เปเล่ กำลังจากไปโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ต่อต้านเพราะฟุตบอลในยุโรปเจริญกว่าและมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่า ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรท้ายที่สุดแล้ว เปเล่ คงเสร็จแน่และรอบนี้คงไม่พลิกล็อกแบบรอบที่ผ่านๆ มาแน่นอน 

คูรี่ ต้องใช้เส้นสายเพื่อเข้าไปหารัฐบาลของ กูลาร์ท ให้ได้ โดยต้องใช้สะพาน 2 ต่อ ต่อแรกคือการไปบอกกับสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลที่มี ฮาเวลานจ์ เป็นประธานว่า การเสียเปเล่ให้กับทีมในยุโรปจะเป็นเรื่องเสียหายครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลบราซิล เพราะ เปเล่ จะต้องเดินทางไกลมากในการกลับมาเล่นทีมชาติแต่ละครั้ง และมันจะส่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้เขาเล่นไม่เต็มที่ หรือบางครั้งก็ไม่สะดวกเดินทางกลับมาช่วยชาติได้ 

ฝั่งสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลได้ยินดังนั้นก็หน้าตื่นตาโตเต็มพิกัด เพราะพวกเขามองว่าตัวเองเป็นเจ้าแห่งโลกลูกหนัง แชมป์โลก 2 สมัยติดต่อกันไม่ใช่เรื่องโกหก และนั่นทำให้พวกเขาต้องการให้ความยิ่งใหญ่สืบสานต่อไปเป็นประวัติศาสตร์ ... ดังนั้นการเป่าหูสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลของ คูรี่ สำเร็จไปได้ด้วยดีอย่างน่าประหลาด มันง่ายราวกับปลอกกล้วย ทุกคนเห็นด้วยภายในการประชุมแค่ครั้งเดียว 

Photo : AS

สหพันธ์ฟุตบอลบราซิลแทงเรื่องต่อไปยังรัฐบาลว่าการที่นักเตะที่ดีที่สุดในประเทศและในโลกอย่าง เปเล่ ออกไปเล่นในต่างแดนนั้นมีแต่ผลเสียและจะเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นรัฐบาลบราซิลควรจะทำอะไรบางอย่างก่อนที่ชาติในยุโรปจะขึ้นมาครองอำนาจโลกฟุตบอลแทน 

รัฐบาลบราซิลเคาะประเด็นดังกล่าวอย่างง่ายดาย "เราเห็นด้วย" พวกเขาใช้ช่องโหว่ของกฎหมายโดยเปลี่ยนสถานะของ เปเล่ จากพลเมืองบราซิล กลายมาอยู่ในสถานะ "สมบัติของชาติ" และกฎของการเป็นสมบัติของชาตินั้นไม่อาจะถูกส่งไปนอกแผ่นดินบราซิลได้ นั่นเองคือจุดจบความฝันลุยยุโรปของเปเล่ ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนสงสัยว่าหากเขามาเล่นในยุโรปฝีเท้าของเขาจะเป็นอย่างไร?

กลับไม่ได้ไปไม่ถึง

การขัดขวางด้วยการเปลี่ยนสถานะให้ เปเล่ เป็นสมบัติของชาติอาจจะดูเป็นอะไรที่โหดร้ายโดยมีจุดเริ่มต้นจากต้นสังกัดของเขาเอง อย่างไรก็ตามในมุมมองของสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล พวกเขาชอบอกชอบใจกับไอเดียของ ซานโต๊ส เป็นอย่างมากจนมอบสิทธิพิเศษให้ ซานโต๊ส ไม่ต้องลงเล่นฟุตบอลลีกแบบครบโปรแกรม เพราะมีเรื่องสำคัญมากกว่าให้ทำ 

สิ่งที่ว่านั้น คือการจัดทัวร์ไปทั่วโลก จุดมุ่งหมายของทัวร์ครั้งนี้ของซานโต๊สนั้นง่ายนิดเดียว เพราะเป็นกุศโลบายของสหพันธ์ที่ต้องการให้ใช้ เปเล่ เป็นซูเปอร์สตาร์ดูดเงิน เพราะในเมื่อ เปเล่ ไม่ได้ไปเล่นในยุโรปแล้ว หากเขาเดินทางไปแข่งตามที่ต่างๆ ทั่วโลกมันย่อมน่าสนใจและมีผู้คนที่อยากจะชมฝีเท้าของเขาให้เห็นกับตาสักครั้ง และประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ เปเล่ มาเยือนด้วยเช่นกัน โดยเขาลงเล่นให้ ซานโต๊ส ในแมตช์ที่ประเทศไทย ณ สนามศุภชลาศัย 2 นัด เมื่อปี 1972 พบ กรุงเทพผสม และ โคเวนทรี 2 นัดดังกล่าวเจ้าตัวยิงรวมกัน 3 ประตู

Photo : Avidly

เหนือสิ่งอื่นใดยิ่งกว่านั้น เงินค่าตั๋วที่ได้ก็ไม่ไปไหนเพราะรายได้ส่วนหนึ่ง ซานโต๊ส จะนำมาสมทบเป็นค่าเหนื่อยให้กับ เปเล่ เพื่อให้สูสีกับค่าเหนื่อยที่ทีมยุโรปพร้อมมอบให้กับเขา ... งานนี้เรียกได้ว่าทั้ง "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" และ "อัฐยายซื้อขนมยาย" ก็คงไม่ผิดนัก 

การทัวร์ครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของ เปเล่ และวงการฟุตบอลบราซิลหลายอย่าง เพราะเมื่อ ซานโต๊ส เล่นจนครบโปรแกรมแล้วพวกเขากลับมายัง บราซิล กลับพบว่าบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะรัฐบาลกูลาร์ทที่สนับสนุน ซานโต๊ส โดนกองกำลังทหารทำการปฏิวัติ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นค่อนข้างเลวร้ายยิ่งกว่าเก่า จากการเปิดเผยของสำนักข่าว BBC พบว่าหลังจากเข้ายุคเผด็จการและรัฐประหารมีนักเตะชาวบราซิลกว่าหนึ่งพันคนที่โดนรัฐบาลแทรกแทรงเรื่องการบัญชีและการเงิน

Photo : These Football Times

ในส่วนของ เปเล่ นั้นโดนจับตาทั้งเรื่องกิจกรรมส่วนตัวและการจัดการทางด้านการเงิน เงินของเปเล่ที่เข้าออกทุกบาททุกสตางค์ต้องผ่านสายตาของผู้ดูแลจากทางรัฐเสมอและกินเวลานานกว่า 6 ปีเลยทีเดียว เพราะช่วงนั้นรัฐบาลเผด็จการต้องระวังการโค่นล้มจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายซ้ายด้วย ...

เรื่องวุ่นวายทั้งหมดทำให้กว่า เปเล่ จะได้ออกไปรู้จักฟุตบอลต่างแดนก็สายไปเสียแล้ว หลังลงเล่นให้ ซานโต๊ส เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปี เปเล่ ก็กลายเป็นนักเตะสูงวัยที่เริ่มหมดสภาพจนโดนถอดจากสถานะสมบัติของชาติ และได้ย้ายไปค้าแข้งในสหรัฐอเมริกากับ นิวยอร์ค คอสมอส ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้นักเพราะ NASL หรือ นอร์ธ อเมริกัน ซอคเก้อร์ ลีก ในเวลานั้นแทบไม่ได้มีความแข็งแกร่งอะไรเลยเพราะเป็นยุคตั้งไข่เท่านั้นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook