วันนี้ของ “คริสต์ เอฟซี” ทีมฟุตบอลบนดอยสูงที่เคยเป็นคลิปดังเมื่อ 8 ปีก่อน

วันนี้ของ “คริสต์ เอฟซี” ทีมฟุตบอลบนดอยสูงที่เคยเป็นคลิปดังเมื่อ 8 ปีก่อน

วันนี้ของ “คริสต์ เอฟซี” ทีมฟุตบอลบนดอยสูงที่เคยเป็นคลิปดังเมื่อ 8 ปีก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลไป 1,200 ฟุต ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน สภาพสวยงามตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและอากาศบริสุทธิ์ 

ที่แห่งนี้คือสนามฟุตบอลของ “คริสต์ เอฟซี”  ทีมลูกหนังระดับท้องถิ่นที่เคยเป็นรู้จักไปทั่วประเทศ จากคลิปการเล่นฟุตบอลของกลุ่มเด็กน้อยบนพื้นที่ยอดดอยสูง 

ว่ากันว่า ชีวิตคนเรามักพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกๆ 7 ปี เช่นกันกับทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ระยะเวลาร่วม 8 ปี นับตั้งแต่คลิป “คริสต์ เอฟซี” ถูกแพร่ออกสู่สาธารณชน สโมสรแห่งนี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงหลายด้านๆ อย่างที่เห็นชัดเจนสุดคือ สนามฟุตบอลเดิมของเขา ปัจจุบันกลายเป็น ลานจอดรถต้อนรับท่องเที่ยวที่มาเยือน “ม่อนแจ่ม” 

หรืออย่าง “อานนท์ อมรเลิศศักดิ์” ที่เคยเป็นเด็กน้อยในกลุ่มนั้น วันนี้เขาก็เติบโตก้าวขึ้นมาเป็น นักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 


เราขับรถขึ้นมายัง บ้านหนองหอย อ.แม่ริม จุดหมายปลายทางของเราไม่ใช่การท่องเที่ยว เพื่อสัมผัสบรรยายกาศธรรมชาติอย่างที่หลายคนมาที่นี่ แต่หมุดหมายของเรา คือ การมาดูความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ของ “คริสต์ เอฟซี” และทำความรู้จักพวกเขาให้มากกว่าแค่ที่คลิปเราเห็นเมื่อวันวาน 

  กำเนิด “คริสต์ เอฟซี”

“คริสต์ เอฟซี เป็นชื่อที่เด็กๆในทีมช่วยกันตั้งขึ้นมา เพราะตอนนั้นคนส่วนใหญ่ในทีมเป็น คริสเตียน (นับถือศาสนาคริสต์) รวมถึงตัวผมด้วย ที่เพิ่งมานับถือตอนอายุ 30 กว่าแล้ว ก่อนหน้านั้น จะเรียกว่าผมเป็นคนไม่มีศาสนาก็ได้นะครับ”


อนันต์ อมรเลิศศักดิ์ หรือ “โค้ชเปา” หัวหน้าผู้ฝึกสอนและผู้ก่อตั้งสโมสร คริสต์ เอฟซี ย้อนถึงที่มาที่ไปของชื่อทีมลูกหนังที่สื่อถึงศาสนา ทั้งที่ในอดีตตนเองเป็นคนที่ไม่เชื่อในเรื่องศาสนานัก 

โค้ชเปา เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่นับถือบรรพบุรษและเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ ภูตผี เขามักไม่เห็นด้วยกับคุณพ่อที่มักไปฆ่าสัตว์ เพื่อนำมาประกอบพิธีกรรม เนื่องจากมองว่าเป็นการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น เขาจึงไม่นับถือศาสนาใด และเชื่อมั่นในความคิดตนเองเป็นหลัก

เขามีหัวการค้าเหมือนๆกับลูกหลานชาวจีน อนันต์ จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนหลังจบ ป.6 เพื่อมาทำงานธุรกิจค้าขายผัก และประสบความสำเร็จในอาชีพตั้งแต่วัยหนุ่ม เพราะผักของเขา ถูกนำไปส่งขายยังห้างสรรพสินค้าดัง 



กระทั่ง อนันต์ ได้เริ่มหันมาศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล และหลักคำสอนในศาสนาคริสต์ เขาจึงเข้ามาเป็น คริสเตียน เมื่อวัยเข้าสู่เลข 3 ก่อนที่ในเวลา อนันต์ จะมาก่อตั้ง คริสต์ เอฟซี ในปี ค.ศ.2005 ที่เปิดสอนลูกหนังให้เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย 


“สมัยวัยรุ่น ผมมีความรักในกีฬาฟุตบอล ผมตกลงกับพ่อแม่ว่า จะยอมตื่นตั้งแต่เช้ามืดมาทำงาน เพื่อช่วงเย็นจะได้มีเวลาเตะบอล ในตอนนั้น ผมมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย แต่มันก็เป็นไปได้ยาก สำหรับคนที่อยู่บนภูเขาอย่างผม ที่ไม่เคยมีใครมาสอน ต้องดิ้นรนขนขวายหาทางด้วยตัวเอง ทุกวันหลังเลิกงาน ผมต้องขี่มอเตอร์ไซค์ จากบนดอยลงถนนลูกรัง เพื่อไปซ้อมฟุตบอลในตัวเมืองเชียงใหม่”

“ถึงแม้ผมจะไปไม่ถึงความฝัน แต่ผมก็ไม่เคยทิ้งความฝันในการติดทีมชาติ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เริ่มทำทีมฟุตบอลที่ชื่อ คริสต์ เอฟซี อีกอย่างผมต้องการให้ลูกชายผม (อมเรศ-อานนท์ อมรเลิศศักดิ์) โตไปอย่างมีคุณภาพ ห่างไกลจากอบายมุข ไม่อยากให้เขาไปขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง กินเหล้า สูบบุหรี่ เพราะสังคมข้างบนมีเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว” 

“ผมเริ่มต้นจากสอนลูกชาย 2 คน กับเด็กแถวละแวกหมู่บ้าน พวกเพื่อนๆลูกชายก่อน ไม่กี่คน เพราะบางครอบครัว ตอนนั้นก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ลูกมาเล่นกีฬา จนมาเกิดจุดเปลี่ยนเพราะลูกชายผมทั้งสองคนได้รับทุนจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และติดทีมชาติระดับเยาวชน ทำให้ผู้ปกครองเด็กๆในหมู่บ้าน เริ่มสนใจ และส่งลูกหลานเข้ามาฝึกฟุตบอลกับผม”

อนันต์ ไม่เพียงแค่สอนลูกชายของตัวเอง แต่เขายังแบ่งปันโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับในวัยเด็ก ไปยัง เยาวชนในครอบครัวอื่นๆ ที่ประสงค์จะมาฝึกฟุตบอลกับโค้ชเปา โดยที่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่ง ทีมฟุตบอลเล็กๆของเขา จะโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ บนโลกออนไลน์ เพียงเพราะคลิปๆ เดียว

คลิปที่ทำให้คนรู้จัก “คริสต์ เอฟซี”  

ในปี 2011 คริสต์ เอฟซี กลายเป็นชื่อที่ใครหลายคนรู้จัก จากคลิปที่ถูกอัพโหลดลง Youtube โดยผู้ใช้งานที่ชื่อว่า Rak Nawong

คลิปดังกล่าว ฉายให้เห็นภาพ เด็กผู้ชายและผู้หญิง กำลังโชว์ทักษะการเล่นฟุตบอลอย่างยอดเยี่ยม ท่ามกลางบรรยากาศบนภูเขาที่อยู่ห่างไกลและลับตาผู้คน คลิปของคริสต์ เอฟซี ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ รวมถึงมีสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก ลงพื้นที่เพื่อนำเสนอข่าวสาร บทความเกี่ยวกับพวกเขา 

“คลิปนั้นเกิดขึ้นจากเพื่อนผมคนหนึ่ง ที่รู้จักกันตอนที่ลูกชายไปอยู่สมาคม หลังเขาออกจากสมาคม เขาก็มาช่วยผมฝึกสอนเด็กบนภูเขาระยะหนึ่ง ช่วงระหว่างที่เขาอยู่ที่นี่ เขาก็ตามถ่ายคลิปเด็กๆ เพื่อที่จะเอาไปลง Youtube เพราะอยากให้คนภายนอกได้เห็นในสิ่งที่ผมทำ ผมก็ไม่ได้คิดอะไร หลังจากคลิปเผยแพร่ออกไป กระแสดีมาก มีสื่อเข้ามาทำข่าวเป็นจำนวนมาก”

“ผมดีใจที่คลิปนั้นได้เปิดหูเปิดตาผู้ปกครอง ทำให้มีเด็กๆ สนใจจะมาฝึกฟุตบอลกับเรามากขึ้น 50-60 คน รวมถึงเด็กที่อยู่ต่างอำเภอ พ่อแม่ก็จะส่งลูกมาฝึกกับเรา”

ผลผลิตจากคริสต์ เอฟซี รุ่นบุกเบิกทั้งชายและหญิง ถูกส่งไปยังโรงเรียนกีฬา และอคาเดมีสโมสรต่างๆ นับ 30 ราย นั่นทำให้ อนันต์ อมรเลิศศักดิ์ ได้เปิดหูเปิดตามองเห็นโลกฟุตบอลในมุมที่กว้างกว่าแค่ตัวจังหวัดเชียงใหม่ที่เขาเคยสัมผัสมา 


“โค้ชเปา” มองเห็นว่า “สนามฟุตบอล” เป็นโครงสร้างสำคัญที่ควรค่าแก่การลงทุน หากต้องการให้เยาวชนได้รับการฝึกฝนอย่างมีคุณภาพ เขาจึงควักเงินร่วมครึ่งล้านบาท สร้างสนามฟุตบอลกลางขุนเขา ในเนื้อที่ของตัวเอง แทนที่สนามเดิมที่เป็นเพียงสนามดิน และเริ่มรับเด็กบางส่วนมาอยู่กินฝึกประจำ 

แต่วันหนึ่ง อนันต์ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เขาจะลงทุนลงแรงทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม?” ในเมื่อลูกชายก็ได้ดิบได้ดีจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพไปแล้ว… เขาจะมาเสียทั้งเวลา ทุนทรัพย์ และแรงกาย เพื่อมาฝึกสอนเด็กๆทุกคนที่ไม่ใช่ลูกหลานหรือคนในครอบครัวเขาเพื่ออะไร? 

“มีอยู่คืนหนึ่ง ผมมานอนคิดทบทวนว่า ผมก็ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่โค้ชแล้ว มันถึงเวลาหรือยังที่ผมควรหยุดพัก เพื่อไปเดินสายดูลูกชายเตะบอล พาครอบครัวไปเที่ยว รวมถึงดูแลธุรกิจของตัวเอง เพราะผมทำงานทุกวัน เวลาว่างของผมก็ทุ่มให้ฟุตบอลหมด โดยที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว มีแต่เสียเงินไปโดยที่ไม่ได้อะไร แถมยังโดนกระแสต่อต้านจากบางคนที่มองว่าเราหากินกับเด็ก”

“ขณะที่ผมกำลังตัดสินใจะเลิกทำ คริสต์ เอฟซี เช้าวันรุ่งขึ้น มีแม่ของเด็กคนหนึ่งเดินมาหาผม แล้วบอกว่า ให้ช่วยพาลูกชายเขากลับมาฝึกฟุตบอลที เพราะตอนนี้เด็กติดเหล้า สูบบุหรี่ อยู่ลู่ทางที่ไม่ดี ทั้งที่เขาเป็นนักเตะที่มีพรสวรรค์มาก หากเทียบกับลูกชายผม ผมคิดว่าเขาน่าจะติดทีมชาติได้สบายๆ แต่ทางบ้านไม่สนับสนุนให้เล่นกีฬา เด็กจึงไม่ได้ไปต่อ”

“ผมได้คำตอบกับตัวเองว่าจะไม่เลิกโดยเด็ดขาด เพราะอย่างน้อยสิ่งที่เราทำ สามารถช่วยให้เด็กเป็นคนดีได้ จากที่ท้อแท้ ที่ไม่มีใครมาสนับสนุนเรา ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ก็ก้าวผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ เพราะผมเชื่อในพระเจ้า”

“พระเจ้าสอนให้ผมไม่เห็นแก่ตัว มีเมตตากับคนอื่น อย่างในพระคัมภีร์ไบเบิลมีข้อหนึ่งเขียนไว้ว่า ให้เรารักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง เพราะถ้ารักเพื่อนบ้านเหมือนคนในครอบครัว เราก็จะไม่ทำร้ายเขา มีแต่อยากมอบสิ่งดีๆให้เขา ผมเห็นว่ายังมีเด็กอีกมากมายบนภูเขาที่ต้องการโอกาสและความช่วยเหลือ”

“เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินทองไปให้เขา เพียงแต่เราต้องสอนให้เขาเป็นคนดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มันจึงทำให้ผมไม่ลังเลที่จะทุ่มเท และทำทุกอย่าง แม้จะต้องใช้ทุนของตัวเองทั้งหมดก็ตาม”

  ก่อนจะเป็นนักฟุตบอลที่ดี ต้องเป็นคนดีก่อน

“ใครนึกถึง อานนท์ ก็ต้องนึกถึงภาพของ นักฟุตบอลที่แต่งตัวเรียบร้อยเอาเสื้อใส่ในกางเกงทุกครั้ง” ผู้เขียน ชวนคุยเรื่องลูกชายของเจ้าของสโมสร คริสต์ เอฟซี 


“นั่นคือคอนเซปท์ของผม นนท์ ไม่ใช่เด็กที่เก่งนะ แต่เขาเป็นคนดี เมื่อเขาเป็นคนดี พระเจ้าก็อวยพรให้เขามีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ เพื่อที่เขาจะได้เป็นแรงบันดาลใจ และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ เด็กๆ ชนเผ่า บนภูเขา มีพี่อานนท์เป็นไอดอล และเขาก็อยากเป็นให้ได้แบบนั้น”

“แต่ผมสอนเด็กทุกคนว่า ก่อนที่พวกคุณจะเป็นนักฟุตบอลที่ดี คุณต้องเริ่มจากการเป็นคนที่ดีก่อน ถ้าคุณเป็นคนดี คุณก็จะมีความคิดที่ดี มองทุกอย่างเป็นด้านบวก อาจไม่มีพรสวรรค์ติดตัว แต่คิดดี คิดบวก ใส่พรแสวงให้ตัวเอง ขยันฝึกซ้อม ตั้งใจ อยู่ในระเบียบวินัย วันหนึ่งคุณอาจเก่งกว่าคนที่พรสวรรค์ก็ได้”

“นักบอลหลายคนที่เก่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ นั่นอาจเกิดจากที่เขามีทัศนคติไม่ดี พอทัศนคติไม่ดี มันก็จะส่งผลไปถึงเรื่องอื่น เช่น ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ขยันฝึกซ้อม วินัยหย่อนยาน สุดท้ายเขาไปได้ไม่ไกลอย่างที่ควรจะเป็น”

นอกจาก ทักษะพื้นฐานที่นักฟุตบอลทุกคนในทีมคริสต์ เอฟซี ต้องมี เบสิคที่ดีเยี่ยมแล้ว “โค้ชเปา” ยังบอกว่า เขาให้น้ำหนักอย่างมากกับเรื่องทัศนคติและความประพฤติของเด็ก ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ต่ออนาคตของเด็กๆ

ไม่ว่าวันข้างหน้า เด็กคนนั้นจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพมีรายได้งดงามเหมือนกับ อานนท์ อมรเลิศศักดิ์ หรือต้องไปทำงานอย่างอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวกับฟุตบอล แต่สิ่งสำคัญสุด คือ เขาต้องการเห็นลูกศิษย์ เป็นคนดีของสังคม


“เราต้องคุยความจริงกับเด็กๆ ไม่ใช่ขายฝันเขา เพราะผมไม่มีทางสร้างเด็ก 100 คน ให้ติดทีมชาติทุกคนได้หมด มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าให้ผมสอนเด็ก 100 คนให้เขาคิดดี เป็นคนดี อันนี้ยังพอเป็นไปได้ อย่างตัวผมเอง ผมก็ไม่ได้ติดทีมชาติ แต่ผมเป็นคนดี ผมก็สามารถอยู่ในสังคมและช่วยเหลือคนอื่นได้”

“เราใช้ฟุตบอลเพื่อพัฒนาคน วันนี้คุณอาจเป็นนักบอลอาชีพไม่ได้ แต่ก็ยังมีอาชีพอื่นๆ ให้คุณทำ คุณสนใจงานโค้ชไหม ? กรรมการผู้ตัดสินก็ถือเป็นอาชีพนะ ? อยู่ที่นี่เขาสามารถลองทำได้ทุกอย่าง”

“ถ้าคุณเป็นคนดี คุณอยู่ที่ไหน ทำอะไรก็ได้ ตอนนี้ลูกศิษย์หลายคนที่ผมเคยสอนเขา ก็กลับมาเป็นโค้ชสอนรุ่นน้องๆ ต่อ ผมก็ส่งเขาไปอบรม ซี ไลเซนส์ วันนี้เขาอาจไม่ใช่นักฟุตบอลอาชีพ แต่วันข้างหน้า เขาอาจใช้ฟุตบอลเพื่อเลี้ยงดูตัวเขาก็ได้ ในบทบาทอื่น”

สู่สโมสรฟุตบอลอาชีพบนภูเขา 

ด้วยเหตุนี้ อนันต์ จึงตัดสินใจลงทุนทำ อคาเดมีแบบกินนอน ให้กับเด็กๆ ได้อยู่อาศัยและฝึกฟุตบอลทุกวันตามโปรแกรม แทนที่การฝึกฟุตบอลแบบเดิม ที่ส่วนใหญ่ เด็กจะมาฝึกแค่ช่วง วันศุกร์-อาทิตย์ ที่ผู้ปกครองพามาฝาก 


เด็กที่มาอยู่ที่นี่ จะได้รับทุนเรียนฟรีที่โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จนจบชั้น ม.6 ได้ซ้อมฟุตบอลทุกวัน รวมถึงยังได้ฝึกฝนทักษะอาชีพ เช่น การทำกาแฟ, การทำเกษตร ตลอดจนทำอาชีพบริการ และดูแลนักท่องเที่ยว บริเวณสวนอีเดน ที่ตั้งอยู่ติดกับสนามฟุตบอลทีมคริสต์ เอฟซี ซึ่งเป็นธุรกิจที่โค้ชเปา ลงทุนเพื่อนำรายได้มาใช้เป็นเงินทุน สำหรับค่าใช้จ่ายภายในอคาเดมี ที่ตกอยู่หลักแสนบาทต่อเดือน 

“ปัญหาที่เราพบเจอก็คือ เด็กที่ออกจากเราไปอยู่ตามโรงเรียนกีฬาต่างๆ ประมาณ 20-30 คน ยังเหลืออยู่ในเส้นทางฟุตบอลเป็นนักเตะอาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะเขาไม่ได้รับการดูแลพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อย่างโรงเรียนกีฬาในไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเป็นมืออาชีพ เน้นใช้งานเด็ก ส่งแข่งตลอดทั้งปี มุ่งหวังเรื่องการแข่งขันเกินไป จนมองข้ามรายละเอียด และทักษะที่เด็กควรได้รับในแต่ละช่วงวัย”

“อีกส่วนหนึ่งมาจากตัวเด็ก ที่ทัศนคติการใช้ชีวิตไม่ดี คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว หยุดการพัฒนา พอเขาจบ ม.6 ออกจากโรงเรียนมาสู่ความเป็นจริง ก็ห่างกับฟุตบอลไปโดยปริยาย เพราะไม่มีสโมสรไหนเซ็นสัญญากับเขา เนื่องจากตอนเรียนก็ไม่ได้ฝากผลงานโดดเด่นอะไร”  

“ที่สำคัญคือ โอกาสของเด็กบนดอยน้อยกว่าเด็กที่ข้างล่าง บางคนเก่งแต่ไม่ได้รับโอกาส เราจึงต้องยกระดับสโมสรขึ้นมาเป็นทีมอาชีพ และขยายโอกาสไปยังพื้นที่ห่างไกล ทำเป็นอคาเดมีกินนอน โดยนำเอาเด็กจากหลายๆจังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, ตาก, พิษณุโลก, กำแพงเพชร มาอยู่ประจำกินนอนตั้งแต่อายุ 13-14 ปี พร้อมกับปลูกฝังความเป็นมืออาชีพแก่เขา และสอนทักษะชีวิตแก่เขา ก็ทำแบบนี้มาได้ 6 ปีแล้ว” 


“ตอนนี้เราส่งแข่งในระดับ TA จากนี้เราวางแผนว่าภายใน 3 ปี ต้องไปอยู่ในระดับไทยลีก 4  โดยใช้สโลแกนว่า ‘นักสู้แห่งขุนเขา’ เพื่อสื่อว่าเราเป็นทีมตัวแทนของคนชาวเผ่า เพราะเด็กของเราส่วนใหญ่ก็มาจากหลายชนเผ่า ทั้ง กะเหรี่ยง, ลีซอ, มูเซอ, ม้ง, เย้า, อีก้อ ไม่มีสัญชาติก็มี เรามองว่าทีมฟุตบอลทีมหนึ่งจะอยู่ได้ ต้องมีแฟนคลับสนับสนุน”

“ถ้าเรามีทีมฟุตบอลของตัวเอง จะสามารถสร้างโอกาสให้เด็กได้มากขึ้น เขาไม่ต้องแข่งขันที่อื่น เขาแข่งขันในทีมตัวเองก่อน ผู้ปกครองก็มีความมั่นใจมากขึ้น อย่างน้อย ถ้าเขาไม่ได้ไปต่อด้านฟุตบอล เขาก็ยังได้ทักษะการใช้ชีวิต และวุฒิ ม.6 จบออกไปจากเรา เพราะเราได้ไปทำโครงการร่วมกับโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม เปิดเป็นโควตานักกีฬา แลกกับที่ผมเข้าไปทำกิจกรรมสอนฟุตบอลในโรงเรียน”

“หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถเขาว่าจะต่อยอดไปไกลแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เราฝึกเด็ก แล้วส่งให้ที่อื่นปั้น แต่เด็กไปไม่รอด ขาดการพัฒนา ผมว่าการฝึกเด็กไม่ยากเท่ากับการทำความเข้าใจเด็ก ปัญหาของการสอนฟุตบอลระดับเยาวชนในบ้านเรา คือ โค้ชส่วนมากยังมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ”

โค้ชเปา ขยายความต่อว่าเด็กส่วนใหญ่ที่มาอยู่ในสโมสรคริสต์ เอฟซี ล้วนแล้วแต่มีปูมหลัง และพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ค่อยดีนัก ทั้ง ครอบครัวที่ยากจน, ครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือแม้แต่เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่เขาก็ใช้วิธีการวิเคราะห์เป็นรายบุคคล ทั้งรายงานการฝึกซ้อม, ตอนแข่งขันจริง หรือแม้แต่การเข้าไปพูดคุยดูแลเอาใจใส่ 

ที่สำคัญ เด็กทุกคนต้องอยู่ในกฎ ระเบียบ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและคนหมู่มาก ที่มาจากต่างชาติพันธุ์ชนเผ่า รวมถึงศาสนาความเชื่อ เพราะสโมสรเปิดรับเด็กทุกศาสนา ไม่ใช่เฉพาะแค่นักฟุตบอลที่เป็น คริสเตียน

“เด็กบนภูเขาส่วนมากมีปัญหาเรื่องความมั่นใจ ถ้าเราไม่ใส่ใจรายละเอียดก็จะไม่รู้ว่ามันเป็นผลที่เกิดจากสภาพจิตใจของเขา บางคนอยู่กับเรามาสามปี ผมยังไม่เคยเห็นพ่อแม่เขามาเยี่ยมเลย พอเขามีปัญหาด้านจิตใจ การเล่นฟุตบอลเขาก็ด้อยไปด้วย ครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ในเมื่อพ่อแม่เขาไม่มา เราจะปล่อยเขาไป ไม่ต้องยุ่ง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา หรือเข้าไปทำหน้าที่พ่อแม่ให้เขารู้สึกว่าไม่ได้ขาดอะไร”

“การปกครองดูแลจึงเหมือนกับพ่อ-ลูก เวลาเขาทำอะไรผิด ผมจะไม่ลงโทษด้วยการตี เพราะการใช้กำลังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี ควรใช้เหตุผลกับเด็ก สอนเขาด้วยความเป็นจริง ให้เขารู้ตัวถ้าทำความผิด มันจะส่งผลไม่ดีอย่างไร”

คริสต์ เอฟซี ในวันนี้จึงเป็นสโมสรที่เปลี่ยนแปลงไปจากวันวานที่ฝึกสอนแค่นักฟุตบอลรุ่นเยาว์บนดอย แล้วส่งออกเข้ามาในเมือง มาสู่ยุคที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นทีมอาชีพเพื่อมอบโอกาสให้แก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะบนภูเขา

แม้จะยังไม่มีสปอนเซอร์เจ้าไหน หรือหน่วยงานมาร่วมลงทุนกับพวกเขา พูดง่ายๆก็คือ ยิ่งทำ ยิ่งมีแต่ขาดทุน และจ่ายเงินออกไปเกินหลักล้านบาทต่อปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ อนันต์ อมรเลิศศักดิ์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมน่าจะทราบดี  

แต่อะไรเพราะเหตุใด เขายังคงเต็มใจที่จะจ่าย และทำฟุตบอลเพื่อสร้างโอกาสแก่เด็กบนดอยต่อไป… ในวันที่หลายคน อาจไม่ได้นึกถึงคลิปของ คริสต์ เอฟซี เฉกเช่นเมื่อ 8 ปีก่อน


“อย่างที่บอก ผมเป็นนักธุรกิจ ถ้าคิดจะลงทุนทำฟุตบอลเพื่อหวังกำไร ผมขาดทุนตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว ฉะนั้นแรงจูงใจของผม ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเงิน แต่คือความสุขที่ได้เห็นเด็กที่ขาดโอกาส มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าพื้นที่หมู่บ้านผมจะเจริญขึ้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ได้กันดารเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ว่ายังมีพื้นที่อีกมากมายตามภูเขาที่เด็กๆ ยังขาดแคลนโอกาส”

“ฟุตบอลในยุคปัจจุบันเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้คนบนดอยได้ ถ้าให้คิดหากำไรจากฟุตบอล ผมไม่ทำดีกว่ามันเหมือนขายฝัน คำพูดสวยหรู"

"สิ่งที่เป็นกำไรสำหรับผมคือการที่ผมสามารถ ส่งต่อแนวคิดไปยังเด็กๆ ที่ผ่านการฝึกจากอคาเดมีผม ได้ไปสานต่อสิ่งเหล่านั้น กับชุมชนหมู่บ้านที่เขาเติบโตมา ผมเชื่อว่าอย่างน้อย ถ้าหมู่บ้านหนึ่งมีคนที่สอนฟุตบอลเป็น สัก 1-2 คน เด็กอีกนับร้อยชีวิตในชุมชนนั้นๆ ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย”

“พอผมคิดแบบนี้ ผมก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองขาดทุนเลย” อนันต์ กล่าวทิ้งท้าย ก่อนลงไปฝึกสอนฟุตบอลเด็กๆ อย่างที่เคยทำมาตลอด 14 ปีที่ผ่านมา  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook