สมบูรณ์แบบจนน่าหมั่นไส้ : "Shoulder Roll" ท่าไม้ตายไร้พ่ายที่ไม่ต้องออกหมัดของ "ฟลอยด์"

สมบูรณ์แบบจนน่าหมั่นไส้ : "Shoulder Roll" ท่าไม้ตายไร้พ่ายที่ไม่ต้องออกหมัดของ "ฟลอยด์"

สมบูรณ์แบบจนน่าหมั่นไส้ : "Shoulder Roll" ท่าไม้ตายไร้พ่ายที่ไม่ต้องออกหมัดของ "ฟลอยด์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เพราะมวยไม่ใช่วัวชน" นี่คือประโยคที่เหมาะสมกับสไตล์การชกของ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เป็นอย่างยิ่ง แฟนมวยหลายคนมักจะบอกว่าเขาเป็นนักชกที่ชกไม่ค่อยสนุก และเน้นตั้งรับมากเกินไป แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ "เพราะมวยไม่ใช่วัวชน" สมองจึงต้องสำคัญพอๆกับกำลัง

และนี่คือที่มาของไม้ตายก้นหีบของ ฟลอยด์ ที่ชื่อว่า "โชลเดอร์ โรลล์"(Shoulder Roll) หรือการเอี้ยวไหล่หลบหมัดคู่ชกในระยะประชิด และถ้าหากขั้นตอนนี้สำเร็จมันจะเป็นการเปิดประตูนรกของคู่ชกที่เสียหลัก เพราะมันจะทำให้ฟลอยด์ เลือกจิ้มหมัดซ้ายของเขาได้ตามสบาย

 

พบที่มาของ "โชลเดอร์ โรลล์" ท่าที่มาจากสมอง และทำให้ ฟลอยด์ เอาชนะด้วยใบหน้าที่สะอาดสะอ้านไร้รอยขีดข่วนจนได้ฉายาว่า "พริตตี้บอย"

ต้นตำรับ "Shoulder Roll" 

"BOXRAW" เว็บไซต์เกี่ยวกับกีฬาการต่อสู้พยายามวิเคราะห์และเสาะหาว่า "โชลเดอร์ โรลล์" นั้นมีต้นกำเนิดมาจากไหนกันแน่ ซึ่งต้นกำเนิดนั้นไม่ปรากฎชัดเจนว่าใครเป็นคนเริ่มใช้ แต่มันมาจาก ค่ายมวยต่างๆในฟิลาเดลเฟีย ที่ฟิลาเดลเฟีย ไม่เคยขาดแคลนยอดมวย ที่นั่นผลิตยอดนักชกขึ้นมามากมายทั้ง จอร์จ เบนตัน, โจ เฟรเซียร์ และ เบอร์นาร์ด ฮ็อปกินส์  

 1

เดิมทีก่อนที่ฟลอยด์ จะเอาท่านี้มาใช้มันถูกเรียกว่า "ฟิลลี่ เชลล์" (เปลือกหอยฟิลาเดลเฟีย) ซึ่งสมัยนั้นมันเป็นเพียงแท็คติกหนึ่งในการป้องกัน แต่สาเหตุที่แท็คติกนี้ไม่โด่งดังมากมายนักในช่วงแรกเป็นเพราะมีนักมวยหลายคนในยิมแห่งนี้ที่ไปไม่สุดทาง หรือไม่ได้เทิร์นโปรจนเอาท่าไม้ตายก้นหีบของยิมไปปล่อยสู่สายตาชาวโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คือ แทคติกนี้ถูกใช้ เพราะความจำเป็นมากกว่า มันมีไว้สำหรับนักชกที่เริ่มแก่ตัวลง ความเร็วลดลง ความแข็งแกร่งลดลง อย่างกรณีของเบอร์นาร์ด ฮ็อปกินส์ เขาใช้ท่านี้ในช่วงยกกลางๆ เพื่อถนอมพละกำลัง ยังทำให้คู่ชกไม่กล้าพุ่งเข้ามาชกดื้อๆ เพราะอาจโดนหมัดเคาน์เตอร์สวนเข้าไปได้ ก่อนเร่งสปีดก๊อก 2 หลังพักจนหายเหนื่อยแล้ว 

นั่นเอง "สายรับหมัดและอ่านจังหวะสวน" แบบ 100% จึงเห็นจะมีแต่ ฟลอยด์ คนเดียวเท่านั้น หากเจอคู่ชกที่เขามีความเสี่ยงจะแพ้ เขาจะไม่เดินชกแบบมั่วซั่วและใช้การดักชกหรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "เคาน์เตอร์ พันช์" เป็นหมัดเด็ดในการทำเเต้ม

วกกลับมาถึงการพัฒนาจาก "ฟิลลี่ เชลล์" มาจนกลายเป็น "โชลเดอร์ โรลล์" ของ ฟลอยด์ นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากโค้ชของเขาที่ชื่อว่า เดล วิลเลี่ยมส์ เทรนเนอร์คนแรกของเขาที่ฝึกฟลอยด์มาตั้งแต่ยังเด็ก นอกจากนี้ยังเป็นเทรนเนอร์ให้กับพ่อของเขา "ฟลอยด์ ซีเนียร์" อีกด้วย 

 2

"ผมจำได้ว่าผมเคยชกกับ ฟลอยด์ ซีเนียร์ (คนพ่อ) ซีเนียร์ นั้นเป็นนักมวยที่ใช้หัวไหล่ขึ้นมากันได้เก่งมาก มันยากที่จะชกผ่านไหล่ที่เขายกขึ้นมาบล็อกได้" ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด หนึ่งในนักชกจุตรเทพของรุ่นมิดเดิลเวต เล่าถึงอดีตที่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน

เดล วิลเลี่ยมส์ พยายามจะเสริมเกมรับของฟลอยด์ ตั้งแต่ที่เริ่มเป็นนักชกสมัครเล่น ตัวของ ฟลอยด์ ในวัยหนุ่มนั้นยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการชกแบบ "เคาน์เตอร์ พันช์" มากนัก กระทั่งมาถึงจุดที่มีอายุมากขึ้น และความเร็วของตัวเองลดลง เขาจึงกลับมาปัดฝุ่นและฝึกท่าตั้งรับใหม่โดยการเอา "ฟิลลี่ เชลล์" มาพัฒนาจนกลายเป็น "โชลเดอร์ โรลล์" ในภายหลัง ซึ่งมันแข็งแกร่งกว่าต้นตำรับอยู่พอตัว 

"ตอนนี้ผู้เป็นลูกชายนำสิ่งที่พ่อของเขามีมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นไปได้อย่างไร อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของสายตาและมุมมองในการชกของเขาด้วย ถ้า ฟลอยด์ ได้เก็บคางและใช้ โชลเดอร์ โรลล์ ผมรู้สึกเหมือนกับเขาเป็นเต่าที่หดเข้าไปในกระดองอันเเข็งแกร่งเลย" ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด เสริมต่อ

อะไรคือ "Shoulder Roll" 

"โชลเดอร์ โรลล์" เป็นสุดยอดท่าตั้งรับที่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์  จูเนียร์ ทำให้โลกรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เหตุผลที่มันสุดยอด เพราะมันคือท่าตั้งรับที่ผสมผสาน "การป้องกัน", "การหลบหลีก" และ "การอยู่ในสถานะพร้อมชกสวน" เข้าด้วยกัน และเมื่อผู้ใช้เป็นอัจฉริยะมวยสายตาอย่าง ฟลอยด์ มันจึงทำให้ท่านี้เป็นปราการด่านสำคัญที่นักชกน้อยคนจะส่งฟลอยด์ลงไปกองและโดนกรรมการนับได้

 3

หลักการทำงานง่ายๆของ "โชลเดอร์ โรลล์" สำหรับฟลอยด์นั้นอยู่ที่การยกไหล่ซ้ายขึ้นมาเพื่อเป็นเกราะป้องกันคาง ขณะที่แขนซ้ายใช้ป้องกันการโดนชกลำตัว ส่วนหมัดขวานั้นมีบทบาทในการยกขึ้นมาพร้อมที่จะกันหมัดซ้ายของคู่ชก รวมถึงคอยปัดป้องหมัดแย็ปด้วย 

ฟลอยด์ เคยบอกว่าเทคนิคในการใช้ท่า โชลเดอร์ โรลล์ ของเขานั้นคือการป้องกันคางตัวเองให้เเน่นหนาก่อนเป็นอันดับแรก, สายตาในการอ่านจังหวะของคู่ชกนั้นสำคัญมาก, ไม่เอนตัวหรือเหวี่ยงตัวสำหรับหลบ และป้องกันมากเกินไป และ อย่ากางขากว้างเกินไป เพราะมันจะทำให้การโยกตัวทำได้ช้าลง

รายการ Sports Science ที่วิเคราะห์เรื่องต่างๆของกีฬาออกมาเป็นแนววิทยาศาสตร์ได้นำเอาท่า โชลเดอร์ โรลล์ ของ ฟลอยด์ ไปศึกษาภายใต้ชื่อตอน  "Art of Floyd Mayweather shoulder roll defense" เพื่อหาว่าประสิทธิภาพสูงสุดของท่านี้คืออะไร

 4

พวกเขาพบว่านอกเหนือจากท่าที่ดีเเล้วร่างกายของฟลอยด์ก็ยังสุดยอดมากๆเช่นกัน ได้แก่

1.เขาใช้อัตราเร่งในการโยกหลบมากถึง 4G (ค่าคงตัวโน้มถ่วงสากล) คิดง่ายๆ คือ เทียบเท่าความเร็วของนักอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่งรันนิ่ง แบ็ค ของ NFL ระดับท็อปเวลาโยกหลบ ตัวที่เข้าแทคเกิล   

2.เขาใช้เวลาในการยกไหล่ขึ้นมาบล็อกหมัดของคู่ชกภายในระยะเวลาแค่ 0.1 วินาทีเท่านั้น และทันทีที่เขายกขึ้นมากันคู่ชกของเขา จะเห็นหัวหรือหน้าของฟลอยด์เล็กลงอีก 50%  ทำให้เล็งเป้าได้ยากขึ้น

3.การหมุนตัวและยกไหล่ขึ้นมาบล็อกของฟลอยด์ถูกวัด ความเร็วเชิงมุม ได้ 680 องศาต่อ 0.1 วินาที

4.ทันทีที่เขาใช้ท่านี้กันหมัดของคู่ชก ความแรงของหมัดจะลดลง 60% หากจะเปรียบเทียบให้สูสีคือมันเป็นการป้องกันที่ดีเกือบเทียบเท่ากับระบบถุงลมนิรภัยในรถยนต์เลยทีเดียว (ถุงลมนิรภัยลดแรงกระแทกได้ 62%)

ใช้เเล้วสบาย 

"พริตตี้บอย" คือฉายาที่เซียนมวยจะยกให้นักชกที่สามารถเอาชนะได้โดยแทบไม่ต้องเปลืองตัวเจ็บปวดและฟลอยด์เองก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยมี "โชลเดอร์ โรลล์" เป็นเหตุผลหลัก

 5

มันคือท่าที่ใช้พลังงานน้อยกว่าการหลบหลีกหมัดแบบปกติที่ต้องใช้ฟุตเวิร์คแบบปกติ​ (แต่ก็ต้องใช้เหมือนกัน แตกต่างจากฟิลลี่ เชลล์ ฉบับดั้งเดิมที่มักจะยืนเต็มเท้า) เพราะโชลเดอร์โรลล์ จะใช้การเอียงตัวและโยกไหล่ พร้อมหัวเข่าที่งอไว้ เพื่อเตรียมพร้อมขยับตัวหนีคู่ต่อสู้ทุกครั้งที่จนมุม ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ ฟลอยด์ เป็นนักมวยที่ชกแบบยืนครบ 12 ยกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการแผ่วแบบเป็นคนละคน เหมือนกับนักชกสายบู๊คนอื่นๆ 

นอกจากนี้ "โชล์เดอร์ โรลล์" ยังเป็นท่าตั้งรับที่จัดระเบียบร่างกายให้สามารถหาจังหวะสวนแบบไม่ต้องใช้เวลามากมายอีกด้วย หากฟลอยด์ยกไหล่ซ้ายขึ้นมาบล็อกหมัดของคู่ชก แขนขวาของเขาก็จะอยู่ในระยะทำการพร้อมปล่อยหมัดทันที และในทางเดียวกันหากเขาใช้โชลเดอร์ โรลล์ กับไหล่ขวา หมัดซ้ายของเขาก็พร้อมจะชกในจังหวะเคาน์เตอร์ทันทีเช่นกัน

 6

“ท่านี้ใช้แล้วสบาย” กล่าวแบบนั้นคงไม่ผิดนัก เพราะมีการนับสถิติเวลาที่ฟลอยด์ขึ้นชกจากเว็บไซต์ CompuBox ที่ยืนยันว่าในแต่ละ ไฟต์ที่ฟลอยด์ขึ้นชกนั้น เขาได้รับหมัดจากคู่ต่อสู้ในแบบที่เข้าเป้าน้อยมาก 

ไฟต์ที่ชกกับ คาเนโล อัลวาเรซ นั้น ฟลอยด์ ต่อยเข้าเป้าถึง 46% ขณะที่ อัลวาเรซ ต่อย ฟลอยด์ เข้าจุดเเค่ 22% นอกจากนี้ยังมีแมตช์กับ ริคกี้ ฮัตตั้น (39% ต่อ 17%) วิคเตอร์ ออร์ติซ (35% ต่อ 18%) หรือแม้กระทั่ง ออสการ์ เดอ ลาโฮย่า (43% ต่อ 21%) ซึ่งไฟต์เหล่านี้่เป็นไฟต์ที่ โชลเดอร์ โรลล์ สำเเดงเดชช่วยให้ฟลอยด์เอาชนะแทบทั้งสิ้น 

ตันตำรับมีเพียง 1 เดียว

ทุกอย่างฟังเหมือนง่าย ก็แค่ยกไหล่กันและม้วนไหล่หลบแค่นั้น... แต่ความจริงที่ ฟลอยด์ ใช้ท่านี้ได้มีประสิทธิภาพได้มากที่สุด นั่นก็เป็นเพราะว่า "เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้"

 7

เกิดมาเพื่อสิ่งนี้หมายถึง...สไตล์การชกที่ผิดแผกจากนักมวยสายบู๊ที่คนดูนิยม การเป็นมวยสายดักจังหวะ และตั้งรับคือธรรมชาติของ ฟลอยด์ ตั้งแต่เริ่มชกมวย เขาก็เชี่ยวชาญด้านการอ่านจังหวะ และเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้เป็นทุนเดิม 

ครั้งหนึ่ง เอเดรียน โบรเนอร์ อีกหนึ่งนักชกพยายามจะเลียนแบบเอาเทคนิค “โชลเดอร์ โรลล์” ของ ฟลอยด์ มาใช้ แต่สุดท้ายเขากลับแพ้ มาร์กอส ไมดาน่า นักชกจาก อาร์เจนติน่า จนเสียสถิติแพ้ครั้งแรก หลังชกมา 28 ไฟต์ พร้อมเสียเข็มขัดเเชมป์โลก WBA รุ่น เวลเตอร์เวตในเดือนธันวาคมปี 2013 อีกด้วย

"โบรเนอร์ พยายามเลียนแบบแต่มันกลับกลายเป็นการฆ่าตัวตาย รู้ไหมเพราะอะไร? ก็เพราะว่าไม่ใช่ ฟลอยด์ เวย์เวทเธอร์ ไงล่ะง่ายๆแค่นั้นเลย" เอ็ดดี้ มุสตาฟา มูฮัมหมัด หรือ ลี เกรเกอร์รี่ อดีตแชมป์เฮฟวี่เวตอธิบายแบบกำปั้นทุบดินในการวิเคราะห์ผ่านรายการ RINGTV ก่อนมีอีกเสียงหนึ่ง ช่วยอธิบายให้เห็นภาพมากกว่าเดิมว่า

"ผมอยากจะบอกว่าฟลอยด์นั้นเกิดมาเพื่อที่จะเป็นมวยสายเคลื่อนไหวเลยก็ว่าได้ และจุดนั้นเองมันคือความแตกต่างระหว่าง ‘เขา’ กับคนที่ ‘พยายามเลียนเเบบเขา’ จริงอยู่ที่นักสู้บางคนอาจจะทำได้ดีในจุดนี้ แต่ฟลอยด์ เริ่มและเชี่ยวชาญกับการใช้ โชลเดอร์ โรลล์ ทันที มันคือสิ่งที่เกิดมาเพื่อเขา และเป็นธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเลย" อันเดร วอร์ด  อดีตเเชมป์โลกรุ่น ซูเปอร์ มิดเดิลเวท ของ WBA พยายามจะบอกถึงสิ่งที่ทำให้ฟลอยด์เหนือชั้นในการตั้งรับ

"นักมวยส่วนมากชอบที่จะชกแบบปล่อยไหลตามจังหวะ แต่ผมไม่ทำแบบนั้น ผมพยายามที่จะเปลี่ยนจังหวะ ต่อยบ้าง หยุดบ้าง และเดินบ้าง เมื่อคู่ต่อสู้ไม่รู้จังหวะของผม นั่นหมายถึงว่าผมมีเวลาที่จะเหวี่ยงหมัดใส่พวกเขาได้โดยไม่ตั้งตัว... ผมจะไม่เขวี้ยงหมัดไปมั่วๆ ตราบใดที่ผมยังไม่แน่ใจว่าคู่ชกของผมอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม (เสียสมดุล)" ฟลอยด์ กล่าวถึงนิสัยในการชกของเขา

การทำ “โชลเดอร์ โรลล์” ได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ ฟลอยด์ ถูกมองว่าเป็นนักชกที่ใช้การป้องกันมากเกินไปจนน่าเบื่อ และมีหลายๆไฟต์ที่ผลออกมาดูค้านสายตา เพราะเขาเป็นมวยที่ออกหมัดน้อยกว่าคู่ชกของเขาอยู่บ่อยๆ และบ่อยครั้งที่มันจะจบลงด้วยคำกล่าวที่ว่าชัยชนะของ ฟลอยด์ คือ 1 ในการตลาดของมวยสากล ที่ทำให้เขากลายเป็นนักไร้พ่าย และสร้างกระแสว่าใครจะเป็นคนน็อคเอาต์เขาได้ในแต่ละไฟต์ ทั้งที่จริงการออกหมัดของเขามันเข้าเป้ามากกว่าคู่ต่อสู้ 

สิ่งที่เราได้เห็นจากคำวิจารณ์นี้คืออะไร...อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น นักมวยไม่ใช่วัวชน การใช้สมองเป็นเรื่องจำเป็น เชื่อว่านักมวยเกือบจะ 100% อยากจะเอาชนะโดยที่ไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนกับ ฟลอยด์ ทั้งนั้น แต่ความสามารถในการก้าวไปถึงจุดที่เป็นราชาแห่งการตั้งรับมันไม่สามารถเป็นกันได้ทุกคน ความสมบูรณ์แบบของเขา มันอาจทำให้คนอื่นหมั่นไส้ แต่มันก็เหมือนกับทุกๆคน ทุกๆ วงการในโลกนี้ ที่หากโดดเด่น จนเกินไป ก็มักถูกวิจารณ์ และพยายามจะถูกดึงลงมา... 

 8

"ผมรู้ว่าไหล่เป็นเหมือนคลังเเสงของฟลอยด์ มันสำคัญสำหรับเขามากจนนักชกหลายคนไม่พอใจและในทางเดียวกันคือพวกเขาเหล่านั้นเอาท่านี้ไปใช้งานแบบไม่ถูกต้อง" เบอร์นาร์ ฮ็อปกินส์ วิจารณ์ถึงสไตล์และท่าไม้ตายของ ฟลอยด์ 

"ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายคุณอาจได้ยินมาว่าก็แค่ยกไหล่ขึ้นและบิดตัวม้วนไปมาเหมือนกับที่ ฟลอยด์ ทำ แต่ผิดถนัดเลย สิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยเต็มๆคือปฎิกิริยาตอบสนอง การใช้โชลเดอร์โรลล์ของเขาไม่ได้ทำค้างไว้นะ เมื่อคู่ต่อสู้ปล่อยหมัด เขาจะยกไหล่ขึ้นมา มันเป็นเซ้นส์จากธรรมชาติเหมือนกับเต่าที่จะหดเข้ากระดองเมื่อพวกมันรู้ว่าอันตรายกำลังจะเกิดขึ้น" 

"ฟลอยด์ แค่ใช้ร่างกายของเขาสำหรับการป้องกันได้ดีมาก และมันยังเป็นการเซ็ตอัพสำหรับหมัดที่เขาจะปล่อยในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้าด้วย นี่แหละคือเหตุผลที่เขาเป็นนักชกที่ดีที่สุดตลอดกาล" ฮ็อปกินส์ ทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ สมบูรณ์แบบจนน่าหมั่นไส้ : "Shoulder Roll" ท่าไม้ตายไร้พ่ายที่ไม่ต้องออกหมัดของ "ฟลอยด์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook