ประวัติ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี

“พล.อ. สุจินดา คราประยูร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2534 เจ้าของวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 01:57 น. ของวันที่ 10 มิ.ย. 68 ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ สิริอายุ 91 ปี 10 เดือน 4 วัน
สำหรับ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายทหาร และ นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2534 เจ้าของวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ”
ประวัติ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
พลเอก สุจินดา เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเล็กของจวง กับสมพงษ์ คราประยูร มีพี่สาวสองคน โดยครอบครัวเป็นข้าราชการกรมรถไฟ สมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร (สกุลเดิม หนุนภักดี) มีบุตรด้วยกัน 2 คน ได้แก่พลเอก เจิดวุธ คราประยูร ที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย และ เจนวิทย์ คราประยูร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด
พลเอก สุจินดา เข้ารับการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนปิยะวิทยา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเศก หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปีที่ 4 – 5 ที่จังหวัดหนองคาย เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องย้ายไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดหนองคาย ต่อมาได้กลับเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ แล้วได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์จนจบมัธยมปีที่ 8 สอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้เพียงปีเดียวก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5
พลเอก สุจินดา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางทหาร อาทิ ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
X @WassanaNanuamบิ๊กหนุน พลเอกชัยณรงค์ หนุนภักดี และ บิ๊กสุ พลเอก สุจินดา คราประยูร
นายกฯ คนที่ 19 เจ้าของวลี เสียสัตย์เพื่อชาติ
พลเอก สุจินดา ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ สุจินดาได้แต่งตั้งพลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
จึงถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้สุจินดา ลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช.
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอกสุจินดาจึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ท่ามกลางความกดดัน
โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 48 ของรัฐบาลสุจินดาจึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ