นายกรัฐมนตรี ระบุ อัมสเตอดัมส์มีพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูล

นายกรัฐมนตรี ระบุ อัมสเตอดัมส์มีพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูล

นายกรัฐมนตรี ระบุ อัมสเตอดัมส์มีพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรี ชี้การที่สหรัฐหนุนแผนปรองดองเป็นเรื่องดี เป็นการย้ำความเชื่อมั่นต่างชาติที่มีต่อไทย ส่วนความเคลื่อนไหว "อัมสเตอดัมส์" คงห้ามยาก เพราะรับจ้าง "พ.ต.ท.ทักษิณ" มาทำงาน ส่วนจะให้ข้อมูลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ศอฉ.จะพิจารณา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกามีมติสนับสนุนแผนปรองดองของรัฐบาลไทยว่า เป็นเรื่องดีและเป็นการยืนยันถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ของต่างประเทศว่า มีความเข้าใจที่ดีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมองเห็นว่า แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ จะเป็นแนวทางที่มีโอกาสแก้ไขปัญหาได้ และเป็นการชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจพื้นฐานของประชาคมโลกเป็นไปในทางบวก

ส่วนความเคลื่อนไหวของ นายโรเบิร์ต อัมสเตอดัมส์ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงห้ามไม่ได้ แต่การจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูหลักฐานต่าง ๆ ในช่วงที่มีการชุมนุมและมีการเสียชีวิต 90 ศพ ก็ต้องให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการฉุกเฉิน (ศอฉ.) พิจารณา แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่า บุคคลนี้เป็นลูกจ้างและมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการทำงานให้อดีตนายกรัฐมนตรี

"เขาเคยเข้ามาประเทศไทย และเลือกที่จะไม่รับทราบข้อมูลบางอย่าง หรือเผยแพร่ข้อมูลบางอย่าง เช่น มาแล้วได้รับการพูดชัดเจนว่า การชุมนุมมีอาวุธ ก็ยังออกไปพูดในต่างประเทศว่า ตลอดเวลาการชุมนุมไม่มีคนที่ติดอาวุธเลย อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น น้ำหนักต่างๆ ค่อนข้างน้อย และทำให้เห็นว่า ข้อมูลหากเราส่งไปก็อาจจะถูกบิดเบือนเหมือนกัน ทั้งนี้ อยู่ที่ ศอฉ. สำหรับกรณีของคนนี้เห็นได้ชัดไม่ได้เจตนาในเรื่องการที่จะมาช่วยเหลืออะไร นอกจากการทำงานให้กับนายจ้างของเขาแล้วต้องดูด้วยว่า ประวัติเขาเป็นอย่างไร" นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับกรณีที่นายอัมสเตอดัมส์อ้างสนธิสัญญาต่างๆ ในการขอข้อมูล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ผูกพันกับนายอัมสเตอดัมส์ เพราะเป็นเรื่องระหว่างรัฐ แต่เชื่อว่านายอัมสเตอร์ดัมพยายามเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายของไทย เพราะรับเงินมาเพื่อทำเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมนั้น มีองค์กรที่เขาทำหน้าที่ตรวจสอบหลายองค์กรเป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลักษณะนี้เข้ามา ซึ่งโดยทั่วๆ ไปก็ให้ความร่วมมืออย่างดี แม้แต่คนที่สนใจมาดูการทำงานของนายคณิต ณ นคร ซึ่งมีหลายองคร์กรติดต่อมา ก็จะเป็นการร่วมมือกันด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินไปสหภาพยุโรปเคลื่อนไหวลักษณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คนที่เขามีหน้าที่รับจ้างมา เขาให้ทำอะไรก็ต้องทำตามนั้น แต่ในส่วนของรัฐบาลต้องทำงานในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประเทศต่างๆ ซึ่งคิดว่ากรณีของสหรัฐ ถือเป็นตัวอย่างว่าเขามีความเข้าใจที่ดีพอสมควร

เมื่อถามว่า จะดำเนินการกับนายอัมสเตอร์ดัมอย่างไร หากทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเสียหาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการกระทำความผิดขั้นไหน ซึ่งการบิดเบือนข้อมูล หรือการพูดความจริงครึ่งเดียว เกิดขึ้นอยู่ และเป็นความพยายามที่จะมาทำให้กระทบกระเทือนในส่วนของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่า เราควรจะให้ความเชื่อถือ ให้พื้นที่กับคนเหล่านี้มากแค่ไหน แต่เราก็รู้ว่าอย่างกรณีของนายอัมสเตอร์ดัมเขาก็มีวิธีการที่ใช้มาหลายกรณีแล้วที่เคยทำคดีต่างๆ มา เขาจะมีเครือข่ายและทรัพยากรและค่าจ้างสูงพอสมควร ส่วนความเหมาะสมที่จะให้เดินทางเข้าประเทศไทยอีกหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook