ทบ.โต้สื่อเสนอข่าวเรือเหาะคลาดเคลื่อน

ทบ.โต้สื่อเสนอข่าวเรือเหาะคลาดเคลื่อน

ทบ.โต้สื่อเสนอข่าวเรือเหาะคลาดเคลื่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก โต้สื่อเสนอข่าวกรณีจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ทางอากาศไม่ตรงความจริง ยืนยันขึ้นทำการบินได้ตามสเปกเพดานบิน ขณะที่ค่าใช้จ่ายการเติมก๊าซฮีเลียมแต่ละครั้งไม่ได้สูงมากตามที่ข่าวเสนอ แต่ที่ยังไม่ตรวจรับ เพราะในส่วนสัญญาที่ 2 เกี่ยวข้องกับกล้องและเฮลิคอปเตอร์ยังไม่สมบูรณ์

พ.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก แถลงถึงกรณีที่มีสื่อบางฉบับเสนอข่าวการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์บินสูงไม่ ได้ตามสเปกว่า เป็นการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยเรือเหาะดังกล่าวมีสเปกการบินอยู่ที่ 10,000 ฟุต หรือ 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของเรือเหาะและได้รับการตรวจสอบจากสหรัฐอเมริกาแล้ว จึงบิดเบือนไม่ได้ แต่ข้อสงสัยว่าเรือเหาะบินได้จริงหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่า เรือเหาะบินได้ 10,000 ฟุตจริง ตามที่คู่มือกำหนด แต่เฉพาะตัวบอลลูนเปล่าๆ แต่การบินเพื่อปฏิบัติการนั้น จะติดตั้งกล้อง 2 ตัว ตัวส่งสัญญาณ คอนโซล และเจ้าหน้าที่อีก 4 คน ซึ่งจะเพโหลด โดยจะมีคู่มือกำหนดว่า น้ำหนักเท่านี้ อากาศเท่านี้ แรงลมเท่านี้ อุณหภูมิเท่านี้จะบินได้สูงเท่าใด

"ในการตรวจรับ ก็ต้องตรวจรับไปตามคู่มือ ซึ่งมีเพดานบินได้สูง 10,000 ฟุตตามสเปกของโรงงาน แต่การบินใช้งานจะใช้เพดานบินประมาณ 2,500 - 5,000 ฟุต แล้วแต่สถานการณ์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเราจะมีเพโหลดเท่าไหร่ อากาศขณะนั้นเป็นอย่างไร ภารกิจของเราคืออะไร ดังนั้น กรณีที่บอกว่าบินไม่ตรงตามสเปกแล้วตรวจรับ ขอให้เลิกพูดได้แล้ว เพราะถ้ากรรมการไปตรวจรับและไม่ตรงตามสิ่งที่ถูกต้อง กรรมการก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้ว" รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กล่าว

ส่วนประเด็นการใช้ก๊าซฮีเลียมบรรจุในเรือเหาะมีคนสงสัยว่าใช้อย่างไร ราคาแพงจริงหรือไม่นั้น พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า ก๊าซฮีเลียมราคาลูกบาศก์เมตรละ 1,000 บาท เป็นราคาปกติที่ซื้อในประเทศ หากเติมไปเต็ม ๆ ในตัวเรือเปล่าจะตกประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งมีคนสงสัยว่าบินทุกครั้งต้องเติมก๊าซทุกครั้งหรือไม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าทำการบินสูงขนาดไหน เป็นเทคนิคการบินตามคู่มือ และสามารถตรวจสอบคู่มือได้ว่า เมื่อบินไปสูงเท่านี้เกิดการสูญเสียก๊าซฮีเลียม เมื่อลงมาก็ต้องเติม แต่ไม่ได้หมายความว่า ขึ้นบินครั้งหนึ่งต้องเติม 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับการปฎิบัติงาน แต่ไม่ใช่วงเงินที่สูง

เมื่อถามว่า เพดานการบินที่เรือเหาะสามารถทำได้ จะเลยระยะยิงของปืนเล็กยาวหรือไม่ พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า ระยะยิงหวังผลประมาณ 600 เมตร หรือ 1,800 ฟุต ระยะยิงไกลสุด 2 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากเรือเหาะถูกยิงก็คงจะเป็นรู แต่ไม่ระเบิดเพราะก๊าซฮีเลียมไม่ติดไฟ เมื่อถูกยิงก็จะซึมแล้วค่อยๆ บินลง อย่างไรก็ตาม เป้าหลักในการใช้เรือเหาะ คือ การปฏิบัติภารกิจในยามวิกาล เพื่อดูว่ากลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ทำอะไรบ้าง ซึ่งการปฏิบัติการในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้หาข่าวได้ดีมาก แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยง ซึ่งจะมีชุดคุ้มกันดูแลอยู่

เมื่อถามว่า คณะกรรมการเซ็นรับการจัดซื้อเรือเหาะแล้วหรือยัง พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า สัญญาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เรือเหาะพร้อมกล้อง ซึ่งตัวเรือเหาะพร้อมให้คณะกรรมการตรวจรับ และคณะกรรมการเดินทางไปทดสอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าเป็นไปตามสเปก 2.กล้อง 3 ตัว กับเฮลิคอปเตอร์ ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้คณะกรรมการยังไม่ตรวจรับ ทั้งนี้ เพดานการบินที่ทดสอบสามารถทำระยะได้ 3,100 ฟุต ซึ่งคณะกรรมการให้ผ่าน

เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กดดันให้คณะกรรมการเร่งผ่านโครงการหรือไม่ พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า พูดอย่างนี้ไม่แฟร์ ไม่มีใครกดดันคณะกรรมการได้ ส่วนการส่งมอบล่าช้าต้องมีการคิดค่าปรับหรือไม่ ในสัญญามีเรื่องดังกล่าวกำหนดไว้อยู่แล้วตามเวลาที่เสียไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตรวจรับและส่งมอบชัดเจน ทั้งนี้ เรื่องค่าปรับมีเกณฑ์กำหนดอยู่ เมื่อส่งมอบแล้วถึงจะคิดระยะเวลาที่เลยกำหนด หรือระยะเวลาที่ยกเว้นค่าปรับอย่างไร

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์ว่ากองทัพบกรับแนวคิดการเรื่องเรือเหาะมาจากบริษัท สร้างหนังกันตนา พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ โดยยืนยันว่า ไม่ใช่แน่นอน เรื่องกันตนามาจากไหน เรื่องการใช้เรือเหาะในการปฏิบัติการทางทหารมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีการศึกษามาตลอด แต่ช่วงหลังเทคโนโลยีสูงขึ้นในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะกล้อง จึงเห็นว่า น่าจะทำให้การตรวจทางอากาศเป็นผลดี

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook