“เสรีภาพสื่อไทย” มีอยู่จริงไหมในยุคปัจจุบัน?

“เสรีภาพสื่อไทย” มีอยู่จริงไหมในยุคปัจจุบัน?

“เสรีภาพสื่อไทย” มีอยู่จริงไหมในยุคปัจจุบัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • สื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพอยู่ในอันดับที่ 137 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก แม้จะมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ 
  • อำนาจรัฐและอำนาจทุนยังมีบทบาทสำคัญในวงการสื่อมวลชนไทย ทำให้สื่อมวลชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความอยู่รอด
  • สื่อมวลชนเลือกที่จะนำเสนอข่าวดราม่า เพราะการนำเสนอข่าวเชิงลึกทำให้สื่อมวลชนถูกคุกคาม เช่นเดียวกับเงื่อนไขขององค์กรสื่อ ที่ต้องทำงานให้เร็ว ต้องรักษาเรตติ้งและยอดวิว เพื่อรายได้และความอยู่รอด
  • การสร้างเสรีภาพให้สื่อมวลชนจำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แต่ทั้งนี้ สื่อมวลชนต้องรู้จักต่อต้านและไม่ยอมปล่อยให้ไปตามกระแส เพื่อสร้างเสรีภาพในการทำงานของตัวเอง

“สื่อมวลชน” และ “เสรีภาพ” คือสองสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันเสมอ เนื่องจากหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนคือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ​ จึงจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการทำหน้าที่เหล่านั้น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนในสังคม อย่างไรก็ตาม ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าสื่อมวลชนก็ถูกคุกคามจากอำนาจที่อยู่เหนือกว่าเสมอ จนบ่อยครั้งที่สื่อมวลชนจำเป็นต้อง “เซ็นเซอร์” ตัวเองเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ Sanook ขอร่วมสะท้อนปัญหาที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญ ซึ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องของเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ทั้งนี้ หากกล่าวว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” แล้วสื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพจริงหรือไม่ ในยุคที่ประชาชนผู้เห็นต่างถูกจับกุมและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง 

สื่อไทยพูดได้มากแค่ไหนในยุคนี้

ดัชนีวัดเสรีภาพสื่อโลก (WPFI) ประจำปี 2564 โดยองค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders หรือ RSF) ได้จัดลำดับให้เสรีภาพสื่อมวลชนของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 137 จากทั้งหมด 180 ประเทศ โดยอันดับของประเทศไทยสูงขึ้นจากปี 2563 ขึ้นมา 3 อันดับ และถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสื่อมวลชนไทยก็ไม่ได้ไร้ซึ่งเสรีภาพในการนำเสนอข่าวเสียทีเดียว ทว่า ก็ยังมี “ข้อกำจัดบางอย่าง” ที่กดทับสื่อมวลชนไทยเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น

“จะบอกว่าวงการสื่อบ้านเราไม่มีเสรีภาพเลยก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะหลาย ๆ เรื่องมันก็ไม่ได้ผลกระทบอย่างที่เรากังวล ผมคิดว่าเสรีภาพหรือ Free Speech ในวงการบ้านเรามันถือว่าโอเคอยู่ในระดับหนึ่ง แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถรายงานข่าวได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก” ภูวเดช จีระพันธ์ รองบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว Sanook News สะท้อน 

เช่นเดียวกับวศินี พบูประภาพ นักข่าวสังกัด Workpoint Today ที่มองว่า การเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา ช่วยส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยและตั้งคำถามมากขึ้น หลังจากสื่อมวลชนได้รับผลกระทบจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาจทำให้บรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชนถูกจำกัด เปรียบเสมือน “เมฆหมอกขมุกขมัว” ที่ปกคลุมวงการสื่อของไทยเอาไว้

“การเลือกตั้งมันนำมาซึ่งเพดานที่ขยับขึ้นของสื่อมวลชนจริง ๆ ถ้าเทียบกับสมัยก่อน แต่ถามว่าต่อให้เราออกมาจากอุโมงค์แล้ว มันเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า สิ่งที่พบคือมันก็เป็นข้อจำกัดที่สื่อต้องเผชิญเหมือนกันทั่วโลก สื่อถูกท้าทายด้วยอะไรหลายอย่าง อย่างสื่อไทยก็ถูกท้าทายด้วยอำนาจรัฐ ทั้งแบบที่มองเห็นและมองไม่เห็น แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องที่มาของรายได้ของสื่อในยุคปัจจุบัน ก็สกัดกั้นการตรวจสอบภาครัฐและภาคเอกชนของสื่อด้วยเหมือนกัน ทำให้เสียใจที่ต้องยอมรับว่า เพดานการตรวจสอบของสื่อไทย มันยังต่ำอยู่มาก ๆ” วศินีชี้

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งที่สื่อมวลชนไทยถูกมองว่าเป็น “คู่ตรงข้าม” กับรัฐ และนำมาซึ่งการออกกฎหมายที่เข้ามาตีกรอบการทำงานของสื่อมวลชน​ ดังจะเห็นได้จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องโควิด-19 ที่จ้องกำราบสื่อ ทำให้สื่อมวลชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบการทำงานของรัฐ โดยการใช้กฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐคิดว่าสื่อมวลชนทำให้รัฐทำงานยากและทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ภายใต้ม่านหมอกของความหวาดกลัว 

ด้าน ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้หยิบยกคำขวัญด้านสื่อมวลชนขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 2563 ระบุว่า “สื่อมวลชนควรทำหน้าที่โดยปราศจากความกลัวและความลำเอียง ไม่ว่าจะชอบหรือชังด้วยอำนาจหรือผลประโยชน์ (Jornalism without Fear or Favour)” หรือสื่อมวลชนต้องทำงานโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใดในการนำเสนอข่าว เช่นเดียวกับต้องไม่มีแรงจูงใจหรือผลประโยชน์ที่แสดงให้เห็นความลำเอียงในการนำเสนอข่าว 

“แต่ในความจริง เมืองไทยไม่ใช่แบบนั้นเลย มันมีทั้งความกลัวและความลำเอียง เราต้องยอมรับว่าโครงสร้างสื่อไทยมันผูกติดกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่างเช่นช่องฟรีทีวีเดิม มันก็เป็นระบบสัมปทานซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาล พอเป็นอำนาจทุน ทุนเข้ามาซื้อสปอนเซอร์หรือมาสนับสนุน ก็กลายเป็นระบบเกื้อหนุน ระบบอุปถัมภ์ที่ช่วยกันไปมา ถ้ามีเรื่องนี้ก็ช่วยเบา ๆ หน่อยนะ ผู้ใหญ่ขอมาว่าอย่าออกเรื่องนี้นะ มันเป็นเรื่องที่ปกติมากในแวดวงสื่อไทย” ดร.เจษฎากล่าว  

สอดคล้องกับภูวเดช ที่ระบุว่า สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญกับรายการ “คุณขอมา” ที่ส่งผลให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมาในทุกข่าว หรือสื่อจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นหากการรายงานข่าวนั้น ๆ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือนโยบายสาธารณะที่กระทบภาครัฐหรือรัฐบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็น “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” ของสื่อมวลชน 

“เรื่องของคุณขอมา เรื่องของความเกรงอกเกรงใจ หรือแม้กระทั่งไม่ต้องเป็นเรื่องการเมืองนะ เอาเป็นเรื่องในแวดวงธุรกิจ สมมติว่าถ้าองค์กรนี้มาสนับสนุน มาเป็นสปอนเซอร์ของเรา มันก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “แตะ ๆ พอเป็นพิธีนะ” ถ้าองค์กรนั้นมีประเด็นหรือมีเรื่องอะไรยังไง มันก็ทำให้องค์กรสื่อหรือนักข่าวต้องระวังว่าจะรายงานได้ตรงไปตรงมาไหมนะ เพราะสุดท้ายมันส่งผลต่อรายได้หรือความอยู่รอดของธุรกิจสื่อเองด้วย” ภูวเดชระบุ 

“ในขณะที่คุณเรียกร้องให้สื่อนำเสนอความจริง แต่พอพูดเรื่องความจริง สื่อกลับโดนเล่นงาน มันก็กลายเป็นว่าคนที่มาเป็นหมาเฝ้าบ้าน (Watchdog) ไม่สามารถพูดหรือนำเสนอข่าวได้อย่างเต็มที่ สื่อต้องพยายามเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะอยู่ได้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน บางที่อำนาจรัฐมาแทรกแซง บางที่อำนาจทุนเข้ามาแทรกแซง ดังนั้น คุณต้อง “อยู่ให้เป็น” ผมมองว่านี่คือสกิลที่สำคัญของสื่อในยุคนี้” ดร.เจษฎาเสริม 

สภาวะที่เปราะบางของสื่อไทย 

เมื่อมองสถานการณ์สื่อมวลชนโลก เราจะพบว่าสื่อมวลชนต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับสื่อมวลชนในประเทศไทยที่มักจะถูก “สกัดกั้น” ไม่ให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกพูดจาคุกคามจากผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับแสดงพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายกับสื่อมวลชน หรือถูกกันออกจากพื้นที่ด้วยกระบวนการอย่างเป็นระบบ หลังจากที่สื่อมวลชนพยายามตรวจสอบการทำงานรัฐ เป็นต้น 

“เราจะพบว่าสื่อมวลชนไทยอยู่ในสภาวะที่เปราะบางมาก ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เราจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสื่อมวลชนไม่ส่งเสริมให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่โดนเลิกจ้าง เพราะการเลิกจ้างมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วเราคิดว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วง และไม่มีใครพูดเลย คือการลดขนาดของบริษัท ของธุรกิจสื่อ ซึ่งมันนำมาซึ่งความเปราะบางของนักข่าว” วศินีสะท้อน

การถูกคุกคามจากอำนาจที่เหนือกว่าและความเปราะบางของสื่อมวลชนไทย รวมไปถึงเงื่อนไขการทำงานของสื่อมวลชนที่ต้อง “รวดเร็ว” ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ และความกังวลเรื่องเรตติ้งกับยอดวิวที่สื่อมวลชนไทยต้องแบกรับ ก็นำมาซึ่งทางออกของสื่อมวลชนไทย คือการทำข่าวที่ง่ายและ “ปลอดภัย” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นดราม่าทางสังคม ที่ทำให้สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามเรื่อง “จรรยาบรรณสื่อ” อยู่เสมอ 

สื่อถูกคาดหวังว่าต้องเป็นสื่อมืออาชีพ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมันทำได้ยาก เพราะสื่อแข่งขันกันสูง ทั้งเรื่องของความเร็ว เรตติ้ง แล้วยอดวิวคืออะไร ถ้าเราไม่นำเสนอเรื่องดราม่าแบบนี้ แต่คนอื่นเขาทำแล้วเขาได้เรตติ้ง แล้วยังไงล่ะ สื่อจึงถูกกดดัน คนอาจจะบอกว่าไม่อยากเสพดราม่า แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ไปดูอะไรที่เป็นดราม่า มันเลยกลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงที่ทำให้สื่อยังคงต้องทำแบบนั้น เพราะตราบใดที่คนไปดูดราม่า สื่อเขาก็ต้องทำแบบนั้น มันเป็นกลไกของตลาดด้วย” ดร.เจษฎาอธิบาย 

“คนที่ไม่ได้เป็นคนทำสื่อ ประชาชนทั่วไป เขาก็ถามเสมอว่าทำไมต้องทำข่าวแบบนี้ ทำเพื่ออะไร แต่ถึงแม้เราจะตอบในฐานะคนใน ว่าไม่ทำไม่ได้ ไม่ทำเดี๋ยวยอดตก ไม่ทำเดี๋ยวตกข่าว ตกเทรนด์ แต่เชื่อไหมว่า คำตอบเหล่านี้มีคนที่เข้าใจน้อยมาก เขาก็จะรู้สึกว่าเราแก้ตัว ทำไมนักข่าวไม่ช่วยกันจรรโลงสังคม ทำไมไม่ทำตามจรรยาบรรณ แต่สถานการณ์ของเราเป็นแบบนี้จริง ๆ ถ้าไม่ทำมันก็กระทบเรื่องรายได้ เรื่องความอยู่รอด เรื่องธุรกิจ” ภูวเดชชี้ 

อย่างไรก็ตาม วศินีได้แสดงความคิดเห็นว่า การเล่นข่าวดราม่าหรือ “ข่าวเบา ๆ” ของสื่อมวลชนไทยไม่ได้เป็นปัญหา “แต่ที่เป็นปัญหาคือความพยายามสกัดกั้นคอนเทนต์หนัก และพยายามเลี้ยงบรรยากาศที่ให้มีแต่คอนเทนต์เบา เช่น ความพยายามเซ็นเซอร์สื่อที่จะทำคอนเทนต์เชิงสืบสวน จนทำหลายรอบแล้วมันตัน กลายเป็นว่าสื่อก็เลิกทำ เพราะทำไปก็ไม่รู้จะไปทางไหน ก็เลยทำแบบนี้ดีกว่า มันง่ายกว่าและมีคนดู” 

“ถ้าบรรยากาศเสรี ไม่มีความพยายามที่จะสกัดกั้น มันก็จะมีทั้งข่าวหนักข่าวเบาคละกันไป แล้วมันไม่จำเป็นต้องเป็นเกณฑ์ที่ต้องเลือกว่าจะทำข่าวหนักหรือข่าวเบา แต่ทุกข่าวสามารถอยู่ด้วยกันได้ และสิ่งสำคัญคือถ้าบรรยากาศเปิดมากพอ ข่าวหนักจะมีมากกว่านี้” วศินีบอก 

เสริมสร้างเสรีภาพให้สื่อไทย

การสร้างสิ่งแวดล้อมที่สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างอิสระและมีเสรีภาพ จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของ “ระบบนิเวศสื่อ (Media Ecology)” ทั้งภาครัฐ เจ้าของสื่อ ผู้ผลิตสื่อ สื่อมวลชน และผู้บริโภคสื่อ เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่และปราศจากความกลัว 

“ต้องเริ่มตั้งแต่ตัวรัฐเอง ต้องหนุนเสริม อย่างนายกรัฐมนตรีที่ชอบหัวเสียใส่สื่อ คือคนในรัฐบาลที่เป็นภาครัฐจะต้องไม่มีวิธีคิดแบบนี้ ในส่วนของเจ้าของสื่อ ถ้าเขาเข้ามาทำธุรกิจนี้ เขาก็ต้องมีความเข้าใจว่าเสรีภาพสื่อคือสิ่งสำคัญมาก ๆ ของความเป็นสื่อ และที่สำคัญคือตัวคนดู ที่ต้องคอยส่งเสียงว่า ถ้าสื่อเสนอเอียงไปแบบนี้ ไม่มีเสรีภาพแบบนี้ คุณก็ต้องสะท้อนว่า เราไม่โอเคนะ เราไม่โอเคกับสื่อที่เอียงแบบนี้ คือทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องไปด้วยกันทั้งหมด” ดร.เจษฎาแนะ 

ด้านภูวเดชก็มองว่า การนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชนยังเป็นหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชน แต่สื่อมวลชนจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชนให้กับประชาชน

“ตราบใดที่เราทำไป แต่เราไม่ติดอาวุธหรือเสริมความรู้ให้คน ผมคิดว่าสังคมก็จะเดินไปข้างหน้าอย่างง่อนแง่น คือสื่อเองก็บอกว่าอยากทำโน่นนี่นั่นให้มากขึ้น แต่ประชาชนไม่เข้าใจ แบบนี้มันก็ไม่ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราทำให้ประชาชนเข้าใจ ประชาชนก็จะหวงแหนสิทธิของเขา แล้วเขาก็จะรู้ว่าอย่าให้มีอะไรมากระทบนะ อย่าให้มีอำนาจมืดมาทำสื่อ เพราะเขาจะรู้ว่าสื่อเป็นกระจกที่จะช่วยทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน หรือเป็นคนที่ดูแลเขา” ภูวเดชกล่าว 

แม้ทุกภาคส่วนสามารถช่วยเรียกร้องและสร้างเสรีภาพให้กับสื่อมวลชนได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือสื่อมวลชนต้องรู้จักลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการทำงานของตัวเอง รวมถึงการติดอาวุธให้ตัวเองเรื่องการเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อที่สื่อมวลชนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องอย่างแท้จริง  

“เราเชื่อว่าไม่ว่าจะฝ่ายไหน ภาพของการทำหน้าที่ของสื่อในอุดมคติก็คือ เป็นกลไกของสังคมในการช่วยประสานภาครัฐกับภาคอื่น ๆ ในการช่วยรับรองความชอบธรรมของสังคม ดังนั้น การจะได้มาซึ่งเสรีภาพสื่อ มันเหมือนกับเราต้องว่ายทวนน้ำอยู่ตลอดเวลา มันมีบางวันที่ไม่มีลม ไม่มีคลื่น บางวันก็ว่ายได้ง่าย เรารู้สึกว่าจุดสำคัญที่จะไม่ถูกกระแสน้ำพัดให้ถอยหลังคือ ต้องเกิดการต่อต้าน มันต้องออกแรงหน่อยนึง จะปล่อยตัวตามกระแสไม่ได้ ซึ่งเราก็หวังว่าวงการสื่อไทยจะยังไหวอยู่” วศินีกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook