อ่านนัยคำให้การแก๊งเรือสปีดโบ๊ท ไขปริศนาทิศทางคดีแตงโม รอลุ้นหลุดหรือรอด?

อ่านนัยคำให้การแก๊งเรือสปีดโบ๊ท ไขปริศนาทิศทางคดีแตงโม รอลุ้นหลุดหรือรอด?

อ่านนัยคำให้การแก๊งเรือสปีดโบ๊ท ไขปริศนาทิศทางคดีแตงโม รอลุ้นหลุดหรือรอด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลองมาไล่เรียงประเด็นแง่มุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีแตงโม ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร อะไรคือจุดที่ต้องโฟกัสมาเป็นพิเศษ มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

กรณีการเสียชีวิตจากการพลัดตกเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยาของ "แตงโม นิดา" นางสาวพัชรธิดา หรือนิดา พัชรวีระพงษ์ ยังคงอยู่ในกระแสสังคม เนื่องจากผู้คนอยากจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบนเรือลำดังกล่าวในคืนเกิดเหตุเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา รวมถึงในโลกออนไลน์ก็ต่างพากันตามหาหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่มั่นใจว่าเหตุผลที่บุคคลบนเรือทั้ง 5 คน ให้ข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมดหรือไม่

Sanook News ชวนทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลแวดวงกฎหมายที่ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ร่วมวิเคราะห์และไขปมปริศนาว่าที่สุดแล้วคดีนี้จะเดินทางไปสู่บทสรุปแบบไหน แล้วอะไรคือแรงจูงใจของ 5 คนบนเรือสปีดโบ๊ทที่ "อาจจะ" เลือกให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับสังคมไม่ครบทั้งหมด มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

ปัสสาวะหรือไม่ปัสสาวะ ผลของรูปคดีต่างกันยังไง?

ทนายรณณรงค์ : เราก็รู้กันหมดแล้วว่าคำให้การของทั้ง 5 คน "สอดคล้อง" ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่ในการพิสูจน์ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างที่ทั้ง 5 คนให้ข้อมูลหรือไม่ โอเคถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนอย่างชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิตจัดการธุระส่วนตัวที่ท้ายเรือก่อนจะพลัดตกลงไป ซึ่งในแง่ของรูปคดีหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นแบบนี้ แล้วตำรวจแจ้งข้อหาไป 2 คน คือ "ปอ" กับ "โรเบิร์ต" ว่า ประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต

เพราะฉะนั้นสมมติพิสูจน์ได้ว่าจริงตามที่บอก ทนายความของทั้งคู่ก็มีสิทธิ์จะแก้ต่างในชั้นศาลว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้เสียชีวิตตัดสินใจกระทำให้ตนเองไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง น้ำหนักการกระทำผิดของจำเลยก็จะลดลง จนอาจจะมีนัยสำคัญมากพอที่ทำให้ศาลนำไปประกอบการพิจารณาพิพากษา ดังนั้นนี่ก็เป็นคำตอบของคำถามอีกฝั่งหนึ่งด้วยว่า ถ้ามันไม่จริง ทำไมถึงเลือกจะให้การว่าผู้เสียชีวิตไปถ่ายเบาท้ายเรือ ก็เพราะหวังผลจากความหนักเบาของความผิด

เพราะตราบใดที่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็น "ฆาตกรรม" ตำรวจก็ต้องพิจารณาว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะถูกตั้งข้อหาได้แบบที่ตำรวจทำไปแล้วก็คือ ข้อหาประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั่นแหละ แล้วคนเราจะมีความผิดเรื่องของประมาทเลินเล่อได้ ผู้ตายต้องไม่ผิดอะไรเลย ผู้ตายต้องไม่ได้ประมาท ผู้ตายจะต้องไม่ทำตัวเข้าไปเสี่ยงภัยเอง เพราะถ้าสมมติยืนอยู่แล้วหล่นอันนี้คนขับเรือประมาท แต่พอบอกว่าผู้ตายไปในจุดที่คนเค้าไม่ฉี่กัน ในเรือก็มีห้องน้ำอย่างที่เจ้าของเรือบอก แต่ก็ยังจะไปท้ายเรือ ไปท้ายเรือแล้วหล่นลงไป ผู้ต้องหาก็จะบอกว่าตัวเองไม่ได้ผิดอะไร

นั่นคือเหตุผลของการพยายามจะอธิบายอยู่ตลอดว่า ห้องน้ำบนเรือไม่ได้เสียนะ เพราะตอนแรกทุกคนเข้าใจว่าเสีย ตอนหลัง ปอ ยืนยันว่าใช้ได้แต่แค่มีของสัมภาระอยู่ข้างใน เอาของออกก็ใช้ได้ปกติ ทีนี้ทำไมมันต้องเป็นปัสสาวะท้ายเรือให้ได้ หลักวิธีคิดง่ายๆ นะ ต้องให้ไปท้ายเรือให้ได้เพื่อจะได้หล่นไปเอง ซึ่งจริงไม่จริงไม่รู้ แต่อันนี้ทำให้คนขับเรือไม่ผิดเลย หวังจะไปแก้ต่างทางคดีนั่นแหละ

ข้อหาประมาทฯ ต้องมีจำเลยกี่คนกันแน่?

ทนายรณณรงค์ : ตอนแรกที่เห็นออกหมายจับ 2 คน สิ่งแรกแวบแรกในวันนั้นที่คิด คือ จับไวไปไหม เจอศพตอนสายๆ ตอนเช้ามืดออกหมายจับ แล้วมีหลักฐานหรือยังว่าเขาประมาท จนตอนหลังค่อยมาทราบกันว่าช่วงที่ผู้เสียชีวิตพลัดตกเรือ เป็นช่วงที่ โรเบิร์ต เป็นผู้ขับ ก็แสดงว่าข้อหากระทำประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จะเหลือแค่ โรเบิร์ต คนเดียว แต่ถ้าจะมีการไปพิสูจน์ต่อว่า ปอ ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าของเรือ ปล่อยปละละเลยให้คนที่ขับเรือไม่เป็นมาขับเรือ ถือว่าประมาทไปด้วยเนี่ยก็อาจจะเป็นไปได้ แต่คดีลักษณะแบบนี้ยังไม่เคยเห็น

เพราะถ้าลองไปเทียบกับคดีขับรถยนต์ประมาทจนเกิดอุบัติเหตุไปชนแล้วมีผู้เสียชีวิต โดยหลักที่เป็นมาก็คือ ลักษณะทางกายภาพของรถมันมีพวงมาลัยเดียว คนขับก็ต้องมีคนเดียว ดังนั้นผู้ที่จะถูกแจ้งข้อหาประมาทฯ ก็คือ คนขับรถในเวลาที่เกิดเหตุ

ส่วนเจ้าของเรือจริงๆ ก็มีความผิดในส่วนคดีแพ่งที่ฟ้องตามคดีอาญานะ เพราะเป็นไปตามแนวทางที่ศาลฎีกาวางหลักเอาไว้ ก็คือ ถ้าจะต้องจ่ายค่าชดเชย เจ้าของเรือก็สามารถร่วมจ่ายกับคนขับเรือได้ แต่ในส่วนของคดีอาญา ผู้ต้องหาจะต้องเป็นคนขับคนเดียว

info-tangmo-lawyer

แม่ให้อภัยผู้ต้องหา มีผลต่อคดีหรือไม่?

ทนายรณณรงค์ : พอเกิดอุบัติเหตุแล้วมีคนตายเกิดขึ้นเนี่ยนะ ตำรวจมีหน้าที่ต้องถามว่าใครประมาท ทีนี้ถ้าคู่กรณีทำผิดแล้วยอมรับสารภาพ มีการเยียวยาแล้ว ตำรวจเขาก็ไม่ต้องทำสำนวนในคดีให้มันแน่นมาก เพราะส่งไปศาล ผู้ต้องหาก็รับสารภาพ มันไม่ต้องมีการสืบพยานประกอบ คดีก็จบ ก็จ่ายค่าชดเชยกันไป แต่ถ้าเกิดผู้ต้องหาปฏิเสธ ตำรวจก็ต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาทำความผิด

ดังนั้น การที่คุณแม่ไม่ติดใจเอาเรื่อง มันกระทบกับสิทธิของคุณแม่เองในการฟ้องร้อง เพราะสมมติว่าพอคดีไปถึงอัยการ แล้วอัยการอาจจะสั่งไม่ฟ้องก็ได้ ไม่นับรวมที่ออกตัวอย่างรวดเร็วเกินไปในเรื่องยอมรับการขอขมา และยอมยกโทษให้กับผู้ต้องหา ซึ่งในทางกฎหมายเนี่ย สิ่งที่ผู้ต้องหาทำให้ผู้เสียหายทั้งหมดไม่ว่าจะการขอขมา การบวช การจ่ายค่าชดเชย ค่าดูแลอะไรต่างๆ ศาลก็จะนำไปพิจารณาว่าเป็นการบรรเทาโทษก็ได้

คนอื่นบนเรือจะถูกแจ้งข้อหาอะไรด้วยไหม?

ทนายรณณรงค์ : ไล่ไปทีละคนเลยนะ "จ๊อบ" ตอนแรกเนี่ยเป็นแค่ผู้โดยสารคนหนึ่งนะ แต่บังเอิญว่าจะด้วยมีใครสั่งหรือทำเองก็ตาม แต่การโยนขวดไวน์โยนแก้วไวน์ทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา เสมือนว่ากลัวตำรวจจะรู้ว่าเมาก็เลยโยนทิ้งไป ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดทำลายหลักฐานตามกฎหมายประมวลอาญา ระวางโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท เป็นความผิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในการช่วยปกปิดความผิดของผู้อื่นโดยการทำลายหลักฐานเพื่อให้ผู้อื่นรอดพ้นจากข้อหาหรือพ้นจากคดีไป

คนต่อมา "แซน" ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจมาก หลายคนถามว่าที่ไปให้การว่าผู้เสียชีวิตมาจับขาแล้วพลัดตกเรือจนจมน้ำตาย ทำไม แซน ถึงไม่ไม่โดนข้อหาประมาทเลิ่นเล่อ ปรากฎว่านักกฎหมายเองมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งบอกว่าผิด ผิดเพราะตอนที่บอกว่า "แตงโม" มาจับขา ทำไมคุณไม่ใช้ความระมัดระวัง ตามที่ปุถุชนทั่วไปต้องใช้ พยายามช่วยกันจับแตงโมไว้เพื่อจะได้ไม่หล่นน้ำ นั่นคือการอธิบายว่า แซน ประมาทเลิ่นเล่อยังไง อีกฝั่งหนึ่งที่บอกว่าไม่ผิด โดยอธิบายว่าเป็นแค่คนที่นอนเล่นโทรศัพท์ แล้วแตงโมมาจับขาเอง คนขับเรือก็ไม่ใช่ ไม่ได้ทำอะไรเลยจะประมาทได้ยังไง นี่คือวิธีการคิด

คนสุดท้าย คือ "กระติก" ต้องถามว่ากระติกทำอะไรล่ะ กระติกอาจจะให้การเท็จอย่างเดียวเรื่องการที่แตงโมไปปัสสาวะ แต่เราจับได้มั้ย เรามีหลักฐานมั้ย ถามว่ามีกล้องวงจรปิดมั้ย มันไม่มีแล้วเราจะไปจับโกหกเค้าได้ยังไงเรามีแค่ทฤษฎี การอธิบายว่าเสียชีวิตยังไง หล่นยังไง ขับเรือไวยังไง แต่เราไม่มีทฤษฎีอธิบาย เขาไม่ได้ฉี่จริงยังไง แม้ว่าชุดที่มาดูสภาพแล้วยังไม่ได้ถอดไปปัสสาวะก็ตาม ข้อเสียของศพคือศพที่เริ่มเน่าหรือเริ่มตาย กระเพาะปัสสาวะมันอาจจะไหลออกไปได้ เราเลยบอกปริมาณน้ำในกระเพาะไม่ได้เลย

ทั้งหมดทั้งมวลก็คือ แง่มุมของกฎหมายในคดีแตงโมว่ามีที่มาที่ไปยังไง แรงจูงใจในการให้การของบุคคลทั้ง 5 บนเรือ รวมถึงแนวโน้มทิศทางของคดีว่าจะมีบทสรุปเป็นอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook