“ชลาธาร สิงห์ไธสง” เสียงเพลงถึงรัฐบาลในวิกฤตโควิด-19

“ชลาธาร สิงห์ไธสง” เสียงเพลงถึงรัฐบาลในวิกฤตโควิด-19

“ชลาธาร สิงห์ไธสง” เสียงเพลงถึงรัฐบาลในวิกฤตโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากยังจำกันได้ ในระยะแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย สถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นสถานที่กลุ่มแรกๆ ที่ถูกสั่งปิดทำการ ตามมาตรการป้องกันโรคของภาครัฐ ทว่ามาตรการดังกล่าวกลับส่งผลให้บรรดา “คนกลางคืน” จำนวนมาก ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจกลางคืน ลูกจ้างในสถานบันเทิง ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าและคนขับแท็กซี่ที่ทำงานในช่วงกลางคืน ต้องขาดรายได้ และหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็คือ “นักดนตรีกลางคืน” ที่กลายเป็นคนตกงาน หลายคนทยอยขายเครื่องมือทำมาหากินเพื่อเอาตัวรอด หลายคนเบนเข็มไปทำอาชีพอื่น ขณะที่อีกหลายคนไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ และตัดสินใจจบชีวิต

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี สถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย คนกลางคืนหลายคนเริ่มออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเหลียวแลพวกเขา ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพอิสระกลางคืน ได้เดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องกรณีรัฐบาลเลื่อนการเปิดผับ บาร์ จากที่เคยกำหนดไว้เบื้องต้นในเดือนธันวาคม เป็นวันที่ 16 มกราคม 2565 พร้อมเล่นดนตรีเพื่อส่งเสียงไปยังรัฐบาล และหนึ่งในกลุ่มนักดนตรีที่เดินทางไปวันนั้น คือ “ชลาธาร สิงห์ไธสง” นักดนตรีอิสระวัยเพียง 19 ปี ที่นอกจากจะขาดงานแล้ว ยังสูญเสียรายได้จนต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยด้วย

ชลาธาร สิงห์ไธสงชลาธาร สิงห์ไธสง

“ดนตรีคือชีวิตของผม”

ชลาธารเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจผับบาร์ มีพ่อซึ่งเป็นนักดนตรีคอยเคี่ยวเข็ญให้เขาฝึกเล่นกีตาร์ตั้งแต่ยังเด็ก ทว่าเด็กชายชลาธารในวันนั้นกลับไม่ได้เห็นด้วยกับพ่อ

“พ่อเขาก็เล่นดนตรีอยู่แล้ว เขาบังคับให้ผมเล่น ตอนแรกผมก็ไม่ชอบเลยนะ ผมร้องไห้เลย เล่นดนตรีเนี่ย ผมซ้อมนี่นิ้วเป็นแผลเลยนะ จับสายกีตาร์ไง แล้วมือเด็ก ผมก็ซ้อมไป ร้องไห้ แล้วทีนี้ผมได้ไปอยู่ต่างจังหวัด พ่อส่งไปอยู่ต่างจังหวัด ผมไม่ซ้อมเลย หนีเลย” ชลาธารเริ่มเล่า

เส้นทางของชลาธารกับดนตรีกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง เมื่อเขาได้ดูคลิปการแสดงของวงร็อกในตำนานอย่าง LOSO ที่มี “เสกสรร ศุขพิมาย” หรือที่ใครๆ เรียกว่า “พี่เสก” เป็นนักร้องนำ หลังจากนั้น ชลาธารก็ยึด “เสก โลโซ” เป็นไอดอล และกลับไปเล่นดนตรีอย่างจริงจังในที่สุด

“ผมบอกพ่อว่าอยากลองเล่นบ้าง ร้านตัวเองน่ะ อยากลองไปเล่น เขาก็ ‘ก็ไปเล่นดิ’ หยิบกีตาร์ไปตัวหนึ่งแล้วก็ขึ้นเล่น แค่นั้นแหละ ก็ไปเรื่อยๆ” ชลาธารเล่าถึงการขึ้นเล่นดนตรีบนเวทีครั้งแรก เมื่อเขาอายุเพียง 15 – 16 ปีเท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มออกมาเล่นดนตรีในร้านอื่นๆ และจบลงที่สถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้

“มันคือชีวิตเลยน่ะ ไม่รู้จะพูดอย่างไร เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ซ้อมกับมันมา ฝึกฝนกับมันมา พอมาเจออย่างนี้มันก็ไปไหนไม่ได้”

นักดนตรีในวิกฤตโควิด-19

ชลาธารเล่าว่า ช่วงก่อนเกิดโรคระบาด เขามีงานเล่นดนตรีวันละ 2 ร้าน มีรายได้วันละ 1,000 บาท ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น สถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่เขาใช้ทำงานหาเลี้ยงชีพ ถูกสั่งปิด ตามด้วยมาตรการปิดเปิดสถานบันเทิงที่ไม่แน่นอน การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าน้อยลง มีรายได้ลดลง ทว่าร้านของเขาก็ยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อไป แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความหวังใดๆ เกิดขึ้น

“ก่อนที่จะเจอโควิดก็สบายอยู่ สบายมาก ลูกค้าก็ดี พอมาเจอโควิดปุ๊บ มันก็แย่ลงๆ ลูกค้าก็เริ่มไม่มีเงินด้วย เพราะว่าอะไรหลายๆ อย่าง เศรษฐกิจไม่ดี ไม่รู้จะพูดอย่างไร มันแย่ถึงขั้นที่ต้องปิดร้านแล้วก็เซ้งร้านเลย แล้วก็ออกมาอยู่บ้านเช่ากับพ่อ แม่ก็กลับต่างจังหวัด ผมก็ต้องออกจากมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม งานก็ไม่มีด้วย” ชลาธารกล่าว

 

ชลาธารระบุว่า เมื่อผับบาร์ไม่เปิด นักดนตรีต่างก็ต้องแย่งงานกันเพื่อหารายได้ หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนเขาเองก็เครียด และพยายามหาวิธีปรับตัว ซึ่งเขาบอกว่า “ทำมาหมดแล้ว”

“ช่วงแรกผมขายข้าวครับ ทำผัดกะเพราขายกับแฟน พอหลังๆ มาก็ขายขนม แล้วก็ไปเป็นไรเดอร์ขับไลน์แมน ถามว่าขายได้ไหม มันก็ขายได้ แต่มันสู้เขาไม่ได้หรอก เราไม่ใช่มืออาชีพ เราไม่ได้ทำอร่อยเท่าคนที่เขาเป็นมืออาชีพ คนมาซื้อเราไม่เยอะหรอก วันหนึ่งขายได้ 100 บาทก็ดีใจแล้ว ไม่เลือกงานไม่ยากจนมันก็ใช่อยู่ แต่ทำแล้วมันไม่ถนัด ทำแล้วออกมาไม่ดีมันก็สู้เขาไม่ได้ มันก็ขายไม่ดีเหมือนกัน มันสู้เราเล่นดนตรีไม่ได้หรอก ผมถนัดด้านนี้มากกว่า ทำพวกนั้นไปก็ไม่มีความสุข”

“อยากให้เห็นพวกเราอยู่ในสายตาบ้าง”

ความเครียดและการว่างงานทำให้ชลาธารตัดสินใจไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพอิสระกลางคืน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องกรณีรัฐบาลเลื่อนการเปิดผับ บาร์ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยที่เขาไม่ได้รู้จักใครในวันนั้นเลย และยังขอยืมกีตาร์ของนักดนตรีคนหนึ่งมาเล่น และร้องเพลงเพื่อส่งเสียงไปถึงรัฐบาล

“ตอนผมไปก็มีคนมาบอกว่าหิวแสง พวกทำเอาหน้า ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ พอเราไปทำมันก็มีนิดเดียวเอง มีไม่กี่คนเอง ถ้าไม่มีใครไปทำหรือไปเรียกร้อง ก็ไม่มีเลยนะ จะมาบ่นๆ แต่ในเฟซบุ๊กก็ไม่ได้ด้วย ประยุทธ์ไม่เห็นเราหรอก เขาไม่เห็นหัวเราหรอก มันต้องออกไปเลย ไปลุยเลย ไปสู้กับพวกมันสักที อีกอย่างหนึ่งก็ว่างด้วย เราไม่มีงานทำอยู่แล้วก็ไปซะ ไปให้มันเป็นประโยชน์ ดีกว่านอนกินอยู่บ้านเฉยๆ” ชลาธารเผย

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องที่เหล่านักดนตรีต้องการ ชลาธารระบุว่า “แค่อยากให้เห็นพวกเราอยู่ในสายตาบ้าง”

“ไม่มีอะไรมาก ขอแค่วันที่ 1 ได้เปิดเท่านั้นแหละ แล้วแต่รัฐเขาจะให้ทำอะไร เขาจะให้ตรวจ ให้มีนั่งแยกอะไรก็แล้วแต่เขา แค่ขอให้บอกมา ขอแค่มีงานทำเท่านั้นแหละ ไม่มีงานมาเป็นปีแล้ว” ชลาธารกล่าว

อนาคตที่ยังไม่แน่นอน

สำหรับแผนการในอนาคต แม้จะดูยังไม่มีความหวังนัก แต่ชลาธารบอกกับเราว่า เขาจะกลับไปเรียนต่ออย่างแน่นอน

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนปีหน้านี้ แต่มันมาเจออย่างนี้ เก็บเงินไม่ทันหรอก พ่อก็บอกให้ไปกู้เรียน กู้ กยศ. ผมก็คิดอยู่ ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้ามันเปิดแล้วก็คงไม่กู้หรอก หาเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองดีกว่า ง่ายกว่าด้วย ไม่ต้องติดหนี้ด้วย แต่ถ้ามันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็น่าจะมืดมนอยู่ครับ มืดไปเลย ตอนนี้ก็มืดตึ้บ ไม่รู้จะไปทางไหน ตอนนี้ก็ขายของได้นิดหน่อย พอประทังชีวิตไปหน่อย แต่ก็ยังไม่สู้เราเล่นดนตรีหรอก” ชลาธารทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ “ชลาธาร สิงห์ไธสง” เสียงเพลงถึงรัฐบาลในวิกฤตโควิด-19

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook