“อนุดิษฐ์” แฉพิรุธ "กองทัพอากาศ" ตัดจบโปรเจ็คต์ GBAD งบฯ 940 ล้านบาท พบเอื้อประโยชน์บางบริษัท

“อนุดิษฐ์” แฉพิรุธ "กองทัพอากาศ" ตัดจบโปรเจ็คต์ GBAD งบฯ 940 ล้านบาท พบเอื้อประโยชน์บางบริษัท

“อนุดิษฐ์” แฉพิรุธ "กองทัพอากาศ" ตัดจบโปรเจ็คต์  GBAD งบฯ 940 ล้านบาท พบเอื้อประโยชน์บางบริษัท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปูด “ทัพฟ้า” ตัดจบโปรเจ็คต์  GBAD งบฯ 940 ล้านบาท ทั้งที่พิรุธเพียบ เผยล้มประมูลด้วยวิธีคัดเลือกไปแล้ว 3 หน ล่าสุดลักไก่เปลี่ยนใช้วิธี “เจาะจง” อ้างมีผู้สนใจรายเดียว ทั้งที่อีก 3 บ.เอกชนแจ้งขอเข้าร่วม เชื่อเข้าข่ายผิด “กม.ฮั้วประมูล” 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติผิดมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านบาทว่า หลังจากที่ใช้เป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ตลอดจนได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาส่งคำร้องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวน และดำเนินการต่อไปแล้วนั้น ก็ยังคงมีผู้หวังดีต่อกองทัพอากาศส่งข้อมูลความผิดปกติมาให้ตน และ กมธ.ป.ป.ช.อย่างต่อเนื่อง

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะโครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) มูลค่าโครงการ 940 ล้านบาท ที่มีความพยายามรวบรัดให้จบก่อนสิ้นเดือน ก.ย.64 ซึ่งเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ และเป็นช่วงที่ข้าราชการ รวมไปถึงข้าราชการทหารระดับสูงจะเกษียณอายุราชการ ล่าสุดทราบได้สรุปผลและได้เอกชนผู้ดำเนินการแล้วเมื่อ 23 ก.ย.64 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีการล้มการประกวดราคาไปถึง 3 ครั้ง และครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 ได้มีการเปลี่ยนวิธีการประกวดราคาจากเดิมที่ใช้การคัดเลือก มาใช้วิธีการเจาะจง โดยอ้างว่าในการประกวดราคาครั้งที่ 3 ที่ล้มไปนั้นมีผู้เข้ายื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว แต่ในข้อเท็จจริงนั้นมีอีก 2 บริษัทที่ยื่นเสนอราคาไม่ทัน เพราะกรรมการจัดซื้อฯ กำหนดเวลาไว้เพียง 14 วัน ซึ่งสั้นกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีมูลค่านับพันล้านบาท และมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ แต่แม้ยื่นไม่ทัน ทั้ง 2 บริษัทก็ได้ยื่นสงวนสิทธิ์ขอเข้าร่วมการประกวดราคาในครั้งต่อไปไว้ ในขณะที่อีก 1 บริษัท เป็นบริษัทที่กองทัพอากาศสืบราคาช่วงที่ขออนุมัติโครงการ กลับถูกกีดกันจากประธานกรรมการซื้อไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคามาโดยตลอด แม้ทางบริษัทจะทำหนังสือขอเข้าร่วมในครั้งที่ 3 ก็ถูกกรรมการจัดซื้อฯ ปฏิเสธ

“การประกวดราคาครั้งที่ 4 ผบ.ทอ.อนุมัติให้ซื้อโดยวิธีเจาะจง ทั้ง ๆ ที่การจัดซื้อครั้งที่ 3 คณะกรรมการจัดซื้อฯ ยังไม่ได้เปิดซองเพื่อพิจารณาเชิงเทคนิคของบริษัทใดเลย แล้วเหตุใดจึงเจาะจงกับบริษัทที่มาเสนอราคาทันในครั้งที่ 3 เพียงบริษัทเดียว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นรายละเอียดทางเทคนิคของบริษัทดังกล่าว เว้นเสียแต่มีการเตรียมการกันไว้ล่วงหน้าแล้วหรืออาจเข้าข่ายว่าฮั้ว หรือล็อกกันไว้ก่อนแล้ว” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า จากที่ติดตามการดำเนินโครงการ GBAD มาโดยตลอดเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการหลายจุด ซึ่งส่อไปในทางขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ทั้งการกีดกันเอกชนบางรายไม่ให้เข้าร่วมการประกวดราคา ก็เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง TOR ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาการยื่นเสนอราคา ที่เมื่อครั้งที่ 3 กำหนดไว้เพียง 14 วัน ทั้งที่ตามปกติโครงการอื่น ๆ ให้เวลา 30 สำหรับบริษัทในประเทศ และให้เวลา 45 วันสำหรับบริษัทต่างชาติ แล้วในครั้งที่ 4 นี้ยังมีข้อสั่งการที่อ้างถึงระดับผู้บังคับบัญชาว่า ให้เร่งกระบวนการซื้อให้เสร็จสิ้นภายใน 10 วัน ซึ่งถือว่าผิดปกติและเป็นเป็นไปไม่ได้สำหรับโครงการใหญ่ขนาดนี้วงเงิน 940 ล้านบาท ถือเป็นการรวบรัดเร่งรีบผิดปกติอย่างมาก

“กระบวนการที่เกิดขึ้นถือว่าทำผิดขั้นตอน เร่งรัด ไม่รอบคอบ ลักไก่แก้วิธีประกวดราคา ไม่เปิดให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กีดกันผู้เข้าประกวดราคารายอื่น ๆ กองทัพอากาศและภาครัฐย่อมเสียประโยชน์อย่างแน่นอน และอาจหนีไม่พ้นข้อหาทุจริตคอร์รัปชันด้วย ล่าสุดได้รับการแจ้งมาว่า โครงการ GBAD ที่ลักไก่ปรับเป็นวิธีเจาะจง ได้คัดเลือกเอกชนที่ได้รับงานแล้วเสร็จเมื่อ 23 ก.ย.64 และต้องสรุปให้ ผบ.ทอ.ลงนามภายใน 28 ก.ย.64 เท่านั้น ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้ปิดจ็อบทันสิ้นเดือน ก.ย. ที่เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ 2564 และเป็นช่วงที่บิ๊กทหารอากาศบางคนจะเกษียณอายุราชการหรือไม่” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า นอกจาก 3 โครงการที่ตน และ กมธ.ป.ป.ช.ติดตามตรวจสอบอยู่ ยังได้รับข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ของกองทัพอากาศ ที่เข้าข่ายไม่ชอบมาพากลอีก 1 โครงการ คือ โครงการดาวเทียมของกองทัพอากาศวงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งกองทัพอากาศมอบให้ “ฝ่าย เสธ.” เป็นประธานจัดซื้อ และพบว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง TOR และหลักเกณฑ์การพิจารณามากกว่า 2 ครั้ง มีการลดเกณฑ์การให้คะแนน Purchase and Development ทำให้กองทัพอากาศเสียประโยชน์ หากนำเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์เดิมคงเห็นความไม่ชอบมาพากลอีกมาก

“เรื่องนี้หากปลัดกระทรวงกลาโหมอนุมัติจัดซื้อและ ทอ.ประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการ อาจมีผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วต้องกลับมาชี้แจงหลายคน และเหตุจากเรื่องนี้ในช่วงโยกย้ายครั้งที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้นายพลในกรมที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ ต้องถูกส่งออกไปนอกหน่วยในตำแหน่งที่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของกองทัพอากาศ” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook