“ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19” คุ้มครองอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์จริง

“ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19” คุ้มครองอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์จริง

“ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19” คุ้มครองอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจทั่วประเทศ วัคซีนโควิด-19 ถือเป็นความหวังเดียวในวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีการฉีดวัคซีนในหลายพื้นที่ ทว่าปัญหาที่ตามมาก็คือ มีผู้ที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตหลังจากการฉีดวัคซีนหลายราย ทว่ากลับไม่มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากวัคซีนโดยตรง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่มั่นใจในหมู่ประชาชน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนและมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ที่พึ่งหลัก ณ ขณะนี้ จึงเป็นการเยียวยาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึง “ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19” ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง ทว่าขณะนี้มียอดเคลมไม่ถึง 1% เท่านั้น

ประกันภัยวัคซีน ภาพสะท้อนความกังวลของผู้คนต่อผลของวัคซีน

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 คุณอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์กับ Sanook News เกี่ยวกับการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ว่าที่ผ่านมา ทาง คปภ. มีการวางแผนเรื่องกรมธรรม์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยเริ่มจากกรมธรรม์การติดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่สถานการณ์จะเข้าสู่การฉีดวัคซีนเป็นหลัก และประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบหลังจากการฉีดวัคซีน ทำให้ธุรกิจประกันภัยหันมาตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเรื่องการบริหารความเสี่ยงผลกระทบจากการฉีดวัคซีน

“การเตรียมการของ คปภ. ค่อนข้างดี เริ่มจากความคุ้มครองง่ายๆ ไม่ต้องตีความเยอะ สั้นๆ อ่านแล้วเข้าใจ ทุนประกันภัยไม่เยอะเท่าไร เบี้ยประกันภัยไม่เยอะ พร้อมๆ กับเรื่องของการให้ความเห็นชอบเรื่องกรมธรรม์ให้บริษัทใช้ เราก็มีทีมงานโดยเฉพาะขึ้นมา รวมทั้งมีทีมงานที่ติดตามการขายกรมธรรม์และทีมงานที่รับเรื่องร้องเรียนด้วย อันนี้เราค่อนข้างมีการดำเนินงานที่ค่อนข้างสมบูรณ์” คุณอาภากรกล่าวถึงภาพรวมการเตรียมการของ คปภ. ในสถานการณ์โควิด-19

สำหรับรูปแบบความคุ้มครองในกรณีการแพ้วัคซีนโควิด-19 นั้น คุณอาภากรระบุว่า มีลักษณะที่คล้ายกับกรมธรรม์คุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 เพียงแต่มีสาเหตุแตกต่างกัน

“กรมธรรม์คุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องรักษาตัว เข้าโรงพยาบาล เข้าสู่ภาวะโคม่า เสียชีวิต ส่วนกรมธรรม์ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีต้นเหตุมาจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว แล้วก็มีผลกระทบ ทำให้ต้องรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ก็อาจจะซื้อเรื่องของค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล ค่าปลอบขวัญ เช่น นอนโรงพยาบาลมา 3 วัน 5 วัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบกรมธรรม์ อย่างนี้ก็จะให้เงินก้อนไปเลย หรือในกรณีที่ภาวะโคม่า อันนี้ต้องเข้าเงื่อนไขภาวะโคม่า ก็คือคล้ายๆ ทุพพลภาพ ต้องมีเครื่องช่วยหายใจ อยู่ในภาวะสลบกี่วันมาแล้ว ก็จะจ่ายเงินชดเชยให้ หรือในกรณีที่เสียชีวิตก็จะจ่ายค่าทำศพให้” คุณอาภากรอธิบาย

คุ้มครองทันที หลังแพทย์วินิจฉัยว่าแพ้วัคซีน

นอกจากนี้ จากรายงานของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ยังระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่กรมธรรม์ที่คุ้มครองอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 มักจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับจะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองหรือการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งไม่ว่าจะมีอาการใดที่บ่งชี้ถึงการแพ้วัคซีนโควิด ผู้เอาประกันภัยจะต้องได้รับการวินิจฉัยและรับรองจากแพทย์ว่าอาการแพ้เกิดจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากคุณอาภากร ที่ระบุว่า หากผู้ที่รับวัคซีนเกิดอาการแพ้ ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าอาการแพ้นั้นเกิดจากวัคซีน และมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ กรมธรรม์จะให้ความคุ้มครองทันที

“ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละเคส ซึ่งเท่าที่เราติดตามข่าว แต่ละเคสก็ไม่เหมือนกันเลย บางคนเกิดอาการทันทีระหว่างที่รอดูอาการหลังจากฉีดครึ่งชั่วโมง อันนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าหมอวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ก็โอเค แต่ทีนี้มันจะมีบางเคสที่กลับบ้านแล้ว 3 วัน 7 วัน ก็มีอาการขึ้นมา อาการก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือเป็นอาการที่ทำให้โรคประจำตัวของผู้ที่ได้รับวัคซีนกำเริบขึ้น บริษัทประกันภัยจะมีแพทย์ที่ปรึกษาประจำอยู่ ก็ต้องดูข้อเท็จจริงและอาการประกอบ แล้วก็จะให้ความคุ้มครอง อีกอย่างคือไม่เกี่ยวกับโรคประจำตัวเลย กรณีนี้คงวินิจฉัยไม่ยากอะไร เพราะเขาไม่ได้มีโรคประจำตัวแล้วก็มีอาการขึ้นมา” คุณอาภากรกล่าว

นอกจากนี้ คุณอาภากรยังระบุด้วยว่า หลักเกณฑ์ของ สปสช. ที่ให้ความคุ้มครองในกรณีได้รับผลกระทบหลังจากฉีดวัคซีน ก็สามารถเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมของบริษัทประกันก็ได้เช่นกัน

“ต้นเหตุก็คือผลกระทบของการฉีดวัคซีน ของ สปสช. ก็เป็นผลกระทบจากการฉีดวัคซีนเหมือนกัน เงื่อนไขของกรมธรรม์เริ่มต้นจากหลักการนี้ แล้วนำไปสู่ความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อ แล้วก็ไปปรับกันอีกที เช่น เลือกซื้อแบบนอนโรงพยาบาล ถ้าต้นทางคือมีผลกระทบจากการฉีดวัคซีน แล้ว สปสช. บอกว่าอันนี้คือเคสที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ถ้าผู้ป่วยมีการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ประกันก็จะให้ความคุ้มครอง

ยอดเคลมประกันวัคซีนตอนนี้ยังไม่ถึง 1%

 อย่างไรก็ตาม ในแง่ของยอดการเคลมประกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีน คุณอาภากรระบุว่าขณะนี้ยังมียอดเคลมประกันไม่มากนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการขายประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“2 – 3 เดือนที่ผ่านมา เรามีทั้งยอดขายและยอดแถมร่วมกับประกันติดเชื้อโควิด-19 ด้วย อยู่ประมาณ 1,670,000 กรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ประมาณ 96 ล้านบาท มียอดเคลมอยู่ประมาณ 600,000 บาท (จากการคำนวณของ Sanook News คิดเป็น 0.62%) ซึ่งยังไม่ถือว่าเยอะ เพราะว่ากรมธรรม์นี้เป็นกรมธรรม์แพ้วัคซีนโควิด-19 การฉีดวัคซีนเริ่มฉีดจริงๆ จังๆ เมื่อกลางเดือนที่แล้วนี่เอง ฉะนั้น คนที่รับความคุ้มครองจะได้รับความคุ้มครองหลังจากฉีดวัคซีน เขาอาจจะซื้อก่อนตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่ยังไม่ได้ฉีด กรมธรรม์ก็ยังคุ้มครองอยู่ เมื่อฉีดแล้วได้รับผลกระทบภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์คุ้มครอง เขาก็จะเคลมได้” คุณอาภากรสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook