บทโหดลาเกิน15วันอาจไล่ออกนำนร.วิศวะแทน
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/167/839662/train.jpgบทโหดลาเกิน15วันอาจไล่ออกนำนร.วิศวะแทน

    บทโหดลาเกิน15วันอาจไล่ออกนำนร.วิศวะแทน

    2009-10-20T14:59:04+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าว พนักงานคนใดทำผิดกติกา ลาป่วย ลากิจ เกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุผล ต้องลาออกตามระเบียบ

    วันนี้ (20 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่หัวหิน มีมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้นักเรียนวิศวะ และอาสาสมัครของ รฟท. สามารถเป็นพนักงาน รฟท.ได้ ซึ่งเท่ากับว่า จะทำให้ รฟท.มีกำลังคนที่จะขับรถไฟเพิ่ม แทนพนักงานที่ลาหยุดงาน และชุมนุมประท้วงอยู่ในเวลานี้ได้ทันที อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะเร่งกลับไปดูแลเรื่องความปลอดภัยในรายละเอียดทั้งหมด โดยได้เรียนให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัย ให้ช่วยขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ป้องกันเหตุสุดวิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ไม่หวังดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า สามารถเดินทางได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาอีกต่อไป

    ส่วนเรื่องของการหยุดงานที่ไม่มีสาเหตุ นายโสภณ กล่าวว่า ต้องดำเนินการตามระเบียบอย่างเข้มข้น หากพบว่า พนักงานคนใดทำผิดกติกา เช่น ลาป่วย ลากิจ เกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุผล ก็ต้องลาออกตามระเบียบ ขณะที่การปรับปรุงโครงสร้างรถไฟทั้งระบบ ซึ่งถือว่า เป็นมาตรการระยะยาว จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์ ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง

    นายโสภณ กล่าวด้วยว่า ในบ่ายวันนี้ ตน และผู้บริหาร รฟท.จะไปดูในรายละเอียด เพื่อนำรถหัวขับที่จอดอยู่เฉย ๆ และไม่ได้ใช้งานมาขับเคลื่อนขบวนรถไฟ โดยเฉพาะในส่วนของรถที่ใช้เดินทางในท้องถิ่น เพื่อให้บริการกับประชาชน มั่นใจว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาได้แน่นอน และตนเองพร้อมที่จะพิจารณาตัวเอง หากไม่สามารถบริหารจัดการเหตุการณ์ที่ปกติให้มีประสิทธิภาพได้

    พขร.-ช่างเครื่องรถไฟโคราชลาหยุด 10 ราย

    ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่สถานีรถไฟนครราชสีมา นายสาธร สินปรุ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้ออกมาระบุว่า ในวันนี้มีพนักงานในส่วนของพนักงานขับรถ และช่างซ่อม ยื่นความจำนงขอลาหยุดเพิ่มอีก 10 ราย จากเมื่อวานนี้ที่ลาหยุดไปแล้วประมาณ 20 ราย ส่งผลให้พนักงานขับรถ และช่างซ่อมในส่วนของ จ.นครราชสีมา ต้องทำงานเพิ่มขึ้น และไม่มีวันหยุด เนื่องจากพนักงานไม่เพียงพอ

    นายสาธร สินปรุ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา เปิดเผยว่า ในวันนี้มีพนักงานขับรถไฟ และช่างเครื่องส่วนของ จ.นครราชสีมา ยื่นความจำนงขอลาป่วยเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้อีกประมาณ 10 ราย ทำให้ในขณะนี้มีพนักงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ทั้งพนักงานขับรถ และช่างเครื่องที่มีอยู่ประมาณ 210 คน ลาหยุดแล้วกว่า 30 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานขับรถไฟ โดยให้เหตุผลว่า เครียดไม่มีสมาธิ และกำลังใจในการทำงาน หลังจากที่ต้องถูกกดดันจากทางบอร์ดบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้บังคับบัญชาอย่างหนัก รวมถึงอาจจะต้องรับผิดชอบเพียงลำพังหากเกิดเหตุการณ์เหมือนเช่นที่บ้านเขา เต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

    อดีต พขร.ที่เกษียณอาสาช่วยขับรถไฟ

    ด้าน นายสนชัย ตันประวัติ นายพรเทพ โสพลศรี และนายบุญเลิศ เลิศศิริ อดีตพนักงานขับรถจากระดับ 7 ที่ทำการโรงรถจากดีเซลบางซื่อ ที่เพิ่งเกษียณอายุไปได้ 20 วัน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.52 ได้เดินทางมายังการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงเจตจำนง มาช่วยขับรถจักรเพื่อเดินรถชั่วคราว หลังจากพนักงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้หยุดเดินรถในขบวนสายใต้

    ทั้งนี้ นายสมชัย ระบุว่า ตนได้ทำงานเป็นพนักงานขับรถมากว่า 40 ปี แล้ว จึงมีความรู้สึกรัก และเคารพในอาชีพ เป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ทั้งนี้ หลังจากที่ได้รับข่าวว่า การรถไฟได้รับความเดือดร้อนจึงอยากเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไป ด้วยดี โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์แต่อย่างใด ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะเกิดปัญหาจากความขัดแย้งทางความคิด แต่ทุกฝ่ายควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล และมีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้

    ผู้ว่าฯ รฟท.ชี้ต้องเปิดเดินรถก่อนเจรจา

    นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึง กรณีที่ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. ระบุว่า พร้อมเจรจากับฝ่ายบริหาร แต่ต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองว่า จะมีการซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้มั่นคงปลอดภัยในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนว่า ในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายบริหารรถไฟได้มีการออกคำสั่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายโยธา ฝ่ายเดินรถ และฝ่ายช่างกล กวดขันดูแลความปลอดภัยของระบบราง และหัวรถจักรอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ รฟท.ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุที่สหภาพฯ จะใช้เจรจาก่อนเปิดเดินรถ ทั้งนี้ จุดยืนของ รมว.คมนาคม และฝ่ายบริหาร รฟท.ก็ยืนยันชัดเจนว่า สหภาพฯ รฟท.ต้องเดินรถเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนก่อน จึงจะสามารถเจรจาเสนอเงื่อนไขในการปรับปรุงกิจการรถไฟตามขั้นตอนของกิจการ สัมพันธ์ได้