แม่ลั่น ผู้ปกครองรุ่นพี่ทำ "น้องปลื้ม" ตาย ต้องร่วมรับผิดชอบ เผยเพื่อนลูกไม่กล้าแฉแล้ว

แม่ลั่น ผู้ปกครองรุ่นพี่ทำ "น้องปลื้ม" ตาย ต้องร่วมรับผิดชอบ เผยเพื่อนลูกไม่กล้าแฉแล้ว

แม่ลั่น ผู้ปกครองรุ่นพี่ทำ "น้องปลื้ม" ตาย ต้องร่วมรับผิดชอบ เผยเพื่อนลูกไม่กล้าแฉแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ “น้องปลื้ม” รุ่นน้องอุเทนถวายถูกรุ่นพี่ซ่อม จากการไม่ร่วมมือทำกิจกรรมรับน้องใหม่ ถูกลงโทษโดยให้รุ่นพี่เวียนเตะจำนวนถึง 24 คน จนอาการสาหัส รักษาตัว 8 วันก่อนเสียชีวิต ด้านแม่ออกมาขอความเป็นธรรม 

รายการโหนกระแสวันที่ 9 มิ.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ มนัสนันท์ ตามกลาง แม่ผู้เสียชีวิต และ อินดี้ วีรพงษ์ ตามกลาง พี่ชาย ที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม มาพร้อม “เอ กีรติ ปั้นมณี” กลุ่มแอนตี้โซตัส รวมทั้ง “ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์”

เรื่องราวเกิดอะไรขึ้น?

มนัสนันท์ : ก่อนอื่นต้องขอบคุณรายการโหนกระแส และทางสถาบันน้องที่ให้ความร่วมมือ ซัปพอร์ตแม่ในระยะเวลาที่แม่อยู่กับลูก ประมาณตี 3 วันที่ 28 เพื่อนน้องชื่อโบ้ โทรมาบอกว่าปลื้มอยู่รพ. ไอซียู เลยถามว่าน้องเป็นอะไร เขาบอกว่าผมนั่งคุยกันเฉยๆ ปรึกษาหารือกัน จู่ๆ ปลื้มก็หงายหลังชัก แม่ก็ไม่ได้ถามต่อ เตรียมตัวไปหาลูก ก็โทรหาพี่ชายให้ไปดูน้อง

อินดี้ : ได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่ตีสี่ให้ไปดูน้องหน่อย น้องอยู่ดีๆ ก็เกิดอาการช็อกไป รีบขับรถจากราชบุรี มากรุงเทพฯ ประมาณหกโมงเช้า ขึ้นไปห้องไอซียู เจอสภาพน้องอาการชักเกร็ง โดนมัดมือมัดเท้า เกิดการชักกระตุก ตาเหลือบมองบน อาการไม่ตอบสนองแล้ว เขาไม่มีปฏิกิริยาที่จะตอบสนองเราได้แล้ว เราได้พบคุณหมอสิบโมงพร้อมคุณแม่มาถึง ทราบอาการเบื้องต้น พบปอดติดเชื้อ น้ำท่วมปอด และเรื่องหัวใจบวม

เห็นว่ามีอาการเรื่องหน้าอกที่มีร่องรอยบาดแผลจากการทำซีพีอาร์มาก่อน?

อินดี้ : ใช่ครับ จากการชันสูตรศพในวันสุดท้ายที่น้องเสียชีวิต บริเวณหน้าอกเกิดการฟกช้ำจากการทำซีพีอาร์ผิดวิธี ซี่โครงน้องหักซี่ที่ 3 เราก็สงสัยเพราะน้องเราเป็นคนสุขภาพแข็งแรง ชอบเที่ยว ออกกำลังกาย ก็ถามคุณแม่ว่าให้บอกเพื่อนๆ ได้มั้ยว่าโทรศัพท์กระเป๋าตังค์อยู่ที่ไหน เราอยากจะเช็กข้อมูล คืนนั้นเราเช็กดูไลน์ เฟซบุ๊ก ไอจีน้องทั้งหมด

เจออะไร?

อินดี้ : เจอข้อความในกลุ่มเพื่อนกลุ่มพี่ ซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น พี่พยายามไล่บี้ สุดท้ายเจอการโดนกระทืบ ในนั้นเขียนไว้หมดเลย

พอเห็นตรงนี้รู้เลยว่าที่รุ่นพี่โทรศัพท์มาบอกว่าไม่รู้ปลื้มเป็นอะไร อยู่ดีๆ ก็ล้มหงายไปเอง แต่ในไลน์เขาบอกว่าที่น้องโดนกระทืบไม่ได้ทำด้วยความสะใจ แต่เป็นเพราะปลื้มตอบคำถามเขาไม่ได้ มันดูเลวร้ายกว่าอีก แค่คนๆ นึงตอบคำถามไม่ได้ ปลื้มต้องไปช่วยนายกซึ่งอยู่ในรุ่นเดียวกัน ตอบคำถามรุ่นพี่ไม่ได้ โดนเตะ หลังจากนั้นอยู่หัวเฉียวกี่วัน?

อินดี้ : 5 วัน อาการไม่ดีขึ้น หมออาจจะให้ยาแค่คลายเส้นและรักษาตามอาการ ตามที่รุ่นพี่เขาแจ้งตอนแรกว่าช็อกและหมดสติไป หลังจากนั้นทางญาติได้ส่งตัวกลับทาง รพ.มหาราช นครราชสีมา ได้ตรวจอาการเบื้องต้นใหม่ทั้งหมด อาการทรุดลง อาจจะเกิดจากการเคลื่อนย้ายด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ อาการน้องทรุดลงเรื่อยๆ โรคแทรกซ้อนก็เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายน้องเสียชีวิต

ช่วงระยะเวลาที่น้องรักษาตัว น้องไม่รู้สึกตัวเลย?

อินดี้ : ไม่เลยครับ เพราะคุณหมอแจ้งครั้งแรกจาก รพ.หัวเฉียว ว่าน้องขาดอากาศหายใจ อากาศไม่ไปเลี้ยงสมองแล้ว เซลล์สมองตายแล้ว

เห็นบอกว่าความจริงเริ่มปรากฏออกมา เป็นยังไง?

อินดี้ : ความจริงเริ่มเปิดเผย มีกลุ่มเพื่อนๆ เริ่มทนไม่ไหว เพื่อนเขาเป็นขนาดนี้ยังไม่มีใครยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาพยายามมาอธิบายให้พี่กับแม่ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่ามีรุ่นพี่เรียกรุ่น 89 โดยรุ่นพี่รุ่น 88 เรียกประชุมโดยนัดหมายทางไลน์หรือโทรศัพท์ นัดประชุมที่มหาวิทยาลัยในคืนวันที่ 27

เข้าได้เหรอ?

อินดี้ : ตอนนั้นเข้าไม่ได้ แต่เขาน่าจะแอบกันเข้า รุ่นปลื้มเกือบ 30 คน รุ่นพี่อีก 24 คน พอเข้าไปประมาณ 2 ทุ่ม เราได้กล้องวงจรปิดจากมหาวิทยาลัย เขาให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ดูการเข้าการออก พอสามทุ่มน้องโดนอุ้มออกมาแล้ว  

น้องถูกหามออกมาจากนั้นส่งรพ. เหตุการณ์ข้างในคืออะไร?

อินดี้ : พยานบุคคลเล่าให้ฟังว่า เหมือนรุ่นพี่ 88 ซักถามพี่นายกสโมสรเรื่องการดำเนินงานรับน้องรุ่น 90 เป็นอย่างไร เขาเค้นถามนายกก่อน นายกตอบไม่ได้ แล้วรุ่นพี่ 88 เดินมาถามหัวหน้าห้อง คือน้องปลื้ม เขาก็ไม่สามารถตอบได้เลยโดนทำโทษ

สิ่งที่เขาถามคือรุ่นปลื้มต้องทำเรื่องรับน้องในรุ่น 90 แต่ปรากฏว่านายกของรุ่นตอบไม่ได้ มาถามปลื้มซึ่งเป็นหัวหน้าห้องก็ตอบไม่ได้ โดนทำโทษยังไง?

อินดี้ : เตะหน้าอกเป็นการเตะวน ให้เขาออกมานั่งลง เอามือขัดข้างหลังไว้ แล้วยืดหน้าอกขึ้น รุ่นพี่ทั้งหมด 24 คนเตะ หน้า 12 หลัง 12

มนัสนันท์ : (ร้องไห้)

อินดี้ : น้องนั่งตรงกลาง พี่ข้างหน้า 12 ข้างหลัง 12 เป็น 24 แล้วรุ่นพี่เตะไปที่หน้าอกแล้ว 6 คน คนที่ 7 เตะได้หนึ่งครั้ง ครั้งที่สองน้องช็อกและสลบไปแล้วครับ และหามมาอย่างที่เห็น

รุ่นพี่เห็นว่ามาขอโทษแม่?

มนัสนันท์ : เด็กมาขอโทษและกราบเท้า ซึ่งเรามองว่ามันไม่ใช่ขอขมาใดๆ เด็กแค่มาขอโทษแล้วกราบ เหมือนมาขออโหสิได้มั้ย

คนที่ทำเลยมั้ย?

มนัสนันท์ : แม่ไม่ทราบได้ เด็กมา 5-6 คน ที่ รพ.มหาราช เด็กพูดแค่นั้นจริงๆ

สุดท้ายน้องเสียชีวิต สาเหตุการเสียชีวิต ใบมรณบัตรตัวปลื้มยืนยันว่าลิ่มเลือดที่น่องหลุดไปอุดตันเส้นเลือดขั้วปอด ตายเมื่อ 5 มิ.ย. เวลา 4 ทุ่ม ลักษณะน้องน่าจะโดนหนักจริงๆ?

มนัสนันท์ : ตามที่เพื่อนเล่าน้องโดนมาแทบทุกวัน น้องเหนื่อยกับการไม่ได้พักผ่อน

นี่ไม่ใช่เหตุครั้งแรก แม่จะบอกว่าปลื้มถูกซ่อมกระทืบแบบนี้มาหลายครั้ง?

มนัสนันท์ : ใช่ค่ะ เพื่อนเขาก็โดนเหมือนกัน น้องโดนมาระยะเวลาประมาณนึง ช่วงรับน้องค่ะ

ถามคุณเอ เรื่องนี้คุณแอนตี้มาก มองยังไง?

เอ : เรื่องการรับน้อง เบื้องต้นโดยพื้นฐานต้องรักษาเรื่องสิทธิมนุษยชน กรณีนี้ชัดเจนมากคือการทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที รุ่นพี่ไม่มีอำนาจใดๆ ในการไปลงโทษเขาในลักษณะแบบนี้ แน่นอนอาจมีการจัดเตรียมงาน แต่เขาไม่มีอำนาจทำในลักษณะแบบนี้

หนึ่งรับน้อง สองถูกซ่อม บางคนถูกรับน้องจนตายก็มี แต่อันนี้หนักกว่ารับน้องมั้ย?

เอ : จริงๆ หนักกว่า เป็นการซ่อมชัดเจนเลย มันเป็นระบบที่มหาวิทยาลัยหรือหลายๆ สถาบันเขามีกิจกรรม ต้องมีการเตรียมงาน แต่ภาระทุกอย่างถูกโหลดไปที่คนกลุ่มนี้ แล้วเขาต้องไปต่อให้เพื่อนๆ อย่างของน้องเป็นหัวหน้าห้อง เขาอาจต้องมีการเตรียมงานให้เพื่อนทำอย่างนั้นอย่างนี้ ติดต่อใครหรือยัง มันเป็นการโหลดภาระซึ่งเป็นภาระทางวัฒนธรรมของหลายๆ มหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ เขาต้องทำแบบนี้ต่อไป แล้วมาโหลดให้กลุ่มนักศึกษา บางทีก็ไม่สมเหตุสมผล

การซ่อมด้วยการเตะเป็นวัฒนธรรมเหรอ ใครตั้งขึ้นมา?

เอ : ถ้าเราย้อนกลับไปบ้านป่าเมืองเถื่อนก็มีลักษณะแบบนี้ มันอาจมีความเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมลูกผู้ชาย มีความเชื่อที่บอกว่าคุณต้องมีความรับผิดชอบ แต่ไม่ใช่การลุแก่อำนาจ มันเป็นความคิดของเขาที่ไม่ถูก สิ่งที่เกิดขึ้น คือพอมีกิจกรรม ต่อให้ไม่มีความรุนแรงก็ไปบังคับน้องเขา เอาคุณค่าหรือวัฒนธรรมที่เขาเชื่อที่เขาต้องยึดถือให้คงอยู่ต่อไป สิ่งที่ตามมาคือเขาเอาความชอบธรรมตรงนั้นมาเตะน้อง

มุมที่คุณแอนตี้โซตัสคิดว่าจะแก้ยังไง?

เอ : มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษา ต้องมีการออกกฎให้ชัดเจน แอนตี้โซตัสเคยยื่นข้อเสนอไปแล้วเมื่อปี 62 หลักๆ มี 7 ข้อ มหาวิทยาลัย กระทรวงต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาต้องสืบสาวราวเหตุ และมีนโยบายป้องกัน เราสามารถทำตรงนั้นให้มั่นใจว่าจะจัดการได้ และต้องมีองค์กรภายนอก ผมไม่เชื่อว่าสถาบันในประเทศไทยจัดการเองได้ ควรมีองค์กรภายนอกเข้าไปออดิส นี่คือ 2 ข้อใน 7 ข้อ ต้องมีการควบคุมตรงนี้ เพราะถึงเวลามหาวิทยาลัยก็อาจจะลอยตัวไป

ทนายคิดว่ายังไง?

ไพศาล : พฤติการณ์ที่เขาเล่ามา ข้อหารุ่นพี่หนักนะ เท่าที่ฟังทำร้ายอวัยวะสำคัญ เช่นหน้าอก ซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะถึงแก่ความตาม การกระทำสองคนขึ้นไปด้วย เป็นโทษความผิดตามมาตรา 83 โทษถึงประหารชีวิต ทั้งหมดนั้นถือว่าเป็นการทำร่วมกันตามมาตรา 83 ทุกคนมีโทษเสมือนตัวการ ส่วนคนที่ไม่เกี่ยวข้อง เป็นผู้สนับสนุนรับโทษ 2 ใน 3 ตามมาตรา 86 ก็อยากเตือนรุ่นพี่ไว้ว่าเป็นโทษทางอาญาซึ่งหนักมาก ยังไงให้ออกมา

เตะไป 7 โดนแน่ๆ แล้วที่เหลือล่ะ?

ไพศาล : โดนทั้งหมด ผิดทั้งหมด ให้ความสะดวก ให้ความสนับสนุนโดนหมด ตามมาตรา 83 86 โดนหมดครับการกระทำกับอวัยวะสำคัญ ถ้าเตะไปที่หน้าอกหนึ่งครั้งอาจมองเป็นการทำร้ายร่างกายได้ การเตะไปซ้ำๆ เป็นอวัยวะสำคัญ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าอาจจะตายได้ แล้วยังทำ มันเป็นการฆ่าโดยเจตนา คือโทษประหารชีวิตครับ ก็อยากบอกไว้ว่าอย่าทำแบบนี้กันอีก

“ผศ.พรชัย อัจฉริยเมธากร” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกได้บอกว่ายังไง 12 คนก็ให้ออก เพราะทำผิดร้ายแรง พี่ชายยืนยันว่า 24 ได้ข้อมูลมาจากไหน?

อินดี้ : จากทางมหาวิทยาลัยที่ทำการสอบสวน

ถามมั้ยทำไมให้ออกแค่ 12 คน?

อินดี้ : ยังไม่ได้ถามครับ

ติดใจมั้ย?

อินดี้ : ค้างคาใจว่าทุกคนเหมือนสมรู้ร่วมคิดอยู่แล้ว ก็อยากให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด เขารู้เห็น เปิดทางให้ ช่วยเหลือกัน

แม่อยากให้เป็นยังไง?

มนัสนันท์ : เราอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูก ให้คนกระทำผิดออกมา ณ ตอนนี้รุ่นพี่ ผู้บริหารที่ออกมา เพื่อนพ้องน้องพี่ที่ท่านไม่ได้กระทำผิดใดๆ เลย

คนที่ไม่ออกมาคือ 24 คนนั้น ควรต้องมาเจอแม่ และผู้ปกครอง ลูกคุณมาทำลูกฉันทำไม?

มนัสนันท์ : ใช่ค่ะ

ตอนพักเบรก แม่อยากให้เขาไปที่งานศพ?

มนัสนันท์ : ใช่ค่ะ อยากให้เขาไปขอขมาน้อง เราเป็นผู้สูญเสียเราก็อยากทำหน้าที่แม่ปกป้องลูกเหมือนกัน ในเมื่อลูกคุณทำผิดคุณก็ต้องออกมารับ ถ้าเป็นแม่ ลูกแม่ทำ แม่ออกมาเลยนะคะแม่วิ่งก่อนเลย ไม่เคยปกป้องลูก

เห็นว่ากลัวเรื่องคุกคาม?

อินดี้ : เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ เพื่อนๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่สามารถเล่าได้ทั้งหมด เราอยากร้องขอสื่อมาช่วยในการปกป้องรุ่นเพื่อน 89 และรุ่นต่อๆ ไปที่จะเกิดขึ้น อยากให้กระทรวง หรือสถาบันทำเซ็นสัญญาไว้เลยว่าเด็กที่มาเรียนที่นี่จะต้องปลอดภัย ตั้งแต่เข้าจนจบ อยากให้กระทรวงช่วย ออกสัญญาตรงนี้และช่วยดูแลน้อง 89 เพราะพอเผาไป เด็กรุ่น 89 อันตรายแน่นอน

มนัสนันท์ : คือเด็กมันกลัวว่าเข้าไปเรียนจะเจออะไรบ้าง เพราะต้องมาเป็นพยาน ตอนนี้เด็กผวา โทรหาก็ไม่กล้ารับสายแล้ว ตอนแรกเด็กๆ บอกว่าถ้าต้องการความช่วยเหลือโทรหาได้ เด็กยืนยันเป็น 20-30 คน แต่ตอนนี้เขาบอกว่าเขาพูดอะไรไม่ได้ เด็กกลัวไปแล้ว

เขาใช้คำว่าพูดอะไรไม่ได้เลยเหรอ มันเกิดอะไรขึ้น?

ไพศาล : ฝากข้อสงสัยไปยังสถาบัน ในยามวิกาล มีเด็ก 50 กว่าคนเข้าไป มันเกิดอะไรขึ้น สถาบันต้องมาชี้แจงตรงนี้ ถ้าเปรียบเป็นบ้านคือมีคนตายในบ้านคุณ คุณต้องรับผิดชอบ ส่วนตัวเด็กที่โดนข่มขู่ใดๆ คุณก็ต้องให้ข้อมูล ถ้าไม่ให้ข้อมูลคุณมีความผิดตามกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนนะ โดนทั้งหมด น้องไม่ต้องกลัวให้ออกมา ฝากถึงผู้มีอำนาจ ทำมาตรการป้องกันมาเถอะ เราเห็นหลายครั้งแล้ว อย่าให้เกิดขึ้นอีกเลย ฝากไปถึงสถาบันหน่อย เด็ก 50 กว่าคนเข้าไปยามวิกาล มันไม่ได้แอบเข้าแล้ว

มหาวิทยาลัยแจ้งว่าเขาแอบเข้าไป แต่ทนายบอกว่า 50 กว่าคนมันแอบไม่ได้?

เอ : มันเป็นไปไม่ได้ คุณไปทำกิจกรรมใช้เสียงใช้อะไรกัน มันจะไม่มีใครรู้เห็นเลยเป็นไปไม่ได้

คิดว่าอาจารย์ข้างในจะรู้มั้ย?

เอ : ส่วนตัวผมคิดว่าเขาก็น่าจะมีการรู้กันว่ามีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ในสถาบัน แต่จะมากจะน้อยไม่ได้ทราบรายละเอียดลึกๆ แต่อย่างน้อยๆ รู้แหละว่ามีคนเข้ามาทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย พอเป็นแบบนี้ มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ต่อให้ไม่ใช่การเตะ คุณไม่มีคนคุมเลย อยู่ดีๆ มีคนภายนอกเข้ามาทำร้ายนักศึกษาคุณ มันก็ไม่โอเค คุณต้องเข้าไปควบคุมดูแล น่าจะเป็นกฎกระทรวงออกมาเลยนะ มีการออดิสภายนอก ต้องมีการสร้างมาตรการที่เป็นระบบอย่างชัดเจน

แม่กับพี่ชายเกรงว่าพยานจะไม่ออกมาให้การแล้ว?

มนัสนันท์ : ใช่ค่ะ

ทนายยืนยันถ้าน้องไม่ออกมา น้องปกปิด น้องโดนด้วย ถือว่ามีความผิดร่วม ใครก็ตาม รุ่นน้องอีก 30 คนที่รู้เห็น ถ้ารู้เห็นแล้วไม่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง?

ไพศาล : ก็เป็นผู้ให้การสนับสนุน มีความผิดตามมาตรา 86 อยากบอกรุ่นพี่ การว้ากตะโกนใส่ก็มีโทษจำคุกนะครับ ดูหมิ่นให้เสียชื่อเสียงก็มีโทษจำคุก ทำร้ายร่ายกายก็มีโทษจำคุก บังคับขืนใจกักขังหน่วงเหนี่ยวก็มีโทษจำคุก ทำร้ายให้ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสก็มีโทษจำคุก รุ่นพี่ทั้งหลายทุกสถาบัน ขอให้พึงระวังและคิดให้ดีว่าระบบโซตัสหรือซ่อมน้อง ขอให้คิดซะก่อน ทุกคนโดนโทษนะครับ ขอให้ทำอยู่ในกรอบกิจกรรมที่สร้างสรรค์

ปลื้มเคยพูดว่าเขาอยากเรียนสถาบันแห่งนี้มาก?

มนัสนันท์ : เป็นความฝัน เป็นเป้าหมายของน้องถึง ป.โท เลยนะคะ แต่แม่ก็พยายามดึงไม่เอาลูก ไปสอบที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่อุเทน แม่ยืนยันกับน้องตลอด

ทำไมไม่อยากให้น้องเข้าอุเทน?

มนัสนันท์ : โห ชื่อเสียงแบบนี้ เราก็จะ 60 แล้ว เราได้ยินเรื่องอุเทนตลอด

ทำไมน้องอยากไปเรียนที่นี่?

มนัสนันท์ : เป็นความต้องการของน้อง เขาบอกว่าเขาคงไม่ใช่หนึ่งในร้อยที่จะเจออะไรแบบนี้ เขาบอกว่าที่นี่คือที่ที่ปลอดภัยที่สุด แล้วเขาคงไม่ใช่หนึ่งในร้อยหรอกที่จะโดนแบบนั้น สุดท้ายน้องโดนเอง ซึ่งน้องปลื้มภูมิใจมากที่ได้เป็นศิษย์สถาบันนี้ ถามว่าเรานอนหลับมั้ย ปีกว่าที่ลูกเรียนที่นี่ไม่เคยนอนหลับเต็มตาเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook