ย้อนประวัติ ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 5 สมัย สู่รัฐมนตรีศึกษาธิการ ยุคนักเรียนไม่ยอมจำนน

ย้อนประวัติ ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 5 สมัย สู่รัฐมนตรีศึกษาธิการ ยุคนักเรียนไม่ยอมจำนน

ย้อนประวัติ ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 5 สมัย สู่รัฐมนตรีศึกษาธิการ ยุคนักเรียนไม่ยอมจำนน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทียนทอง คงเป็นตระกูลจำนวนมากคงเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง แต่คงไม่ใช่กับนางสาวตรีนุช เทียนทอง ที่ถ้าไม่ใช่คนในเขตเลือกตั้ง ก็อาจรู้สึกว่าชื่อนี้เหมือนโผล่มากลางอากาศจากไหนก็ไม่ทราบ ถึงอย่างนั้นนักการเมืองจาก จ.สระแก้ว คนนี้ กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว

เทียนทอง 100%

นางสาวตรีนุช เทียนทอง หรือ เหน่ง เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2515 เป็นหลานของนายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองชื่อดัง ซึ่งพ่อของเธอ ซึ่งก็คือนายพิเชษฐ์ เป็นน้องชายของนายเสนาะ

เธอยังมีพี่น้องอีก 3 คน คือ นายฐานิสร์ เทียนทอง, นายอนุรักษ์ เทียนทอง และนายบดี เทียนทอง

ส่วนชีวิตรักนั้น นางสาวตรีนุช มีสามีคือนายเจษฎา โชคดำรงสุข แพทย์ประจำตัวของนายเสนาะ ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อปี 2550 และเมื่อปี 2560 นายเจษฎา ยังได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากอธิบดีกรมควบคุมโรค มาเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย ซึ่งตำแหน่งนี้ปัจจุบันเป็นของนายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต

จบโทเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐ

บล็อกของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ชื่อว่า ศธ.360° ระบุการศึกษาของรัฐมนตรีหน้าใหม่รายนี้ว่า จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี 2535 จากนั้นไปศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงิน จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น อิลลินอยส์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ ระหว่างปี 2536-2538 ก่อนเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ระหว่างปี 2539-2540

ทำงานด้านบริหาร-การเงิน

เมื่อปี 2541 นางสาวตรีนุชมาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อ เอส.พี.ที ซีวิล กรุ๊ป ที่มีฐานดำเนินงานใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 

ต่อมาเมื่อปี 2542 ก็หันมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่อให้กับ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ประสบการณ์ ส.ส. 5 สมัย

เมื่อปี 2544 นางสาวตรีนุชเข้ามาสู่วงการการเมืองครั้งแรก ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จ.สระแก้ว ในนามพรรคไทยรักไทย และชนะการเลือกตั้ง และเมื่อปี 2548 เธอก็ลงแข่งขันอีก และก็ชนะอีกครั้ง

แม้เมื่อปี 2550 นักการเมืองรายนี้ย้ายมาสังกัดพรรคประชาราช แต่ก็ยังชนะการเลือกตั้งเช่นเดิม ส่วนปี 2554 เธอกลับมาลงสมัครเป็น ส.ส. ในนามพรรคเพื่อไทย และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 4

อย่างไรก็ตาม เธอตัดสินใจย้ายค่ายจากพรรคเดิมมาลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ครั้งนี้เธอกวาดคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 2 ไปถึง 52,787 คะแนน สูงกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ได้ไปเพียง 21,901 คะแนน และพรรคอนาคตใหม่ที่ 13,560 คะแนน

ถึงอย่างนั้นต้องยอมรับว่าบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรชุดล่าสุดของนางสาวตรีนุช ไม่โดดเด่นนัก ส.ส. รายนี้เคยกล่าวขอหารือกับสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บลำไยใน จ.สระแก้ว และเสนอขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่อนผันการทำงานข้ามจังหวัดของแรงงานต่างชาติ

รับเผือกร้อนแทนคนเก่า

บทบาทใหม่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนี้เกิดขึ้นหลังจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจากการขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากนักเรียน โดยเฉพาะ กลุ่มนักเรียนเลว ที่เรียกร้องให้กระทรวงคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของนักเรียน

นักเรียนเลวยังรับน้องนางสาวตรีนุชตั้งแต่วันที่ประกาศออกราชกิจจานุเบกษาว่าเป็นรัฐมนตรีใหม่ ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองรายนี้อาจไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศของนักเรียนและประชาธิปไตยนัก เพราะเคยคัดค้านการตั้งคณะกรรมาธิการผู้มีความหลากหลายทางเพศของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 และไม่เห็นด้วยให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหาร

กลุ่มนักเรียนเลว ระบุในโพสต์เดียวกันนี้ว่า การแต่งตั้งนางสาวตรีนุชขึ้นมาทำหน้าที่รัฐมนตรี อาจไม่ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบศึกษาของประเทศ แต่อาจเป็นการแบ่งผลประโยชน์ให้พวกพ้องเท่านั้น หรือไม่

"สุดท้ายแล้วอนาคตของนักเรียนไทยก็เป็นเพียงเค้กก้อนหนึ่งที่ผู้ใหญ่แบ่งกันไปแบ่งกันมา เมื่อคุณตรีนุชได้รับเค้กชิ้นนี้ไปแล้ว ก็อย่ากินมูมมามนะคะ" นักเรียนเลว โพสต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook