ดราม่า “อแมนด้า VS กรมสุขภาพจิต” เรารับฟังกันจริงๆ หรือยัง?

ดราม่า “อแมนด้า VS กรมสุขภาพจิต” เรารับฟังกันจริงๆ หรือยัง?

ดราม่า “อแมนด้า VS กรมสุขภาพจิต” เรารับฟังกันจริงๆ หรือยัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวงการนางงามวินาทีนี้ คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงไปกว่าข่าวอแมนด้า - ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี 2020 ที่ถูกยุติบทบาทการเป็นทูตด้านสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิต หลังแต่งตั้งได้เพียง 5 วัน ซึ่งหลายฝ่ายก็คาดการณ์กันว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่อแมนด้ามักโพสต์ข้อความแสดงจุดยืนทางการเมืองทางโซเชียลมีเดียของเธอหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเรื่อง “ความเหมาะสม” ก่อนจะกลายเป็นดราม่าร้อน ที่สะท้อนความเป็นไปในสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี

Have You Listened 

อแมนด้าริเริ่ม “โครงการ Have You Listened” ขึ้น เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยมีแนวคิด “การรับฟังอย่างตั้งใจ” ก่อนที่เธอจะเข้าไปหารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อต่อยอดโครงการที่เธอต้องการทำอย่างจริงจัง กระทั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 กรมสุขภาพจิตได้แต่งตั้งให้เธอเป็น “ทูตด้านสุขภาพจิต” มีหน้าที่ช่วยสร้างความตระหนักด้านสุขภาพจิตในประเทศไทย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า และมีแผนการดำเนินงานร่วมกันตลอดทั้งปี 

Miss Universe Thailand

ต่อมา นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้เริ่มโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้ง “ทูตกิตติมศักดิ์” ของอแมนด้า โดยระบุว่า 

ไม่ว่าจะเป็น นางงาม นักกีฬา หรือ แฟนต้ายุวทูต ฯลฯ ถ้าคุณได้ถูกอุปโลกน์ให้เป็น “ทูตกิตติมศักดิ์” สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ ภาพลักษณ์และพฤติกรรมที่ดีในการเป็นตัวแทนส่งเสริมภาพลักษณ์ของ “ราชอาณาจักรไทย” บุคคลนั้นต้องมีความประพฤติเรียบร้อย อยู่ในศีลธรรมอันดี  เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น

พร้อมหลายข้อความที่ชี้ถึงความไม่เหมาะสมที่แต่งตั้งอแมนด้ามาเป็นทูตในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความรู้สึกและเห็นด้วยกับข้อความของเขาจำนวนมาก 

ถอดถอนอแมนด้า 

วันที่ 2 มีนาคม 2564 นายนพดล พรหมภาสิต ประธานเครือข่ายคนออนไลน์รับใช้แผ่นดิน (คคร.) ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งและขอให้ถอดถอนอแมนด้าจากตำแหน่งดังกล่าวต่อกรมสุขภาพจิต โดยระบุว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของอแมนด้าทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเธอ “มีความเชื่อและพฤติกรรมการแสดงออกสนับสนุนม็อบเยาวชนปลดแอกหรือที่เรียกว่า “ม็อบ 3 นิ้ว” เป็นที่ประจักษ์” พร้อมตั้งคำถามเรื่องการใช้ภาพลักษณ์ของทางราชการเพื่อตอบสนองความต้องการของเอกชนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจความงาม 

Nopadol Prompasit

ต่อมาในวันเดียวกัน กรมสุขภาพจิตก็ได้ออกประกาศ “ยุติการมอบหมายมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 เป็นทูตด้านสุขภาพจิต” โดยมีใจความระบุว่า “กรมสุขภาพจิตรับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนต่อการมอบหมายภารกิจด้านสุขภาพจิตแก่ นางสาวอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการมอบหมายภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตที่ได้นั้น ไม่ได้เป็นการมอบหมายอภิสิทธิ์พิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงหน้าที่และภารกิจช่วยเหลืองานด้านสุขภาพจิตเท่านั้น”

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

“กรมสุขภาพจิตรับทราบถึงความกังวลใจของประชาชนในขณะนี้ และกรมสุขภาพจิตไม่สามารถดำเนินภารกิจที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนในสังคมได้ ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้มีการปรึกษาหารือกับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และรับทราบร่วมกันถึงความกังวลใจของประชาชน ทางกรมสุขภาพจิตจึงขอยุติบทบาทภารกิจทูตด้านสุขภาพจิตดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” 

อแมนด้ากับจุดยืนทางการเมือง 

นับตั้งแต่รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ อแมนด้าได้ใช้โซเชียลมีเดียของตัวเอง ทั้งทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ในการแสดงความคิดเห็นและแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองหลายครั้ง โดยเธอได้โพสต์ในสตอรี่อินสตาแกรมระบุว่า สิ่งที่เธอสนับสนุน คือ

  1. ประชาธิปไตย
  2. หลักการสิทธิมนุษยชนคือหัวใจหลักในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์
  3. ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
  4. เสรีภาพในการพูดบนพื้นฐานของความจริง
  5. ความเท่าเทียมกันของทุกคน  

นอกจากนี้ อแมนด้ายังได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นทางสังคมและการเมืองอีกหลายครั้ง เช่น ประเด็นเรื่องทรงผมของนักเรียน รวมไปถึงประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงและการอุ้มหาย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวถูกยุติบทบาทการทำงาน อแมนด้า พร้อมด้วยปิยาภรณ์ แสนโกศิ ผู้อำนวยการกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยอแมนด้าระบุอย่างชัดเจนถึงจุดยืนของตัวเอง และตั้งใจจะทำโครงการ Have You Listened ต่อไป แม้ไม่มีตำแหน่งทูตของกรมสุขภาพจิตแล้ว พร้อมกันนั้น ยังย้ำจุดยืนเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสนับสนุนประชาธิปไตย ความเท่าเทียมของมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักของความเป็นมนุษย์ 

สังคมเสียงแตก 

ข่าวการถูกปลดออกจากตำแหน่งทูตด้านสุขภาพของอแมนด้า ส่งผลให้เกิดการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในโลกออนไลน์ ซึ่งหลายความคิดเห็นก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าวของอแมนด้า โดยยกตัวอย่างเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเธอซึ่งมีอคติและความเกลียดชังเสียเอง ขณะที่หลายคนก็กล่าวขอบคุณนายนพดล ผู้เข้าไปยื่นหนังสือกับกรมสุขภาพจิต

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้เข้าไปให้กำลังใจอแมนด้ากันอย่างล้นหลาม โดยขอให้เธอเข้มแข็ง และทำหน้าที่ของเธอต่อไป เช่นเดียวกับณวัฒน์ อิสระไกรศีล ผู้จัดการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ และมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความในประเด็นดังกล่าว โดนระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการปลดทูตของกรมสุขภาพจิต เพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

โลกแห่งประชาธิปไตยคือโลกแห่งความคิดที่แตกต่างอย่างหลากหลาย แต่ยังคงให้ประโยชน์ต่อสังคมร่วมกันได้เสมอ” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook