“เราชนะ” สวัสดิการที่ไม่รู้ว่าใครชนะ แต่คนแพ้อาจเป็น “ประชาชน”

“เราชนะ” สวัสดิการที่ไม่รู้ว่าใครชนะ แต่คนแพ้อาจเป็น “ประชาชน”

“เราชนะ” สวัสดิการที่ไม่รู้ว่าใครชนะ แต่คนแพ้อาจเป็น “ประชาชน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ระดับโลก ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประชากรโลกเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นเหมือนไม้กวาดขนาดยักษ์ที่กวาดเอาปัญหาสังคมที่ถูกซุกเป็นขยะใต้พรมออกมา สำหรับประเทศไทยเองก็ไม่มีข้อยกเว้น เพราะนับตั้งแต่ที่โรคโควิด-19 ลุกลามเข้าสู่ประเทศเมื่อต้นปี 2563 เราได้เห็นปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาแรงงานข้ามชาติ และอื่นๆ ปรากฏขึ้นมามากมาย และล่าสุดคือประเด็นโครงการ “เราชนะ” ที่ “เก็บตก” กลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ให้มาลงทะเบียนขอรับสิทธิด้วยตัวเองที่ธนาคาร ทว่ากลับเกิดความโกลาหลขึ้นในหลายพื้นที่ นำไปสู่เสียงสะท้อนของประชาชน ที่ตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว “เราชนะ” นี่ใครชนะกันแน่

โครงการ “เราชนะ” เป็นสวัสดิการของรัฐที่มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนในสถานการณ์โรคระบาด โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้น รัฐบาลจึงทยอยเติมเงินให้แก่ประชาชน เป็น 2 ช่วง ช่วงละ 3,500 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งประชาชนจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปฯ ดังกล่าว

แนวคิดเบื้องต้นของโครงการนี้นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินสด ซึ่งกระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า จากการทำโครงการเราไม่ทิ้งกัน เมื่อปีที่แล้ว พบว่าประชาชนต่างพากันออกมากดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบของตู้มีปัญหา ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับจุดประสงค์ที่ต้องการรองรับสังคมไร้เงินสด จึงเลือกใช้วิธีเติมเงินเข้าระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) ในแอปฯ เป๋าตัง นอกจากนี้ การแบ่งเติมเงินเป็น 2 ช่วง โดยไม่ได้จ่ายรวดเดียว 7,000 บาท ยังเป็นการป้องกันการนำเงินไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย

บรรยากาศการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือในโครงการเราชนะ ที่ จ.น่านFanpage มิตรสหายท่านหนึ่งบรรยากาศการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือในโครงการเราชนะ ที่ จ.น่าน

แม้ในที่สุด ประชาชนหลายคนจะสามารถลงทะเบียนผ่านแอปฯ ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลอาจจะนึกไม่ถึง คือกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ที่ไม่สามารถลงทะเบียนขอรับเงินได้ จึงต้องเปิดให้มีการลงทะเบียนที่ธนาคารของรัฐและจุดบริการพิเศษทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นำไปสู่ความเซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า จากการที่ประชาชนหลายร้อยคนยืนออกันอยู่หน้าธนาคารตั้งแต่ช่วงเช้า และมีภาพความโกลาหลในการขอลงทะเบียนในจังหวัดต่างๆ ปรากฏในโลกออนไลน์ หลายพื้นที่ต้องปิดถนน พร้อมกับมีเสียงของประชาชนที่เล่าถึงปัญหาที่ไม่ใช่แค่การไม่มีสมาร์ตโฟนเท่านั้น แต่มีทั้งการอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และต้องเดินทางหลายชั่วโมงมายังธนาคารที่มีอยู่เพียงไม่กี่สาขาในจังหวัด ในขณะที่มีเงินอยู่ไม่มาก รวมทั้งผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรง ก็ต้องมาต่อคิวรอลงทะเบียนรับ เพื่อใช้ยังชีพในสถานการณ์โรคระบาด

ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดถึงการจัดสวัสดิการที่มองไม่เห็นประชาชนอย่างทั่วถึง สังเกตได้จากการคิดวิธีรับเงินช่วยเหลือที่เหมาะสำหรับคนที่มีสมาร์ตโฟนใช้เท่านั้น โดยลืมนึกถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีราคาแพงได้ รวมทั้งยังชี้ให้เห็นว่า รัฐยังมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำในระดับใหญ่ อย่างพื้นที่อยู่อาศัยและการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น ปัญหาที่ผุดขึ้นมาจึงไม่ใช่แค่การไม่มีสมาร์ตโฟนใช้ แต่ยังหมายถึงความสะดวกสบายขั้นพื้นฐานที่ไม่เคยไปถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

บรรยากาศการลงทะเบียนในโครงการเราชนะ สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ที่ จ.อุดรธานีAtom Natthanittha Aromratบรรยากาศการลงทะเบียนในโครงการเราชนะ สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ที่ จ.อุดรธานี 

การเลือกจ่ายเงินผ่านแอปฯ แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสดให้ครบตามจำนวนในคราวเดียว เพียงเพราะกลัวว่าประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็ถือว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของประชาชน สะท้อนมุมมองของรัฐที่มองว่าประชาชนไม่รู้จักใช้เงิน จนต้องให้รัฐเข้ามาจัดการราวกับเป็นเด็กเล็กๆ ขณะเดียวกัน ข้ออ้างเรื่องการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 จากการจับเงินสดหรือการต่อคิวกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ก็ดูเหมือนจะถูกหักล้างไปอย่างราบคาบ จากการที่ประชาชนแห่แหนไปเบียดเสียดรอลงทะเบียนหน้าธนาคาร

นอกจากนี้ กรณีโครงการเราชนะยังเป็นอีกครั้งที่รัฐใช้ “สวัสดิการแบบเก็บตก” ซึ่งเน้นให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเองเป็นหลัก ขณะที่รัฐจะเข้ามาช่วย “สงเคราะห์” เฉพาะคนบางส่วนที่ยากจน “จริงๆ” เท่านั้น แต่ไม่ได้มองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้ากัน ยิ่งกว่านั้น การสงเคราะห์ช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งอยู่เหนือกว่าประชาชน ยังส่งผลให้มีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน ดังจะเห็นได้จากกรณีดราม่า “ยายสา” ที่ถูกพนักงานธนาคารตะคอกใส่ จนยายสาต้องให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งน้ำตา จริงอยู่ที่พนักงานตัวเล็กตัวน้อยอาจจะเครียดจากภาระงานและความวุ่นวาย แต่เมื่อมีการระบายอารมณ์ใส่ผู้ที่มีสถานะต่ำกว่า นี่ก็เป็นอีกครั้งที่คนระดับล่างหันมาตีกันเอง ขณะที่เบื้องบนผู้คิดค้นระบบไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ

บรรยากาศการลงทะเบียนโครงการเราชนะ สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ใน จ.เชียงรายChitpipaht Chumpusriบรรยากาศการลงทะเบียนโครงการเราชนะ สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ใน จ.เชียงราย

ในสถานการณ์โรคระบาดที่ทุกคนได้รับผลกระทบ คนที่มีต้นทุนทางสังคมน้อยซึ่งมีจำนวนมากในสังคมกลับต้องเจ็บหนักกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ทว่าแทนที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที กลับต้องเดือดร้อนซ้ำสองกับการบริหารจัดการที่มองไม่เห็นประชาชนอย่างรอบด้าน ขณะที่ผู้นำประเทศกล่าวว่า ขอให้ประชาชน “คุ้นชิน” กับความลำบากในการรับสวัสดิการ

ก็ไม่รู้ว่าทำไมการเข้าถึงสวัสดิการซึ่งควรเป็นสิทธิต้องยากลำบากด้วย

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา หลายคนมองว่าควรให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนทุกคนทันที โดยไม่ต้องทะเบียนหรือพิสูจน์ความยากจนใดๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และให้ประชาชนจัดสรรเงินตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคนเอง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นในการจัดสวัสดิการ คือการมองเห็น “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่คนที่คอยรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ มีสติปัญญาในการดูแลตนเอง และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อที่จะดำเนินชีวิตได้ต่อไป แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐจะพยายามแสดงความตั้งใจในการนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤต ด้วยโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเราไม่ทิ้งกัน ไทยชนะ เราชนะ แต่เมื่อมีการปฏิบัติจริง กลับทอดทิ้งคนบางกลุ่ม จากการคิดโครงการที่ไม่ครอบคลุมและรอบด้านมากพอ เพราะฉะนั้น รัฐซึ่งมีทั้งอำนาจและทรัพยากรในมือ จึงควรใช้ศักยภาพที่มี “เปิดตา” และมองให้เห็นประชาชนในฐานะมนุษย์ และจัดสวัสดิการให้มนุษย์ผู้เสียภาษีเหล่านี้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกคนเป็นฝ่าย "ชนะ" อย่างแท้จริง

อย่าให้สโลแกนอย่าง “เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” กลายเป็นเพียงคำโฆษณาเชยๆ ที่ไร้ความหมายเถอะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook