“Hockhacker” คุณพ่อแร็ปเปอร์ผู้เชื่อในวิถีแห่งอิสรภาพ

“Hockhacker” คุณพ่อแร็ปเปอร์ผู้เชื่อในวิถีแห่งอิสรภาพ

“Hockhacker” คุณพ่อแร็ปเปอร์ผู้เชื่อในวิถีแห่งอิสรภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“สู้ด้วยเสรีภาพความคิด ไม่ใช่ความผิดที่จะโดนจับ บุกล้อมหน้าบ้านจับกู แล้วมาแจ้งยุยงปลุกปั่น”

เนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลง “ปฏิรูป” ผลงานล่าสุดของกลุ่มแร็ปเปอร์หัวขบถ Rap Against Dictatorship บอกเล่าเรื่องราวของ “Hockhacker” หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวที่หน้าหมู่บ้าน ขณะที่เขากำลังขับรถไปส่งภรรยาเพื่อไปทำงาน จากการที่เขาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ภาพการจับกุมดังกล่าวอาจไม่ได้แตกต่างจากภาพของแกนนำผู้ชุมนุมคนอื่นๆ มากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ภาพเหตุการณ์นั้นกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ คือบุคคลหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นลูกสาวของเขาเอง

Hockhacker ศิลปินจากกลุ่ม Rap Against DictatorshipHockhacker ศิลปินจากกลุ่ม Rap Against Dictatorship

คุณพ่อที่ชื่อ Hockhacker

ถ้าจะเล่าเรื่องตอนนี้ให้ลูกฟัง ผมจะบอกเขาว่าลูกอยู่ในรถวันที่ผมโดนจับด้วย ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ตอนนั้นลูกผมใกล้ครบ 1 ขวบ อยู่ในรถวันที่โดนจับ แต่ไม่ร้องเลย อาจจะอ้อแอ้ๆ แล้วทำหน้างงใส่ตำรวจ ก็คงเล่าให้เขาฟังตอนที่เขาโตขึ้นมา” Hockhacker เล่ายิ้มๆ

เหตุการณ์อันน่าหวั่นวิตกครั้งนั้นทำให้เราได้รู้ว่า นอกจากบทบาทในการเป็นศิลปินผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว Hockhacker ยังมีอีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็น “คุณพ่อฟูลไทม์” ที่รับหน้าที่ดูแลลูกอยู่ที่บ้าน แทนภรรยาที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งเขาเล่าว่า เขาและภรรยาวางแผนที่จะเลี้ยงลูกด้วยตัวเองมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงสภาพสังคม โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็ก ประกอบกับลักษณะการทำงานที่สามารถทำที่บ้านได้ เมื่อได้รู้ว่ากำลังจะมีลูก ก็ตัดสินใจเดินตามแผนที่วางไว้ และเลือกวิธีการเลี้ยงลูกที่เน้นการให้อิสระ เพื่อให้ลูกสามารถเติบโตได้ตามพัฒนาการของตัวเอง

“หลังจาก 3 เดือน ก็เป็นหน้าที่ของผมจริงๆ ผมก็ต้องพาลูกไปทำงานด้วยทุกวัน ก็คือตอนเช้าเอาลูกใส่คาร์ซีทไปส่งภรรยา แล้วก็ขับรถจากออฟฟิศภรรยาไปออฟฟิศเรา ก็คือพ้นจาก 9 โมง ผมก็อยู่กับลูกสองคนเลย ออฟฟิศก็เป็นโฮมออฟฟิศที่มีพนักงานไม่เยอะ ก็จะมีห้องส่วนตัวที่เป็นโต๊ะทำงาน แล้วก็มีเปลเด็ก มือหนึ่งก็ทำงาน มือหนึ่งก็ไกวเปล เปลติดมอเตอร์ก็ปล่อยลูกหลับ ทำงานอยู่ ลูกร้อง ก็เอานมไปให้ ใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นประมาณ 3 – 4 เดือน เป็นช่วงที่วุ่นที่สุดแล้ว เพราะว่าเราอยู่กับลูกสองคน” Hockhacker เล่าถึงประสบการณ์บินเดี่ยวในฐานะคุณพ่อมือใหม่

เลี้ยงลูกสไตล์แร็ปเปอร์

หลังจากช่วงล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา Hockhacker ได้ทำงานอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ภารกิจที่เพิ่มขึ้นมาคือการเลี้ยงลูกสาววัยกำลังซน ซึ่งเขายอมรับว่าระยะเวลาในการทำงานของเขาน้อยลงกว่าเดิม และต้องมีการจัดสรรเวลาในการทำงานใหม่ โดยจะทำงานในช่วงที่ลูกนอนกลางวันและช่วงกลางคืน นั่นทำให้เขาต้องโฟกัสกับการทำงานมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันตามกำหนด ส่วนงานเพลงที่เขาถือว่าเป็นงานอดิเรก ก็สามารถทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูกได้ โดยการเปิดเพลงแจ๊สและชิลล์ฮอป ซึ่งเป็นพื้นฐานของเพลงฮิปฮอปให้ลูกสาวฟัง พร้อมทั้งคิดงานไปด้วย

วันเสาร์-อาทิตย์ คือวันที่ผม ภรรยา และลูกอยู่พร้อมหน้ากัน 3 คน และอยู่ด้วยกันทั้งวัน นั่นคือเวลาคุณภาพ ทุกอย่างที่ทำวันนั้นก็จะต้องตัดงานออกไป และเราต้องพักผ่อนให้พอก่อนเวลานั้นด้วย เพราะว่าเด็กตื่นกลางคืนอยู่แล้ว เราก็ต้องตื่นมาด้วย บางทีก็จะล้าไปตอนเช้า ก็พยายามลดอะไรที่ทำให้ร่างกายเหนื่อย หรือว่าสมองเหนื่อย ต้องเซฟตัวเองให้พร้อมที่สุดสำหรับเวลาคุณภาพนั้นด้วย” Hockhacker อธิบายเพิ่มเติม

สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ แนวทางยอดนิยมอย่างหนึ่งที่ใช้ในการเลี้ยงลูก คือ Baby-led Weaning คือการที่ให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง โดยไม่มีการป้อน รวมทั้งการปล่อยให้ลูกเล่นอย่างอิสระ ซึ่งเป็นแนวทางที่ค่อนข้างขัดกับวิถีของคนรุ่นเก่า และพ่อแม่หลายบ้านก็อาจจะขัดแย้งกับปู่ย่าตายายได้ ประเด็นนี้ Hockhacker แนะนำว่า พ่อแม่ต้องมีความแน่วแน่ในแนวทางของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งต้องพยายามอธิบายและพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นถึงข้อดีของวิธีการนี้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จากการให้อิสระในการเติบโตเหล่านี้ก็น่าทึ่งมากทีเดียว

“ผมรู้สึกว่าเลี้ยงลูกเองแล้วสบายใจ แฟนผมก็สบายใจ ทุกคนก็สบายใจ เพราะเวลาไปเจอเด็กคนอื่น มันเห็นชัดเลยว่าลูกเรากล้า แล้วก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ไปคาเฟ่เด็ก บางคนยังต้องวิ่งตามไปป้อนข้าวลูก ลูกเรากินอิ่มแล้วค่อยไปเล่น เขาก็จะเล่นได้เต็มที่ เรานั่งดูเขาเล่นได้เลย” คุณพ่อแร็ปเปอร์อธิบาย พร้อมเสริมว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงลูกของเขาได้ผล คือแนวคิดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างเขากับภรรยา

“เรารู้ว่าอีก 5 เดือน เราจะทำอะไร อีก 1 ปี ลูกเราจะไปทำอะไร เราก็เลยวางแผนไปด้วยกันตลอด พอแผนหลักมันพร้อม เรามีแกนหลักให้จับอยู่ ผมก็เลยสบาย แล้วก็ให้เวลากับความสุขนั้นอย่างเต็มที่ โดยที่เราไม่มีอะไรต้องห่วงเขาเลย พอสบายใจเรื่องลูกแล้ว ก็ให้ภรรยาไปโฟกัสกับงาน หรือบางวันที่ผมไปรับเขากลับมาที่บ้าน ผมก็บอกให้เขารีบไปหาลูก ไปเล่นกับลูกเลย เพราะว่าเราอยู่กับลูกทั้งวัน แต่เขาไม่ได้เจอลูกเลย ให้เขาไปอยู่กับลูกให้เต็มที่” Hockhacker กล่าว

อนาคตของประเทศ = อนาคตของลูก

สำหรับ Hockhacker การเลี้ยงลูกถือเป็นเรื่องสนุก เพราะเหมือนกับทำให้เขาได้เจอโจทย์ใหม่ๆ ทุกวัน จากการเติบโตของลูก อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของเขาที่มีต่อลูกสาวตัวน้อยนั้นกลับไม่ใช่การเป็นแร็ปเปอร์หญิง แต่เขาต้องการสร้างคนคนหนึ่งที่มีอิสรภาพในการใช้ชีวิต และอาจเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สิ่งที่เราปลูกฝังมาตั้งแต่แรกเลยคือความเป็นอิสระ อิสรภาพที่เขาจะใช้ชีวิต ซึ่งพอมันไปอยู่กับอะไรแล้ว มันก็จะไปต่อยอดในทักษะชีวิตของเขาเอง เราไม่ไปขวางชีวิตเขาตอนนี้ เขาก็จะมีความกล้าที่จะทำอะไรต่อไปเรื่อยๆ เขาคงจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง และผมคิดว่าลูกคงทำได้ดีกว่าเรา เพราะว่าเขามีเวลาและได้รับการเลี้ยงดูแบบให้อิสระมากกว่าเราตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่าลูกจะเป็นคนที่พร้อมจะอยู่ในยุคสมัยที่จะเปลี่ยนไปอย่างเร็วมากในอนาคต”

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนกระทั่งในวัย 30 ปี Hockhacker ยอมรับว่า ขณะนี้ ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เขายังคงอยู่บนเส้นทางนักกิจกรรมทางการเมือง คืออนาคตของลูกและเด็กคนอื่นๆ

“การแก้เรื่องการเมืองมันผูกกันเลยกับอนาคตของเด็ก ไม่ใช่แค่ลูกผมด้วย แต่เป็นเด็กวัยที่กำลังจะต้องโตขึ้นมาทั้งหมดแล้วต้องมาเห็นสภาพการเมืองแบบนี้ ถ้าสมมติอีก 10 ปี ส.ว. 250 คน ยังอยู่ รัฐสภายังเป็นแบบนี้อยู่ ทหารยังเข้ามายึดอำนาจ เราจะตอบลูกอย่างไร หรือลูกก็จะเห็นเป็นเรื่องปกติ แล้วมันก็จะยื้อต่อไปเรื่อยๆ เราไม่รู้สึกว่ามันทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าเลย รวมถึงเด็กรุ่นถัดไปก็จะไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน เราต้องทำให้เขาเชื่อว่ามันเปลี่ยนได้ ก็เท่ากับว่าเราต้องออกไปสู้ตอนนี้เลย เพื่อให้มันเปลี่ยน

“ถ้ามันจบที่รุ่นเรา เท่ากับว่าลูกเราจะต้องได้ชีวิตที่ดีกว่าเราแล้ว ต้องเจอสาธารณูปโภคที่ดีกว่าเราแล้ว เจอโลกที่ดีกว่าเราแล้ว” Hockhacker สรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook