คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (Electoral Collage) คือใคร มีความสำคัญอย่างไร

คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (Electoral Collage) คือใคร มีความสำคัญอย่างไร

คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (Electoral Collage) คือใคร มีความสำคัญอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อชาวอเมริกันลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดี หมายความว่าพวกเขาลงคะแนนให้กับใครสักคนอย่าง Hagner Mister หรือ Rex Teter

คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่อของ Mister หรือ Teter และในความเป็นจริงแล้ว ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนให้กับทั้งคู่เมื่อปี 2559 ต่างก็ไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครเช่นกัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน Mister และ Teter ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้เลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนสำคัญในระบบเลือกประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้เรียกว่า "คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี" หรือ "Electoral College"

พรรคการเมืองระดับรัฐจะคัดเลือก “ผู้เลือกตั้ง” ซึ่งจะไปรวมตัวกันเลือกประธานาธิบดีหลังวันเลือกตั้งทั่วไป โดยในบัตรเลือกตั้งนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเห็นชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่คะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับ จะนำไปใช้เลือกคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งผู้เลือกตั้งเหล่านี้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนนั้นๆ เช่น Mister ผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรของรัฐแมริแลนด์ ให้คำมั่นว่าจะเลือกฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 ส่วน Teter นักเทศน์จากรัฐเท็กซัส ให้คำมั่นว่าจะเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งปีเดียวกัน

ทั้งนี้ จำนวนผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐ จะเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของรัฐนั้นๆ ในสภาคองเกรส บวกสอง (+2) เนื่องจากแต่ละรัฐมีวุฒิสมาชิก (ส.ว.) จำนวน 2 คน โดยผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะทำหน้าที่เลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป

เนื่องจากผู้ก่อตั้งประเทศได้สร้างตำแหน่งประธานาธิบดีขึ้น ให้มีอำนาจบริหารเพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ สำเร็จลุล่วง และเป็นตัวแทนของประชาชนที่จะไม่กลายเป็นผู้นำเผด็จการ ดังนั้น คะแนนเสียงของประชาชนทั่วประเทศจากการเลือกตั้งโดยตรงไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังในสมัยนั้น เพราะประชาชนอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยปราศจากเครื่องมือสื่อสารเหมือนทุกวันนี้ หรือระบบพรรคการเมืองที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยประชาชนในการเลือกผู้สมัคร การเลือกตั้งหลายครั้งจึงลงเอยด้วยการที่ผู้สมัครหลายคนมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน จนทำให้สมาชิกสภาคองเกรสต้องเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เลือกตั้งที่อิงตามจำนวนผู้แทนในสภาคองเกรส สะท้อนให้เห็นถึงการประนีประนอมระหว่างรัฐต่างๆ ในประเด็นจำนวนของผู้แทนในสภา โดยสัดส่วนแล้ว รัฐที่มีประชากรมากกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า และรัฐที่มีประชากรน้อยกว่าจะมีจำนวนวุฒิสมาชิก 2 คน เท่ากับรัฐที่มีประชากรมากกว่า

ดิสทริกออฟโคลัมเบีย และ 48 รัฐ กำหนดให้ผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐตน ต้องสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ชนะในรัฐนั้นๆ เพียงคนเดียว ไม่ว่าผู้สมัครรายนั้นจะชนะแบบฉิวเฉียดหรือชนะด้วยคะแนนหลายพันคะแนน มีเพียงรัฐเนบราสก้าและรัฐเมนเท่านั้นที่ผู้เลือกตั้งสามารถสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้มากกว่า 1 คน

ผลการเลือกตั้ง

คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมกันในรัฐของตนในเดือนธันวาคม เพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะถูกส่งไปยังประธานวุฒิสภา ซึ่งก็คือ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั่นเอง ต่อมาในช่วงต้นเดือนมกราคมจะมีการประชุมสภาคองเกรสเพื่อนับคะแนน หลังจากนั้นประธานวุฒิสภาจะประกาศชื่อผู้ชนะ และในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกจะเข้าพิธีสาบานตนและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ

TH_electoral timeline

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook