ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมเกิน 20 ล้าน WHO เตือนไทยเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมเกิน 20 ล้าน WHO เตือนไทยเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมเกิน 20 ล้าน WHO เตือนไทยเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไชต์ Worldometers รายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. ตามเวลาประเทศไทย พบมีผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกกว่า 215 ประเทศรวมแล้วกว่า 20,247,575 ราย เสียชีวิต 738,701 ราย รักษาหาย 13,111,934 ราย

ประเทศที่พบรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

1. สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อ 5,251,446 ราย เสียชีวิต 166,192 ราย รักษาหาย 2,715,934 ราย
2. บราซิล มีผู้ติดเชื้อ 3,057,470 ราย เสียชีวิต 101,857 ราย รักษาหาย 2,163,812 ราย
3. อินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 2,267,153 ราย เสียชีวิต 45,353 ราย รักษหาย 1,581,640 ราย
4.รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อ 892,654 ราย เสียชีวิต 15,001 ราย รักษาหาย 696,681 ราย
5. แอฟริกาใต้ มีผู้ติดเชื้อ 563,598 ราย เสียชีวิต 10,621 ราย รักษาหาย 417,200 ราย
6. เม็กซิโก มีผู้ติดเชื้อ 485,836 ราย เสียชีวิต 53,003 ราย รักษาหาย 327,993 ราย
7. เปรู มีผู้ติดเชื้อ 478,024 ราย เสียชีวิต 21,072ราย รักษาหาย 324,020 ราย
8.โคลัมเบีย มีผู้ติดเชื้อ 397,623 ราย เสียชีวิต 13,154 ราย รักษาหาย 221,485 ราย
9.ชิลี มีผู้ติดเชื้อ 375,044 ราย เสัยชีวิต 10,139 ราย รักษาหาย 347,342 ราย
10. สเปน มีผู้ติดเชื้อ 370,060 เสียชีวิต 28,576 ราย

สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 112 มีผู้ติดเชื้อ 3,351 ราย เสียชีวิตคงที่ 58 ราย รักษาหาย 3,160 ราย

ประเทศไทยได้รับคำชมอย่าล้นหลามต่อนานาประเทศ ถึงการจัดการกับโควิด-19 ที่เราเองสามารถควบคุมและหยุดการแพร่ระบาดภายในประเทศเอาไว้ได้ หลักฐานชิ้นสำคัญคือไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศติดต่อกันมานานถึง 77 วันแล้ว

โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อสำหรับในประเทศไทยแต่ละวัน จะมีเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลักหน่วยที่เป็นกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้โลกได้เห็นว่าไทยเอง "เอาอยู่" กับสถานการณ์โควิด ส่วนหนึ่งก็เพราะภาครัฐที่ใช้มาตรการคุมเข้ม แต่ส่วนใหญ่ของผลสำเร็จคือความร่วมมือของคนไทย

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ถอดบทเรียนเรื่องนี้ จากการที่ทีมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ถกกันถึงมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโควิด-19 ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าโลกมองไทยประสบความสำเร็จในการทำงานด้านนี้ ทั้งการตรวจจับการตรวจจับเหตุการณ์ที่รวดเร็ว การทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เกรดที่เราได้รับคือ "ดีแล้ว" แต่ทั้งนี้ จะต้อง "ดีกว่าเดิม"

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า 20-24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยทีมจาก WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ใน 9 เสาหลักสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยมีผู้แทนของไทยเข้าร่วมกว่า 100 คนจากทุกภาคส่วน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนนี้ ผลการถอดบทเรียนของประเทศไทยพบว่า ไทยสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดีและได้รับคำชื่นชมจากทีมผู้วิเคราะห์ อาทิ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากการร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทางจากต่างประเทศในสถานที่กักกันของประเทศไทย การเเลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลผู้เดินทาง ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถตรวจจับสถานการณ์ผิดปกติได้เร็ว ทำให้สามารถตรวจจับผู้ป่วยตามนิยามฯ และผู้ป่วยยืนยันรายแรกของประเทศไทยได้ มีการพัฒนานิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน การคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านท่าอากาศยานในระยะเเรกเเละขยายสู่ท่าเรือ เเละด่านช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ

และยังรวมไปถึงการเฝ้าระวังในชุมชนเเละโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เเละทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 ทีมที่มีความพร้อมในการลงพื้นที่ในการสอบสวนโรค ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ การสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะในหลายช่องทางที่ชัดเจน สม่ำเสมอเเละเป็นทิศทางเดียวกัน พร้อมกับการสำรวจพฤติกรรมเเละทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรการเเละปรับการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น การดูเเลจัดการ เเละพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาล เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน โดยได้พัฒนาแนวทางเเละการจัดเตรียมสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที

นายเเพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับคำชื่นชมในหลายประเด็นของแต่ละเสาหลัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่ไทยต้องพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายที่มีอยู่เเล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนเเละพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น การพัฒนาเเละรวมระบบบริหารจัดการส่วนกลางด้านข้อมูล อาทิ ผลทางห้องปฏิบัติการ รายงานการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ข้อมูลทรัพยากรทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการได้อย่างสูงสุดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ด้วย รวมถึงการขยายและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทีมสอบสวนโรคให้มากขึ้น เพื่อรองรับการระบาดระลอกสองที่อาจมีขึ้น และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทีมจาก WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ยังให้ข้อเสนอแนะอีกว่าประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก และกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและทั่วถึง ปัจจุบันการทำงานของไทยมีความเกี่ยวพันกับหลายส่วน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพภายใต้ภาวะการระบาดของโรคโควิด19 และโรคอื่นๆ ให้กับประชาชนที่อยู่ในประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรนอกภาครัฐ และประชาชนทุกคนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันควบคุมโรค ความสำเร็จที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้นั้น เกิดได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook