ภูมิรัฐศาสตร์ 2: ย้อนจุดเริ่มต้นวิชาทหารสมัยใหม่ ที่การรวมชาติสำเร็จเมื่อพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ

ภูมิรัฐศาสตร์ 2: ย้อนจุดเริ่มต้นวิชาทหารสมัยใหม่ ที่การรวมชาติสำเร็จเมื่อพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ

ภูมิรัฐศาสตร์ 2: ย้อนจุดเริ่มต้นวิชาทหารสมัยใหม่ ที่การรวมชาติสำเร็จเมื่อพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภูมิรัฐศาสตร์เป็นวิชาบูรณาการของ 3 วิชา คือรัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการทหาร ดังนั้นจะขอกล่าวถึงการทหารเป็นอันดับแรก

การทหารเป็นองค์การที่มีชุมชนทหารเป็นของตนเองและได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมายให้ติดอาวุธสังหารเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศและปฏิบัติการตามที่รัฐบาลสั่งการเช่นข้าราชการทั่วไป แต่หากทหารใช้อาวุธสังหารเหล่านี้เข้ายึดอำนาจการปกครองซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงที่สุดมีโทษตามกฎหมายถึงขั้นประหารชีวิตเลยทีเดียว

วิชาการทหารนี้ใช้หลักวิชาการของพลตรีคาร์ล ฟอน เคลาเซวิตซ์ (Carl Von Clausewitz) ซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยกับนโปเลียน นายพลเคลาเซวิตซ์เป็นชาวปรัสเซียซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของเยอรมนี เคยรบและปราชัยต่อนโปเลียนโดยถูกจับเป็นเชลยศึกในปี 2350-2351 แต่เมื่อสงครามนโปเลียนสิ้นสุดลงโดยนโปเลียนถูกเนรเทศไปที่เกาะเซนต์เฮเลนาแล้ว นายพลเคลาเซวิตซ์ก็ย้ายไปสังกัดไปทำงานในกองทัพรัสเซีย

ต่อมาเคลาเซวิตซ์เขียนหนังสือชื่อ On War (Vom Kriege ในภาษาเยอรมนี) ถึงแม้ว่าจะเขียนเกือบจะจบแล้ว ก็สิ้นชีวิตลงเสียก่อนแต่ก็มีเนื้อหาสาระพรั่งพร้อม จนกลายเป็นทฤษฎีทางการทหารที่สำคัญมากสำหรับโลกตะวันตกนับจากนั้นเป็นต้นมา

หลักการที่สำคัญเป็นหัวใจของการทหารของเคลาเซวิตซ์ คือ
"War is mere continuation of policy by other means …a real political instrument ….a continuation of political commerce.  - สงครามเป็นเพียงความต่อเนื่องของนโยบายแบบหนึ่ง .... เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างแท้จริง.... เป็นส่วนต่อของพาณิชย์การเมือง"

Hulton Archive/Getty Imagesนายพลคาร์ล ฟอน เคลาเซวิตซ์ ผู้เขียนหนังสือ On War ที่มองว่าการทหารเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของนโยบายการเมือง

สาเหตุที่ทฤษฎีทางการทหารของเคลาเซวิตซ์เป็นที่ยอมรับนับถือกันอย่างกว้างขวางมาร่วม 200 ปีแล้ว เป็นเพราะได้รับการยืนยันจากนโยบายการรวมชาติเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีออทโท ฟอน บิสมาร์คแห่งแคว้นปรัสเซียผู้ยึดมั่นในนโยบายเลือดและเหล็ก โดยเลือดหมายถึงการมุ่งทำสงครามเป็นเครื่องมือในการรวมชาติเยอรมนี และเหล็กหมายถึงการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและเครื่องจักรเครื่องกลนานาชนิด

เมื่อปี 2405 จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียได้แต่งตั้งบิสมาร์คเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งปรัสเซีย ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งนี้จนถึงพ.ศ.2433 เขานำพาปรัสเซียเข้าสู่สงครามสามครั้ง อันได้แก่ สงครามชิงแคว้นชเลสวิชกับประเทศเดนมาร์กโดยชวนออสเตรียซึ่งเป็นรัฐเยอรมนีที่ใหญ่ที่สุดเข้าสงครามด้วย  เมื่อได้รับชัยชนะแล้วก็หาเรื่องประกาศสงครามกับออสเตรียจนเกิดสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย

เมื่อได้รับชัยชนะโดยปรัสเซียได้แคว้นชเลสวิชทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียวแล้ว บิสมาร์คได้ยุบสมาพันธรัฐเยอรมนีที่ออสเตรียเป็นผู้นำทิ้งไป และจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมนีเหนืออันมีปรัสเซียเป็นแกนนำขึ้นมาแทน ศูนย์อำนาจทางการเมืองของบรรดารัฐเยอรมนีทั้งหลายจึงถูกย้ายจากกรุงเวียนนาของออสเตรียไปยังกรุงเบอร์ลินของปรัสเซีย เป็นการกีดกันออสเตรียออกจากการรวมประเทศเยอรมนีนั่นเอง

ต่อมาบิสมาร์คก็หาเรื่องทำสงครามกับฝรั่งเศสจนเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย และเมื่อปรัสเซียมีชัยชนะเหนือฝรั่งเศสแล้วโดยยึดแคว้นอาลซัส-ลอแรนของฝรั่งเศสมาเป็นของปรัสเซีย แล้วบิสมาร์คก็ได้สถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมนีเหนือขึ้นเป็นจักรวรรดิเยอรมนี โดยทูลเชิญจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 ขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมนีพระองค์แรกในปี 2414

การรวมชาติเยอรมนีจากรัฐเยอรมนีอิสระทั้งสิ้น 38 รัฐให้เป็นประเทศเดียวกันเรื่องที่ยากเข็ญอย่างยิ่ง แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลภายใต้การของนายกรัฐมนตรีออทโท ฟอน บิสมาร์คที่ใช้การทหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ดีที่สุดโดยใช้การเมืองผ่านทางการทูตและการทหารจนรวมชาติได้สำเร็จเป็นการยืนยันปรัชญาที่ว่า "พลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ" อย่างแท้จริง

ดังนั้นหลักการสำคัญยิ่งของวิชาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะศึกษาต่อไปก็คือต้องตระหนักว่าการทหารและกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้นและพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือกองทัพ

สำหรับตอนต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องยุทธศาสตร์ (Strategy) และยุทธวิธี (Tactics) ที่ชอบพูดกันนักในวิชาบริหารธุรกิจและบริหารรัฐกิจว่ามีที่มาจากการทหารโดยแท้นั่นเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook