พนักงานในสหรัฐฯ ประกาศหยุดงาน “8 นาที 46 วินาที” ประท้วงปัญหาความไม่เท่าเทียม

พนักงานในสหรัฐฯ ประกาศหยุดงาน “8 นาที 46 วินาที” ประท้วงปัญหาความไม่เท่าเทียม

พนักงานในสหรัฐฯ ประกาศหยุดงาน “8 นาที 46 วินาที” ประท้วงปัญหาความไม่เท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด, พนักงานดูแลผู้สูงอายุ, พนักงานสนามบิน และพนักงานระดับปฏิบัติการในภาคส่วนอื่น ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา วางแผนจะหยุดงานในวันจันทร์ ที่ 27 กรกฎาคม 2020 เพื่อประท้วงปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและนโยบายการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ไม่ครอบคลุมไปถึงประชากรผิวดำ โดยคาดการณ์ว่าจะมีพนักงานหลายหมื่นคน จาก 25 เมืองทั่วสหรัฐฯ เข้าร่วมโปรเจกต์ “หยุดงานเพื่อชีวิตคนดำ” (Strike for Black Lives) ซึ่งจัดโดยกลุ่มสหภาพแรงงานและกลุ่มเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม

พนักงานบางส่วนจะหยุดงานประท้วงทั้งวัน และบางส่วนก็จะหยุดทำงานเป็นเวลา “8 นาที 46 วินาที” ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว คุกเข่าทับบนลำคอของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำไร้อาวุธ จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการประท้วงไปทั่วโลก เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ และคนผิวดำคนอื่น ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงปัญหาการแหยียดสีผิวที่อยู่ในสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนาน

ข้อเรียกร้องของพนักงานในครั้งนี้ คือ บริษัทต้องเพิ่มค่าจ้าง ให้ประกันสุขภาพและวันลาป่วยที่ยังได้รับเงินค่าจ้าง รวมทั้งขยายสิทธิในการดูแลบุตรให้กับพนักงาน ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้มักถูกปฏิเสธ เมื่อพวกเขาเป็นคนผิวดำ

“หลายครั้งมาก ๆ ที่พนักงานผิวดำโดนเอาเปรียบและลดคุณค่าในที่ทำงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พวกเราต้องใช้กำลังแรงงานอย่างมาก ดังนั้น บริษัทที่เอาเปรียบคนผิวดำต้องรับผิดชอบ” Ash-Lee Woodard Henderson โฆษกกลุ่ม Movement for Black Lives กล่าว

การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ จุดประกายการขับเคลื่อนเพื่อยุติการเหยียดเชื้อชาติในหลายประเทศทั่วโลก มีการทำลายรูปปั้นพ่อค้าทาสในอดีต พร้อม ๆ กับการเรียกร้องให้เกิดการฏิรูประบบตำรวจ ขณะที่แบรนด์สินค้าชื่อดังมากมาย ก็ออกมาแสดงจุดยืนและสนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter เช่น PepsiCo ที่ประกาศทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อตอกย้ำปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางสีผิว พร้อมเพิ่มจำนวนผู้จัดการผิวดำให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้การเคลื่อนไหวดังกล่าว เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองของหลายบริษัท โดยไม่มีการจัดการกับปัญหาการเลือกปฏิบัติ หรือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อพนักงานของบริษัทเหล่านั้นอย่างจริงจัง

นับตั้งแต่ปี 2015 อัตราการตกงานระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาว มีช่องว่างที่ห่างกันมากที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยอัตราคนผิวขาวที่ตกงานอยู่ที่ 10.1 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่อัตราคนผิวดำที่ตกงาน พุ่งสูงขึ้นที่ 15.4 เปอร์เซ็นต์

“ในฐานะพนักงานดูแลผู้ป่วยระดับปฏิบัติการ ฉันได้เห็นกับตาว่า รัฐบาลหันหลังให้กับพวกเรา และเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของพวกเรา ดังนั้น เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ มันถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันหยุดงานเพื่อชีวิตคนดำ และหยุดยั้งความอยุติธรรมที่คนผิวดำและคนผิวสีน้ำตาลต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะมีโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม” Denitra Pearson พนักงานดูแลผู้สูงอายุในเมืองคอนเนตทิคัต กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook