"ดร.เอ้" อธิการบดีลาดกระบัง เชื่อแผนฟื้นฟู ขสมก. อัปเกรดชีวิตคนกรุงดีขึ้นได้

"ดร.เอ้" อธิการบดีลาดกระบัง เชื่อแผนฟื้นฟู ขสมก. อัปเกรดชีวิตคนกรุงดีขึ้นได้

"ดร.เอ้" อธิการบดีลาดกระบัง เชื่อแผนฟื้นฟู ขสมก. อัปเกรดชีวิตคนกรุงดีขึ้นได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ต้องพัฒนาและยกระดับการให้บริการรถเมล์ เพื่อให้ทุกคนและทุกชนชั้นได้นั่งใช้บริการ ทุกคนต้องเข้าถึงได้ อย่าคิดว่ารถเมล์เป็นของคนจนโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ว่า จากแนวทางที่กระทรวงคมนาคม และ ขสมก.ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณานั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของ ขสมก. พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จากการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวันที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเช่ารถเมล์ไฟฟ้าปรับอากาศ ที่นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว ยังช่วยลดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากรถที่ ขสมก.นำมาให้บริการในปัจจุบันมีสภาพเก่า ส่งผลให้ในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงมหาศาล นำไปสู่การเป็นหนี้สะสมมูลค่ากว่า 1.27 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันหาก ขสมก.สามารถดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟูนั้น ในส่วนของเส้นทางการเดินรถจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ทับซ้อน ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอรถเมล์นาน พร้อมทั้งบริหารจัดการในการให้บริการผู้โดยสารอย่างเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมารถเมล์ ขสมก. มีการเดินรถในเส้นทางระยะยาวมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร กล่าวคือ ในช่วงต้นทางและปลายทางจะมีผู้โดยสารไม่มากนัก แต่ในระยะทางกลับมีผู้โดยสารหนาแน่น

“เราต้องไม่ทิ้งรถเมล์ และรถเมล์ไม่ควรถูกทอดทิ้ง เพราะถือเป็นการเดินทางหลักใน กทม. มีสัดส่วน 33% รองลงมา คือ รถยนต์อยู่ที่ 30% และระบบรางหรือรถไฟฟ้าอยู่ที่ 5-6% เท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ จะต้องพัฒนาและยกระดับการให้บริการรถเมล์ เพื่อให้ทุกคนและทุกชนชั้นได้นั่งใช้บริการ ทุกคนต้องเข้าถึงได้ อย่าคิดว่ารถเมล์เป็นของคนจน แต่ต้องคิดว่าทุกคนนั่งได้ อาจจะนั่งรถเมล์มาต่อรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งอื่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้ ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ ขสมก. ไม่ควรมองข้าม คือ บุคลากรหรือพนักงานของ ขสมก. ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือกระเป๋ารถเมล์ รวมถึงพนักงานส่วนอื่นๆ ที่จะต้องดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ควรมองที่ประชาชนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้การฟื้นฟู ขสมก.ในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook