สยองเลย เด็กบราซิลเดินไม่สวมรองเท้า เจอหมัดไชเข้าผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบ

สยองเลย เด็กบราซิลเดินไม่สวมรองเท้า เจอหมัดไชเข้าผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบ

สยองเลย เด็กบราซิลเดินไม่สวมรองเท้า เจอหมัดไชเข้าผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กบราซิลเดินไม่สวมรองเท้า ได้ตุ่มเต็มเท้าเกิดจากหมัดไชเข้าไปในผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ และมีอาการคันมาก

วานนี้ (30 มิ.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้โพสต์ภาพเท้าของเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ ที่มีตุ่มแผลอยู่เต็มเท้า โดยเกิดจากหมัดไชเข้าไปในผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ และมีอาการคันมาก พร้อมกับระบุว่า ภาพๆ นี้เกิดขึ้นที่ประเทศบราซิล ไม่ใช่ในประเทศไทย

เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ มีตุ่มนูนจำนวนมากที่ฝ่าเท้า และมีอาการเจ็บ บริเวณตรงกลางตุ่มมีจุดสีดำ ผู้ป่วยมีประวัติเดินเล่นเท้าเปล่าบริเวณคอกหมูแห่งหนึ่งในชนบทของประเทศบราซิลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนัง Tungiasis เกิดจากติดเชื้อปรสิต คือ หมัดทรายหรือหมัดคน (Tunga penetrans) แพทย์ได้รักษาด้วยการคีบเอาหมัดออก รักษาแผล และให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก จากนั้นอาการก็ดีขึ้น (Marianna M. Barbosa & Adauto D. Barbosa 2019)

หมัด T. penetrans มีขนาดเล็กมากประมาณ 1 มิลลิเมตร มีชื่อเรียกได้หลายแบบ อาทิ Sand flea, chigoe, jigger, nigua ก่อให้เกิดโรค Tungiasis จากการที่หมัดตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วไชเข้าไปในผิวหนัง วางไข่แล้วก็ตาย (100-200 ฟอง)

ผิวหนังบริเวณที่มีหมัดไชจะอักเสบ บวมแดง ตรงกลางจะมีดำ รอบข้างสีขาว มีการหลุดลอกของผิวหนัง เกิดอาการอักเสบของผิวหนัง ทำให้มีอาการคันมาก ปวดมาก บวมแดง เกิดหนอง หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด ผิวหนังตาย เนื้อตาย และอาจต้องตัดนิ้วหรืออวัยวะนั้น ๆ ได้

โรคนี้มักพบในพื้นที่ห่างไกลในเขตร้อนของแอฟริกา หมู่เกาะคาริบเบียน อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และอินเดีย ท่านใดเดินทางไปเที่ยวพื้นที่ดังกล่าว ควรมีการป้องกันตนเองให้ดีด้วยการแต่งกาย สวมใส่รองเท้ามิดชิด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook