กรมอุทยานฯ ย้ำรื้อถอน "อาคารบอมเบย์ เบอร์มา" เพื่อปรับปรุง จะทำให้เหมือนเดิมที่สุด

กรมอุทยานฯ ย้ำรื้อถอน "อาคารบอมเบย์ เบอร์มา" เพื่อปรับปรุง จะทำให้เหมือนเดิมที่สุด

กรมอุทยานฯ ย้ำรื้อถอน "อาคารบอมเบย์ เบอร์มา" เพื่อปรับปรุง จะทำให้เหมือนเดิมที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ย้ำรื้อถอน "อาคารบอมเบย์เบอร์มา" อายุ 127 ปี ที่ จ.แพร่ เพื่อปรับปรุงบูรณะใหม่ทั้งหมดให้คงรูปแบบเดิม เพราะอาคารเสื่อมโทรมเสื่อมสภาพทั้งหลัง

นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กล่าวถึงกรณีการรื้อถอน "อาคารบอมเบย์เบอร์มา" อายุ 127 ปี จ.แพร่ ว่า อาคารหลังดังกล่าวเป็นอาคารเก่าที่บริษัทค้าไม้ข้ามชาติ บริษัท อีสเอเชียแปซิฟิก ได้สัมปทานค้าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2438

เมื่อยกเลิกสัมปทานป่าไม้ไปแล้วอาคารดังกล่าวจึงอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่ด้วยความเก่าของตัวอาคารอายุกว่า 127 ปี ทำให้มีการเสื่อมสภาพและยังเปิดพื้นที่ให้เที่ยวชมด้วย ทำให้มีนักท่อเงที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมตัวอาคารจำนวนมากในแต่ละปี

จากการสำรวจเมื่อปี 2559 พบสภาพอาคารเริ่มผุกร่อนมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเห็นว่าควรซ่อมแซมปรับปรุงใหม่เพื่อให้ตัวอาคารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จึงของบประมาณจังหวัดแพร่ปี 2561 และได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับการปรุงซ่อมแซมในปีนี้ (2563)

ทั้งนี้อาคารหลังนี้อยู่นอกเขตเมืองจึงไม่ถูกระบุต้องทำตามขั้นตอนการประชาพิจารณ์ความเห็นของพื้นที่ ทำให้ผู้รับเหมาโครงการดำเนินการรื้อถอนตามสัญญาว่าจ้าง

สำหรับการรื้ออาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความผูกพันธ์กับชุมชน ส่งผลกระทบสร้างความเสียใจต่อประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่เคยมาเที่ยวชมอย่างมาก ในฐานะผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต้องขอโทษขออภัยกับประชาชนทุกคนที่ดำเนินการด้วยความไม่รอบคอบ ไม่มีการชี้แจงหรือแจ้งให้ประชาชนทราบขั้นตอนต่างๆ ก่อน แม้จะเป็นพื้นที่นอกเขตเมืองเพราะความเป็นอาคารเก่ามีประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี จึงควรสอบถามความเห็นและทำประชาพิจารณ์ให้ชัดเจนก่อน โดยยืนยันว่าการรื้ออาคารบอมเบย์ เบอร์มา ไม่ใช่การทุบทิ้งหรือทุบทำลายแต่อย่างใด แต่เป็นขั้นตอนการรื้อเพื่อบูรณะปรับปรุงอาคารขึ้นใหม่อีกครั้ง ด้วยอาคารเสื่อมสภาพอย่างมากจำเป็นต้องรื้อออกทั้งหมด

นายอิศเรศ กล่าวย้ำว่า ในส่วนของชิ้นส่วนที่มีสภาพสมบูรณ์ได้เก็บไว้เป็นชิ้นส่วนหลักใช้ปรับปรุงอาคารใหม่ที่คงรูปแบบเดิม และเป็นไปตามเจตนาเดิมแต่แรกที่จะปรับปรุงอาคารให้คงเดิมมากที่สุด ส่วนชิ้นที่ผุพังจะทำใหม่ขึ้นมาทดแทนให้คล้ายของเดิมมากที่สุด ขณะนี้กำลังทำบัญชีจัดกลุ่มไม้แต่ละส่วน เช่น ไม้เสา ไม้คานประตู หน้าต่าง ชิ้นดี ชิ้นเสีย โดยจะนำกลับมาประกอบตามโครงสร้างเดิมบนพื้นที่เดิมแน่นอน ซึ่งตามกำหนดแล้วจะสร้างปรับปรุงอาคารเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 2 มิ.ย. 2563

ขณะนี้ได้ดำเนินการเรื่องไม้ที่รื้อออกมาโดยจัดเก็บแยกชิ้นส่วนต่างๆ ไว้ และติดกล้อง CCTV โดยรอบพื้นที่ และมีการตั้งเวร ยาม เข้าดูแลไม้ทั้งหมดไว้ เพื่อนำกลับมาสร้างฟื้นฟูสภาพอาคารตามที่กรมศิลปากรจะได้มาดูแลในเรื่องนี้

อาคารบอมเบย์ เบอร์มา ก่อนรื้อถอน

นางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการ จ.แพร่ พร้อมด้วย  นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช นายโชคดี อมรวัฒน์ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกันชี้แจงกรณีการรื้อ "อาคารบอมเบย์เบอร์มา" อาคารประวัติศาสตร์ เรือนไม้ 2 ชั้น อายุ 127 ปี และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันชี้แจงและตอบข้อซักถามของประชาชนชาวจังหวัดแพร่ 

ด้านภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ นำโดย นายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่าย นายพัฒนา แสงเรือง ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชนในจังหวัดแพร่ ได้ถามถึงกรณีการทุบทิ้งอาคาร

โดยผู้ว่าราชการ จ.แพร่ กล่าวว่า ได้หารือกับกรมศิลปากร ในการฟื้นฟูสภาพอาคารให้กลับมา เพื่อให้ประชาชนสบายใจ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการติดตามการดำเนินการฟื้นฟูสภาพอาคาร ทางกรมศิลปากรจะเข้ามาช่วยเหลือดำเนินการ

 

ด้านนายไกรสิน ชี้แจงว่า อาคารดังกล่าวอยู่ในระหว่างขอความเห็นชอบ ยังไม่มีการส่งแบบใดๆ มา อย่างไรก็ตามความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น ถ้ายังอยู่ภายใต้หลักการ 5 ข้อนี้ สามารถได้อาคารที่ใกล้เคียงกลับมาได้คือ ที่ตั้งคงเดิม วัสดุ ซึ่งเน้นเป็นวัสดุเดิมไม้เดิมให้ได้มากที่สุด ความจริงแท้ในเชิงช่างเทคนิค การก่อสร้าง อาจจะเป็นการดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น ทำงานร่วมกัน เพราะบางอย่าง กรมศิลป์ก็ขาดความรู้ เช่นการเข้าไม้ด้วยการเข้าสลัก ต้องรักษาช่างฝีมือไว้ เชิงรูปแบบ ต้องนำมาประกอบใกล้เคียงแบบเดิมที่สุด เรายังใช้พื้นที่แบบเดิม ได้หรือไม่ ตามจิตวิญญาณเดิมคือ วัตถุประสงค์เดิมในการใช้อาคารตามฟังก์ชั่นเดิม ถ้ารักษา 5 ข้อนี้ได้ ก็สามารถฟื้นคืนอาคารมาได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียง

นายสมหวัง กล่าวว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น กรมอุทยานฯ เป็นเจ้าของเรื่องและเจ้าของพื้นที่ คงไม่อาจหลีกเลี่ยงในกระบวนการที่เกิดขึ้นและจะเป็นเจ้าภาพในเรื่องของงบประมาณ เพื่อเยียวยาในทุกเรื่องและสนับสนุนกรมศิลปากรในการดำเนินการฟื้นฟูอาคารแห่งนี้ หากกรมศิลป์ขาดเหลือวัสดุอะไรก็จะหามาสนับสนุน เพื่อความสบายใจ ของชาวจังหวัดแพร่

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook