“Papa Tony Daddy May” ใครว่า “พ่อ 2 คน” สร้างครอบครัวไม่ได้

“Papa Tony Daddy May” ใครว่า “พ่อ 2 คน” สร้างครอบครัวไม่ได้

“Papa Tony Daddy May” ใครว่า “พ่อ 2 คน” สร้างครอบครัวไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยมักมองว่าความรักของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มักเป็นเรื่องที่ฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีครอบครัวที่มั่นคง แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แค่ความรักระหว่างคนสองคนเท่านั้น แต่เรายังเห็น “ครอบครัว” ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศปรากฏในพื้นที่สื่อมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของ LGBTQ+ ในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังส่งผลให้มุมมองต่อความหมายของครอบครัวเปลี่ยนไปจากในอดีตด้วย

เมื่อบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ถูกกำหนดตามเพศอีกต่อไป ครอบครัวที่มีเพียงแม่ 2 คน หรือพ่อ 2 คน จะมีความแตกต่างจากรูปแบบครอบครัวในอดีตหรือไม่ Sanook ขอต้อนรับ Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยความหมายของครอบครัว ในมุมมองของ “คุณต้น – คุณเม” สองคุณพ่อ เจ้าของเพจ “Papa Tony Daddy May”

คุณวรากร เพ็ญศรีนุกูร (ต้น), คุณเมธา สุธาพันธ์ (เม) และน้องสตรองคุณวรากร เพ็ญศรีนุกูร (ต้น), คุณเมธา สุธาพันธ์ (เม) และน้องสตรอง 

คุณวรากร เพ็ญศรีนุกูร หรือคุณต้น เล่าว่า คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า “น้องสตรอง” ลูกชายวัย 8 เดือน เป็นเด็กกำพร้า แต่จริงๆ แล้ว น้องสตรองเป็นลูกชายของคนสนิทของครอบครัวคุณต้น ที่คุณต้นรับดูแลมาตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง ด้วยความที่เป็นคนรักเด็ก และอยากมีลูกมานาน

“ตั้งแต่เราคบกันสักพัก ต้นก็พูดมาตลอดว่าอยากมีลูกภายในอายุ 35 ปี จนกระทั่งเขาอายุ 35 ก็มีเหตุการณ์ที่คนรู้จักเขาท้อง แล้วทางครอบครัวเขายังไม่พร้อมที่จะมีสมาชิกอีกคน ต้นก็เลยมองว่าเป็นจังหวะเหมาะ ด้วยอายุ ด้วยความตั้งใจที่เขาอยากมีลูก เขาก็เลยตัดสินใจรับเลี้ยง เขาไม่ได้เพิ่งมาคิดว่าจะอยากมีลูก แต่เขาวางแผนไว้นานแล้ว” คุณเมธา สุธาพันธ์ หรือคุณเม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจรับเลี้ยงน้องสตรอง

“ตอนนั้นทุกคนยังไม่รู้ว่าสถานการณ์มันจะออกมาอย่างไร แต่ผมตกลงกับแม่และยายของน้องไว้ว่า ผมเลี้ยงเอง โดยที่ไม่รู้เลยว่าลูกจะครบ 32 ไหม จะเป็นผู้หญิงผู้ชาย ผมเลี้ยงหมด เพราะผมอยากเลี้ยง” คุณต้นเสริม

 

คุณต้นเล่าว่า ทั้งคู่เป็นผู้ที่เลี้ยงน้องสตรองเป็นหลัก และยังมีครอบครัวใหญ่ ที่ประกอบด้วยคุณแม่และคุณตาคุณยายของน้องสตรองคอยช่วยดูแลด้วย

“พอน้องคลอดแล้ว เราก็ต้องคุยกันตลอดเวลา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคุยกันว่าเราจะเอาอย่างไร จะอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะว่าก็ต้องไปอยู่กับคุณตาคุณยายบ้าง โรงเรียนจะเรียนอย่างไร มันทำให้เราเรียนรู้ว่า การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมันไม่ได้คุยกันวันสองวันแล้วจบ มันต้องคุยกันตลอดเวลาไปเรื่อยๆ” คุณต้นกล่าวถึงความท้าทายในการเลี้ยงเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีเรื่องที่ต้องรับมือมากมาย แต่ทั้งคู่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกชายตัวน้อยไม่ใช่เด็กที่เลี้ยงยากแต่อย่างใด

“แม้ว่าผมจะไม่เคยเลี้ยงเด็กคนไหนมาก่อน เคยได้ยินแต่คนเล่าให้ฟังว่ามีลูกแล้วเหนื่อย ไม่ได้นอน แต่เท่าที่ผมสัมผัส ผมไม่ได้รู้สึกว่าเขาเลี้ยงยาก เป็นเด็กเลี้ยงง่ายด้วยซ้ำ ความต้องการเขาชัดเจน เขามีความสุขก็แสดงออกว่ามีความสุข อาจจะมีร้องบ้างก็แค่หิวกับง่วง เลี้ยงง่ายมากเลย” คุณเมกล่าว

นอกจากจะเรียนรู้ว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง คุณเมบอกว่า แม้ว่าเวลาว่างจะหายไปกับการเลี้ยงลูก แต่ลูกชายคนนี้ก็สอนให้เขารู้จักการเสียสละและอุทิศตนเพื่อสร้างให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่คุณต้นรู้สึกว่าลูกทำให้เขาอยากจะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

“ลูกสอนผมเยอะมาก ปกติผมเป็นคนใจร้อน ขี้หงุดหงิด โดยเฉพาะเวลาขับรถ พอมีลูก พอเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราหงุดหงิด เราก็จะคิดถึงลูก ถ้าลูกนั่งอยู่กับเราในรถ เขาก็จะเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี ลูกเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าอันนี้จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แล้วก็จะส่งผลเสียต่อเขา” คุณต้นกล่าว

แม้ว่าปัจจุบันนี้ ครอบครัว LGBTQ+ จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทยเท่ากับสมัยก่อน แต่หลายครั้งครอบครัว LGBTQ+ ก็มักจะต้องเผชิญกับคำถามหรือการล้อเลียนและการรังแก จากคนบางกลุ่มที่ยังไม่มีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประเด็นนี้ คุณต้นและคุณเมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่เด็กทุกคนต้องเจอ เมื่อเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้น

“พวกเราตอนเป็นเด็กๆ ก็ต้องเจอเพื่อนล้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม สูง ผอม อ้วน ดำ หรือแม้กระทั่งล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ลูกก็น่าจะต้องเจอเหมือนกัน เพราะเด็กคนอื่นก็คงจะถามว่าทำไมมีพ่อสองคน พ่อเป็นแฟนกันเหรอ แต่ผู้ปกครองหรือพ่อแม่แบบเราก็ไม่สามารถเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนของลูกได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เขาต้องไปเผชิญ ไปจัดการ เรามีหน้าที่อยู่ที่บ้าน คอยสนับสนุน สร้างความแข็งแกร่งให้เขาออกไปเผชิญโลกด้วยตัวของเขาเอง” คุณต้นกล่าว

“ผมว่ามันอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจ ถ้าเราเลี้ยงเขาดีพอ อธิบายเหตุและผลต่างๆ คอยชี้แนะ ประคับประคองไปเรื่อยๆ ให้ความรักกับเขามากพอ ผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหาในจุดนี้” คุณเมเสริม

เมื่อถามถึงความคาดหวังเมื่อน้องสตรองเติบโตขึ้น ก็พบว่าทั้งคุณต้นและคุณเมมีมุมมองที่ไม่ต่างจากพ่อแม่คนอื่นๆ นั่นคือ “อยากเห็นลูกเป็นคนดี”

“ถ้าตอบเล่นๆ เหมือนเวลาคุยกับเพื่อน ผมจะบอกว่าอยากให้เขาเป็นหมอที่เป็นดารา เหมือนหมอโอ๊ค หมอริท แล้วก็มีงานเสริมเป็นนักบินด้วย แต่ถ้าตอบจริงๆ ก็คือ อยากเป็นอะไรก็เป็น ขอให้เขาทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่เป็นภาระของสังคม และถ้าเป็นไปได้ เขาก็ควรจะตอบแทนอะไรให้กับโลกนี้บ้าง” คุณต้นกล่าว

ชีวิตครอบครัวของคุณพ่อทั้งสองและน้องสตรองตัวน้อย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของครอบครัวเข้มแข็ง ที่ไม่ได้มีนิยามจำกัดแค่พ่อ แม่ และลูก แต่ประกอบด้วยสิ่งที่สำคัญมากกว่ามากกว่านั้น

“ถ้าเรามีความรักให้กัน มีความหวังดีให้กัน ผม 3 คน ก็ถือว่าเป็นครอบครัว มีปัญหาก็มาระบายให้ฟัง หาทางแก้ มีเรื่องดีๆ เราก็ร่วมยินดี พอครอบครัวเข้มแข็งแล้ว แต่ละวันที่เราออกไปเจอโลกภายนอก เจอคนแปลกๆ เราก็จะไม่เป็นไร ถ้าเรารักกันมากพอ เวลาเจอปัญหาข้างนอก เราก็จะสามารถผ่านมันไปได้” คุณเมสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook