เด็กไทยคว้า 1ทอง 2เงินคอมฯโอลิมปิก

เด็กไทยคว้า 1ทอง 2เงินคอมฯโอลิมปิก

เด็กไทยคว้า 1ทอง 2เงินคอมฯโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กนักเรียนไทยคว้า 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก

(15ส.ค.) นส.นารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้ง ว่าตามที่สสวท.ได้คัดเลือกและจัดส่งคณะผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2552 จำนวน 4 คน ระหว่างวันที่ 8-14 สิงหาคม 2552 ณ เมืองพลอฟดิฟ ประเทศบัลกาเรีย มีจำนวนทีมที่เข้าแข่งขัน 84 ประเทศ รวมผู้เข้าแข่ง 324 คน ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยทำได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง จากฝีมือของ นายวิสิฐ ภัทรนุธาพร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญทอง นายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เหรียญเงิน นายอาภาพงศ์ จันทร์ทอง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญเงิน นางสาวทักษพร กิตติอัครเสถียร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เหรียญทองแดง

นายวิสิฐ ภัทรนุธาพร (โม) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งปีที่แล้วคว้าเหรียญทองแดงคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจากประเทศอียิปต์ ส่วนปีนี้พิชิตเหรียญทองสมใจ เปิดเผยว่าการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการมีส่วนส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นพอสมควร เพราะหลังจากมีโครงการโอลิมปิกวิชาการโดยสสวท.และมูลนิธิสอวน. รวมทั้งโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สสวท.แล้ว มาตรฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยก็สูงขึ้น จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการก็มากขึ้นทุกปี เนื่องจากได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และการแข่งขันช่วยกระตุ้นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

" ครอบครัวมีส่วนสนับสนุนการเรียนดีและปลูกฝังพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูกครับ เพราะถ้าลูกขาดการอบรมอย่างเพียงพอและเหมาะสม ก็จะไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีไม่เรียนหนังสือ มัวแต่เที่ยวเล่น เสี่ยงต่อยาเสพติด สังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักมีครอบครัวที่อบอุ่น ปลูกฝังทั้งการศึกษา คุณธรรม จริยธรรม ครอบครัวจึงเป็นรากฐานสำคัญของอนาคตชาติครับ " โมสะท้อนความคิด

นายพศิน มนูรังษี (กันต์) วัย 15 ปี ม. 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งโอลิมปิกวิชาการมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยปีที่แล้วคว้าเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิกจากประเทศสเปนและยังทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลกอีกด้วย แต่ปีนี้น้องกันต์เบนเข็มมาเป็นผู้แทนประเทศไทยวิชาคอมพิวเตอร์เพราะเห็นว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตในโลกปัจจุบันมาก ทั้งการทำงาน การเรียน การติดต่อสื่อสาร

น้องกันต์ยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง ชอบทั้งปิงปอง ฟุตบอล แบดมินตัน และอ่านการ์ตูนตามวัย ล่าสุดเพิ่งทำกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรจตุรมิตรของโรงเรียนด้วย ส่วนเกมคอมพิวเตอร์ถ้าจะป้องกันไม่ให้เด็กติดเกมนั้น ก็ต้องกำหนดเวลาไว้คร่าวๆ ก่อนเล่นว่าจะทำอะไร ตอนไหน แค่ไหน เพื่อที่จะได้ทำกิจวัตรประจำวันได้สมดุล

นอกจากเรียนดีแล้วน้องกันต์ยังแจกจ่ายความรู้วิชาที่ถนัดคือคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ให้เพื่อนๆ โดยช่วยอธิบายและติวให้รุ่นน้องทุกเย็นวันจันทร์ ซึ่งเจ้าตัวภูมิใจมากที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ " ผมคิดว่าการเป็นคนเก่งนั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราได้นำเอาความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ในทางที่ถูกต้องเท่านั้น" น้องกันต์ยืนยัน

นายอาภาพงศ์ จันทร์ทอง (เพลน) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เห็นว่าเด็กจะเบื่อหรือไม่เบื่อวิชาไหนขึ้นกับความรักและสนใจในวิชานั้น ปัจจุบันการเรียนเน้นเนื้อหาหนัก ไม่เน้นการคิดวิเคราะห์ให้เด็กแสดงความคิดเห็น แต่เน้นเรื่องสอบมากเกินไป ทางที่ดีควรเน้นให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ เพื่อแสดงความคิดเห็นมากกว่าเนื้อหาที่มากมาย หรือแม้แต่ชี้ถูกชี้ผิดคำตอบของเด็กซึ่งไม่ตรงกับคำตอบของตน ทั้งๆที่ไม่ได้มีคำตอบตายตัว

เพลนไม่เห็นด้วยที่ผู้ปกครองกดดันลูกให้เรียนในสิ่งที่ตนอยากให้เรียน แต่ควรปล่อยให้ลูกตัดสินใจเองบ้างจะทำให้มีความสุข บางครอบครัวอยากให้ลูกเรียนแพทย์ ลูกก็อาจจะเรียนได้ดีแต่ไม่ได้เรียนในสิ่งที่เขารักจริงๆ ซึ่งเพลนเห็นว่าความสุขมาจากการเรียนรู้ในสิ่งที่เรารักต่างหาก เพลนมีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นน้อง รวมทั้งทำเว็บแอ็พพลิเคชั่นให้กับบางฝ่ายงานของโรงเรียนด้วย อนาคตตั้งใจอยากสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ แต่หันมาใช้ของที่ผลิตคิดค้นได้ด้วยมันสมองของเราเอง

นางสาวทักษพร กิตติอัครเสถียร (นาว) วัย 16 ปี โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เผยว่าอนาคตอยากทำงานเขียนโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในโลกได้ ส่วนปัจจุบันมีหลักในการเรียนดีคือไม่ใช้เวลาทั้งหมดกับการเรียนแต่แบ่งเวลาพักผ่อนบ้าง เคยทดลองเรียนกวดวิชาแล้ว แต่ไม่ชอบจึงเลิกและเปลี่ยนมาศึกษาด้วยตัวเองโดยตั้งใจเรียนในห้องให้มากๆ เอาใจใส่ทำการบ้าน ทำให้ได้คะแนนดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ แบบช่วยกันเรียน และสอนการเขียนโปรแกรมให้รุ่นน้องที่สนใจเข้าโครงการโอลิมปิกด้วย น้องนาวเห็นว่าโอลิมปิกวิชาการทำให้นักเรียนได้รับความรู้มากขึ้นและได้ปฏิบัติจริง พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนอื่นๆ สนใจสมัครเข้าโครงการเพราะได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จ

ทั้งนี้ คณะผู้แทนประเทศไทยฯ จะเดินทางกลับถึงไทยในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2552 เที่ยวบินTG 923 เวลา 12.55 น. สสวท.จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยฯ ตามกำหนดดังกล่าว ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ชั้น 2 ด้านใน ประตูที่ 5

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook