ยุโรปยังวิกฤต! คาดยอดผู้เสียชีวิตจะแตะ “จุดสูงสุด” ปลายเดือนเมษายนนี้
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1615/8075542/europe-covid-tn.jpgยุโรปยังวิกฤต! คาดยอดผู้เสียชีวิตจะแตะ “จุดสูงสุด” ปลายเดือนเมษายนนี้

    ยุโรปยังวิกฤต! คาดยอดผู้เสียชีวิตจะแตะ “จุดสูงสุด” ปลายเดือนเมษายนนี้

    2020-04-09T09:02:02+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    รายงานการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ฉบับใหม่ เปิดเผยว่า อัตราการเสียชีวิตรายวันจากโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศยุโรปจะแตะจุดสูงสุดในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน

    การคาดการณ์ดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (7 เม.ย.) โดยสถาบันการวัดและประเมินด้านสุขภาพ (IHME) ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (UW) ระบุว่า ช่วงเวลาที่นักวิจัยเรียกว่า “คลื่นลูกแรก” ของการระบาดใหญ่ (Pandemic) จะมีผู้เสียชีวิตราว 151,680 ราย ขณะที่การคาดการณ์ของสถาบันฯ เมื่อวันอาทิตย์ (5 เม.ย.) ระบุว่าสหรัฐฯ อาจมีผู้เสียชีวิตราว 81,766 ราย

    “คาดว่าจะเกิดช่วงเวลาเลวร้ายราว 2-3 สัปดาห์ในหลายพื้นที่ของยุโรป” ดร.คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ (Christopher Murray) กล่าว “ส่วนสหรัฐฯ ดูเหมือนจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากเกินกว่าที่เราคาดการณ์ไว้”

    นอกจากจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว หลายประเทศจะเผชิญปัญหาโรงพยาบาลขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักรที่จะต้องใช้เตียงผู้ป่วยทั้งสิ้น 102,794 เตียง แต่มีอยู่จริง 17,765 เตียง และจะต้องใช้เตียงผู้ป่วยหนัก 24,544 เตียง แต่มีอยู่จริง 799 เตียง

    รายงานระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในภูมิภาคส่วนใหญ่ของอิตาลีและสเปนได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้ว ส่วนประเทศที่กำลังจะแตะจุดสูงสุดหรือพุ่งเข้าหาจุดสูงสุดด้วยความรวดเร็วในคลื่นลูกแรกนี้ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์, ออสเตรีย และลักเซมเบิร์ก ขณะที่สาธารณรัฐเช็กและโรมาเนียกำลังอยู่ระหว่างทางสู่แนวโน้มที่คาดการณ์ไว้ ด้านสหราชอาณาจักร เยอรมนี นอร์เวย์ และกรีซ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และจะพานพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อผ่านจุดสูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนเมษายน

    เมอร์เรย์เตือนว่าการผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังเร็วเกินไปในช่วง “คลื่นลูกแรก” ของการระบาดใหญ่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตระลอกใหม่ได้

    “ขณะคลื่นลูกแรกยังถูกควบคุมได้ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อันเข้มงวด รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงการตรวจเชื้อจำนวนมาก การติดตามผู้ติดต่อใกล้ชิด และการกักโรคสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงของคลื่นลูกที่สอง จนกว่าจะมีวัคซีนที่ผลิตได้ในปริมาณมากและกระจายอย่างทั่วถึง” เมอร์เรย์กล่าว โดยสถาบันฯ ระบุว่าได้เริ่มคาดการณ์ผลกระทบของการระบาดใหญ่ในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ รายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (7 เม.ย.) เป็นชุดการคาดการณ์แรกสำหรับกลุ่มประเทศยุโรป อ้างอิงการสร้างแบบจำลองจุดสูงสุดของอัตราการเสียชีวิตและการใช้งานโรงพยาบาลในนครอู่ฮั่นของจีน ตลอดจนข้อมูลจากสถานที่ต่างๆ ในยุโรปที่มีอัตราดังกล่าวสูงสุดอีก 7 แห่ง อาทิ กรุงมาดริดและแคว้นกัสติยา-ลามันชา (Castilla-La Mancha) ของสเปน แคว้นทัสคานี เอมีเลีย-โรมาญา ลิกูเรีย ปีเอมอนเต และลอมบาร์เดียของอิตาลี โดยในบรรดาสถานที่ทั้ง 8 แห่งนี้ ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุด มีนครอู่ฮั่นเพียงแห่งเดียวที่ยอดผู้เสียชีวิตใกล้แตะศูนย์ในปัจจุบัน