ไวรัสโคโรนา: ไต้หวันจัดการโควิด-19 อยู่หมัด จนผู้นำโกยคะแนนนิยมท่วมท้น

ไวรัสโคโรนา: ไต้หวันจัดการโควิด-19 อยู่หมัด จนผู้นำโกยคะแนนนิยมท่วมท้น

ไวรัสโคโรนา: ไต้หวันจัดการโควิด-19 อยู่หมัด จนผู้นำโกยคะแนนนิยมท่วมท้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ตั้งอยู่ใกล้ประเทศที่โรค COVID-19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาดหนักหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าแห่งละ 1,000 คน แต่ไต้หวันกลับมีผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 48 คน จากตัวเลขเมื่อวันที่ 12 มี.ค.

พนักงานรัฐด้านสาธารณสุขหลายคนของไต้หวัน เผยว่า เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว พอหน่วยงานรัฐทราบว่าไวรัสดังกล่าวเริ่มแพร่ระบาดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของประเทศจีน ก็เริ่มตรวจสอบผู้โดยสารที่บินมาจากจีนทันที ทั้งยังสั่งให้ลดเที่ยวบินจำนวนมากที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้ก่อนประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียด้วยกันเอง จะทำเสียอีก

ขณะนี้อาคารสำนักงานของหน่วยงานรัฐหลายแห่งในกรุงไทเปมีเจลล้างมือให้บริการ โรงเรียนและสถาบันการศึกษายังขอความร่วมมือให้ผู้เรียนตรวจสุขภาพ ส่วนศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวันก็จัดแถลงข่าวทุกวันเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ และในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก็เริ่มใช้มาตรการจำกัดการซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการกักตุน

"ความโปร่งใส" เคล็ด(ไม่)ลับน็อกไวรัสโคโรนา

"การระบาดของโรคปอดอักเสบเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ทำให้หลายคนคิดว่าไต้หวันมาถึงคราววิกฤต พราะใกล้ชิดกับจีนมาก บางคนก็คิดว่าไต้หวันไม่รอดแน่ๆ" นายโหยว อิ๋ง-หลง ประธานมูลนิธิความคิดเห็นสาธารณะไต้หวัน

"แต่เพราะทุกอย่างโปร่งใส ไต้หวันเลยไม่เดือนร้อนมาก และที่จริงแล้วถ้าเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ไต้หวันก็รับมือได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง"

รัฐบาลไต้หวันเริ่มรู้ว่าไวรัสระบาดตั้งแต่เดือน ธ.ค. ในตอนที่การระบาดยังเป็นเพียงกระแสข่าวสะพัดในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่เพราะไม่อยากให้สายไป ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันจึงเริ่มกักตัวทุกคนที่เดินทางด้วยเครื่องบินมาจากเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันยังขึ้นข้อความบนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ว่าตรวจสอบเที่ยวบินไปแล้ว 14 เที่ยว ที่มีผู้โดยสารและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 1,317 คน

กว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนามาได้รับความสนใจจากประเทศอื่น ก็ล่วงเลยมาถึงปลายเดือน ม.ค. แล้ว และแม้ว่าขณะนี้จีนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ยังต้องกัดฟันรับมือกับการแพร่ระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้สักเท่าใดเสียที

ลงมือป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

"หน่วยงานรัฐในไต้หวันยังใช้วิธีการเชิงรุกมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน" นายหลวอ จื๋อ-เจิ้ง ส.ส. ไต้หวัน กล่าว

นายหลวอ บอกอีกว่า ชาวไต้หวันมองว่าความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลยังตั้งใจเปิดเผยข้อมูลออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันโดยไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก

การรับมือเชิงรุกนี้เอง ที่ทำให้โรงเรียนรัฐบาลของไต้หวันกลับมาทำการเรียนการสอนได้แม้จะล่าช้ากว่ากำหนดไป 2 สัปดาห์ แต่ก็เร็วกว่าฮ่องกงและญี่ปุ่นที่จำนวนสะสมของผู้ติดเชื้อสูงกว่ามาก

เหตุผลที่ไต้หวันไหวตัวเร็วเป็นเพราะบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นก็เริ่มมาจากจีนเช่นกันและทำให้มีผู้เสียชีวิตในไต้หวันไป 73 ราย

พยุง SMEs เต็มที่ ไม่ใช่แค่ทุนใหญ่

นอกจากผลกระทบด้านสาธารณสุข การเดินทาง และสังคมแล้ว ไต้หวันก็หาทางบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย

บริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งในไต้หวัน บอกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวร่วงอย่างหนักในเดือน ก.พ. เพราะการจำกัดเที่ยวบินและชาวไต้หวันเองก็ไม่กล้าเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนงานอีเวนต์ในประเทศก็พากันยกเลิก เพื่อช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ส่วนภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นของอุตสาหกรรมไต้หวัน ที่หลายแห่งลงทุนในจีนจำนวนมหาศาล ก็เผชิญกับการผลิตที่ล่าช้า เพราะต้องปล่อยให้พนักงานหยุดอยู่บ้านเพื่อไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อ

"ผลกระทบสูงสุดจากการระบาดครั้งนี้ จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันชะลอตัวแน่นอน เพราะเศรษฐกิจไต้หวันผูกกับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก" นายหวง ขุย-ป๋อ รองคณบดีวิทยาลัยกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ๋งจื้อ ในกรุงไทเป ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม รัฐสภาไต้หวันอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1,960 ล้านดอลลาร์ (ุ61,974 ล้านบาท) ออกมาให้กับบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ นายหลวอ ส.ส. ไต้หวัน บอกอีกว่า หลังจากไวรัสซาลงแล้ว รัฐบาลจะออกคูปองส่วนลดให้กับประชาชนนำไปใช้จ่าย ซึ่งยังไม่รวมกับมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมา 

"เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยวิสาหกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ให้ผ่านพ้นความยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกัน" นายหลวอ กล่าว

คะแนนนิยม "ไช่ อิง-เหวิน" พุ่ง

ข้อมูลจากมูลนิธิความเห็นสาธารณะ เผยว่า การลงมือที่รวดเร็วและโปร่งใสนี้ ทำให้คะแนนนิยมของนางสาวไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน เพิ่มมาอยู่ที่ 68.5% ในเดือน ก.พ. จาก 56.7% ในเดือน ม.ค. หรือเท่ากับตอนที่เธอเพิ่งดำรงตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อปี 2559

ส่วนสถานีโทรทัศน์ทีวีบีเอส ก็ยังให้คะแนนนิยมกับรัฐบาลของนางสาวไช่ถึง 82%

"คะแนนนิยมสูงแบบนี้ ก็แปลง่ายๆ เลยครับว่า รัฐบาลประธานาธิบดีไช่ทำได้ดีมาก" นายโหยว ประธานมูลนิธิความคิดเห็นสาธารณะไต้หวัน กล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook