“Brexit” กับความเปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 31 มกราคม 2020

“Brexit” กับความเปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 31 มกราคม 2020

“Brexit” กับความเปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 31 มกราคม 2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อสหราชอาณาจักร (UK) ถอนตัวออกจากการเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 มกราคม 2020 เวลา 23:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทันที ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ก็คือสหราชอาณาจักรจะไม่มีสมาชิกหรือคณะกรรมาธิการในสหภาพยุโรปอีกต่อไป และจะไม่สามารถเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Council) ได้

"เบร็กซิต" คืออะไร เผยอาถรรพ์บีบ 2 นายกฯ อังกฤษลาออกกลางคัน แถมไร้วี่แววสำเร็จ

ไม่พลิกโผ "พรรครัฐบาลอังกฤษ" ชนะเลือกตั้ง มุ่งเดินหน้า "เบร็กซิต"

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปจะไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากหลังจากวัน Brexit เนื่องจากกฎต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปจะยังถูกบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรในฐานะสมาชิกของการเป็นตลาดเดียว (Single Market) และสหภาพศุลกากร (Customs Union) โดยในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2020 จนกระทั่งสิ้นสุดปี 2020 สหราชอาณาจักรจะอยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ขณะเดียวกันทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปก็จะหาข้อตกลงร่วมกันในอนาคต

เรื่องราว Brexit ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อกรณีนี้มาถึงจุดสิ้นสุด Sanook จึงรวบรวมความเปลี่ยนแปลง 10 อย่างที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 นี้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน

1.สหราชอาณาจักรจะพ้นสภาพการเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป

Brexit จะส่งผลให้ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 27 ประเทศ หากสหราชอาณาจักรต้องการจะกลับเข้ามาเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปอีกครั้ง ก็จะต้องสมัครใหม่และต่อรองเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกด้วยข้อกำหนดใหม่

2.สหราชอาณาจักรจะไม่มีสมาชิกของสภายุโรป (MEPs)

จะไม่มีตำแหน่งสมาชิกสภายุโรปของสหราชอาณาจักรซึ่งถูกเลือกมาในเดือนพฤษภาคม 2019 ในสภายุโรปอีกต่อไป ซึ่ง 1 ใน 3 ของตำแหน่งสมาชิกสภายุโรปของสหราชอาณาจักรจากทั้งหมด 73 ตำแหน่งจะถูกแบ่งให้กับประเทศที่เหลืออื่น ๆ ทำให้ขนาดของสภายุโรปจะมีขนาดเล็กลงด้วย

3.สหราชอาณาจักรจะไม่มีกรรมาธิการอีกต่อไป

Julian King จะเป็นกรรมาธิการของสหราชอาณาจักรคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในเดือนธันวาคม 2019 โดย Boris Johnson นายกรัฐมนตรีของอังกฤษปฏิเสธที่จะเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งกรรมาธิการคนใหม่ที่จะเริ่มทำงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2019

4.นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (European Council summits)

การประชุมสุดยอดคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คือการประชุมของผู้นำรัฐและรัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำและเป็นกิจกรรมที่กำหนดให้ทุกประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว นอกจากในสถานการณ์พิเศษที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเข้าร่วมหารือกัน

5.รัฐมนตรีอังกฤษและหน่วยงานต่าง ๆ จะไม่เข้าร่วมการประชุมของคณะมนตรี

กว่า 47 ปีที่รัฐมนตรีอังกฤษเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีเสมอ แต่หลังจาก Brexit ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะไม่เข้าร่วมประชุม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมอีกต่อไป

กระนั้น ข้อตกลงว่าด้วยการถอนตัว (Withdrawal Agreement Bill) ก็ยังให้สิทธิสหราชอาณาจักรสามารถเข้าร่วมการประชุมของคณะมนตรีได้ในกรณีที่อาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

6.ผู้พิพากษาของสหราชอาณาจักรจะไม่อยู่ในศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป (European Court of Justice) อีกต่อไป

Eleanor Sharpston, Ian Stewart Forrester และ Christopher Vajda ผู้พิพากษาจากสหราชอาณาจักร จะพ้นจากการเป็นสมาชิกของศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ศาล ได้แก่ ศาลยุติธรรม (Court of Justice) และศาลกลาง (General Court)

แต่ในช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ข้อกำหนดและกฤหมายต่างๆ ของสหภาพยุโรปจะยังคงใช้บังคับในสหราชอาณาจักร

ไม่ใช่แค่นั้น บางคดีในศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป ก็จะดำเนินการไปโดยไม่มีผู้พิพากษาจากสหราชอาณาจักรด้ว

7.กฎหมายของสหภาพยุโรปยังคงบังคับใช้ในสหราชอาณาจักร ไม่ใช่ในฐานะประเทศสมาชิกแต่เป็นการบังคับใช้ผ่านข้อตกลงว่าด้วยการถอนตัว (Withdrawal Agreement)

กฎหมายของสหภาพยุโรปจะยังถูกบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้ถูกใช้ตามข้อตกลงว่าด้วยการถอนตัว ไม่ใช่ในฐานะประเทศสมาชิก

8.สหราชอาณาจักรสามารถทำข้อตกลงการค้ากับประเทศใดก็ได้

ตั้งแต่เวลา 23:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 31 มกราคม 2020 สหราชอาณาจักรจะสามารถทำข้อตกลง เซ็นสัญญาและอนุมัติข้อตกลงทางการค้ากับประเทศใดก็ได้ และในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น สหภาพยุโรปก็ได้ขอให้ประเทศอื่น ๆ ปฏิบัติต่อสหราชอาณาจักรในฐานะประเทศสมาชิกสำหรับจุดมุ่งหมายทางการค้า ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้มากเท่าไรนัก

9.ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปอาจปฏิเสธคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของสหราชอาณาจักรสำหรับพลเมืองตัวเอง

ภายใต้หมายจับของสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกต้องให้ความร่วมมือเมื่อมีการร้องขอให้จับกุมหรือทำการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศสมาชิกประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะไม่สามารถปฏิเสธการส่งผู้ร้ายซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศตัวเองในระยะเวลา 60 วันที่กำหนดได้

ข้อตกลงว่าด้วยการถอนตัว กำหนดให้ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปสามารถปฏิเสธคำร้องดังกล่าวได้ตั้งแต่ช่วงแรกของช่วงเปลี่ยนผ่าน

10.การพบกันอย่างเป็นทางการกับสหภาพยุโรปจะทำผ่านคณะกรรมการร่วมสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (UK-EU Joint Committee)

การพบปะเพื่อเจรจาข้อตกลงต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักรจะทำผ่านคณะกรรมการร่วมสหราชอาณาจักและสหภาพยุโรป (UK-EU Joint Committee) หลังจากวันที่ 31 มกราคม 2020 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการร่วมดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานและการบังคับใช้ข้อตกลงที่ว่าด้วยการถอนตัว

แม้ภาพรวมจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและข้อกฎหมาย แต่วันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2020 ก็เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และนับถอยหลังไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของข้อตกลงทางการค้าและการไกล่เกลี่ยปัญหาต่าง ๆ ซึ่งหลังจากนั้นน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนมากในที่สุด  

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลัง Brexit

  • พลเมืองสหราชอาณาจักรต้องเปลี่ยนเล่มพาสปอร์ตเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งจะบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2020 แต่ในเริ่มต้น อาจมีการออกเล่มพาสปอร์ตเป็นสีเบอร์กันดีหรือสีน้ำเงิน และทางรัฐบาลแจ้งว่าในช่วงกลางปี 2020 พาสปอร์ตจะเป็นสีน้ำเงินทั้งหมด
  • กระทรวง Brexit ของสหราชอาณาจักรซึ่งทำหน้าที่ดูแลการต่อรองระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป รวมทั้งการเตรียมการ No-Deal Brexit จะปิดตัวลงในวัน Brexit กระทรวงดังกล่าวถูกตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรี Theresa May ในปี 2016
  • ระหว่าง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ข้อกำหนดการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรยังคงเหมือนเดิม แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2021 โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 พลเมืองของสหราชอาณาจักรที่เดินทางเข้าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป, ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตล์, นอร์เวย์, และสวิตเซอร์แลนด์ ไม่เกิน 90 วัน ไม่ต้องขอวีซ่า แต่อาจต้องขอวีซ่าในกรณีที่ต้องการอยู่นานกว่า 90 วัน เพื่อทำงาน เรียนหนังสือ หรือเดินทางเพื่อธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook