‘GIRLS, NOT OBJECTS’ เมื่อไอดอลหญิงกลายเป็นสิ่งของ
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1592/7960970/girls,-not-objects1.jpg‘GIRLS, NOT OBJECTS’ เมื่อไอดอลหญิงกลายเป็นสิ่งของ

    ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ เมื่อไอดอลหญิงกลายเป็นสิ่งของ

    2019-11-22T15:46:47+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    แม้วงการไอดอลจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมเจ-ป็อป แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว นี่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ทั้งน่าสนใจและน่าติดตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วงการไอดอลในประเทศไทยคึกคักและได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเปิดตัววงไอดอลสัญชาติไทยอย่าง BNK48 ได้สร้างปรากฏการณ์ “ไอดอลฟีเวอร์” และเกิดวงไอดอลวงอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับวงการไอดอลมาเนิ่นนาน ก็คือปัญหาการปฏิบัติต่อคนเหมือนเป็นวัตถุสิ่งของ (Objectification) ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางการตลาดของบริษัท ค่านิยมของคนในสังคมต่อบุคคลสาธารณะ หรือพฤติกรรมของกลุ่มแฟนคลับไอดอลเอง และในวันนี้ Sanook จะพาทุกคนเข้าไปสำรวจโลกของไอดอลที่ไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ผ่านนิทรรศการ ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ ผลงานของนิสิตนักศึกษาจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จัดขึ้น ณ Joyman Gallery เมื่อวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

    ไอดอลคือแรงบันดาลใจของทุกคน

    เมื่อพูดถึง “ไอดอล” คนส่วนใหญ่คงคิดถึงใครสักคนที่เป็นเหมือนบุคคลต้นแบบในการใช้ชีวิต แต่สำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มแล้ว “ไอดอล” คือเด็กสาวที่น่ารักและสดใส มีความสามารถทั้งร้องและเต้น รวมถึงยังเป็นเสมือนแรงใจในการดำเนินชีวิตให้กับแฟนคลับ คุณณฤทัย ตันสุขเกษม หรือ ไหม อดีตสมาชิกวง Siamese Kittenz ไอดอลรุ่นบุกเบิกของเมืองไทยและหนึ่งในคณะผู้จัดทำนิทรรศการ ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ ในครั้งนี้ ได้นิยามว่า “ไอดอล” ก็คือแรงบันดาลใจของคนอีกคนหนึ่ง

    “ไหมรู้สึกว่า ไอดอลคือใครสักคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักร้องเหมือนกับที่เราเป็น แต่เป็นใครก็ได้ที่สร้างแรงผลักดันให้ใครอีกคนหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนหมู่มาก” คุณไหมกล่าว

    ขณะที่คุณจิรัชยา อนันต์ตรีชัย หรือ ณนาว และคุณลักษิกา อนันต์ตรีชัย หรือ นุ๊กกี้ คู่ไอดอลพี่น้องจากวง White Out ก็มองว่า “ไอดอล” ไม่ใช่แค่เด็กผู้หญิงที่มีความตั้งใจและมีความฝันเท่านั้น แต่ไอดอลต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นด้วย ทั้งนี้ หน้าที่ของไอดอลคือการทำให้ทุกคนมีความสุข เป็นกำลังใจและให้ความหวังคนที่กำลังท้อแท้หรือมีปัญหา

    อย่างไรก็ตาม การเป็นไอดอลก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ด้านหนึ่งก็ช่วยเติมเต็มความฝันของเด็กสาวที่อยากเฉิดฉายบนเวที แต่อีกด้านหนึ่ง พวกเธอก็ต้องเผชิญหน้ากับการถูกปฏิบัติเสมือนเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กลับไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในวงกว้างเลย

    ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ ฉันไม่ใช่สิ่งของ

    เพราะเคยเป็นส่วนหนึ่งของวงการไอดอล และรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นผู้ประสบปัญหาด้วยตัวเอง นี่จึงเป็นเหมือนแรงผลักดันที่ทำให้คุณณฤทัยอยากสื่อสารปัญหาที่เธอเคยต้องเผชิญให้คนทั่วไปได้รับรู้ แม้จะต้องแลกกับการเอาตัวเองกลับเข้าไปในโลกของไอดอลก็ตาม

    “มันเป็นความอึดอัดที่ต้องดึงตัวเองกลับไปอยู่ในที่ที่ตัวเองไม่ชอบ คือไม่ใช่วงการไอดอลนะคะ แต่เป็นเรื่องการคุกคามที่เคยเกิดขึ้น แต่มันก็มีสองมุม มุมหนึ่งคือมันแย่สำหรับเราอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าคนคนหนึ่งไม่ควรถูกกระทำแบบนี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นบุคคลสาธารณะหรือไม่ก็ตาม แต่อีกมุมหนึ่งมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ได้จัดทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา มันเป็นความรู้สึกที่เราอยากจะพูดเรื่องนี้ให้มากขึ้น แทนที่จะเก็บเอาไว้คนเดียว” คุณณฤทัยชี้

    ทางด้านคุณอารยะ รุ่งอภิญญา ผู้จัดการนิทรรศการ ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ ก็เล่าว่า จุดเริ่มต้นของงานคือการได้เห็นรูปแบบการตลาดของวงไอดอลในประเทศ และเริ่มสังเกตว่าปัญหาการปฏิบัติต่อไอดอลเสมือนเป็นวัตถุนั้น อยู่คู่กับวงการไอดอลมานาน จึงอยากสะท้อนมุมมองปัญหาเหล่านี้ให้คนทั่วไปและแฟนคลับไอดอลได้ตระหนักถึง

    “เรามีตัวแทนศิลปินไอดอลและอดีตสมาชิกวงไอดอลมาร่วมกว่า 23 คน จากทั้งหมด 18 วง ซึ่งเราได้ทำการสัมภาษณ์ไอดอลแต่ละคนถึงมุมมองของเขาที่เกี่ยวข้องกับการถูกทำให้เป็นวัตถุ ถามถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง แล้วเราก็จับประเด็นของแต่ละคนมาถ่ายทอดเป็นภาพถ่าย” คุณอารยะอธิบาย

    แต่จุดไหนจึงจะเข้าข่ายการปฏิบัติต่อคนเสมือนเป็นวัตถุสิ่งของ เส้นแบ่งระหว่างพฤติกรรมที่ใช่และไม่ใช่อยู่ตรงไหน จึงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นตามมา คุณปณิตา ศิริวงศ์วานงาม ดีไซเนอร์ของงานนิทรรศการ ชี้แจงว่า สำหรับไอดอลบางคนแค่สายตาที่มองมาเวลาที่พวกเธออยู่ข้างนอก ก็ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต่อคนเสมือนเป็นวัตถุจึงเป็นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ไอดอลรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกไม่สบายใจ

    “ถ้าพูดตรง ๆ เลย มันก็เหมือนเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ การกระทำอะไรก็ตามที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจกับการกระทำของเรา คือมันแน่นอนอยู่แล้วว่าทุกคนจะมีความคิดที่ไม่ดีอยู่ในตัว แต่การที่เราสามารถยับยั้งมันได้หรือไม่พูดออกมา เพราะรู้ว่ามันจะเกิดอะไรตามมาต่อคนฟัง มันคือความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง ก็เหมือนเราไม่เคารพทั้งตัวเราเองในฐานะการเป็นมนุษย์ และเราไม่เคารพคนอื่นในฐานะการเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” คุณปณิตาอธิบาย

    ไอดอลผ่านภาพถ่าย

    นิทรรศการ ‘GIRLS, NOT OBJECT’ เลือกที่จะสะท้อนปัญหาในวงการไอดอลผ่านภาพถ่ายของไอดอลที่มาร่วมเล่าประสบการณ์และบอกเล่ามุมมองของพวกเธอ โดยคุณอารยะอธิบายว่า เหตุผลที่เลือกภาพถ่ายมาใช้เพื่อสื่อสารกับคน ก็เพราะภาพถ่ายคือศิลปะอย่างหนึ่ง และหน้าที่หนึ่งของศิลปะคือการส่งผ่านเรื่องราวได้นุ่มนวลกว่าการพูดออกมาตรง ๆ ทั้งนี้ ศิลปินยังสามารถซ่อนสัญญะหรือความหมายบางอย่างลงไปในภาพถ่ายได้

    “สิ่งสำคัญก็คือ ภาพถ่ายทำให้เกิดการตีความต่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของงานศิลปะ คนที่ดู คนที่เสพ จะต้องตีความด้วยตัวเอง ซึ่งมันเป็นเครื่องมือที่ดีในการสื่อสาร” คุณอารยะกล่าว

    ความท้าทายของงานนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ คือการก้าวข้ามให้พ้นความย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากการถ่ายภาพก็ถูกมองว่าเป็นการปฏิบัติต่อคนเสมือนเป็นวัตถุไม่ต่างกัน ซึ่งในประเด็นนี้คุณอารยะชี้ว่า หากตัวศิลปินสามารถถ่ายทอดตัวตนและประเด็นที่อยากจะสื่อสารออกมาผ่านภาพถ่ายได้ โดยปราศจากการบิดตัวตนของเขาเอง นั่นก็นับว่าเป็นคุณสมบัติของงานสร้างสรรค์และไม่นับว่าเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ เสมือนเป็นวัตถุแล้ว

    “เราทำการสัมภาษณ์ แล้วก็จับบางส่วนจากที่เราสัมภาษณ์มา ว่ามันน่าจะสร้างเป็นภาพได้ และมันก็น่าสนใจ แต่ก่อนที่เราจะถ่ายจริง ๆ เราจะคุยกับไอดอลก่อน ว่าเราจะทำประมาณนี้นะ มันจะสื่อสารแบบนี้ โอเคหรือเปล่า แล้วเราก็ค่อย ๆ สื่อสารมันออกมา ดังนั้น มันเป็นการคุยกันของทั้งสองฝ่าย ทั้งไอดอลและเราเอง ดังนั้นมองว่าภาพถ่ายนิทรรศการไม่ใช่การทำให้คนกลายเป็นวัตถุ เพราะว่ามันเป็นการใช้ภาพถ่ายแทนการเล่าเรื่อง แทนข้อความบางอย่าง” คุณปณิตาเสริม

    ภายในงานนิทรรศการ ได้จัดแสดงเรื่องราวของไอดอลกับคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการถูกปฏิบัติเสมือนเป็นวัตถุในรูปแบบต่าง ๆ และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายที่มีสัญญะและความหมายซ่อนเอาไว้ เช่นภาพถ่ายของคุณจิรัชยาและคุณลักษิกา ที่มาในคอนเซ็ปต์ “พื้นที่ส่วนตัว” โดยต้องการสื่อสารว่า ในพื้นที่ส่วนตัวที่ทุกคนเข้าใจว่าปลอดภัยที่สุด แต่ความจริงแล้วที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็กลับไม่มีความปลอดภัยเลย เพราะการถูกปฏิบัติเสมือนเป็นวัตถุทำให้รู้สึกว่าแม้แต่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ก็ยังไม่สามารถเป็นตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

    “ตั้งแต่มีโลกโซเชียล คนส่วนใหญ่เริ่มคิดว่าพื้นที่ส่วนตัวไม่มีแล้ว ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ จะพูดอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ ถ้าเราโพสต์อะไรลงไป ใครจะทำอะไรกับรูปนั้นก็ได้ ในเมื่อเรากล้าโพสต์ คนอื่นก็กล้าพูด นุ๊กกี้เลยรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วต่อให้เราจะทำอะไรลงในโซเชียลหรือทำอะไรในชีวิตจริงก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย หรือใครก็ตาม ทุกคนย่อมต้องการความเป็นส่วนตัวที่ไม่อยากให้ใครมาคุกคามทางวาจาหรือทางกิริยา หรืออะไรก็แล้วแต่” คุณลักษิกาอธิบาย

    นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายของไอดอลและอดีตไอดอลคนอื่นที่มีคอนเซ็ปต์น่าสนใจไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น คุณไอรดา ธวัชผ่องศรี หรือ ซินซิน อดีตสมาชิกรุ่นที่ 1 ของวง BNK48 ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ “ตัวตน” โดยเธอชี้ว่า ไอดอลมักถูกบริษัทสร้างภาพลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ เพื่อสร้างการรับรู้และการจดจำให้กับแฟนคลับ ซึ่งบางครั้งบทบาทที่ถูกสร้างขึ้นก็สร้างความอึดอัดใจให้กับไอดอล ทั้งยังเกิดความขัดแย้งในตัวเองอีกด้วย หรือภาพถ่ายของ คุณจิดาภา จงสืบพันธ์ หรือ มิวสิค อดีตสมาชิกวง SWEAT16! ที่สื่อสารเรื่อง “อย่าให้ความคาดหวังของคนอื่นทำให้เรากลายเป็นวัตถุ” โดยเธอมองว่า ในบางครั้งความคาดหวังที่เกิดขึ้นจากคนรอบข้างและตัวเอง ก็ทำให้เกิดความกดดันและลามไปถึงการตีกรอบตัวเองเพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังที่ได้รับ และสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดของการเดินตามความคาดหวัง ก็คือการละทิ้งตัวตนจริง ๆ ของตัวเองไป

    รักอย่างเข้าใจและให้เกียรติกัน

    นิทรรศการ ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ สะท้อนให้เห็นปัญหาในวงการไอดอลของไทยอันเป็นวัฒนธรรมย่อยเล็ก ๆ วัฒนธรรมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนทั่วไปนัก ผู้จัดงานนิทรรศการมุ่งหวังว่า งานของพวกเขาจะทำให้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการไอดอล โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับ ที่จะได้ฉุกคิดและกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าพฤติกรรมของพวกเขาเรียกว่าการคุกคามหรือไม่

    เรื่องไอดอลเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับแฟนคลับบางกลุ่มมาก แต่ก็คงดีถ้าแฟนคลับจะได้ศึกษาเรื่องนี้ เพราะก็มีแฟนคลับบางส่วนที่คิดถึงและตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่พอเขาออกมาพูดเรื่องไอดอลในอีกมุมที่สวนทางกับคนส่วนมาก จะไม่มีจุดยืนทันที ไหมก็อยากให้คนกลุ่มนี้ได้มารวมตัวกัน” คุณณฤทัยกล่าว

    ไม่เพียงแต่กลุ่มแฟนคลับที่จะได้ตระหนักถึงปัญหานี้เท่านั้น แต่ผู้จัดงานยังคาดหวังว่างานนิทรรศการในครั้งนี้จะเปิดพื้นที่ให้ไอดอลกล้าที่จะออกมาพูดถึงปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ เพราะไอดอลไม่สามารถแสดงท่าทีต่อปัญหาลักษณะนี้ออกมาได้มากนัก ส่งผลให้พวกเธอต้องเก็บซ่อนความอัดอั้นใจเหล่านี้เอาไว้กับตัวเอง โดยคุณณฤทัยที่เคยผ่านประสบการณ์ในลักษณะนี้มาก่อนชี้ว่า

    “การที่ได้ออกมาพูดหรือได้รับรู้ว่ามีเพื่อนหลายคนที่รู้สึกเหมือนกัน อย่างน้อยก็ทำให้ความอึดอัดในใจเบาลงได้ เพราะปัญหาหลักของคนที่เครียดเรื่องพวกนี้คือการไม่รู้ว่าคนอื่นก็โดนเหมือนกับเรา

    แม้ปัญหาการปฏิบัติต่อคนอื่นเสมือนเป็นวัตถุในวงการไอดอลจะไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ภายในช่วงเวลาอันสั้น แต่ผู้จัดงานนิทรรศการก็หวังให้ปัญหาเหล่านี้ค่อย ๆ หมดไปจากวงการไอดอล ทั้งนี้ ความรักของแฟนคลับไม่ควรอยู่ในรูปแบบของการทำให้พวกเธอกลายเป็นวัตถุ หรือการคุกคามไม่ว่าจะในลักษณะใด ๆ แต่ควรเป็นการสนับสนุนและให้กำลังใจ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในฐานะมนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดและมีคุณค่าในตัวเอง

    อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ‘GIRLS, NOT OBJECTS’ เมื่อไอดอลหญิงกลายเป็นสิ่งของ