"มารีเก แวร์วอร์ต" แชมป์กรีฑาวีลแชร์ชาวเบลเยียม จากไปอย่างสงบ หลังใช้สิทธิการุณยฆาต

"มารีเก แวร์วอร์ต" แชมป์กรีฑาวีลแชร์ชาวเบลเยียม จากไปอย่างสงบ หลังใช้สิทธิการุณยฆาต

"มารีเก แวร์วอร์ต" แชมป์กรีฑาวีลแชร์ชาวเบลเยียม จากไปอย่างสงบ หลังใช้สิทธิการุณยฆาต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แชมป์กรีฑาวีลแชร์ขอจบชีวิตด้วยการการุณยฆาตเมื่อ 22 ต.ค. โดยให้เหตุผลว่า "ไม่อยากเจ็บปวดไปมากกว่านี้" ทำให้บุคคลสำคัญหลายแวดวง รวมถึงราชวงศ์เบลเยียม ร่วมรำลึกถึงผู้จากไป โดยระบุว่าเธอจะถูกจดจำในฐานะ ผู้กล้าหาญต่อสู้กับโรคร้าย

มารีเก แวร์วอร์ต นักกรีฑาวีลแชร์ หรือ Wheelchair Racing ชาวเบลเยี่ยม วัย 40 ปี เจ้าของรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง จากการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 3 สมัย ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการการุณยฆาต เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีคนสนิทและครอบครัวของเธออยู่พูดคุยและร่วมดื่มไวน์เพื่ออำลาเธอในวาระสุดท้าย รวมถึงออกแถลงการณ์ยืนยันผ่านสื่อว่า มารีเก ได้จากไปอย่างสงบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากมีรายงานข่าวออกมา บุคคลสำคัญจากหลายแวดวงก็ร่วมไว้อาลัยแก่มารีเก โดยสำนักพระราชวังเบลเยียมเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ว่า สมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์จะทรงรำลึกถึงมารีเก แวร์วอร์ต ในฐานะนักกีฬาผู้เข้มแข็งและเป็นที่รัก ทั้งยังระบุด้วยว่า การเสียชีวิตของแวร์วอร์ตเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ

ขณะที่ประธานกรรมาธิการพาราลิมปิกประจำเบลเยียม แถลงว่า มารีเก คือ บุคลากรที่สำคัญของแวดวงกีฬา ทั้งยังมีความกล้าหาญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับโรคร้ายที่เธอเป็นอยู่ ส่วนเทศบาลเมืองดีสต์ในเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นบ้านเกิดและที่จบชีวิตของมารีเก ออกแถลงการณ์ว่า เธอจะถูกจดจำในฐานะ อสูรจากเมืองดีสต์ (Beast from Diest) โดยหมายถึงความกล้าหาญและดุดันในการใช้ชีวิตของเธอเอง

ทั้งนี้ มารีเก ป่วยด้วยโรคเสื่อมเรื้อรังบริเวณกระดูกสันหลัง (degenerative disease spine) ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งยังมีอาการของโรคลมชัก และเป็นอัมพาตที่ขาทั้งสองข้าง โดยอาการเหล่านี้แสดงชัดตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ทำให้เธอต้องใช้วีลแชร์อยู่ตลอด แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นนักกีฬา เพื่อพิสูจน์ว่า "เธอเป็นผู้บงการชีวิตตัวเอง" ไม่ใช่โรคร้ายที่เป็นอยู่ ทั้งยังเป็นผู้รณรงค์เรื่องการุณยฆาตที่สำคัญคนหนึ่งในสังคมเบลเยียม

มารีเกคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกรีฑาวีลแชร์ในระยะ 100 เมตร และเหรียญเงินกับเหรียญทองแดงจากการแข่งขันระยะ 200 และ 400 เมตรตามลำดับ เมื่อครั้งที่เข้าแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกในปี 2008, 2012 และ 2016 โดยเธอบาดเจ็บที่หัวไหล่ในปี 2013 และแพทย์บอกว่าเธอไม่อาจกลับไปสู่จุดสูงสุดของนักกีฬาได้อีก เพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยอีกแล้ว

มารีเก แวร์วอร์ต ได้เหรียญทองแดงจากการแข่งกรีฑาวีลแชร์ในพาราลิมปิกเกมส์ที่บราซิลเมื่อปี 2016AFPมารีเก แวร์วอร์ต ได้เหรียญทองแดงจากการแข่งกรีฑาวีลแชร์ในพาราลิมปิกเกมส์ที่บราซิลเมื่อปี 2016

ส่วนสาเหตุสำคัญที่มารีเกตัดสินใจขอการุณยฆาตตัวเองเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเพราะอาการป่วยของเธอเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะสายตาที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนเดิม และอาการเจ็บปวดจากโรคเสื่อมเรื้อรังทำให้เธอไม่สามารถนอนหลับสนิทได้นานเกิน 10 นาที ซึ่งเธออธิบายอาการเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจทานทนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเธอไม่อยากเจ็บปวดไปมากกว่านี้แล้ว จึงขอตัดสินใจยุติชีวิตตัวเอง เพราะอยากให้คนจดจำเธอในฐานะ "ผู้ที่มีรอยยิ้มอยู่เสมอ"

อย่างไรก็ตาม เบลเยียมเป็นประเทศที่ผ่านกฎหมายรองรับการการุณยฆาตตั้งแต่ปี 2002 และมารีเกได้ยื่นเรื่องขอให้แพทย์ลงนามในเอกสารอนุญาตการการุณยฆาตแก่เธอตั้งแต่ปี 2008 เพราะโรคที่เป็นอยู่นั้นไม่มีทางรักษาหาย แต่ก่อนหน้านี้ มารีเกระบุว่า เธอยังไม่คิดจบชีวิตตัวเอง เพราะรู้สึกว่ายังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข แม้ว่าจะรู้สึกเจ็บปวดจากโรคที่เป็นอยู่เกือบจะตลอดเวลาก็ตาม

มารีเกยังเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2016 ด้วยว่า การมีหนังสือรับรองการุณยฆาตไว้กับตัว ช่วยให้เธอมีความมั่นคงทางใจ และมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอยู่นานขึ้นกว่าเดิม สวนทางกับความคิดเห็นของคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่มองว่าการส่งเสริมเรื่องการุณยฆาตจะทำให้คนจบชีวิตตัวเองเร็วขึ้น แต่มารีเกระบุว่าเธอเลื่อนกำหนดการุณยฆาตของตัวเองออกมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เพราะรู้สึกว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เธอจะสามารถจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ ด้วยความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ การการุณยฆาต (Euthanasia หรือ Mercy Killing) คือ การที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยจบชีวิตบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยหนัก หรือเจ็บป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถรักษาหายได้ ต่างจาก แพทยานุเคราะหฆาต ซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician Assisted Suicide หรือ PAS) โดยแพทย์จะให้คำแนะนําในการฆ่าตัวตาย จ่ายยา หรือจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือสําหรับการฆ่าตัวตาย แต่บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้กระทำการฆ่าด้วยตัวเอง แต่การจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทั้งสองกรณีนี้ได้ ผู้ขอจบชีวิตจะต้องผ่านการทดสอบให้ได้ก่อนว่าเป็นการตัดสินใจในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook