รู้จักวีรกรรมสุดกล้าสตรีเยอรมัน ย้อนเรื่องราวหนีภัยสงครามสุดแสบ จนเป็นตำนาน

รู้จักวีรกรรมสุดกล้าสตรีเยอรมัน ย้อนเรื่องราวหนีภัยสงครามสุดแสบ จนเป็นตำนาน

รู้จักวีรกรรมสุดกล้าสตรีเยอรมัน ย้อนเรื่องราวหนีภัยสงครามสุดแสบ จนเป็นตำนาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นปู่เป็นตาของหลานตัวเล็กๆ 3 คนคือ การอ่านนิทานให้หลานฟัง ซึ่งนิทานสำหรับเด็กอายุ 2-5 ขวบส่วนใหญ่ก็เป็นนิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์คือ เจค็อบ ลุดวิจ กริมม์ และ วิลเฮล์ม คาร์ล กริมม์ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักนิทานและเทพนิยายหลายเรื่อง เช่น ฮันเซลและเกรเทล, ราพันเซล, ซินเดอเรลล่า และเรื่องนักดนตรีแห่งเบรเมน จนกลายเป็นที่มาของบทความในวันนี้

นักดนตรีแห่งเบรเมนเป็นนิทานพื้นบ้านของเยอรมนี เป็นเรื่องราวการโคจรมาพบกันของสัตว์ 4 ชนิด ทั้ง 4 ตัวมีปัญหาคล้ายๆ กันคือ เริ่มแก่ สังขารร่วงโรย ทำงานไม่ได้เหมือนเก่า เจ้าของไม่อยากจะเลี้ยงเอาไว้อีกแล้ว โดยมีลา ตัวใหญ่สุด คิดว่าอยู่โรงงานโม่แป้งต่อไปก็ไร้ประโยชน์ ลุยไปเมืองเบรเมนจะดีกว่า ไปเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพเอา ระหว่างนั้นไปเจอหมา ที่บ่นว่าเรี่ยวแรงไม่ค่อยมี ออกช่วยเจ้านายล่าสัตว์ไม่ไหวแล้ว อยู่ไปก็เปลืองค่าอาหาร จึงขอไปกับเจ้าลาด้วย เดินไปได้ไม่ไกล ไปเจอแมว หน้าตาบอกบุญไม่รับ ถามไถ่เข้าก็รู้ว่ามีปัญหาคล้ายกัน แก่แล้วไล่จับหนูไม่ทัน นายหญิงไม่ปลื้ม แมวจึงขอร่วมขบวนไปตายเอาดาบหน้า แต่ยังไม่ทันพ้นประตูไร่ เจอไก่โต้งที่จะถูกเชือดไปเป็นเมนูบนโต๊ะอาหาร ทั้งลา หมา และแมว จึงชวนไก่หนีไปด้วยกัน

บนเส้นทางไปเมืองเบรเมนยามค่ำคืน ทั้ง 4 ตัวเห็นไฟส่องสว่างมาจากกระท่อมหลังหนึ่ง จึงแวะไปชะโงกดู เห็นกลุ่มโจรกำลังกินอาหารกันอยู่ บรรดาสัตว์ทั้ง 4 ปรึกษากันว่าน่าจะไล่เหล่าโจรไปจากกระท่อม จะได้เข้าไปกินอาหารแทน ก็เลยวางแผนต่อตัวเป็นเงาประหลาด เรียงลำดับตามขนาดให้ลาอยู่ล่าง หมาขึ้นไปยืนบนหลังลา ต่อด้วยแมว และไก่อยู่บนสุด จากนั้นก็บรรเลงเสียงดนตรีไปพร้อมๆ กัน

ลาร้อง...เบรๆ หมาเห่า...โฮ่งๆ แมวร้อง...เมี้ยวๆ หง่าว และไก่ขัน...เอ้กอีเอ้กเอ้ก แน่นอนทีเดียวมันเป็นบทเพลงที่ไม่ไพเราะเอาเสียเลย เสียงอย่างกับผีป่าที่น่าสะพรึงกลัว แต่กลับได้ผลชะงัด โจรแตกตื่นวิ่งหนีออกไปคนละทิศละทาง แม้ว่าคืนถัดมาโจรที่ข้องใจจะย้อนกลับมาดูที่กระท่อมนี้อีก แต่ก็ถูกทั้งสี่สหายรุมทำร้าย โดนแมวข่วน หมากัด ลาเตะ และไก่แกล้งร้องเสียงโหยหวนไล่ ท่ามกลางความมืดโดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทำให้เข็ดเขี้ยวไม่กล้ากลับมาอีก สุดท้ายทั้ง 4 สหาย ก็สามารถยึดกระท่อมหลังนั้นอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยไม่ทันต้องไปถึงเมืองเบรเมน

มีเพียงแต่รูปปั้นตั้งไว้ใจกลางเมืองเบรเมน ดึงดูดผู้คนและรายได้เข้าเมืองด้วยเรื่องราวของสี่สหายนักดนตรี

รูปปั้นสี่สหายนักดนตรีกลางเมืองเบรเมน เยอรมนีiStockรูปปั้นสี่สหายนักดนตรีกลางเมืองเบรเมน เยอรมนี

ครับ! พอเล่านิทานเสร็จแล้ว ก็ต้องตามดูแผนที่แล้วเปิดอินเทอร์เน็ตหาดูประเทศเยอรมนี เลยไปเจอเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่สามารถเอามาเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังได้คือเรื่อง “วีรสตรีเยอรมันในอดีต” นี่แหละครับ โดยเรื่องมันเกิดขึ้นที่เมืองไวนซ์แบรก ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองทางตอนเหนือของรัฐบาเดิน - เวือร์ทเทมแบร์ก เมืองนี้มีประชากรประมาณ 11,800 คน เป็นเมืองผลิตไวน์อันมีชื่อเสียงของประทศเยอรมนีแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เนื่องจากเมืองไวนซ์แบรกนี่ปลูกองุ่นเยอะโดยมีสัญลักษณ์ของเมืองเป็นเถาองุ่น

เมืองที่เกิดขึ้นก็เพราะมีตลาดที่ตรงปราสาทของพวกลอร์ดเจ้าของที่ดินสร้างขึ้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองไวนซ์แบร์กนี่ก็ตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1500 นั่นแหละ ก็อยู่กันมาด้วยดีจนกระทั่งราวปี พ.ศ. 1638 ตอนนั้นเกิดมีสงคราม 30 ปี คือ สงครามระหว่างคนนับถือศาสนาเดียวกัน คือศาสนาคริสต์เหมือนกันแต่ต่างนิกายระหว่างคาธอลิก กับ โปรเตสแตนท์ ขึ้นในยุโรปตะวันตกซึ่งรบกันในดินแดนเยอรมนีเป็นส่วนใหญ่

พระเจ้าคอนราดที่สาม (คนเดียวกับที่ไปรบในสงครามครูเสดครั้งที่ 2 นั่นแหละ) ได้ยกทัพมาตีเมืองไวนซ์แบรก ซึ่งทางเมืองไวนซ์แบรกก็ป้องกันปราสาทใจกลางเมืองอย่างเหนียวแน่นแต่ก็ถูกล้อมจนหมดเสบียงจนต้องยอมแพ้ในที่สุด

เมื่อทางป้อมเมืองไวนซ์แบรกยอมแพ้แล้ว พระเจ้าคอนราดที่สามได้ประกาศอนุญาตให้บรรดาสตรีและเด็กหญิงที่อยู่ในปราสาทอพยพออกไปพร้อมกับข้าวของที่สามารถหอบหิ้วไปได้ออกไปก่อนโดยปลอดภัย แล้วพระเจ้าคอนราดก็จะเข้าไปในปราสาทไปจัดการกับพวกผู้ชายที่หัวแข็งในปราสาทต่อไป โดยจะลงโทษพวกที่ต่อต้านซึ่งก็คงจะมีฆ่าบ้างนั่นแหละ แบบว่าพระเจ้าคอนราดที่สามต้องแสดงความใจกว้างดั่งพวกอัศวินที่จะไม่ทำร้ายผู้หญิงและเด็กนั่นเอง

ทว่าพวกผู้หญิงในปราสาทไวนซ์แบรกกลับยอมให้พวกผู้ชายขี่หลังพวกเธอแทนสัมภาระเดินเป็นขบวนกันออกมาจากปราสาท ทำให้พระเจ้าคอนราดถึงกับอึ้งไป แต่เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ ก็เลยต้องปล่อยให้ทั้งหญิงและชายชาวไวนซ์แบรกรอดชีวิตไป ส่วนปราสาทก็ถูกทำลายทิ้ง

อนุสาวรีย์วีรสตรีเยอรมันในเมืองไวนซ์แบรกiStockอนุสาวรีย์วีรสตรีเยอรมันในเมืองไวนซ์แบรก

เรื่องนี้ถูกเล่าขานต่อกันมาจนเป็นตำนานโดยมีอนุสาวรีย์ของบรรดาสตรีเยอรมันผู้ชาญฉลาดและเข้มแข็งแบกผู้ชายบนหลัง เดินขบวนออกมาจากปราสาทไวนซ์แบรกที่ยังเป็นอนุสรณ์อยู่ที่ในเมืองไวนซ์แบรกจนถึงปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook