นักสิ่งแวดล้อมหวั่น "เขื่อนไซยะบุรี" จุดเริ่มต้นของหายนะลุ่มแม่น้ำโขง

นักสิ่งแวดล้อมหวั่น "เขื่อนไซยะบุรี" จุดเริ่มต้นของหายนะลุ่มแม่น้ำโขง

นักสิ่งแวดล้อมหวั่น "เขื่อนไซยะบุรี" จุดเริ่มต้นของหายนะลุ่มแม่น้ำโขง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อน "ไซยะบุรี" ทางภาคเหนือของลาว แสดงความกังวลว่าเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,285 เมกะวัตต์แห่งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อเริ่มการผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังในเดือนหน้า

เขื่อนไซยะบุรีซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 7 ปี ถือเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกจากทั้งหมด 11 โครงการที่มีแผนจะสร้างบนแม่น้ำโขงส่วนตอนล่างของประเทศจีน

แม่น้ำที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีความยาวราว 4,000 กม. ไหลลงมาจากเทือกเขาในธิเบต ผ่านประเทศจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ประชาชนราว 50 ล้านคนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างต้องพึ่งพาแม่น้ำสำคัญสายนี้ในการดำรงชีพ ซึ่งนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่า การสร้างเขื่อนจำนวนมากขนาดนั้นจะทำลายทั้งวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง

คุณไบรอัน อายเลอร์ นักวิจัยแห่ง Stimson Center ผู้นำคณะนักวิจัยด้านนโยบายลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวกับวีโอเอว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างเมื่อต้นปีนี้ และระดับน้ำที่ลดลงเนื่องจากเขื่อนที่ต้นน้ำได้กักเก็บน้ำเอาไว้ คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาถึง

นักวิจัยผู้นี้ชี้ว่า ผลพวงจากการกักน้ำเหนือเขื่อนกำลังบั่นทอนความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงให้กลายเป็นแม่น้ำที่ถูกควบคุมจัดการทั้งหมด และความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่มากับแม่น้ำสายนี้ก็กำลังหายไปเรื่อยๆ

เมื่อเดือนมิถุนายน คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างลดลงต่ำที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ ซึ่งส่งให้หลายพื้นที่ รวมทั้งแถบภาคอีสานของไทย ประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบสิบปี แม้จะเป็นช่วงฤดูฝนก็ตาม

บริษัท CK Power ผู้บริหารเขื่อนไซยะบุรี ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเขื่อนแห่งนี้ได้กักเก็บน้ำเอาไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่คุณเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการกักเก็บน้ำเหนือเขื่อน เพราะไม่มีทางที่ระดับน้ำใต้เขื่อนจะลดลง 1-2 เมตรภายในหนึ่งวัน หากเป็นไปตามธรรมชาติ

และเพื่อลดความกังวลและผลกระทบทางสังคมทางผู้บริหารเขื่อนไซยะบุรีได้ตกลงปรับเปลี่ยนบางส่วนของเขื่อน เช่น ติดตั้งเทคโนโลยีบันไดปลาโจนแบบใหม่ล่าสุด และการติดตั้งประตูน้ำที่ให้ตะกอนดินในแม่น้ำสามารถผ่านเขื่อนไปได้

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าการเปิดประตูปล่อยตะกอนดังกล่าวนั้น อาจทำให้เขื่อนไซยะบุรีไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับป้อนให้แก่ประเทศไทยตามสัญญาที่ทำไว้ได้ ส่วนบันไดปลาโจนแบบใหม่ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่

คุณอายเลอร์ แห่ง Stimson Center กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชะตากรรมของประชาชนในประเทศแถบตอนล่างของแม่น้ำโขงต้องขึ้นอยู่กับการคาดเดาว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่ไม่เคยผ่านการทดสอบนี้จะได้ผลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อาจจะพอมีแสงสว่างจุดเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เมื่อมีรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของลาว EDC ประกาศว่าจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 20% และจะลดการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีอื่นลง รวมทั้งการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

ขณะที่ทางฝั่งรัฐบาลไทยก็กำลังมีการพูดถึงการนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนน้อยลง เพื่อหันไปพัฒนาไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้นเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook