ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแนะเปลี่ยนชื่อ ตะกวด เป็น วรนุช

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแนะเปลี่ยนชื่อ ตะกวด เป็น วรนุช

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแนะเปลี่ยนชื่อ ตะกวด เป็น วรนุช
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตะกวดอาละวาดหนัก แต่ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง กระทรวงทรัพย์ฯ เตรียมสนับสนุนให้เพาะเลี้ยงเพื่อส่งออก พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วรนุช

นาย ชัชวาล พิศดำขำ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้รับแจ้งจากประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในแถบจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และ จ.ราชบุรี จำนวนมากว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ปริมาณ ตะกวด หรือตัวเหี้ย กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวด เร็วในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งยังออกมาสร้างความเดือดร้อน โดยการขุดคุ้ยหาเศษอาหาร ตามถังขยะ รวมทั้งยังแอบไปกินเป็ด กินไก่ และปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชัง บางตัวถึงขนาดเข้าไปคุ้ยหาอาหารในห้องครัวของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์อยู่ในบัญชีสัตว์ คุ้มครอง หากทำร้ายเท่ากับทำผิดกฎหมาย

นายชัชวาลกล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อได้รับแจ้ง สำนักสัตว์ป่าฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากเป็นกรณีที่พื้นที่ใดมีจำนวนมากก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจับมา และนำมาเลี้ยงไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า แต่หากมีจำนวนไม่มากก็จะให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันไม่ให้ตัวเหี้ยออกมารบกวน เช่น ทำความสะอาดพื้นที่ไม่ให้มีซากขยะ รวมไปถึงปรับปรุงกรงและบ่อเลี้ยงปลาให้มิดชิด ไม่ให้ตัวเหี้ยบุกเข้าไปได้ แต่เรื่องหลังนั้นทำค่อนข้างยาก

 

 

"เวลานี้เหี้ยเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งออกอาละวาดสร้างความเดือดร้อนระอาใจให้ชาวบ้านมากขึ้นด้วย ใครจับ ใครฆ่าก็ไม่ได้อีก เพราะผิดกฏหมายเนื่องจากเป็นสัตว์คุ้มครอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของอส. ที่จะไปช่วยจับก็มีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่จะอาศัยวิธีแนะนำป้องกันเพื่อไม่ให้มันเข้ามารบกวนชาวบ้านแทน แต่ผมก็ไม่อยากให้คิดว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ เพราะในธรรมชาติแล้ว เหี้ยเปรียบเสมือนคนเก็บขยะหรือเทศบาล จะช่วยเก็บของเสียในระบบนิเวศ หากไม่มีพวกมันก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบนิเวศ และอาจจะมีสัตว์ไม่พึงประสงค์ออกมาแทน" นายชัชวาลกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กอง คุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (ไซเตส) ก็กำลังพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการทดลองเพาะเลี้ยงเหี้ย เพื่อการส่งออก เนื่องจากมีความต้องการในต่างประเทศ ในการนำหนังไปใช้ประโยชน์ คาดว่าไม่นานน่าจะดำเนินการออกมาอย่างชัดเจน และอาจจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และเป็นความพอใจของทุกฝ่ายด้วย" ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าว

นายชัชวาล กล่าวอีกว่า ตัวเหี้ยมีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า Varanus salvator หรือถ้าอ่านเป็นภาษาไทย ก็อาจจะอ่านว่า วรนุช ก็ได้ ถ้ามองโลกในแง่ดี คิดว่าถ้าเปลี่ยนจากเรียกสัตว์ตัวนี้จาก ตัวเหี้ย เป็นตัววรนุช ก็อาจจะทำให้คนดูถูกเหยียดหยามสัตว์ชนิดนี้น้อยลง อีกทั้งในอนาคตหากมีการเพาะพันธุ์ส่งออกได้ ก็ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีมูลค่า และสามารถทำเงินเข้าประเทศได้ด้วย

 


ด้านนายวัฒนา เวทยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (ไซเตส) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้มาขออนุญาตเพื่อทำการเพาะเลี้ยงตัวเหี้ย เพื่อการศึกษา วิจัยการนำมาใช้ประโยชน์แล้ว 1 แห่ง อยู่ที่ จ.สระบุรี แต่เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้ยังอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง ที่หากจะทำการเพาะพันธุ์ก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายคือ เปลี่ยนให้กลายเป็นสัตว์ป่าที่สามารถเพาะพันธุ์ได้เสียก่อน ดังนั้นจึงยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อธุรกิจแต่อย่างใด ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า เหี้ยนี้เป็นสัตว์ที่เป็นที่ต้องการมากในประเทศอินโดนีเซีย ถึงขั้นมีการรับซื้อกันตัวละหลายเหรียญสหรัฐ เพราะหนังมีคุณภาพดีเทียบเท่ากับหนังจระเข้ และที่ต่างประเทศก็มีการเพาะเลี้ยงทำฟาร์มกันอย่างแพร่หลาย ส่วนในประเทศไทยมีเพียงการศึกษาวิจัยเท่านั้น ขณะนี้กองไซเตส กำลังเร่งที่จะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจการเลี้ยงตัวเหี้ยมากขึ้น หากมีจำนวนมากอย่างน้อยก็ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนมาดูได้ และหากมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนมากๆ เรื่องการแก้กฎหมาย เพื่อที่จะสามารถเพาะเลี้ยงส่งออกตัวเงินตัวทอง และแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากจำนวนของมันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆแล้ว กรมอุทยานฯ ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที

"เบื้องต้นการแก้ปัญหาก็คือการให้คำแนะนำ เรื่องการป้องกัน และถ้ามีมากก็เป็นหน้าที่ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่จะออกไปจับ แต่เราไม่แนะนำให้ประชาชนจับเองแล้วเอาไปปล่อยที่อื่นเพราะมันก็จะไปสร้าง ปัญหาให้ที่อื่นอีก และในขณะนี้หากการส่ง เสริมการเพาะเลี้ยงมีความเป็นไปได้ รวมทั้งได้รับความสนใจและยอมรับจากสังคม ก็เชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาตัวเงินตัวทองล้นเมืองในอนาคตได้" ผอ.ไซเตสกล่าว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook