เด็กกว่า 2 หมื่นสละสิทธิแอดมิสชั่นส์

เด็กกว่า 2 หมื่นสละสิทธิแอดมิสชั่นส์

เด็กกว่า 2 หมื่นสละสิทธิแอดมิสชั่นส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมินเข้าเรียนมหาวิทยาดัง ทั้งเกษตรศาสตร์-จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ อธิการบดีชี้เหตุได้คณะไม่โดนใจ สมัครหลายช่องทาง ศธ.เร่งแก้ปัญหาบัณฑิตตกงาน ตั้งทีมวางแผนผลิตทั้งสายอาชีวะ-อุดมศึกษา

นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานวันสหกิจศึกษาไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ.2552 โดยระบุว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้ เนื่องจากสถานประกอบการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่บัณฑิตจบออกไปกลับหางานทำไม่ได้ ซึ่งต้องปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ว่า ด้วยสาเหตุของปัญหาดังกล่าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อวางแผนผลิตกำลังคน กระทรวงศึกษาธิการ (กรอ.ศธ.) มีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ และภาคเอกชน 45 ภาคส่วน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาการพยาบาล สภาทนายความ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นายธงทองกล่าวว่า กรอ.ศธ.จะทำหน้าที่วางแผนการผลิตผู้ที่จบการศึกษาในทุกระดับทั้งอาชีวะและอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบการ ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะตอบโจทย์ของนายกรัฐมนตรีได้ กรอ.ศธ.ได้จัดประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงปัญหาของผู้ที่จบการศึกษากับความต้องการของสถานประกอบการหรือภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน แต่การที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องอาศัยข้อมูลและสถิติเพื่อดูว่าปัญหามีความรุนแรงแค่ไหน ในการประชุมที่ผ่านมา ประธานกรอ.ศธ.จึงได้มอบหมายให้แต่ละภาคส่วนกลับไปรวบรวมข้อมูล ก่อนจะนำกลับมาเสนออีกครั้งในการประชุมกรอ.ศธ.วันที่ 25 มิถุนายนนี้ โดยมี สศช.ช่วยดูความเชื่อมโยงของแต่ละภาคส่วนในทุกมิติ แทนที่จะมองแยกกันเป็นท่อนๆ

"ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 2 ก็จะมีคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ซึ่งจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้" นายธงทองกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ลงประกาศใน www.cuas.or.th ของ สอท.ระบุว่าจากผลการประกาศผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา 2552 จำนวนประมาณ 7-8 หมื่นคน ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้มีสละสิทธิสอบสัมภาษณ์จำนวนมากทำให้คณะ/สาขาวิชา ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ไม่สามารถรับผู้เข้าศึกษาได้ครบตามจำนวนประกาศรับไว้ จึงเป็นการตัดโอกาสของผู้ที่มีความต้องการเข้าศึกษาในคณะ/สาขาวิชานั้น ๆ ดังนั้น สอท. จึงขอให้ผู้สมัครสอบพิจารณาให้ดีก่อนที่จะเลือกคณะ/สาขาวิชา ในการสอบระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา (แอดมิสชั่นส์) ในปีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)พบว่า มีนักเรียนสละสิทธิสอบสัมภาษณ์ 21,910 คน โดยมหาวิทยาลัยที่เด็กสละสิทธิการสอบสัมภาษณ์ มีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียง รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 416 คน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1,690 คน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 664 คน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 514 คน มหาวิทยาลัยทักษิณ 379 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 336 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 404 คน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 579 คน มหาวิทยาลัยนครพนม 30 คน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 คน มหาวิทยาลัยนเรศวร 1,101คน มหาวิทยาลัยบูรพา 1,335 คน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 1,549 คน มหาวิทยาลัยมหิดล 295 คน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 633 คน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 545 คน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 593 คน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 390 คน มหาวิทยาลัยศิลปากร 854 คน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1,359 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 818 คน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 455 คน เป็นต้น ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบว่าคณะที่นักเรียนสละสิทธินั้น มีเกือบทุกคณะ เช่น ทันตแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น

นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การสละสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ของนักเรียนเกิดขึ้นทุกปี ดังนั้นจำนวนนักเรียนที่สละสิทธิ์ 2 หมื่นกว่าคนนั้นน่าจะเป็นตัวเลขปกติ เพราะในแต่ละปีจะมีเด็กที่สอบแอดมิสชั่นส์ได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยประมาณ 5 หมื่นกว่าคน จากผู้ที่ผ่านประมาณ 7 หมื่นกว่าคน ซึ่งในปีนี้ทราบตัวเลขเบื้องต้นว่ามีประมาณ 6 หมื่นกว่าคน ทั้งนี้ ต้องดูข้อเท็จจริงว่าการที่เด็กสละสิทธิทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยหายไปจริงหรือไม่ ซึ่งคิดว่าการสละสิทธิจะกระทบกับบางสถาบันเท่านั้น เพราะจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยประกาศรับจะกำหนดจำนวนเผื่อเด็กสละสิทธิด้วยประมาณ 15 % อย่างไรก็ตามการที่เด็กสละสิทธิเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องหาคำตอบว่าทำไมเด็ก 2 หมื่นกว่าคนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนทำไมไม่ใช้โอกาสเหล่านี้และจะมีเหตุผลใดที่จะไม่เรียน

"ผมคิดว่าเด็กที่สละสิทธิส่วนใหญ่น่าจะมีที่เรียนแต่คงไม่ครบ 100 % เด็กบางคนอาจจะเผื่อที่เรียนไว้หลายที่แล้ว โดยอาจจะไปเรียนในหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัยอื่นแทน ผมเคยเจอบางคนแอดมิสชั่นส์ติดในคณะอันดับ 4 ที่เลือกไว้ แต่เมื่อเขาไปดูรายละเอียดแล้วคิดว่าไม่เหมาะที่จะเรียนจึงตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดแทน" เลขาธิการกกอ. กล่าว

ด้านนายบุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีนักเรียนที่สอบเข้าเรียนต่อในมอ.ได้ไม่มาสอบสัมภาษณ์และรายงานตัวประมาณ 900 คน แต่ตัวเลขในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมามาก โดยทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ประกาศรับเพิ่มเพื่อให้เต็มจำนวนประกาศรับ เนื่องจากเห็นว่าการที่มีนักศึกษาน้อยลงจะทำให้ห้องเรียนมีขนาดเล็กซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน

ขณะที่นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลจำนวนนักเรียนที่สละสิทธิ์สอบสัมภาษณ์เข้าเรียนใน มก. แต่ดูจากจำนวนนักเรียนที่เข้าปฐมนิเทศทุกวิทยาเขตของ มก.แล้วมีประมาณ 13,000 กว่าคนอาจจะมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่ตัวเลขการสละสิทธิ์มากนั้นเป็นไปได้ว่าตัวเลขอาจจะซ้ำซ้อน เพราะเด็กอาจจะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในช่องทางอื่นด้วยนอกจากการสมัครในระบบแอดมิสชั่นส์เพียงอย่างเดียว เช่น สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรพิเศษ ระบบรับตรง เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook