เผย 3 เคล็ดลับถ่ายภาพ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก" ให้ดูยิ่งใหญ่เป๊ะปังอลังการ

เผย 3 เคล็ดลับถ่ายภาพ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก" ให้ดูยิ่งใหญ่เป๊ะปังอลังการ

เผย 3 เคล็ดลับถ่ายภาพ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก" ให้ดูยิ่งใหญ่เป๊ะปังอลังการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (21 ม.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ข้อมูลและภาพเป็น 3 กลเม็ดเคล็ด (ไม่) ลับ การถ่ายภาพ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก” อย่างไรให้ดูยิ่งใหญ่เป๊ะปังอลังการ ในคืนนี้ (21 มกราคม 2562) โดยระบุว่า

การถ่ายภาพ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก” นั้น สิ่งสำคัญ คือ จะถ่ายภาพออกมาอย่างไรให้ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดใหญ่อลังการ “เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์” จึงค่อนข้างมีความสำคัญกับการถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้ จึงขอแนะนำ 3 ไอเดีย ดังนี้

ไอเดียที่ 1 : การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก

การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก (Moon Illusion) หรือภาพลวงตานั้น คือ การถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปกติดวงจันทร์เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะมีขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศา (เหยียดแขนให้สุด ใช้นิ้วก้อยวัดขนาดเท่ากับ ครึ่งนิ้วก้อย) ดังนั้นหากต้องการถ่ายภาพเปรียบเทียบกับวัตถุบนโลก ก็ต้องให้วัตถุดังกล่าวมีระยะห่างจากจุดถ่ายภาพไกลพอที่จะทำให้มองเห็นวัตถุนั้นๆ มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเช่นกัน นอกจากการหาสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว การเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ และการเลือกโฟกัสที่ฉากหน้าหรือตัววัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ก็เป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ (รายละเอียดเพิ่มเติม : https://goo.gl/oihGyj)

ไอเดียที่ 2 : การถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงเที่ยงคืน เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด

เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด คือ “การถ่ายภาพในช่วงเที่ยงคืน” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ผู้สังเกตบนโลก ตำแหน่งดวงจันทร์ในช่วงเที่ยงคืนนั้นเป็นไปตามหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ในเวลาเที่ยงคืน นอกจากดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับผู้สังเกตแล้ว ดวงจันทร์ยังอยู่บริเวณกลางท้องฟ้าทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ชัดเจนและใสเคลียร์อีกด้วย

ไอเดียที่ 3 : การถ่ายภาพเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์เต็มดวงไกล-ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

หากใครที่ได้ถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีไว้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ก็สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี เพื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกันได้ ประการสำคัญของการถ่ายภาพลักษณะนี้คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพต้องเป็นอุปกรณ์แบบเดียวกัน

แนะนำว่า ในปีนี้เราอาจถ่ายภาพ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2562” ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ไว้ก่อน แล้วเมื่อถึงวันที่ 14 กันยายน 2562 ก็ตามถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีอีกครั้ง เพื่อนำเอาทั้งสองภาพมาเปรียบเทียบกัน ก็จะได้ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันมากที่สุด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อมูลและภาพเชิญชวนประชาชนสังเกตปรากฏการณ์ทางท้องฟ้าที่น่าสนใจ โดยระบุว่า 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ชวนตื่นเช้าชมความงาม #3ดาวสว่างเด่น ได้แก่ #ดาวศุกร์ #ดาวพฤหัสบดี และ #ดาวแอนทาเรส ช่วงเช้ามืด 22-24 ม.ค. 62 จากนั้นรอชม “ดาวเคียงเดือน” 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 62 ดาวพฤหัสบดี - ดาวศุกร์เคียงดวงจันทร์เสี้ยว สังเกตได้ตั้งแต่ 03.45 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เห็นชัดด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ในช่วงนี้ ดาวศุกร์ และ ดาวพฤหัสบดี 2 ดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า จะปรากฏในช่วงเช้ามืด และวันที่ 22-24 มกราคม 2562 จะมีดาวสว่าง 3 ดวง ปรากฏใกล้กัน ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวแอนทาเรส ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวแมงป่อง สังเกตด้วยตาเปล่าได้ชัดเจนมาก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.45 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะค่อยๆ ขยับเข้าใกล้กันมากที่สุดในช่วงเช้าวันที่ 23 มกราคม 2562 ห่างเพียง 2.5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 2 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วโป้ง)

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ “#ดาวเคียงเดือน” ในวันที่ 31 มกราคม 2562 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้าเคียงข้างดวงจันทร์ แรม 10 ค่ำ ห่างกันประมาณ 2.3 องศา หลังจากนั้น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ดวงจันทร์ แรม 11 ค่ำ จะเคลื่อนมาใกล้ดาวศุกร์ ห่างกันประมาณ 3 องศา ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวบาง สังเกตได้ในช่วงเช้ามืดเช่นกัน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.45 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า

"ช่วงเดือนมกราคม ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพท้องฟ้าส่วนใหญ่จึงมีทัศนวิสัยดีเหมาะแก่การดูดาวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเชิญชวนผู้สนใจตื่นเช้าชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์" นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ เผย 3 เคล็ดลับถ่ายภาพ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก" ให้ดูยิ่งใหญ่เป๊ะปังอลังการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook