จับอาการ "สัญญาณปราม" ท่ามกลางการเมืองเคลื่อนไหวคึกคัก

จับอาการ "สัญญาณปราม" ท่ามกลางการเมืองเคลื่อนไหวคึกคัก

จับอาการ "สัญญาณปราม" ท่ามกลางการเมืองเคลื่อนไหวคึกคัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าสนใจความเคลื่อนไหวการเมือง “คู่ขนาน” ระหว่างทางเดินไปสู่การเลือกตั้งที่ปรากฏ “เงื่อนไขพิเศษ” พระราชพิธีสำคัญ ที่ทำให้การกำหนด “ไทม์ไลน์” ต้องรอบคอบรัดกุมและให้ความสำคัญกับความเหมาะสมบังควร อันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. กองทัพ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคการเมือง ประชาชน ทุกภาคส่วน

น่าสนใจในความชัดเจน ที่ปรากฏผ่าน “คณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในขั้นตอนพระราชพิธี 3 ช่วง โดยพระราชพิธีช่วงกลางคือ ตัวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มี 3 วัน คือ วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม และวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2562 แต่พิธีเบื้องต้นที่นำหน้ามาก่อนนั้น มีเกือบเต็มทั้งเดือนเมษายน ส่วนกิจกรรมเบื้องปลายต่อเนื่องหลังวันที่ 6 พฤษภาคม ในวันที่ 8-9 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีพืชมงคล รวมทั้งกิจกรรมของรัฐบาลและประชาชนที่จะจัดน้อมเกล้าฯ ถวาย

น่าสนใจใน “สัญญาณ” การออกมาปรามเตือนแบบดุๆ ไปยังนักการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหว โดยเฉพาะ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ของ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะตามมาด้วย คสช.ที่ “จับไต๋” การออกมาเคลื่อนไหวว่าอาจมีนัยเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ทำให้สังคมมีความรู้สึกกังขาและมองว่าไม่เหมาะไม่ควร เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำเป็นอาชีพ

เป็น “ม็อบคนอยากเลือกตั้ง” ที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล คสช. ล่าสุดวันวาน (13 ม.ค.) โดยอ้างถึงวันที่ 24 ก.พ. ที่ไม่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ. ในราชกิจจานุเบกษา โดยกลุ่มนี้ยังออกแถลงการณ์ยื่นคำขาด 3 ข้อ ที่น่าสนใจคือ การเรียกร้องให้ไม่เลื่อนวันเลือกตั้งไปเกินกว่า 10 มี.ค. 62 เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลให้ กกต. ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็น “โมฆะ” และยังขู่ด้วยว่าหากภายในวันที่ 18 ม.ค. 62 นี้ รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้ง หรือยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเปิดทางให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งได้นั้น จะมีการนัดชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. 62 พร้อมกับยกระดับการชุมนุม และกิจกรรมการชุมนุมที่เข้มข้นขึ้น

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ มีแรงเสียดทานจากฝ่ายการเมืองมายังรัฐบาล คสช. ว่าด้วยประเด็น 150 วัน ต้องจัดเลือกตั้งหลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญ 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่ง “เดดไลน์” คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และตั้งข้อสงสัยว่านับรวมช่วงเวลาที่ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันด้วยหรือไม่

ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องตีความข้อกฎหมายหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 268 กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 267 ในขณะที่ประธาน กกต. “อิทธิพร บุญประคอง” ยืนยันต้องรอ “ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง” ออกมาก่อน กกต.จึงจะประกาศวันเข้าคูหากาบัตรอย่างชัดเจน และจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ทัน 150 วัน ไม่มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน

น่าสนใจว่าในจังหวะเวลาเดียวกัน หันมาดูฟากฝั่งพรรคการเมือง แม้จะมีท่าที “ทางเปิด” อยู่บ้างกับความกังวล แต่ก็ดูคล้ายกับจะเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งแน่แต่ไม่รู้วันไหน หลายพรรคการเมืองจึงเร่งลงพื้นที่หาเสียงเก็บแต้มทำคะแนน ไม่แต่เฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ระหว่างลุยพื้นที่ภาคเหนือ อันเป็นจังหวะเดียวกับที่ นายกฯ ลุงตู่ ลงพื้นที่ ครม.สัญจรไปยัง ลำปาง เชียงใหม่ เช่นเดียวกัน ขณะที่ พรรคเพื่อไทย หลังจาก “คุณหญิงหน่อย” นำทีมตระเวนภาคเหนือ ก็ลงพื้นที่กรุงเทพโซน “ร.ต.อ.เฉลิม” เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงมีรายงานจากชุดข้อมูลที่ทำให้หลายฝ่ายจับตาปฏิกิริยาท่าทีของ ผบ.ทบ. “บิ๊กแดง” ที่ว่ากันว่า สะท้อนชัดถึง “ธง” ที่จะสอดรับกันกับ “รัฐบาล คสช.” ภายใต้ “นายกรัฐมนตรี” ที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังคงมีหน้าที่ในการดูแลบ้านเมือง ณ ขณะ ก่อน และหลังเลือกตั้งเดินไปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook