บอกไม่ได้ ยิ่งต้อง “ให้”

บอกไม่ได้ ยิ่งต้อง “ให้”

บอกไม่ได้ ยิ่งต้อง “ให้”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่า ไม่ว่าเขาจะเป็นสัตว์แบบไหน ก็ล้วนแต่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ได้ทั้งนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลของความน่าเห็นใจที่เราผู้เป็นมนุษย์ควรระลึกถึง เราเจ็บ เราป่วย เราร้อน เราหนาว เรายังบอกให้คนมาช่วยบรรเทาได้ แต่สำหรับพวกเขาล่ะ?

หลายปีก่อน ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งใจเดินทางจากอเมริกาเพื่อมาทำการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ในประเทศเขตร้อนที่สวนสัตว์เขาดิน (เขตดุสิตเดิม) และสวนสัตว์เชียงใหม่ เธอได้พบกับเหตุการณ์ประหลาดคือ ในแต่ละเดือนจะมีคนขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาพร้อมเอาสัตว์ป่าที่ชื่อลิงลม หรือนางอาย ซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ชนิดหนึ่งมามอบให้กับเจ้าหน้าที่สวนสัตว์พร้อมให้ช่วยเอาไปเลี้ยงหน่อย มันหลุดออกมาจากป่า ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ เขานำมาทิ้งจากการแอบซื้อไปเลี้ยง แล้วไม่อยากเลี้ยงต่อ หรือเลี้ยงไม่ไหวนั่นเอง โดยสภาพของเจ้าสัตว์น้อยพวกนั้นที่ถูกเลี้ยงด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างไม่ใส่ใจและไม่เคยอยู่ในป่าที่แท้จริง ทำให้การจะกลับไปอยู่ป่าธรรมชาติยากลำบากมาก เพราะสัญชาตญาณการหาอาหารกินเองแทบจะสูญสิ้น

นอกจากนี้แล้ว ความรู้เรื่องสัตว์ชนิดนี้ในสมัยนั้นก็มีน้อยมากในประเทศไทย แม้กระทั่งในต่างประเทศเองก็นับว่ามีไม่เยอะ ทำให้สาวลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่ชื่อ แนนซี่ ต้องค้นคว้าหาข้อมูลเอง และเธอจึงเริ่มคิดตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่า Love Wildlife เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าโดยเฉพาะน้องลิงลม หรือนางอาย ซึ่งก็ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติด้านการศึกษาหาความรู้ร่วมกันและช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตของสัตว์ประเภทนี้ให้ดีขึ้น รวมถึงฝึกและกระตุ้นสัญชาตญาณการหาอาหารกินเองในป่าให้กลับคืนมา เพื่อจะได้ปล่อยพวกเขากลับคืนสู่ป่าและอยู่รอดได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

กว่า 14 ปีแล้วที่ลิงลม หรือนางอาย ซึ่งถูกพลัดพรากจากชีวิตจริงในป่าได้รับการช่วยเหลือและดูแลให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าจนบางตัวพร้อมกลับสู่ป่าธรรมชาติอีกครั้ง ปัจจุบันศูนย์ที่ดูแลและอนุบาลลิงลมพวกนี้อยู่ที่อำเภอบางพระ จังหวัดชลบุรี โดยคุณแนนซี่ได้เล่าว่าในปัจจุบัน ปัญหาลิงลมที่ถูกลักลอบนำมาเลี้ยงและปล่อยทิ้งไม่ได้ยิ่งหย่อนลงไปเลย แต่กลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยบางเดือนมีมากถึง 8-10 ตัว ขณะที่เดือนที่มีน้อยก็ยังมี 1-2 ตัวอยู่ตลอด โดยทุกวันนี้มีน้องลิงลมอยู่ในศูนย์ดูแลของ Love Wildlife ทั้งสิ้นถึง 86 ตัวด้วยกัน มีทั้งที่คนลักลอบนำมาเลี้ยงแล้วเลี้ยงต่อไม่ไหว และของกลางที่ถูกจับมาจากการลักลอบค้าอีกก็มาก

โดยทางเจ้าหน้าที่ของ Love Wildlife ต้องดูแลสัตว์เหล่านี้ในทุกกรณี โดยจับแยกตัวผู้และตัวเมียเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ที่มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ นอกจากนี้ ยังต้องแยกตัวผู้ไม่ให้อยู่ด้วยกันด้วย เพราะจะกัดกันและทำร้ายกันอย่างรุนแรงตามสัญชาตญาณ จึงทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการดูแลค่อนข้างมาก ขนาดกรงต่อตัวคือ 4 x 4 เมตร และลิงลมแต่ละตัวก็มีอายุเฉลี่ยประมาณ 10 ปี จึงต้องใช้งบประมาณในการดูแลที่ต่อเนื่องค่อนข้างสูง บางตัวที่ไม่สามารถจะปล่อยกลับสู่ป่าธรรมชาติได้ ทางมูลนิธิฯ ก็ต้องดูแลต่อไปจนตลอดชีวิตของมัน ส่วนตัวที่มีแนวโน้มว่าจะทำการปล่อยกลับสู่ป่าธรรมชาติได้ก็ต้องทำการทดสอบ หรือ Soft Release เป็นขั้นทดลองปล่อยในพื้นที่เสมือนป่าแคบๆ ให้หาอาหารกินเองก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ พร้อมทั้งมีการเตรียมการและทดสอบอีกหลายขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจจริงๆ ว่ามันจะสามารถกลับไปอยู่ป่าได้อย่างปลอดภัยและอยู่รอดต่อไปได้

คุณแนนซี่ และ Love Wildlife นอกจากช่วยเหลือน้องลิงลม หรือนางอาย แล้วยังได้ทำการศึกษาสัตว์ชนิดนี้ไปพร้อมกันด้วย ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของสัตว์ประเภทนี้ แต่ก็ยังนับว่าไม่เพียงพอและต้องทำการศึกษากันต่อไป รวมถึงต้องเสาะหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประเทศอื่นๆ มาต่อยอดด้วยจึงจะทำให้วงจรการช่วยเหลือในอนาคตสมบูรณ์ขึ้น

แม้มูลนิธิ Love Wildlife จะมุ่งช่วยลิงลม หรือนางอาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ช่วยชีวิตสัตว์ป่าชนิดอื่น เมื่อมี Case สัตว์ป่าอื่นๆ เข้ามาทางมูลนิธิฯ ก็จะเข้าไปช่วยดูแลให้ตามกำลังที่สามารถจะทำได้อยู่เสมอ และในทุกๆ ปีช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคมของอีกปี ทางมูลนิธิฯ ยังได้มีการจัดกิจกรรมทริปชมปลาวาฬขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้ความรู้และแนะนำการศึกษาข้อมูลจากสัตว์ในธรรมชาติจริงแก่ผู้ที่สนใจ รวมทั้งเป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมด้านอื่นๆ ด้วย โดยท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Love Wildlife ได้ที่ https://www.facebook.com/LoveWildlifeFoundation/ และมาร่วมกันช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ผ่านการช็อปได้ที่ Socialgiver.com และแอป Socialgiver ทางเราต้องขอขอบคุณบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด และ Sanook.com ที่ให้พื้นที่ในการเล่าเรื่องโครงการดีๆ ที่ Socialgiver ร่วมสนับสนุนผ่านทางช่องทางต่างๆ ด้วย


--------

อ่านเรื่องราวของ GIVING & INNOVATION : ONLINE การ “ให้” เพื่อชีวิตใหม่ ON GROUND เรื่องอื่นๆ ที่นี่

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook