ตายายสุโขทัย ทั้งสับทั้งสาน นั่งทำสิ่งประดิษฐ์วิถีไทยที่ไร้คนสืบทอดวิชา
คุณตานั่งสับ คุณยายนั่งสาน คู่ชีวิตวัยชราชาวสุโขทัยยังคงประดิษฐ์เครื่องจักรสานด้วยมือ หารายได้ไปวันๆ พร้อมกับทำใจที่วิชาเหล่านี้จะตายไปพร้อมกับตัวเอง เพราะไม่มีใครสืบทอดอีกต่อไป
สิ่งประดิษฐ์วิถีไทยที่รุ่นตารุ่นยายได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นทวด อาจจะต้องเหลือเป็นความทรงจำในรุ่นปัจจุบัน เพราะขาดคนสานต่อ ซึ่ง นายเนียน อายุ 82 ปี ชาว ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย กล่าวว่า คนรุ่นใหม่มักไม่มีเวลาและขาดความอดทนในการประดิษฐ์
ทุกวันนี้สิ่งที่ตาเนียนทำคือไม้ตาลที่สามารถใช้ยืดเส้นยืดสาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยการนำไม้ตาลที่แห้งแล้วยาวประมาณ 1 เมตร มาทำความสะอาด เหลาตัดขอบเพื่อลบเหลี่ยม พร้อมตบแต่งให้สวยงามจับพอดี จากนั้นนำสายยางมาสอดไส้ในด้วยสายพานรถไถที่ไม่ใช้แล้ว ตัดเป็นท่อนทำห่วง ตอกติดกับไม้ตาล เพื่อให้สอดส้นเท้า หรือแขนเข้าไป เพื่อให้สามารถใช้ในการงัดส้นเท้าเพื่อยืดเส้น หรือสอดแขนเข้าไปเพื่อบิดตัวไปมาซ้าย-ขวา
ตาเนียน เล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนในละแวกบ้าน เป็นคนสูงอายุ ก็จะขายกันในราคากันเองอันละ 20 บาท แค่พอค่าแรง แต่ก็มีที่มาสั่งจำนวนมากเพื่อไปขายต่อ ตาเนียนก็จะคิดราคาอันละ 50 บาท ซึ่งไม้นวดขานี้มีคนมารับเอาไปขาย เค้าก็จะไปขายต่ออันละ 100 -150 บาท
ขณะที่ นางเมือง อายุ 78 ปี ภรรยาของตาเนียน ตื่นเช้ามาก็จะใช้ลานโล่งใต้ถุนบ้าน นั่งสานเข่ง กระบุง ตะกร้า กระด้ง ข้องปลา และทำเข่งปลาทูที่ปัจจุบันมีคนมาสั่งเพื่อนำไปใช้แทนภาชนะบรรจุอาหารตามงานเทศกาลต่างๆ โดยมีตาเนียนคอยตัดไม้หวายมาตากแดด ส่วนยายเมืองจะนั่งกรีดไม้หวายให้ได้ขนาด ก่อนจะสานขึ้นรูป
หรือถ้าหากเป็นงานไม้ไผ่ก็เช่นกัน เมื่อเหลาได้ปริมาณที่ต้องการ ก็จะนั่งสานไปอย่างนี้ เพื่อเป็นรายได้ในแต่ละวัน ซึ่งก็แล้วแต่งานมีมากมีน้อย
ทั้งสองตายาย กล่าวว่า ที่ทำงานสานอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้หวังกำไรอะไรมากมาย ทำไปแก้เหงาและยังพอมีแรงทำก็ทำไป เงินที่ได้มาก็กินใช้ไปวันๆ แต่ถ้าจะหวังให้ลูกหลานมาเรียนรู้เพื่อเป็นอาชีพในอนาคตท่าทางจะยาก เพราะวิถีชีวิตคนรุ่นนี้ออกไปทำงานรับจ้างกันหมด
ในปัจจุบันยังมีเครื่องจักสานและงานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติให้เห็น แต่อนาคตอาจเหลือเพียงความทรงจำ จึงสานกระบุงไว้ให้ลูกหลานคนละคู่ เพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติให้ลูกๆ เอาไว้หากคิดถึงกันในยามที่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ