จาก “เอ็นทรานซ์” ถึง “TCAS” ปัญหาซุกใต้พรมกับนักเรียนหนูทดลอง

จาก “เอ็นทรานซ์” ถึง “TCAS” ปัญหาซุกใต้พรมกับนักเรียนหนูทดลอง

จาก “เอ็นทรานซ์” ถึง “TCAS” ปัญหาซุกใต้พรมกับนักเรียนหนูทดลอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวงการการศึกษาที่ดูเงียบเหงามานานก็กลับคึกคักขึ้น เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในปีนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้คลอดระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ออกมา ในชื่อว่า Thai University CentralAdmission System หรือเรียกสั้นๆ ว่า TCAS ซึ่งเป็นการเปิดใช้เป็นปีแรก และยังถือว่ามีข้อบกพร่องอยู่มากพอสมควร ส่งผลให้เกิดดราม่าในโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง

>> กว่าจะได้ใบปริญญา…จากเอนทรานซ์ สู่แอดมิชชั่น ถึง “TCAS”
>> ระบบคอมพ์ล่มอีกแล้ว! "ทปอ." ขยายเวลารับสมัคร TCAS รอบที่ 3

อย่างไรก็ตาม TCAS ไม่ใช่ระบบแรกที่มีปัญหา เพราะนับตั้งแต่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกใน พ.ศ. 2504 ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเสมอ เพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ จนกระทั่งบัดนี้ กว่า 50 ปี มีการเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วถึง 5 ระบบด้วยกัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะปิดช่องโหว่ได้ไม่หมดเสียที

จาก “เอ็นทรานซ์” ถึง “TCAS”
“การเปลี่ยนแปลงระบบการสอบก็เหมือนการหนีปัญหาหนึ่งมาเจออีกปัญหาหนึ่ง สอบเอนทรานซ์ปีละครั้ง คนก็บอกว่าเด็กเครียด ก็เปลี่ยนเป็นสอบสองครั้ง ปรากฏว่ามันก็ไปรบกวนการเรียน ม.6 เพราะเรียนแค่เทอมต้น ก็มีการสอบกันเสียแล้ว คนก็บอกว่าระบบนี้ไม่ดี เพราะเด็กต้องเรียนเร็วขึ้นแล้วก็ต้องมานั่งติวกัน พอเปลี่ยนมาเป็น O-Net ก็มีปัญหาอีก เพราะว่าเป็นการประเมินผลหลังจากจบหลักสูตร ไม่ใช่ข้อสอบเอนทรานซ์ จะเอาไปผูกกับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคณะเขาก็รู้สึกว่ายังไม่ครอบคลุมเพียงพอ แล้วข้อสอบ O-Net มันเป็นการรวม 3 วิชา ก็หนีมาเป็น 9 วิชาสามัญ แล้วก็เกิดการรับตรงขึ้น พอรับตรงก็มีปัญหา เพราะกลายเป็นเด็กวิ่งรอกสอบกันใหญ่ ก็นำมาสู่ TCAS ที่มีปัญหา” ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงวิวัฒนาการของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าแนวคิดของระบบ TCAS จะเอื้อให้นักเรียนสามารถใช้เวลาเรียนในห้องเรียนได้จนจบหลักสูตร แล้วจึงเข้าสู่สมรภูมิการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน และยังสามารถ “ช้อน” เด็กๆ ให้มีที่เรียนได้ทุกคน รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ด้วยเกณฑ์การรับสมัครเข้าเรียนที่แตกต่างกันตามความสามารถของนักเรียน แต่สุดท้ายกลับเกิดปัญหาขึ้นในที่สุด

“ปัญหาที่พบอย่างแรกคือรอบ Portfolio ปล่อยสิทธิ์ที่นั่งมากกว่า 1 สิทธิ์ นั่นแปลว่าเด็กเก่งก็จะได้ในทุกที่ที่เขาเลือกอยู่แล้ว พอมาถึงรอบ 3 ที่มีปัญหามากๆ ข้อที่นักเรียนโวยวายมากที่สุดก็คือการให้สิทธิ์กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เข้ามายื่นคะแนนในรอบนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็ติดในกลุ่มแพทย์ของเขาอยู่แล้ว พอเข้ามากันเยอะขึ้น ก็ทำให้คะแนนในรอบนี้ถูกดันให้สูงมาก ดังนั้นเด็กที่วางแผนไว้ว่าจะยื่นคะแนนในรอบ 3 เพราะศึกษาจากคะแนนปีที่แล้วว่าคะแนนประมาณนี้น่าจะติด พอมีกลุ่ม กสพท. เข้ามา ปรากฏว่าคะแนน 27,000 เต็ม 30,000 ก็ยังสอบไม่ติดในบางคณะ มันก็เลยเป็นปัญหา” คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ “ครูจุ๊ย” นักวิชาการอิสระ อธิบายถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะหนักหนากว่าเดิม หาก “เด็กเก่ง” เลือกยืนยันสิทธิ์ใน กสพท. แล้วทิ้งที่นั่งในรอบ 3 เพราะจะไม่มีการดึงเด็กที่คะแนนรองลงมาขึ้นมาแทนที่ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ได้ถูกแก้เรียบร้อยแล้ว โดยการเปิดให้เด็กที่เหลือยืนยันสิทธิ์รอบ 3/2

ระบบนี้มันสะท้อนว่าถ้าคุณเป็นคนเก่งในประเทศนี้ คุณก็จะมีทางเลือกมากมาย ไม่ต้องเครียด คุณสามารถลอยลำไปได้เลยในรอบ 1 และ 2 แต่ถ้าเป็นเด็กกลางๆ เขาก็จะคาดหวังในรอบ 3 ซึ่งระบบไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับกลุ่มนี้ เพราะคะแนนมันบิดเบี้ยวไปแล้ว ฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้ก็เคว้งคว้างเลย นอกจากนี้ ระบบยังไม่ได้ถูกออกแบบมาตามพฤติกรรมเด็กจริงๆ มีเด็กจำนวนมากรอรอบ 3 ไม่ไปรอบ 4 นะคะ เพราะรอบ 4 ใช้ GPA บางคนคิดว่าฉันเกรดไม่ดี มาฟิตเอาตอนสอบ ฉันยังมีสิทธิ์ติด แต่ถ้าต้องหลุดไปรอบ 4 คะแนนต้องลดลงเพราะใช้ GPA มาคิด ดังนั้น สิ่งที่เด็กๆ วางแผนมันไม่ได้ตรงกับที่ผู้ใหญ่ออกแบบกระบวนการสอบ 5 รอบนี้เลย มันก็สะท้อนว่าคนที่ถือระบบหรือคนออกแบบระบบไม่ได้ฟังเสียงผู้ใช้อย่างเด็กๆ เลย ซึ่งมันกระทบชีวิตพวกเขา ในขั้นตอนการเลือกที่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆ เขากลับไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งเหล่านี้” ครูจุ๊ยกล่าว

ด้าน ผศ.อรรถพล มองว่าปัญหาการ “กั๊กที่นั่ง” ของเด็กเรียนเก่ง ที่เกิดขึ้นในระบบ TCAS ครั้งนี้ ก็ยังเป็นปัญหาเดิม เพียงแต่ในระบบเก่า เด็กทุกคนจะรู้เป็นการส่วนตัวว่าตนเลือกที่นั่งในมหาวิทยาลัยใดไว้บ้าง ในขณะที่ระบบ TCAS เปิดเผยให้ทุกคนเห็นได้เลยว่ามีการกั๊กที่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า TCAS อาจไม่ใช่ระบบที่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริง ซึ่ง ผศ.อรรถพล ก็เห็นตรงกันกับครูจุ๊ยที่ว่า ผู้ที่ออกแบบระบบไม่ได้รับฟังผู้ใช้ระบบอย่างจริงจัง และยังล้มเหลวในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับเด็ก ครู และผู้ปกครอง

“TCAS นี่รู้ล่วงหน้าเป็นปีนะ นอกจากจะไม่สร้างการมีส่วนร่วมแล้ว ยังล้มเหลวในการสื่อสารให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูแนะแนว และโรงเรียน เข้าใจทั้งระบบด้วย เพราะถ้าพูดชัดตั้งแต่ตอนนั้น ผมว่าต้องมีคนโวย แต่ระบบนี้เหมือนไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร จนกระทั่งมีการใช้จริง แล้วเด็กโวย แล้วไม่ใช่แค่เด็ก มันโลกออนไลน์ด้วย พ่อแม่ด้วย มันก็เลยเป็นที่สนใจ แต่มันคือเรื่องเดิมคือคุณไม่สื่อสาร แล้วระบบใดๆ ที่ใช้แล้วกระทบคนเป็นล้าน มันต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เราทราบว่ามีการส่งวิทยากรไปตามโรงเรียน แต่เด็กก็ไม่เข้าใจ คุณจะไปโทษเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะหน้าที่ขององค์กรคือคุณต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ ฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ผิดพลาด แล้วคุณต้องยอมรับผิด” ผศ.อรรถพลกล่าว

ขยะใต้พรม
นอกจากปัญหาของระบบที่เป็นดราม่าอยู่ในขณะนี้ TCAS ยังกวาดขยะที่ซุกไว้ใต้พรมออกมาด้วย นั่นคือปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข แม้จะเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึง 5 ครั้งแล้วก็ตาม นับตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่างเว็บไซต์ล่ม หรือระบบที่ซับซ้อนเข้าใจยาก ที่ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองปวดหัวทุกรุ่น แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนามากขึ้นก็ตาม ซึ่งครูจุ๊ยระบุว่าระบบอย่าง TCAS ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาทีละจุด โดยเติมเงื่อนไขเข้าไปตามปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้รับฟังผู้ใช้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าระบบที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน น่าจะเป็นระบบที่มีประโยชน์กับผู้ใช้มากที่สุด

ด้าน ผศ.อรรถพล ก็ได้สะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือนโยบายจากส่วนกลางที่ไม่คำนึงถึงคนทำงาน

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการตัดสินใจจากส่วนกลางที่กระทบคนมหาศาล ทุกครั้งที่มีนโยบาย Top-down หรือนโยบายจากส่วนกลาง มีปัญหานี้หมด เพียงแต่ว่าผลกระทบมันอาจจะไม่ชัดเจนกับตัวคน ทำให้เสียงมันไม่ดังขนาดนี้ ตอนนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็เป็นคำสั่งจากส่วนกลางที่ไม่สนใจคนทำงาน แต่ตอนนั้นมันถูกกดด้วยโครงสร้างอำนาจ มันเถียงไม่ได้ คนก็ยอมเหนื่อยไป แต่อันนี้มันคือเด็ก แล้วก็เป็นอนาคตเขา เป็นผลประโยชน์ของเขา มันก็เลยทำให้เสียงสะท้อนดังมาก แต่มันคือปัญหาเดิม คือการสั่งจากบนลงล่าง การออกนโยบายต่างๆ บนโต๊ะประชุม แล้วก็ไม่ได้ฟังความเห็นรอบด้านเพียงพอที่จะทำให้รอบคอบ” ผศ.อรรถพลกล่าว

นอกจากนี้ ผศ.อรรถพลยังมองว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ลึกลงไปเบื้องล่าง ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันก็ยังคงอยู่ นับตั้งแต่คุณภาพของสถาบันการศึกษาที่ไม่ถูกพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน และค่านิยมของคนที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ทำให้หลายคนไม่เชื่อมั่นในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น มีเพียงพอสำหรับทุกคน

“ระบบการสอบต่างๆ ตั้งใจจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากจะไม่สามารถแก้ได้จริงแล้ว ยังขยายภาพให้เห็นด้วยว่ามันเหลื่อมล้ำหนักมาก ผมคิดว่าเป็นเรื่องเดิม เพราะข้อสอบพวกนี้วัดความรู้ทางวิชาการ ดังนั้นมันก็เกาะเนื้อหา ติวได้ เพราะฉะนั้นมันก็ไปเรื่องเดิมน่ะ ใครพร้อมจะจ่ายให้ลูกไปติวก็มีโอกาสทำคะแนนได้มากกว่า เพราะฉะนั้น เด็กที่คะแนนสูง ไม่ได้แปลว่ามีความสามารถสูงจริง เพราะมันก็มาจากการติวที่เข้มข้น ต่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เด็กเก่ง เด็กก็ไม่ได้เก่งจริงนะ เด็กก็มาจากการที่คุ้นเคยกับข้อสอบปรนัย พอมาอยู่ปี 1 เจอข้อสอบอัตนัยก็เขียนกันไม่ได้ เพราะไม่เคยเจอมาก่อน” ผศ.อรรถพลกล่าว

ด้านครูจุ๊ยก็มองว่าที่จริงแล้ว เด็กแต่ละคนมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การนำเอาระบบการสอบเข้าอย่างเดียวมาลดความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ยังเป็นเหมือน “ตลาด” ที่ผู้ที่มีเงินมากก็สามารถเลือกซื้อการศึกษาที่มีคุณภาพได้มากกว่า นั่นหมายความว่า คนที่รวยกว่าก็สามารถเข้าถึงทางเลือกในการศึกษาได้มากกว่า นอกจากนี้ ทัศนคติที่มองว่าสายอาชีวะนั้นด้อยกว่าการเรียนสายสามัญ ก็ยิ่งบีบทางเลือกของเด็กทุกวันนี้ให้แคบลงกว่าเดิม ส่งผลให้เด็กจำนวนหลักแสน พากันมาฝากความหวังไว้กับการสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มั่นคง ครอบครัวและสังคมยอมรับ จนทำให้ในที่สุด เด็กสายสามัญหรือเด็กที่จบมหาวิทยาลัยก็ว่างงานเป็นจำนวนมาก

“ในต่างประเทศ นิยามของมหาวิทยาลัยคือที่ที่ผลิตงานวิจัยและการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ออกมา ส่วนสายอาชีวะหรืออาชีวะขั้นสูง มันคือที่ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ คือทำงานสายทักษะ แล้วไม่ได้หมายความว่าสายทักษะเป็นสายที่ด้อยกว่าคนที่คิดงานวิจัย แต่ว่าทั้งสองเส้นทางนี้มันคือคนละวิธีคิดกัน คนหนึ่งอยู่ในหมวดลงมือทำ อีกคนอยู่ในหมวดคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ เท่านั้นเอง มันไม่ได้มีคุณค่าที่ต่างกัน แต่เมืองไทยวางสองอันนี้ให้อันหนึ่งมีค่ามากกว่าอีกอันหนึ่ง ซึ่งมันน่าเศร้านะที่เรามีระบบการศึกษาที่บังคับพาเด็กมาอยู่ตรงปากเหว ต้องเลือกว่าจะเอาไม่เอา แล้วก็เป็นปากเหวที่ผลักเขาไปสู่การแข่งขันอย่างไม่จบไม่สิ้น การสอบ การอิงคะแนนเป็นบ้าเป็นหลัง ยึดถือกับใบปริญญาและตัวเลข” ครูจุ๊ยกล่าว

ชะตากรรมของหนูทดลอง
เมื่อเส้นทางความสำเร็จตามทัศนคติของคนทั่วไปผลักให้เด็กนักเรียนต้องแข่งขันกันเรียน ประกอบกับผู้ใหญ่ที่ขาดความเข้าใจในวิถีชีวิตของเด็กๆ ก็พยายามออกแบบระบบมาเพื่อ “ทดลอง” ใช้ในการแข่งขันหลายครั้ง ทำให้เด็กๆ ทุกวันนี้มีชีวิตไม่ต่างจาก “หนูทดลอง” ที่บ้างก็รอดไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย บ้างก็ต้องผิดหวัง ซึ่งครูจุ๊ยรู้สึกว่าสังคมทุกวันนี้กำลังพัฒนาไปสู่สังคมแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” จากระบบการศึกษาในปัจจุบัน

“มันไม่ใช่ระบบที่โอบอุ้ม เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน มันคือใครเก่งกว่า คุณก็ไปได้ดีไปเลย คนที่ไม่เก่งก็อยู่ข้างหลัง มีทางเลือกที่จำกัดกว่าและแคบลงเรื่อยๆ ทำไมเราไม่มีการศึกษาที่มีทางเลือกให้เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียน ที่เราสามารถที่จะโอบอุ้มดูแลให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วก็เป็นสังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งปัน มีน้ำใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เด็กหลายคนคิดว่า เขาไม่อยากให้รุ่นน้องเขาอยู่ในระบบแบบนี้ มันเป็นระบบที่ไม่ได้ช่วยเหลือเขา และทำให้เครียดกว่าเดิม แล้วถ้าเด็กกับพ่อแม่ไม่ได้คุยกันจริงๆ ว่าลูกวางแผนไว้ที่รอบ 3 รอบเดียว พ่อแม่ก็จะกลุ้มใจว่ารอบแรกกับรอบสองก็ไม่ได้ แล้วสามก็ยังไม่ได้ ทำไมลูกไม่เก่ง ก็เป็นความกดดัน ถามว่ามันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเอนทรานซ์แบบเดิมไหม ก็ไม่ ก็เครียดอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ทางออกที่มันยั่งยืนกว่าการออกแบบระบบ คือการหาทางเลือกให้เด็ก” ครูจุ๊ยกล่าว

ระบบการสอบยังจำเป็นอยู่ไหม
แม้ว่าระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยจะมีปัญหาอยู่บ่อยๆ แต่ทั้ง ผศ.อรรถพลและครูจุ๊ยก็ยังยืนยันว่า ประเทศไทยควรจะมีระบบการสอบคัดเลือกต่อไป ด้วยวิถีชีวิต สภาพสังคม รวมทั้งการเมือง

“ไม่ว่าอย่างไรมันก็ต้องมีระบบคัดเลือกนะ อย่างของฟินแลนด์ ถ้าเป็น University of Applied Sciences หรือ Vocational เดิม เขายื่นใบสมัครและทำข้อสอบของคณะนั้นๆ เลย แล้วก็อาจจะมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ว่าถ้าสอบในคณะที่คล้ายกัน เขาก็ดูไปเลย 4 – 5 มหาวิทยาลัยทีเดียว แต่ระบบนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเด็กรู้แล้วว่าตัวเองต้องการเรียนอะไร สามารถพุ่งเป้าได้ว่าฉันสนใจอันนี้และฉันทำการบ้านมาดี ฉันมั่นใจว่าถ้าฉันไปทำข้อสอบที่เป็นกรณีศึกษาหรือเรื่องราวในสายวิชาชีพนี้ ฉันจะรอด ซึ่งก็เอามาใช้กับบ้านเราไม่ได้อีก เพราะเด็กเราไม่เคยถูกสอนให้รู้จักตัวเองเลย ปัจจุบันนี้ ระบบเลือกเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คือคณะนี้ก็ได้วะ ได้เรียนมหาวิทยาลัยนี้ ไม่ได้มาถามใจตัวเองว่าอยากเรียนจริงหรือเปล่า” ครูจุ๊ยเล่า เช่นเดียวกับ ผศ.อรรถพล ที่มองว่าค่านิยมของสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนไปเท่าไร

“ณ วันนี้ คนก็ยังแย่งกันสอบอยู่ ยกเลิกการสอบไม่ได้ บางคนคิดแบบสุดโต่ง ใช้ระบบของยุโรปเหนืออย่างเยอรมนี ทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยหมด อันนั้นต้องเป็นรัฐสวัสดิการ จ่ายภาษีแพง คุณถึงเรียนเมื่อไรก็ได้ จะออกไปตอนไหนก็ได้ พวกนั้นคือเรียนเลย เรียนไม่ไหวก็ออกมาทำงาน เพราะว่าจบ ม.6 มาทำงานเลยก็ได้ มันมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีอยู่แล้ว แต่ว่าของเรา ค่านิยมเรื่องงานมันไม่เป็นอย่างนั้น มันยังเชื่อเรื่องการขึ้นบันไดอยู่” ผศ.อรรถพลกล่าว

สอบครั้งหน้า จะเอาอย่างไร
การสอบ TCAS ในปีนี้ถือเป็นการทดลองอีกครั้งหนึ่งของผู้ใหญ่ในระบบการศึกษาไทย ซึ่งผลก็ออกมาแล้วว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ดังนั้น ผู้ออกแบบระบบจึงต้องหามาตรการเพื่อเยียวยาต่อไป ขณะเดียวกัน ผศ.อรรถพลก็มองว่านี่เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ที่จำเป็นต้องมีการระดมความคิดจากเด็กๆ อย่างจริงจัง หากต้องการจะใช้ระบบนี้ในปีหน้า

ผมว่าผู้ใหญ่ในสังคมต้องมีสติเยอะๆ ถ้าเกิดตัวเองกำลังทำให้เด็กโกรธและไม่มีความสุขในการอยู่ในสังคมนี้ด้วยเครื่องมืออย่างการศึกษา ถ้าเขายังไม่รอบคอบ คิดอะไรที่ไม่ฟังเสียงของคนอื่น ความโกรธระหว่างรุ่นมันน่ากลัวมากนะ เพราะเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ยึดโยงกับผู้ใหญ่ ซึ่งผมว่าน่าเป็นห่วง ต้องมองให้รอบคอบ การศึกษามันไม่ใช่ว่าตัดสินใจแล้วก็ลุยกันเลย” ผศ.อรรถพลกล่าว

ด้านครูจุ๊ยก็เห็นว่า ปัญหาการสอบครั้งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมปลายเท่านั้น แต่ต้องมองย้อนกลับไปทั้งระบบ แล้วค่อยๆ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ควรหวังพึ่งระบบการสอบเพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาการศึกษาทั้งระบบ

“ถามว่าจะเอาระบบนี้มาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำวันนี้ เดี๋ยวนี้เลยได้ไหม ก็ไม่ได้ คือเฉพาะหน้าแก้ได้ โดยเอา กสพท. ออกไป ยืนยันสิทธิ์ได้ที่เดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาเด็กที่ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไรกันแน่ ไม่ได้แก้ปัญหาเด็กหลงทาง ปัญหาเหล่านั้นต้องใช้เครื่องมืออื่นแก้ ไม่ใช่ TCAS หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอื่นๆ เรื่องนี้มันเหมือนตอนที่เราถกกันเรื่องควรมีตู้ถุงยางอนามัยในโรงเรียนหรือเปล่า ตู้ถุงยางก็เป็นปลายทาง สิ่งที่เป็นปัญหาคือการเรียนเพศศึกษาที่มันไม่ได้คุณภาพ เพราะถ้ามันได้คุณภาพ คนก็จะเข้าใจว่าถุงยางคืออะไร มีไว้ใช้ทำอะไร แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง เขาก็จะซื้อ มันจะมีในโรงเรียนหรือไม่ ไม่ใช่สาระอีกต่อไป”

“สิ่งที่โรงเรียนและครอบครัวทำได้แน่ๆ คือการทำความเข้าใจระบบร่วมกัน มันก็คือการคุยกันอีกนั่นแหละ เด็กได้รับความเครียดจากระบบอยู่แล้ว แต่ในฐานะครอบครัวและโรงเรียน เราไม่ควรเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นความเครียดเด็กอีก ถ้ารู้ทั้งรู้ว่าระบบการศึกษาของเรามันบิดเบี้ยว เราต้องให้ความเข้าใจเด็ก สิ่งที่เด็กในวัยนี้ต้องการคือการรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ใช่การดุด่าหรือกดดัน เขากดดันมากพออยู่แล้วในระบบนี้” ครูจุ๊ยกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook