อย.ฟันอาหารเสริมอีก 10 ตัว พบลักลอบใส่ "ไซบูทรามีน"

อย.ฟันอาหารเสริมอีก 10 ตัว พบลักลอบใส่ "ไซบูทรามีน"

อย.ฟันอาหารเสริมอีก 10 ตัว พบลักลอบใส่ "ไซบูทรามีน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย. สั่งยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 10 รายการ ที่ผลตรวจวิเคราะห์พบไซบูทรามีน พร้อมสั่งโรงงานงดผลิตทันที เผยเตรียมยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อให้บทลงโทษเด็ดขาดรุนแรงมากขึ้น

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีพบผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีน และล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศ รายชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเผยแพร่ว่าพบไซบูทรามีน จำนวน 10 รายการ ได้แก่

  1. แกลโล (Kallow) เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0156
  2. The eight เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0170
  3. คอลวีว่า เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0096
  4. PUSH SHE (VIVI) เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0096
  5. S-SECRET เอส – ซีเครท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาร์จิ้น ซายย์ แคพ เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0073
  6. Finale เลขสารบบ อาหาร 74-2-03357-1-0242
  7. แอล-ฟิน By ลูกสำรอง เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0180
  8. BOXY INDELAR เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0070
  9. Luk Sam Rong เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0180

รวมทั้งในส่วนของ อย. ยังได้ตรวจพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีน คือ นูวิตร้า (Nuvitra) เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0138

ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีชื่อ บริษัท สยาม เฮลท์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ จำกัด เป็นผู้ผลิต

โดย อย. ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค สำงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ดำเนินการสั่งยกเลิกเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 รายการ

ทั้งนี้ อย. จะร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารของทุกแหล่งผลิต หากพบข้อบกพร่องใดๆ จะดำเนินการสั่งยกเลิกเลขสารบบอาหารและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ไซบูทรามีนเป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหาการลักลอบนำเข้าไซบูทรามีนมาผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ซึ่งทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ดังนั้น อย. จึงมีนโยบายควบคุมเข้มงวดมากขึ้นในการยกระดับไซบูทรามีนให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อให้ผู้ฝ่าฝืนได้รับบทลงโทษเด็ดขาดรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการพิจารณาในการประชุมวันที่ 24 พ.ค.นี้

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook