นักวิชาการหวั่น รัฐแก้กฏหมายรักษาแรงงานต่างด้าว ทั้งที่คนไทยยังไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีพอ

นักวิชาการหวั่น รัฐแก้กฏหมายรักษาแรงงานต่างด้าว ทั้งที่คนไทยยังไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีพอ

นักวิชาการหวั่น  รัฐแก้กฏหมายรักษาแรงงานต่างด้าว  ทั้งที่คนไทยยังไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีพอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มีความพยายามจะแก้ไข ยกร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้มานานถึง 14 ปี

Sanook News! พูดคุยถึงปัญหานี้ กับผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์   ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ท่านกล่าวไว้ว่าการแก้ไขกฏหมายมีความน่ากังวลใจมากที่สุดก็คือ การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย นั้นรวมถึงแรงงานต่างด้าว โรฮิงญา นักท่องเที่ยว และผู้อพยพ ตลอดจนคนชายขอบและคนไร้สัญชาติ หากมีการแก้กฏหมายนี้เรียกได้ว่า ถ้าคนกลุ่มนี้เหยียบเข้ามาบนผืนแผ่นดินไทย ต้องรักษาพยาบาลฟรีตามสิทธิ์บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่ม NGO บางกลุ่มพยายามผลักดันมาตลอด ซึ่งหากทำเช่นนั้นจริงก็ควรต้องเปลี่ยนชื่อว่า บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค และทุกชีวิต บนแผ่นดินไทยด้วย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงตั้งคำถามว่า สิทธิ์การรักษาพยาบาลของคนไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีประสิทธิภาพ และสมบูรณ์ดีแล้วหรือยัง ?

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง แทบจะไม่มีเตียงคลอดให้แม่ซึ่งเป็นคนไทย เพราะแรงงานต่างด้าว แห่มาใช้บริการคลอดเต็มโรงพยาบาล ที่หนักกว่านั้นคือตู้อบเด็กคลอดก่อนกำหนด เต็มไปด้วยเด็กสัญชาติเมียนมาร์  และเมื่อถึงคราวจำเป็นที่เด็กสัญชาติไทยจะต้องใช้บริการตู้อบ กลับไม่มีที่ว่างเพียงพอ  จึงเกิดคำถามว่าเราเมตตาปรานีเขา จนเราเดือดร้อนกันเลยหรือ ?

ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติ เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต่างก็รีบมีลูกกัน เนื่องจากรัฐบาลไทยร่วมจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้แรงงานต่างด้าวด้วย และคนไทยที่ใช้สิทธิประกันสังคมเองก็แทบจะไม่ใช้สิทธิประโยชน์ด้านการคลอดและการสงเคราะห์บุตร ส่วนแรงงานต่างชาติที่ได้สิทธิประกันสังคมนี้กลับใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ และเป็นที่ทราบกันว่าการแพทย์ในประเทศไทยมีคุณภาพดีมากกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน  แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จึงนิยมมาคลอดลูกในประเทศไทย 

นอกจากหลักประกันสุขภาพที่ไทยรองรับให้กับกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว เรื่องการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังได้รับผลกระทบ จากการตรวจสอบพบว่าบางโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครมีแต่นักเรียนสัญชาติเมียนมาร์เต็มทั้งโรงเรียน ซึ่งมีเงินภาษีของไทยอุดหนุนในระบบการศึกษาเหล่านี้ด้วย   เมื่อมองกลับไปอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าเด็กสัญชาติไทยแท้ๆ บางกลุ่มกลับไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ

หากมองในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ NGO หลายกลุ่มพยายามเรียกร้อง จนมีการผลักดันให้แก้กฏหมาย ดร. อานนท์ ให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรพิจารณา รักษาตามความจำเป็น ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ใช่มาป่าวประกาศว่ารักษาพยาบาลให้ฟรีทุกคน  ถ้าประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ว่าให้รักษาฟรีกันหมดทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทย  ตามแนวคิดของ NGO กลุ่มนี้ เกิดมีเพื่อนบ้านทุกชาติอพยพเข้ามามากมาย สร้างภาระอันใหญ่หลวงให้กับแพทย์ในประเทศไทย แย่งเตียง  แย่งชิงทรัพยากรอันจำกัด คนไทยที่เหลืออยู่จะทำเช่นไร

ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งขาดทุน ขาดสภาพคล่องจวนจะล้มละลาย ประกอบกับภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทยเริ่มขยายตัวขึ้น ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย และไม่สามารถหาเงินมาอุดหนุนได้มหาศาล  ต่อให้มี “ตูน บอดี้สแลม” วิ่งแทบตายก็แก้ปัญหาไม่ได้  เพราะการแก้กฏหมายที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยจะกลายเป็นม้าอารีที่ถูกเบียดเบียนโดยผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน การช่วยเหลือคนอื่นทั้งๆ ที่ตัวเราเองยังเดือดร้อน ไม่น่าจะเป็นผลบุญสักเท่าไหร่ แม้จะถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม “แล้วเวลาประชาชนคนไทยเดือดร้อน นักสิทธิมนุษยชนไปมุดหัวแถวรูตรงไหน ทำไมไม่ออกมาช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองก่อน” ดร. อานนท์ ถามกลับ

ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ กล่าวย้ำว่าถ้าเอาตัวเองไม่รอด แล้วยังจะเสนอหน้าไปช่วยเหลือผู้อื่น คงเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก และถ้าเป็นชาติที่ฉลาดแล้วเขาจะไม่ดึงดูดให้คนต่างชาติอพยพเข้ามาใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลฟรีๆ ในประเทศตนเอง เพราะการรักษาพยาบาลนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และควรทำให้คนในชาติตนเองได้รับสิ่งที่ดีเพียงพอเสียก่อน จึงอยากเรียกร้องให้คนไทย  และผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวนมาตรการดังกล่าวว่ามันเหมาะสมแล้วหรือ?

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook